คณะนักวิจัยในเยอรมนีพบว่าสามารถบำบัดผู้มีการเสพติดอินเทอร์เน็ตและเกมได้ด้วยวิธีทางจิตบำบัดที่เรียกว่า การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy-CBT) ในระยะสั้น
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า การติดเกมเป็นอาการป่วยทางจิต อยู่ในประเภทเดียวกับการติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมเสพติดอื่นๆ โดยให้ความหมายว่า การติดเกมหมายถึง การเล่นเกมซ้ำเดิมติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน จนนำไปสู่ความบกพร่องในการควบคุมพฤติกรรม และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต
เคลาส์ วูฟลิ่ง (Klaus Wцlfling) หัวหน้าทีมวิจัย จากภาควิชาเวชศาสตร์กายจิต และจิตบำบัด มหาวิทยาลัยโจฮานน์ กูเตนเบิร์ก ในเยอรมนีได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาผู้เสพติดอินเทอร์เน็ต ในนวารสารวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ชื่อ JAMA Psychiatry เมื่อวันพุธที่ 10 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ซึ่
งานวิจัยนี้นิยามว่า การเสพติดอินเทอร์เน็ตคือ การใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปจนส่งผลกระทบทางลบต่อครอบครัว สังคม การทำงาน และมิติอื่นๆ ในชีวิต นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่ติดเกม โซเชียลมีเดีย การดูภาพโป๊เปลือยออนไลน์ ประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้เสพติดอินเทอร์เน็ตประมาณ 6%
การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง คณะวิจัยเลือกศึกษาผู้ชาย 143 คนที่มีอายุระหว่าง 17-55 ปี ที่เป็นผู้ป่วยนอกของคลินิก 4 แห่งในเยอรมนีและออสเตรีย ซึ่งเข้าข่ายเป็นผู้ติดอินเทอร์เน็ตจากการประเมินตามแบบประเมินที่ชื่อว่า การประเมินภาวะติดเกมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต (Assessment of Internet and Computer Game Addiction) ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ในสาขาวิชานี้ ในการประเมินแบ่งออกเป็น 14 ข้อ รวมทั้งความถี่ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต อาการจากการขาดอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการขาดความสนใจต่อเรื่องอื่นในชีวิต ถ้าได้คะแนนมากกว่า 13 ข้อจะถือว่าเป็นผู้เสพติดอินเทอร์เน็ต ส่วนคนที่ได้คะแนนต่ำว่า 7 คะแนนถือว่ามีอาการน้อย
ขั้นตอนการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรมระยะสั้นใช้เวลา 15 สัปดาห์ มีทั้งการบำบัดแบบกลุ่มและเดี่ยว โปรแกรมบำบัดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการเสพติด การรักษาด้วยจิตบำบัด เช่น แสดงการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีต่อสุขภาพ และเน้นไปที่เทคนิคการป้องกันไม่ให้กลับไปสู่สภาพและการเปลี่ยนผ่านในชีวิตประจำวัน โดยมีกลุ่มควบคุม ซึ่งมี 71 คนเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างรอการรักษา และได้รับการรักษาหลังจากกลุ่มแรกเข้ารับการบำบัดเสร็จแล้ว
งานวิจัยนี้ประเมินเฉพาะผู้ชาย เนื่องจากผู้ป่วยที่เสพติดอินเทอร์เน็ตเพศชายมีจำนวนมากกว่าในคลินิก โดยคิดเป็น 90% ของผู้ป่วยนอกในคลินิกที่แพทย์วินิจฉัยว่าเสพติดอินเทอร์เน็ต ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินตั้งแต่ตอนเริ่มรักษา ระหว่างการเข้ารับการรักษา และหลังจากเสร็จสิ้นการรักษาไปแล้ว 4 เดือน จากนั้นจะมีการประเมินผลกลุ่มผู้ป่วยที่รับการบำบัดระยะสั้น หลังจากผ่านไปแล้ว 6 เดือน โดยนักวิจัยจะดูรายงานพฤติกรรมที่ผู้ป่วยเขียนขึ้นเอง และอาการอื่นๆ
ในช่วงท้ายของการรักษา ผู้ป่วยในกลุ่มที่รับการบำบัดได้แสดงรายงานของตัวเองว่ามีอาการเสพติดลดลง เช่น การใช้เวลาออนไลน์ลดลง การเข้าสังคม การทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
นักวิจัยพบว่า กลุ่มที่เคยผ่านการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรมมีอาการของโรคลดลงมากกว่า 10 เท่าของกลุ่มที่เป็นกลุ่มควบคุม ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาแบบเข้มข้นกับผู้รับการทดลองซึ่งป่วยจากการเสพติดอินเทอร์เน็ตหรือเกมได้ผล
นอกจากนี้ 64% ของผู้ชายที่ติดอินเทอร์เน็ตมีอาการทุเลาลง ถ้าพวกเขาได้รับการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) ระยะสั้น ขณะที่ผู้ชายที่อาการทุเลาลงระหว่างรอการรักษามี 23.9%
นับว่าเป็นครั้งแรกที่เป็นการทดลองทางแพทย์หลายประเภท เพื่อหาวิธีรักษาการเสพติดอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย เช่น จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไป การที่มีแต่เพศชาย รวมทั้งการอาศัยข้อมูลจากรายงานที่ผู้ป่วยเขียนขึ้นเอง นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยุติการทดลองกลางคัน มี 100 คนที่อยู่ในการทดลองครบถ้วนตามตารางที่กำหนด ในอนาคตจะมีการทดลองที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งมีผู้หญิง และใช้เวลานานขึ้น
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2019/07/10/health/internet-addiction-therapy-study/index.html
https://jamanetwork.com/journals/jamapsychiatry/article-abstract/2737418
https://cosmosmagazine.com/biology/psychotherapy-may-help-with-gaming-addiction
ภาพ: GETTYIMAGES
Tags: อินเทอร์เน็ต, สุขภาพ