เชื่อว่าในวัยเด็กของใครหลายคน ย่อมต้องมีสักครั้งที่เคยจินตนาการถึงการได้เกิดเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายที่มีชีวิตสวยหรูอยู่ในวังกันแน่ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือนิทานเรื่องไหนๆ ความหรูหรา ความดราม่า และความลึกลับไม่ต่างจากเทพนิยายของราชวงศ์ก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของพระนางมารี อองตัวเน็ต ราชินีฝรั่งเศสที่ความจริงเกี่ยวกับตัวเธอยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอ, ควีนอลิซาเบธที่ 1 The Virgin Queen ผู้เลือกแต่งงานกับประเทศอังกฤษ ไปจนถึงควีนวิกตอเรีย ผู้เป็นต้นกำเนิดของการใส่ชุดดำไว้ทุกข์เพื่อระลึกถึงคนรักที่จากไป แต่เมื่อพูดถึงชีวิตราชวงศ์ที่เต็มไปด้วยความดราม่าในโลกยุคใหม่ รับรองว่าคงไม่มีใครเกินชีวิตของเจ้าหญิงน้อยที่ขึ้นเกิดขึ้นมาบนแผ่นดินอังกฤษในวันที่ 21 เมษายน 1926 ที่ต่อมาได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ซึ่งเป็นประมุขของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ 16 ประเทศในปัจจุบัน

ตั้งแต่วันที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในวัยเพียง 27 ปี ขึ้นครองราชย์ท่ามกลางแนวคิดดั้งเดิมที่สถาบันพระกษัตริย์อังกฤษถูกมองว่าเป็นสถาบันที่ลึกลับและเต็มไปด้วยความรู้สึกแบบเทพนิยาย มีการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับราชวงศ์ในปี 1956 หรือหลังจากควีนเอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชย์ 4 ปี ผลปรากฏว่าประชาชน 35% ยังคงเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ถูกกำหนดและเลือกสรรมาโดยพระเจ้า จนมาถึงวันที่ควีนเอลิซาเบธทำภารกิจลับร่วมกับ James Bond โดยการปรากฏตัวในวิดีโอพิธีเปิด London Olympics 2012 (กระโดดร่มโดยใช้สตันท์แมน) วันที่สินค้าตลกๆ และมีมล้อเลียนราชวงศ์เต็มบ้านเต็มเมือง วันที่การวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกลายมาเป็นเรื่องปกติซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถทำได้อย่างมีอิสระ

กว่าที่ประเทศอังกฤษจะเดินทางมาสู่จุดที่มุมมองของประชาชนต่อราชวงศ์และควีนเอลิซาเบธที่สองเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าหญิงในเทพนิยายที่แตะต้องไม่ได้กลายมาเป็นแบรนด์ไอคอนระดับโลก ความหมายและความสำคัญของราชวงศ์หรือควีนอลิซาเบธเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตลอดเวลาที่ผ่านมา

การระเบิดครั้งแรก

หากจะย้อนเวลากลับไปในวันที่มีการหยิบเอาสื่อบันเทิงหรือวัฒนธรรมป๊อปมาใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์และราชวงศ์อังกฤษเป็นครั้งแรกๆ เราคงต้องย้อนกลับไปในปีที่ควีนเอลิซาเบธครองราชย์ครบ 25 ปีและมีการจัดพระราชพิธี Silver Jubilee หรือพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปีขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายน ปี 1977

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองนั้น ในวันที่ 27 พฤษภาคม 1977 หรือเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าพิธี วงพังค์ร็อคจากเกาะอังกฤษอย่าง Sex Pistols ได้ปล่อยบทเพลงชื่อ ‘God Save The Queen’ ให้ชาวโลกได้ฟัง ถึงแม้เพลงนี้จะมีชื่อเดียวกับเพลงชาติของประเทศอังกฤษ แต่เนื้อหาไม่ใช่การสรรเสริญราชวงศ์หรือราชินี แต่กลับพูดถึงความหมดหวังที่ประชาชนมีให้กับประเทศชาติและราชวงศ์ โดยเปรียบเทียบราชวงศ์ว่าไม่ต่างจากระบอบฟาสซิสต์ และยังมีการกล่าวถึงควีนอลิซาเบธที่สองว่าไม่ใช่มนุษย์และไม่ต่างจากเครื่องจักรที่ถูกผู้คนสั่งให้ทำสิ่งต่างๆ โดยสาเหตุที่ Sex Pistols ปล่อยเพลงนี้ออกมาในช่วงพิธีฉลองการครองราชย์ ก็เพื่อจะแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อราชวงศ์ที่ใช้เงินจำนวนมหาศาลในการจัดงานเฉลิมฉลอง ทั้งที่สถานการณ์ในประเทศอังกฤษขณะนั้นเต็มไปด้วยความลำบากจากการบริหารงานของรัฐบาลและการจลาจล โดยที่ราชวงศ์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ

“God save the queen

The fascist regime

They made you a moron

A potential H bomb

God save the queen

She’s not a human being

and There’s no future

And England’s dreaming

Don’t be told what you want

Don’t be told what you need

There’s no future

No future

No future for you”

God Save The Queen – Sex Pistols

ทันทีที่ปล่อยเพลง God Save The Queen ให้ได้ฟังกัน Sex Pistols ก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงลบอย่างหนักจากทั้งจากสื่อและบุคคลทั่วไป โดยสมาชิกสภา Bernard Brook Partridge ออกมาให้ความเห็นถึงการกระทำนี้ว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นมนุษย์และสมควรตาย

นอกจากนี้เพลง God Save The Queen ยังถูกแบนจากหลายสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่อหลักในขณะนั้นอย่าง BBC ที่เป็นเสมือนช่องทางการแจ้งเกิดของศิลปินหลายๆ คน แม้กระทั่งร้านค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Woolworth และบรรดาร้านขายแผ่นเสียงรายย่อยก็ปฏิเสธที่จะวางจำหน่ายเพราะกลัวผลกระทบที่จะตามมาจากเนื้อหาที่รุนแรง จนสามารถพูดได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ถูกเซ็นเซอร์หนักที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษเลยทีเดียว

แต่จากมรสุมแห่งการปิดกั้นทั้งหมดทั้งมวล ใครจะไปเชื่อว่าพลังแห่งมวลมหาประชาชนส่งให้ God Save the Queen สามารถขายได้ถึงวันละ 1 แสน 5 หมื่น ชุดต่อวัน และขึ้นอันดับหนึ่งบน NME charts และอันดับสองบน UK Official Single Charts

ความกล้าและบ้าของ Sex Pistols ในครั้งนั้นไม่ได้ทำให้พวกเขาถูกจับไปปรับทัศนคติแต่อย่างใด แถมยังทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าของเพลงร็อคระดับตำนานอีกเพลงหนึ่งของโลก แต่พลังที่ความบ้าของเพลงนี้ส่งออกมาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะมันเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนได้รับรู้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อังกฤษอย่างตรงไปตรงมาผ่านสื่อต่างๆ ก็สามารถทำได้และยังมีคนที่พร้อมจะตั้งคำถามถึงสิ่งนี้ไปด้วยกันอยู่ไม่น้อย

นอกจากเพลง God Save the Queen จะเป็นเหมือนระเบิดลูกแรกที่ทิ้งมุมมองใหม่เอาไว้ให้ผู้คนแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของภาพลักษณ์แบบ Pop Icon ของควีนอลิซาเบธที่สองอีกด้วย เพราะในช่วงที่ Sex Pistols ปล่อยบทเพลงสุดดุเดือดนี้ออกมา Malcolm McLaren ผู้จัดการวง ซึ่งกำลังเดทกับ Viviene Westwood แฟชั่นดีไซน์เนอร์ผู้เป็นคนจุดประกายแฟชั่นแนวพังค์ร็อกให้โด่งดังไปทั่วโลกในยุค 70s ได้ร่วมกันออกแบบเสื้อยืดสุดป๊อปจากภาพหน้าปกซิงเกิ้ล God Save the Queen ที่ออกแบบโดย Jamie Reid ซึ่งเป็นการนำเอาภาพถ่ายของควีนอลิซาเบธที่สองในพิธีขึ้นครองราชย์ปี 1952 มาสร้างสรรคค์เพิ่มเติมด้วยการนำเอารูปเข็มกลัดมากลัดที่ปาก และมีสัญลักษณ์สวัสดิกะปิดตา (ในขณะที่รูปบนปกซิงเกิลเพลงนี้ใช้แถบอักษรคำว่า God Save the Queen คาดที่ตา และคำว่า Sex Pistols คาดที่ปาก) ออกจำหน่ายจนสร้างความฮือฮาและได้รับความสนใจไปทั่วโลก และกลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นตามาจนถึงปัจจุบัน

Malcolm McLaren และ Viviene Westwood ในเสื้อยืด God Save the Queen

ถึงแม้ว่าบทเพลงและเสื้อยืดที่สุ่มเสี่ยงนี้จะสร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนมากมาย แต่ราชวงศ์และตัวควีนอลิซาเบธที่สองเองดูเหมือนจะไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นสักเท่าไร เพราะในปี 1998 Viviene Westwood ก็ได้รับรางวัล OBE (Order of the Bristish Empire) สำหรับผู้ที่ทำงานอุทิศตัวแก่สังคมจากควีนอลิซาเบธ และยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง (Dame) จากราชสำนักอังกฤษในปี 2006 อีกด้วย

God Save the Queen T-shirt – Viviene Westwood

เปลวเพลิงแห่งการตั้งคำถาม

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษ เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์เพลิงไหม้พระราชวังวินเซอร์ ในปี 1992 เมื่อทางราชวงศ์ออกมาร้องขอการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเพื่อนำมาซ่อมแซมพระราชวัง และทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากกับการนำเงินงบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมพระราชวังซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

ประกอบกับนโยบายของมาร์กาเร็ธ แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้นมีคำสั่งให้สถาบันและองค์กรเก่าแก่ต่างๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความมีประโยชน์ต่อประเทศชาติของสถาบันและองค์กรนั้นๆ และหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็จะต้องถูกยกเลิกหรือปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ในเวลานั้นประเด็นเรื่องสิทธิพิเศษทางการเงิน ความมั่งคั่ง และการยกเว้นภาษีของราชวงศ์ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามกันอย่างแพร่หลาย ผลสุดท้ายควีนอลิซาเบธที่สองและเจ้าฟ้าชายชาลล์จึงอาสาที่จะจ่ายภาษีด้วยเงินส่วนพระองค์เอง และมีการประกาศให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณสาธารณะเพื่อราชวงศ์ สิ้นสุดลงตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับราชวงศ์อังกฤษที่เคยเต็มไปด้วยสิทธิพิเศษมากมาย คล้ายเป็นการสื่อสารไปถึงผู้คนและประชาชนชาวอังกฤษว่าราชวงศ์พร้อมแล้วที่จะปรับตัวตามความต้องการของประชาชน และเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จากสถาบันเก่าแก่ให้กลายเป็นสถาบันที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม



นอกจากนี้การปรับตัวที่สำคัญของราชวงศ์อังกฤษก็คือการเปิดพระราชวังบัคกิ้งแฮมพระราชวังเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ซึ่งเป็นที่ประทับในปัจจุบันของควีนเอลิซาเบธที่สอง พระราชสวามี และราชวงศ์ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ถึงแม้ห้องส่วนที่เปิดให้ผู้คนเข้าชมจะไม่ใช่ส่วนที่ประทับอยู่อาศัย แต่เป็นห้องที่ใช้ในการรับแขกบ้านแขกเมืองทั้งหมด 19 ห้อง แต่นั่นก็หมายความว่าประชาชนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวตาดำๆ อย่างเราๆ สามารถที่จะตบเท้าเดินเข้าไปเที่ยวในบ้านที่กษัตริย์และราชวงศ์ใช้ในการอยู่อาศัยได้อย่างอิสระถ้ามีเงินจ่ายค่าเข้า!



เมื่อความเป็นมนุษย์ถูกสื่อสารผ่านป๊อปคัลเจอร์
 

ความเป็นป๊อปไอคอนของควีนอลิซาเบธที่สองเริ่มฉายแสงออกมาอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ด้วยการถูกนำไปบอกเล่าผ่านภาพยนตร์มากมาย แต่ภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้คนเริ่มมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวควีนอลิซาเบธที่สองก็คือ The Queen (2006)

The Queen บอกเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังและเบื้องลึกในจิตใจของควีนอลิซาเบธที่สองในช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญหน้ากับความโศกเศร้าจากการจากไปอย่างกะทันหันของเจ้าหญิงไดอาน่าผู้โด่งดังและเป็นที่รักของประชาชน ซึ่งก่อตัวเป็นความไม่พอใจในท่าทีอันเฉยเมยของราชวงศ์และควีนอลิซาเบธที่สองต่อโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ จนเกิดเป็นการโจมตีสถาบันอย่างรุนแรงถึงขั้นมีผลสำรวจออกมาว่าประชาชน 70% คิดว่าการนิ่งเฉยของควีนเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ และ 1 ใน 4 ของผู้คนเหล่านั้นเห็นชอบที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ด้วยความพยายามของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นอย่างโทนี่ แบลร์ที่พยายามข้ามผ่านวิกฤตการที่เกิดขึ้น โดยการกระตุ้นให้ควีนเอลิซาเบธ ซึ่งยึดถือในธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ที่ว่าราชินีควรต้องเก็บความรู้สึกของตนเองเอาไว้และไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ต่อหน้าสาธารณชน ให้ตัดสินใจออกมาแสดงความโศกเศร้าให้ทุกคนได้ทราบเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงพาเราไปสำรวจความคิดเบื้องลึกของควีนอลิซาเบธในครั้งนั้น ซึ่งได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่าการที่ราชวงศ์เลือกที่จะไม่แสดงปฏิกริยาตอบรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเลือกจะเก็บความเศร้าโศกไว้ภายในครอบครัว เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพราะในขณะที่เสียชีวิต เจ้าหญิงไดอาน่าไม่ได้เป็นสมาชิกของราชวงศ์อีกแล้ว และโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอาน่าอย่างเจ้าชายวิลเลี่ยมส์และเจ้าชายแฮร์รี่ ก็ควรได้รับการปกป้องให้พ้นจากความอยากรู้อยากเห็นของสื่อด้วยการเก็บตัวอยู่ในปราสาทที่สก็อตแลนด์ แต่ยังพาเราไปเห็นอารมณ์ความรู้สึกที่ควีนอลิซาเบธเก็บซ่อนเอาไว้ภายในอีกด้วย

 

เฮเลน เมียร์เรน ผู้รับบทเป็นควีนอลิซาเบธได้ถ่ายทอดอารมณ์ที่อ่อนไหวและไม่มั่นคงภายในจิตใจซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ของประมุขแห่งเครือจักรภพอังกฤษออกมาอย่างละเอียดอ่อน ผ่านหลากหลายเหตุการณ์ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ทรงตัดพ้อถึงการเปลี่ยนแปลงทางความนิยมของผู้คนกับสมเด็จพระราชชนนี ผู้เป็นแม่ว่าในเมื่อเราไม่อาจเข้าใจจิตใจผู้คนของเราได้อีกแล้ว บางทีมันอาจถึงเวลาที่เราควรส่งมอบหน้าที่ต่อให้คนรุ่นใหม่

หรือฉากที่ทรงออกมาพบปะกับประชาชนหน้าพระราชวังบัคกิ้งแฮมท่ามกลางช่อดอกไม้สูงท่วมศีรษะที่ถูกนำมาวางเพื่อไว้อาลัยให้กับเจ้าหญิงไดอาน่าซึ่งปะปนไปกับคำด่าทอถึงราชวงศ์และตัวพระองค์เอง

แต่ฉากที่ได้เปิดเปลือยความเป็นมนุษย์ของราชินีที่พยายามเก็บงำความอารมณ์รู้สึกของตัวเองเอาไว้ได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คงไม่พ้นภาพแผ่นหลังของควีนอลิซาเบธที่กำลังหลั่งน้ำตาอย่างโดดเดี่ยวและเงียบงันในป่าใกล้กับปราสาทที่ราชวงศ์เก็บตัวอยู่ในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวอังกฤษได้เห็นอารมณ์ของราชินีของพวกเขา แม้จะผ่านสื่ออย่างภาพยนตร์ก็ตาม และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ถึงแม้จะเป็นเพียงในภาพยนตร์แต่ภาพการร้องไห้ของควีนอลิซาเบธก็ยังไม่ได้แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับแสดงให้เห็นผ่านแผ่นหลังที่สั่นไหวของพระองค์เท่านั้น 



หลังจากที่หนังออกฉาย แทนที่ The Queen จะทำให้ประชาชนเกลียดในความเย็นชาหรือทัศนคติที่ไม่ลงรอยกันกับเจ้าหญิงไดอาน่าซึ่งเป็นขวัญใจประชาชน แต่หนังเรื่องนี้กลับกลายเป็นเสมือนภาพโฆษณาที่เปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้คนทั้งในหนังและในโลกแห่งความจริงที่มีต่อควีนอลิซาเบธที่สอง และทำให้ประชาชนชาวอังกฤษหันมารักและเข้าใจในตัวควีนของพวกเขามากยิ่งขึ้นหลังจากที่ได้รู้จักกับด้านที่เป็นมนุษย์ของเธอ โดยหลังจากที่ The Queen ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คนในครั้งนั้น ภาพยนตร์หลากหลายแนวก็เริ่มหยิบเอาเรื่องราวหรือคาแร็กเตอร์ของควีนอลิซาเบธที่สองมาใช้ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้สไตล์เจ้าหญิงหนีออกจากวังอย่าง A Royal Night Out (2015) หรือดราม่าซีรีส์ขนาดยาวอย่าง The Crown (2016) ไปจนถึงการปรากฏตัวในฐานะควีนตัวสีเหลืองในหลายๆ ตอนของการ์ตูนเรื่อง The Simpsons และบทเล็กบทน้อยในสื่ออื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ใช่แค่ในโลกภาพยนตร์เท่านั้น แต่บรรดาข้าวของเครื่องใช้ทั้งหลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากควีนอลิซาเบธที่สอง ก็กลายเป็นมาของที่ระลึกเก๋ๆ ที่ทั้งประชาชนและบรรดานักท่องเที่ยวอยากที่จะเก็บสะสม Helaine Silverman ศาสตราจารย์จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ให้คำนิยามบรรดาข้าวของเหล่านี้ว่า ‘portable royalty’ หรือความภักดีฉบับพกพาที่อาจสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ราชวงศ์จะไม่ได้มาในภาพลักษณ์ที่จริงจังและเป็นทางการเหมือนในอดีต แต่เมื่อราชวงศ์จับต้องได้และเข้าถึงจิตใจของผู้คน ผู้คนก็พร้อมที่จะพกพาความภักดีใส่กระเป๋าไปไหนมาไหนอยู่เหมือนเดิม

การกลายมาเป็นป๊อปไอคอนของควีนอลิซาเบธที่สองไม่เพียงแค่ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับราชวงศ์มากขึ้น จนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และล้อเลียนราชวงศ์ดั่งเป็นคนใกล้ชิด แต่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมที่หาไม่ได้จากที่ไหน หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอังกฤษพร้อมกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจนทำรายได้มากกว่า 750 ล้านดอลลาร์ต่อปี

บทบาทของราชวงศ์และราชินีอังกฤษในปัจจุบันจึงเปลี่ยนจากการเป็นเพียงศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติอยู่ไกลๆ มาเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งแง่อิสระในการพูดถึงและสร้างสรรค์สื่อบันเทิง และแง่การทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ไม่ว่าจะด้วยการทำสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือการเป็น Pop Icon ที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว โดยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษในปี 2015 พบว่า ผู้ที่เชื่อว่าการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ยังคงส่งผลดีต่อประเทศมีมากถึง 68% จึงอาจเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษประสบผลสำเร็จอย่างสวยงาม



ถ้าหากเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของราชวงศ์อังกฤษตลอดกว่า 60 ปี ตั้งแต่วันที่ควีนเอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชย์จนมาถึงวันที่กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ระดับโลก จะสามารถมอบบทเรียนอะไรบางอย่างให้กับเราได้ บทเรียนนั้นคงจะบอกว่า การพยายามคงราชวงศ์ให้ศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากสมมติเทพที่แตะต้องไม่ได้ อาจไม่ใช่คำตอบของการทำให้ราชวงศ์เข้มแข็งเสมอไป แต่มุมมองใหม่ๆ และการพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอยู่เสมอต่างหาก ที่จะทำให้ราชวงศ์สามารถก้าวไปอยู่ในจิตใจของผู้คนได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง: 

http://www.chaoprayanews.com/2009/03/03/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9/

https://www.theatlantic.com/international/archive/2015/10/british-royal-monarchy-queen-elizabeth/411388/

https://theconversation.com/the-song-that-had-one-british-politician-wishing-for-the-sex-pistols-sudden-death-77767

https://riotfest.org/2017/05/god-save-the-queen-by-sex-pistols-was-banned/

https://www.telegraph.co.uk/music/artists/god-save-queen-40-sex-pistols-made-controversial-song-history/

https://en.wikipedia.org/wiki/God_Save_the_Queen_(Sex_Pistols_song)

https://www.cbc.ca/news/entertainment/andy-warhol-s-queen-elizabeth-ii-portraits-join-royal-collection-1.1275567

https://www.artsy.net/collection/andy-warhol-reigning-queens

https://www.ultimate-guitar.com/articles/features/the_story_behind_the_controversial_sex_pistols_t-shirt-77443https://web.uri.edu/iaics/files/06-Shi-Tongyun.pdfhttps://www.theperspective.com/debates/living/perspective-royal-family/https://yougov.co.uk/topics/politics/articles-reports/2015/09/08/monarchy-here-stay

ภาพประกอบจาก:

https://www.vulture.com/2016/11/crowns-of-the-crown-a-history-lesson.html

https://www.eonline.com/photos/18669/stars-playing-queen-elizabeth-ii/693693

https://iview.abc.net.au/show/royal-night-out

https://www.digitalspy.com/movies/a26094853/helen-mirren-prince-harry-william-reaction-playing-queen-elizabeth-ii/

http://world.time.com/2012/05/30/the-best-and-wackiest-royal-jubilee-souvenirs/photo/diamond-jubilee/

https://www.funko.com/blog/article/coming-soon-pop-royals

https://djstormsblog.com/2012/06/08/pantone-queen-diamond-jubilee-color-guide/

https://www.amazon.co.uk/DUCKSHOP-Queen-Elizabeth-Rubber-Bathduck/dp/B01GAE3WDG

http://www.nogarlicnoonions.com/ice-cream-scoop-fit-for-a-queen/

https://www.ebay.co.uk/itm/NOVELTY-LIGHT-AND-SOUND-QUEEN-KEYRING-BRITISH-SOUVENIR-ROYAL-FAMILY-/322444854559https://www.ultimate-guitar.com/articles/features/the_story_behind_the_controversial_sex_pistols_t-shirt-77443

https://www.empireonline.com/movies/queen/review/

Tags: