และแล้วก็ถึงเวลาที่นักศึกษาแพทย์และพยาบาลไม่ต้องเรียนภาคปฏิบัติกับหุ่นจำลองธรรมดาๆ อีกต่อไป เพราะสิ่งที่กำลังจะเข้ามามีส่วนในการเรียนการสอนอาจเป็น ‘Hal’ หุ่นยนต์เด็กผู้ชายวัย 5 ขวบในรูปแบบเสมือนจริงที่กระพริบตาได้ อ้าปากได้ หายใจได้ มีชีพจร ตาสีฟ้ามีม่านตาที่หดได้เมื่อถูกไฟฉายส่องและมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ เลือดไหล ถ่ายปัสสาวะ ร้องไห้ แสดงอารมณ์ทางสีหน้าได้ รวมทั้งผู้สอนยังสามารถสั่งการให้เขาแสดงอาการแพ้อย่างรุนแรง (anaphylactic shock) และสั่งให้หัวใจหยุดทำงานอย่างเฉียบพลัน (cardiac arrest) ได้ด้วย

ฮาลทำงานด้วยเครื่องกลผสมกับระบบลมอากาศ ทำให้เขาหายใจได้ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้จริง นอกจากนั้นยังมีระบบแรงดันน้ำที่ทำให้เลือดและน้ำตาปลอมไหลออกมาได้ เช่น ขณะที่เจาะปลายนิ้วเช็คระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนมอเตอร์ภายใต้ใบหน้าก็ทำให้เขาแสดงอารมณ์โกรธหรือกลัวออกมา พร้อมกับส่งเสียงร้องไห้ เรียกหาแม่ และตะโกนใส่ผู้ใช้งานว่าห้ามแตะต้องตัวเขา ผู้ใช้สามารถทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) รวมทั้งเย็บแผลและใส่ท่อต่อเครื่องช่วยหายใจให้เขาได้

ฟังก์ชันเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้แพทย์และพยาบาลได้ฝึกรักษาเด็กๆ เท่านั้น แต่เพื่อให้พวกเขาฝึกสังเกตอาการและการแสดงออกซึ่งความเจ็บปวดทางสีหน้าและอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยเด็กเป็นหลัก เช่น การขมวดคิ้ว หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้า หรือการบวมของลิ้นและช่องคอในกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กๆ จำนวนมากไม่สามารถอธิบายอาการและระดับความเจ็บปวดของตัวเองออกมาเป็นคำพูดได้ กลายเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำให้การฝึกภาคปฏิบัตินั้นจริงยิ่งกว่าจริง

ฮาลถูกผลิตขึ้นโดยบริษัท Gaumard Scientific ที่ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์จำลองที่ใช้ในทางการแพทย์มาตั้งแต่ราวปี 1940 รวมทั้งเป็นผู้ผลิตโครงกระดูกมนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นเจ้าแรก หน่วยงานที่ได้ลองใช้หุ่นยนต์ตัวนี้เพื่อเพิ่มความสมจริงในการเรียนแล้วคือ Revive Initiative for Resuscitation Excellence ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยเจ้าหุ่นยนต์เด็กตัวนี้สนนราคา 84,000 เหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 2,750,000 บาท นอกจากนี้ยังมี ‘วิคทอเรีย’ หุ่นยนต์สาวผมบลอนด์ที่คลอดลูกออกมาเป็นเบบี้หุ่นยนต์ และ ‘ซูเปอร์โทรี’ ที่เป็นเด็กทารก เอาไว้ให้พยาบาลฝึกสังเกตอาการป่วยของเด็กแรกเกิดด้วย

ขณะนี้ยังไม่มีใครออกมาค้านหุ่นยนต์ชุดนี้ของ Gaumard Scientific เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าจุดประสงค์ของการผลิตก็เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน ทำให้พวกเขามีสถานะเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ไม่ใช่ ‘ผู้สอน’ ที่มีระบบความคิดความรู้สึกเป็นของตัวเอง ฉะนั้นจะมีก็แต่เพียงความกังวลที่ว่า ผู้เรียนบางคนอาจเกิดความรู้สึกไม่สบายใจกับหน้าตาหลอนๆ หรือหวาดกลัวที่จะโต้ตอบกับสิ่งที่ ‘ไม่จริง’ แต่ก็ ‘เหมือนจริง’ เสียเหลือเกิน และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องทดลองและทดสอบกันต่อไป

อ้างอิง

https://www.wired.com/story/hal-robot/

https://www.thisisinsider.com/hal-the-robot-child-bleeds-cries-and-screams-2018-9

https://m.youtube.com/watch?v=zUAYaSVAHv8