สหรัฐฯ มีคนติดเชื้อและคนตายด้วยโคโรนาไวรัสมากที่สุดในโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โบ้ยว่าเป็นเพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำงานเชื่องช้า เดินตามจีนเกินไป คำวิจารณ์เหล่านี้มีคนอื่นๆ พูดเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี นักสังเกตการณ์ชี้ว่า ผู้นำอเมริกันกำลังมองหาแพะรับบาป
ทรัมป์ออกมาขู่เมื่อวันพุธ (7 เม.ย.) ว่า สหรัฐฯ จะระงับการจ่ายเงินลงขันให้แก่องค์การอนามัยโลก โดยวิจารณ์การทำงานของ WHO ใน 3 ประเด็นหลัก คือ เตือนภัยไวรัสล่าช้า ยึดถือข้อมูลของจีนเป็นหลัก แถมยังคัดค้านเมื่ออเมริกาปิดรับคนต่างชาติที่เดินทางจากจีน
‘ไหนบอกว่าไม่ระบาด’
องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม นักสังเกตการณ์บางรายมองว่า WHO วินิจฉัยความร้ายแรงของการระบาดล่าช้าเกินไป
ล่าช้าหรือทันการณ์ แล้วแต่ความคิดเห็นของคนพูด ข้อเท็จจริงคือ ตอนที่ออกคำประกาศนี้ ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเพิ่งพบใน 4 ประเทศ ประเทศที่รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อถึงหลักสิบมี 57 ประเทศ และอีก 81 ประเทศรายงานว่าไม่พบผู้ติดเชื้อ
จีนแจ้งไปยัง WHO ว่า พบกลุ่มผู้ติดเชื้อปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในนครอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ในจำนวนผู้ป่วย 44 ราย มีคนไข้อาการหนัก 11 ราย คนอื่นๆ มีอาการทรงตัว รุ่งขึ้น 1 มกราคม WHO จัดตั้งทีมรับมือในทั้งสามระดับขององค์การ คือ สำนักงานใหญ่ ภูมิภาค และประเทศ
ต่อมา 5 ม.ค. WHO ออกเอกสารข่าวรายงานเรื่องไวรัสชนิดใหม่เผยแพร่ถึงวงการแพทย์และสาธารณสุข ถัดมาในวันที่ 10 ม.ค. WHO ส่ง “คำแนะนำทางเทคนิค” ถึงทุกประเทศว่าจะแกะรอย ตรวจเชื้อ และจัดการกับการระบาดได้อย่างไร
จังหวะก้าวสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม หัวหน้าทีมเทคนิคของ WHO แถลงข่าวว่า พบหลักฐานอย่างจำกัดว่าเชื้อตัวนี้สามารถแพร่จากคนสู่คน และมีความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจาย ส่วนเจ้าหน้าที่จีนบอกว่า ไม่พบหลักฐานว่าเชื้อสามารถติดต่อระหว่างมนุษย์ในขอบเขตกว้าง
ผู้เชี่ยวชาญของ WHO จากจีนและแถบแปซิฟิกตะวันตกออกภาคสนามที่อู่ฮันในวันที่ 20-21 ม.ค. จากนั้น ในวันที่ 22 ม.ค. WHO ยกคณะเจ้าหน้าที่ไปเยือนจีน แล้วประกาศว่า พบหลักฐานการระบาดจากคนสู่คนที่อู่ฮั่น แต่ยังต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแพร่ระบาด
ในวันที่ 22-23 ม.ค. ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส เรียกประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อประเมินว่าโควิด-19 เข้าข่ายเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่าวิตกระดับนานาชาติ” แล้วหรือยัง แต่ที่ประชุมยังสรุปความเห็นไม่ได้ จึงนัดประชุมใหม่ในอีก 10 วัน
ระหว่างนั้น (28 ม.ค.) เกเบรเยซุสนำคณะไปเยือนจีน บรรลุข้อตกลงกับฝ่ายจีนที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเข้าไป แล้วในวันที่ 30 ม.ค. WHO ก็ประกาศให้โควิด-19 เป็น “สถานการณ์ฉุกเฉินฯ” และประกาศให้เป็นโรคระบาดในวันที่ 11 มี.ค.เมื่อปรากฏว่าไวรัสตัวนี้แพร่เข้าสู่หลายประเทศนอกเหนือจากจีนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด
ในการขู่ที่จะระงับการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งงบประมาณรายปีของ WHO มาจากสหรัฐฯ ราว 12% ทรัมป์อ้างว่า WHO บอกเมื่อ 14 มกราคมว่า เชื้อตัวนี้ไม่แพร่จากคนสู่คน อันที่จริง ในเวลานั้น WHO บอกว่า ยังไม่พบหลักฐานต่างหาก
‘ฟังความจีนข้างเดียว’
ทรัมป์ยังโจมตีองค์การอนามัยโลกอีกว่า พูดอะไรตามจีนไปหมด ชมเชยยกย่องจีนจนเกินเลย
ทรัมป์ไม่ชอบใจที่ผู้นำองค์การอนามัยโลกยกย่องจีนเมื่อวันที่ 29 ม.ค. โดยบอกว่า “การดำเนินการของจีนได้ช่วยป้องกันไม่ให้โคโรนาไวรัสระบาดไปยังประเทศอื่น” และยังพูดด้วยว่ารู้สึก “ประทับใจมากและดีใจที่ท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงรู้เรื่องไวรัสเป็นอย่างดี”
นักสังเกตการณ์บางคนอธิบายว่า WHO พูดแบบนี้ด้วยท่าทีแบบการทูต ในสถานการณ์ของโรคระบาดระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลกจำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากปักกิ่ง แม้แต่ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากจีน ก็ยังโปรยยาหอม
หลังจากศูนย์ควบคุมโรคระบาดของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ว่าพบผู้ป่วยรายแรก ซึ่งติดเชื้อจากการเดินทางไปจีน ในวันที่ 24 ม.ค. ทรัมป์บอกว่า “สหรัฐฯ ชื่นชมเป็นอย่างยิ่งต่อความพยายามของจีนและความโปร่งใสของจีน” แถมยังพูดอีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ. ว่า จีนกำลังทำงานอย่างหนัก และอีกครั้งในวันที่ 4 มี.ค.ว่า จีนควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
‘WHO ค้านสหรัฐฯ ปิดรับคนจากจีน’
ทรัมป์บอกว่า WHO ไม่เห็นด้วยที่เขาสั่งห้ามคนต่างชาติที่เดินทางไปจีนในช่วงเวลา 14 วันเข้าประเทศ “พวกเขาวิจารณ์ผม ไม่เห็นด้วยกับผม พวกเขาคิดผิด” ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศข้อห้ามนี้เมื่อ 31 ม.ค. มีผลเมื่อ 2 ก.พ. แต่คำสั่งนี้ไม่ครอบคลุมชาวอเมริกันที่ไปเมืองจีน ซึ่งจำนวนมากได้เดินทางกลับประเทศ
จนถึงขณะนี้ องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ประเทศใดใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง หรือจำกัดการค้าต่อประเทศที่เกิดโรคระบาด อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ไม่ปรากฏว่า WHO ออกมาวิจารณ์สหรัฐฯ ในเรื่องนี้อย่างที่ทรัมป์อ้าง
เหตุที่ WHO ยึดถือนโยบายเช่นนี้มาช้านานก็เพราะมองว่าเป็นมาตรการที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้จริง มีตัวอย่างให้เห็นมาหลายครั้งแล้ว ทั้งกรณีไวรัสอีโบลา ซาร์ส เอชไอวี วัณโรค และโรคระบาดอื่นๆ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิดความชะล่าใจ ส่งผลให้เกิดความหย่อนยานในการบังคับใช้มาตรการอื่นๆ
องค์การอนามัยโลกระบุเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า “WHO ไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ดี มาตรการนี้อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นการชั่วคราวสำหรับประเทศที่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศน้อย หรือมีขีดความสามารถจำกัดในการรับมือโรคระบาด”
เจ. สตีเฟน มอร์ริสัน ผอ.ศูนย์นโยบายสาธารณสุขโลก แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ บอกว่า WHO ประกาศสถานการณ์ระบาดช้าเกินไป และสรรเสริญจีนเกินงาม อย่างไรก็ดี รัฐบาลวอชิงตันกำลังโยนกลอง ทรัมป์พยายามสลัดตัวเองออกจากเสียงตำหนิติเตียน WHO พลัดเข้ามาอยู่ในวงเผชิญหน้าระหว่างอเมริกากับจีน.
อ้างอิง:
AFP via France24, 8 April 2020
AFP via Japan Times, 9 April 2020
Washington Post, 10 April 2020
ภาพ: JIM WATSON / AFP
Tags: องค์การอนามัยโลก, สหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์, โควิด-19