ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นของฮ่องกงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายนที่กำลังจะออกมา ถือเป็นบททดสอบคะแนนนิยมของนางแคร์รี หลำ

ด้วยเหตุที่สภาท้องถิ่นมีโควตาที่นั่งในคณะกรรมการเลือกผู้บริหารและในสภานิติบัญญัติ ผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยจึงหวังที่จะใช้กลไกทั้งสองเป็นเวทีส่งสารไปยังรัฐบาลปักกิ่งและบรรดากลุ่มนิยมจีน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นครั้งนี้ กลายเป็นโอกาสที่ชาวฮ่องกงฝ่ายนิยมประชาธิปไตยจะแสดงออกซึ่งการต่อต้านรัฐบาลของแคร์รี หลำ ที่ผ่านมา สภาท้องถิ่นอยู่ในมือของพรรคการเมืองที่นิยมจีน หากผู้สมัครจากปีกประชาธิปไตยได้รับเลือกตั้ง นั่นย่อมสะท้อนถึงความเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลและต่อจีน

ในการเลือกตั้งซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับแต่ฮ่องกงเกิดการประท้วงอย่างหนักมานานเกือบ 6 เดือนหนนี้ มีนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยลงสมัครหลายคน นักสังเกตการณ์มองว่า ยากมากที่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้จะกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาเขต อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภาท้องถิ่นแค่จำนวนหนึ่ง จากที่ไม่เคยมีเลย ก็ถือเป็นความคืบหน้าของขบวนการแล้ว

สภานอกสายตา

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์เป็นการลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาเขตรวม 452 คนในทั้ง 18 เขตของฮ่องกง มีประชาชนชาวฮ่องกงออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งราว 2.85 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนแสดงความจำนงใช้สิทธิ์ 4.13 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์

ในฮ่องกง ซึ่งมีประชากร 7.4 ล้านคน การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นถือเป็นกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับคำว่า การเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือการเลือกผู้บริหาร

ภาพ: Nicolas ASFOURI / AFP

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การเลือกตั้งในระดับนี้ ผู้คนออกไปใช้สิทธิ์กันน้อย เพราะหน่วยปกครองระดับเขตไม่ได้มีอำนาจมากนัก งานของสภาท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับกิจการในชุมชนเป็นหลัก เช่น การเก็บขยะ การพัฒนา

แต่ไหนแต่ไร พรรคการเมืองที่นิยมจีนเป็นกลุ่มที่ครองสภาท้องถิ่น แม้กระนั้น ความเปลี่ยนแปลงอาจกำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากเที่ยวนี้มีผู้มีสิทธิ์ครั้งแรกพากันแจ้งขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 400,000 คน ฝ่ายประชาธิปไตยถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นข่าวดี

เคนเนธ ชาน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแบพติสฮ่องกง บอกว่า คนฮ่องกงมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ของฮ่องกง และต่อรัฐบาลของนางแคร์รี หลำ

แอ็กติวิสต์ขอคะแนนเสียง

หลังจากขับเคี่ยวกับกลุ่มพลังฝ่ายนิยมจีนผ่านการประท้วงบนท้องถนนนับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เมื่อวาระการเลือกตั้งเวียนมาถึง แม้เป็นเพียงระดับท้องถิ่น นักกิจกรรมหลายคนมองเห็นประตูสู้ช่องทางใหม่ผ่านสภาเขต

จิมมี ชาม อายุ 32 ปี แกนนำแนวร่วมสิทธิมนุษยชนของพลเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกหน้ายื่นขออนุญาตจัดการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมนับล้าน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิต

คนที่ติดตามข่าวคงจำได้ เขาคือหนุ่มคนที่ถูกประทุษร้ายด้วยค้อน ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นร่างของเขานอนจมกองเลือดอยู่ริมถนนถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

ทอมมี จึง อายุ 25 ปี อดีตแกนนำนักศึกษาของ ‘ขบวนการร่ม’ ที่เคยปิดถนนในย่านธุรกิจนาน 79 วันเมื่อปี 2014 เพื่อกดดันเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารทางตรง เป็นอีกคนที่โดดลงสนามเล็ก

เจ้าตัวบอกว่า อันที่จริงกำลังเตรียมตัวจะไปเรียนต่อเมืองนอก แต่พอเกิดเหตุกลุ่มอันธพาลนิยมจีนกว่า 100 คนยกพวกเข้าทำร้ายผู้ชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 21 กรกฎาคมขณะโดยสารรถใต้ดินกลับจากการประท้วง โดยตำรวจไม่ได้เข้ายับยั้งห้ามปราม เขาจึงเปลี่ยนใจ

ไม่ใช่ ‘แค่เลือกตั้งท้องถิ่น’

เหตุที่แอ็กติวิสต์หันมามองสภาท้องถิ่นนั้น เพราะเหตุว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งที่อาจก่อผลสะเทือนทางการเมืองได้ เนื่องจากสภาเขตเป็นหน่วยอำนาจหนึ่งที่เข้าไปมีเสียงในสภานิติบัญญัติ และมีส่วนในการเลือกตัวคนที่จะมาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารของฮ่องกง

โครงสร้างการปกครองของฮ่องกงได้รับการออกแบบไว้ว่า สภาเขตจะมีโควตา 6 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติที่มี 70 ที่นั่ง และจะมี 117 ที่นั่งในคณะกรรมการเลือกผู้บริหารฮ่องกงที่มีทั้งหมด 1,200 คน คณะกรรมการชุดนี้มีทั้งนักธุรกิจ พนักงานของรัฐ และผู้นำชุมชน

คณะกรรมการเลือกผู้บริหารฮ่องกงมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีของจีนที่มีนายกรัฐมนตรีจีนนั่งหัวโต๊ะ เมื่อคณะผู้เลือกเสนอชื่อใคร ครม.ของจีนจะเป็นผู้อนุมัติแต่งตั้งคนคนนั้นให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลของฮ่องกง

ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงคาดหวังว่า ถ้าผลเลือกตั้งท้องถิ่นเอนเอียงมาทางฝ่ายตน รัฐบาลจีนคงจะหันมารับฟังสุ้มเสียงของฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้นเมื่อถึงเวลาเสนอชื่อหัวหน้าคณะบริหาร และรัฐบาลฮ่องกงคงจะตอบสนองมากขึ้นต่อข้อเรียกร้องต่างๆ

ภาพ: VIVEK PRAKASH / AFP

จึง จ่อหยุง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยซิตี้ในฮ่องกง บอกว่า ถ้ามีคนออกมาใช้สิทธิ์กันมากๆ ฝ่ายประชาธิปไตยอาจได้เข้าสภาท้องถิ่น และถ้าทุกเขตมีฝ่ายประชาธิปไตยแทรกเป็นยาดำไปทั่ว รัฐบาลฮ่องกงหรือรัฐบาลปักกิ่งคงไม่อาจมองเมินได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิ์ลุ้นแค่ไหน นักวิเคราะห์มองว่า ไม่มากนัก

อีวาน ชอย อาจารย์ผู้สอนวิชาการเลือกตั้งประจำมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong บอกว่า ท่ามกลางการปะทะยืดเยื้อระหว่างคนสองฝ่าย คนตรงกลางคงไม่เลือกฝ่ายประชาธิปไตย เพราะต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา

ไม่ว่าผลเลือกตั้งสภาท้องถิ่นในฮ่องกงจะเป็นอย่างไร แต่กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่ลุกโพลงขึ้นแล้ว อย่างน้อยในหมู่คนรุ่นใหม่ คงไม่มอดดับ

“ผมไม่คิดว่ากระแสนี้จะตกในเร็ววัน ขบวนการประชาธิปไตยจะเคลื่อนไหวต่อไปอีกนานหลายปี” ทอมมี จึง อดีตแกนนำขบวนการร่ม กล่าว.

 

อ้างอิง:

ภาพปก: VIVEK PRAKASH / AFP

 

Tags: , , ,