ถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิลที่จุดประกายการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก โดยถ่านหินถูกใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และซีเมนต์ นอกจากนี้ ถ่านหินเหลวอาจเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตสำหรับยานยนต์
อย่างไรก็ดี ถ่านหิน เชื้อเพลิงราคาถูกอาจมาพร้อมกับต้นทุนผลกระทบภายนอก (externality) ที่ราคาแพง ตั้งแต่ต้นทางการทำลายระบบนิเวศจากการทำเหมืองถ่านหิน การขนส่งที่นับว่าเสี่ยงต่อการปนเปื้อนตลอดเส้นทาง และปลายทางคือการเผาไหม้ที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21
แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ถ่านหิน ‘สะอาดขึ้น’ แต่การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของถ่านหินก็ยังมากกว่าเชื้อเพลิงอย่างแก๊สธรรมชาติถึง 2 เท่า ถ่านหินจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักที่ประชาคมโลกต้องการที่จะ ‘ลด ละ เลิก’ โดยทดแทนด้วยเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ในปี พ.ศ. 2557 นักวิชาการต่างมองว่าเป็นหมุดหมายสำคัญเพราะความต้องการใช้ถ่านหินถึงจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ทันไร ความต้องการถ่านหินกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปีที่ผ่านมานำไปสู่คำถามว่าเกิดอะไรขึ้น
“เรื่องราวของถ่านหินคือเรื่องเล่าของสองโลก นโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลไกทางเศรษฐกิจทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินปิดตัวลงในบางประเทศ ในขณะที่บางประเทศ ถ่านหินยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะฐานการผลิตไฟฟ้าที่มั่นคงและราคาประหยัดโดยเปรียบเทียบ หลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูจะให้ความสำคัญเพียงความมั่นคงทางพลังงานและเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น” เคย์สุเกะ ซาดาโมริ (Keisuke Sadamori) ผู้อำนวยการด้านตลาดและความมั่นคงทางพลังงาน จากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุ
ผู้เขียนขอหยิบเรื่องเล่าถ่านหินจากสองโลกมานำเสนอ เพื่อให้เราเข้าใจภูมิทัศน์ที่แท้จริงของโลก และแนวโน้มนโยบายที่มีต่อถ่านหินในแต่ละภูมิภาค ว่าประเทศใดกำลังก้าวไปข้างหน้าและร่วมรับมือปัญหาของมนุษยชาติ และประเทศใดยังคงอยู่กับการใช้ถ่านหินเป็นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ และมองข้ามต้นทุนที่แท้จริงซึ่งสังคมต้องจ่าย
เรื่องเล่าจากโลกใหม่ของเหล่าประเทศผู้พยายามลดใช้ถ่านหิน
นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎหมายที่ตั้งเป้าแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ การรณรงค์ให้เลิกลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินและเรียกร้องให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ราคาของพลังงานหมุนเวียนที่ถูกลง รวมถึงปริมาณการผลิตแก๊สธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น แรงผลักเหล่านี้ทำให้สัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ต่างตั้งเป้าลดการใช้ถ่านหินอย่างชัดเจน เช่น สหราชอาณาจักรที่ตั้งเป้าลดถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้าให้เหลือศูนย์ภายใน พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังเสนอวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจเป็นกลางทางคาร์บอน” รวมถึงวาดกลยุทธ์เพื่อบรรลุตามแผนดังกล่าวภายใน พ.ศ. 2593
ส่วนสหรัฐอเมริกา แม้จะมีท่าทีไม่ไยดีต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสที่ตั้งเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงเดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมถ่านหิน แต่ปริมาณการใช้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างฮวบฮาบ และอาจลดต่ำที่สุดในรอบ 39 ปีเนื่องจากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ แต่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากที่อยู่ในแผนจะหยุดเดินเครื่อง
การลดลงของถ่านหินในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของแก๊สธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale gas) ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติลดต่ำลง อีกทั้งกฎหมายควบคุมเรื่องมลภาวะที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าแทนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีลดมลภาวะซึ่งอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
สุดท้ายคือประเทศจีน ยักษ์ใหญ่ที่ใช้ถ่านหินและปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อันดับหนึ่งของโลก ถ่านหินกว่าครึ่งของโลกถูกเผาในประเทศจีน แต่ภายหลังความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหามลภาวะทางอากาศ ประเทศจีนก็เดินหน้าพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในจีนลดลงจากราวร้อยละ 70 ในปี พ.ศ. 2543 เหลือราวร้อยละ 60 ในปีที่ผ่านมา และหากจีนยังยึดมั่นในนโยบายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนการใช้ถ่านหินอาจลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 40 ใน พ.ศ. 2583
ผู้เขียนขอวงเล็บไว้สักหน่อยสำหรับประเทศจีน เพราะถึงแม้สัดส่วนถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะลดลง แต่การใช้ถ่านหินในจีนกลับเพิ่มขึ้น
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความต้องการไฟฟ้าย่อมเติบโตไปตามเศรษฐกิจ จีนเป็นหนึ่งประเทศที่มีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลซึ่งคุมอุตสาหกรรมพลังงานจึงต้องวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว
สมมติว่าปีที่ผ่านมา จีนผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 100 เมกะวัตต์ ตามแผนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน จีนได้ปรับโรงไฟฟ้าใหม่ให้เป็นถ่านหิน 20 เมกะวัตต์ และอื่นๆ 80 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ว่าสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลดลง แต่เนื่องจากความต้องการไฟฟ้านั้นเติบโตไปตามเศรษฐกิจของจีน จึงทำให้ปริมาณถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในจีนกลับเพิ่มสูงขึ้น
เรื่องเล่าจากโลกเก่าของเหล่าประเทศที่ส่งเสริมถ่านหิน
กลุ่มประเทศที่เป็นแกนนำหลักในการใช้ถ่านหิน คือเหล่าประเทศที่มีแหล่งสำรองถ่านหินจำนวนมาก นำทีมโดยอินเดีย ผู้ผลิตถ่านหินมากที่สุดอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และตุรกี รวมถึงประเทศฝั่งยุโรปตะวันออกอย่างโปแลนด์ที่ยังไม่มีนโยบายลดใช้ถ่านหิน และมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีประเทศน้องใหม่ที่มีแหล่งสำรองถ่านหินและอยู่ในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว คือฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ดูจากรายชื่อประเทศที่ส่งเสริมถ่านหิน ก็คงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าแกนนำคือกลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่ไม่มีถ่านหินสำรองแต่เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง ตะวันออกกลาง รวมถึงเอเชีย ภายใน พ.ศ. 2568 กลุ่มประเทศเหล่านี้จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่รวม 65 แห่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 50 กิกะวัตต์ หรือราวร้อยละ 2 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโลก โดยแหล่งทุนที่หนุนโครงการแทบทั้งหมดมาจากประเทศจีนและอินเดียซึ่งไม่ต่างจากการทำสัญญา “ส่งออกถ่านหิน” ในระยะยาวกับประเทศเหล่านั้น ในขณะที่แหล่งทุนจากโลกตะวันตกส่วนใหญ่เริ่มมีนโยบายลดละเลิกการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว
รายงานสถานการณ์ถ่านหินโลกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ พ.ศ. 2561 ระบุเพิ่มเติมว่า ทางออกที่จะเชื่อมโลกคู่ขนานระหว่างกลุ่มประเทศที่พยายามลดใช้ถ่านหินเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลุ่มประเทศที่ริเริ่มการใช้ถ่านหินโดยให้เหตุผลว่าเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกคือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่หวัง และยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์
เพื่อความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาจึงเดินหน้าภายใต้หลักคือคือการแบ่งสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียม โดยใช้ข้อมูลการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แบบสะสม กล่าวคือไม่ได้ดูเพียงว่าในปัจจุบันประเทศไหนปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากหรือน้อย แต่ดูจากผลรวมตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน
กราฟแสดงสัดส่วนการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แบบสะสม แบ่งตามภูมิภาค แผนภาพจาก ourworldindata.org
แม้จีนจะดูเป็นผู้นำด้านการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากมองแบบสะสมตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจวบจนปัจจุบัน ผู้นำจะกลับกลายเป็นสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 26 รองลงมาคือกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 23 ส่วนจีนคิดเป็นร้อยละ 12 และอินเดียร้อยละ 3 เท่านั้น
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องพัฒนาไปตามเส้นทางเดิมโดยการใช้พลังงานสกปรกโดยมีต้นทุนคือสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวนะครับ เพราะปัจจุบัน เรามีทางเลือกที่สะอาดกว่า ผลกระทบน้อยกว่า และยังมีบทเรียนล้ำค่าไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะในลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ในประเทศจีน
ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกคนน่าจะมีคำตอบในใจนะครับว่าต้องการอยู่ในโลกใบไหน
เอกสารประกอบการเขียน
Coal 2018 – Analysis and forecasts to 2023
The World Needs to Quit Coal. Why Is It So Hard?
Explaining the increase in coal consumption worldwide
These countries are driving global demand for coal
Tags: สิ่งแวดล้อม, พลังงาน, ถ่านหิน