นักวิจัยจากสถาบันวิจัยอ็อกซฟอร์ด อินเทอร์เน็ต ในสหราชอาณาจักร เผยผลศึกษาการใช้แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล 70 ประเทศทั่วโลกเพื่อกระจายข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยตั้งใจ (disinformation) โจมตีฝ่ายตรงข้าม หนึ่งในนั้นรวมถึง ‘ประเทศไทย’

งานวิจัยเรื่อง The Global Disinformation Order 2019 Global Inventory of Organised Social Media Manipulation โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดศึกษา ‘กองทัพไซเบอร์’ ศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชน องค์กรประชาสังคม และหน่วยงานรัฐบาล เพื่อศึกษาเทคนิคและวิธีการปล่อยข้อมูลผิดๆ โดยรัฐบาลและพรรคการเมืองทั่วโลก งานวิจัยเน้นไปที่เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่สุด เบื้องต้นพบว่ามี 70 ประเทศที่มีแคมเปญแพร่กระจายข้อมูลผิดผ่านการควบคุมข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย 

งานวิจัยระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบการใช้ ‘กองทัพไซเบอร์’ เพื่อควบคุมความเห็นของสาธารณะใน 70 ประเทศ ทั้งการสร้างเครือข่ายของ ‘บอต’ เพื่อทำให้สารของตนเองกระจายไปได้ไกล จัดตั้ง ‘ตัวป่วน’ (troll) โจมตีผู้เห็นต่างทางการเมืองและสื่อมวลชน ผลิตและส่งต่อเฮทสปีช หรือความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง รวมทั้งใช้บัญชีปลอมทางโซเชียลมีเดียเพื่อทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นหนึ่งๆ มากมาย

มีรัฐบาลหลายแห่งที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน ลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม และจ้างนักเรียนนักศึกษามาสร้างบัญชีปลอมเพื่อแชร์ความเห็นของฝ่ายรัฐบาล เทคนิคที่ใช้ในการปล่อยข้อมูลผิดๆ ทั้ง การใช้บอต แอคเคานท์ปลอม และจ้าง “ตัวป่วน” (troll) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ข้อมูลเพื่อชวนเชื่อในประเทศของตัวเองมากที่สุด แต่การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงในปีนี้ ปฏิบัติการของจีนเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมอีก เช่น การจงใจแพร่กระจายข้อมูลที่ทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงฮ่องกง

ฟิลิป เอ็น โฮวาร์ด ผู้อำนวยการสถาบันอ็อกซฟอร์ดอินเทอร์เน็ต หนึ่งในผู้จัดทำรายงานนี้กล่าวว่า การจงใจปล่อยข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ทำโดยแฮกเกอร์หรือคนไม่กี่คนเพื่อสร้างคลิกเบตให้คนเข้ามาดูเยอะๆ อีกต่อไป ตอนนี้มีลักษณะที่เป็นมืออาชีพ จากองค์กรที่เป็นทางการ ซึ่งมีการจ้างงาน จ่ายเงินโบนัส

วิธีการที่ใช้เพื่อจงใจสร้างข้อมูลให้เข้าใจผิด มีทั้งการสร้างมีม ทำวิดีโอ ผลิตเนื้อหา ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์จากอัลกอริธึ่มของโซเชียลมีเดีย อาศัยแพลตฟอร์มฟรีเพื่อให้เนื้อหาของตัวเองเป็นไวรัล 

ซาแมนธา แบรดชอว์ หนึ่งในนักวิจัยที่ศึกษากล่าวว่า การกำกับดูแลของรัฐบาล และสิ่งที่เฟซบุ๊กทำไปแล้วอย่างการทำคลังโฆษณานั้น ยังไม่มากพอ งานวิจัยชี้ว่า เฟซบุ๊กไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลึกลงไป อย่างรูปแบบการทำงานของอัลกอรึธึ่มที่ทำให้ข้อมูลผิดแพร่กระจายง่าย

การโฆษณาชวนเชื่อด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือควบคุมข้อมูลข่าวสารของประเทศเผด็จการ ยุทธศาสตร์ที่ใช้ควบคู่ไปกับการสอดแนม เซ็นเซอร์ และข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง 

ส่วนในประเทศไทย นักวิจัยพบว่า มีการใช้กองทัพไซเบอร์เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ใช้บัญชีปลอมและบอตเพื่อส่งข้อความสนับสนุนฝ่ายตนเอง สร้างตัวป่วน โจมตีฝ่ายตรงข้าม และปิดกั้นการมีส่วนร่วมด้วยการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง และมีหลักฐานชี้ว่า มีการฝึกฝนกองทัพไซเบอร์อย่างเป็นระบบ 

ขณะที่หลายประเทศเน้นปฏิบัติการภายในประเทศ หลายประเทศมีเป้าหมายนอกประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย อิหร่าน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซูเอลา

 

ที่มา:

แฟ้มภาพ : เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมตัวกันในห้อง E-War Room เพื่อตรวจตราเนื้อหาในโซเชียลมีเดียในช่วงบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย (ภาพเมื่อ 8 มีนาคม 2019 โดย Soe Zeya Tun/REUTERS)

Tags: , , ,