“ศิลปินชาวสเปนใช้มลภาวะในอากาศของเมืองหลวงของเม็กซิโก สร้างผลงานศิลปะบนเฟรมผ้าใบแคนวาส 52 ชิ้น เพื่อแสดงหลักฐานของวิกฤตสิ่งแวดล้อมในโลก”

ทุกวันนี้ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ผู้คนในโลกตระหนักและใส่ใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตมลพิษทางอากาศ ที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตไปหลายล้านคนในแต่ละปี แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ไม่เว้นต้องเผชิญวิกฤตนี้อย่างสาหัสในช่วงปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเมืองเม็กซิโกซิตี ในประเทศเม็กซิโก ที่มีแค่ไม่กี่วันที่คนในเมืองแห่งนี้จะมองเห็นทิวทัศน์ภูเขารอบนอกจากใจกลางเมือง ด้วยความที่เมืองถูกปกคลุมจากม่านหมอกของมลภาวะที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งโอโซน (หลายคนเข้าใจว่าโอโซนคืออากาศบริสุทธิ์ แต่จริงๆ แล้วโอโซนคือก๊าซที่เป็นพิษ และมีอันตรายต่อสุขภาพ), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, คาร์บอนมอนอกไซด์, และเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอากาศเกินมาตรฐานถึง 50 เปอร์เซ็นต์

สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของผลงานล่าสุดของศิลปินชาวสเปนสุดอื้อฉาว ซานติอาโก เซียร์ร่า (Santiago Sierra) อย่าง 52 Canvases exposed to the air of Mexico City ที่จัดแสดงในหอศิลป์ LABOR ในเมืองเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก ที่ดึงเอามลภาวะในอากาศมาติดอยู่บนพื้นผิวของผืนเฟรมผ้าใบ เพื่อแสดงให้เราเห็นถึงมลพิษที่อบอวลอยู่ในชีวิตคนเมืองร่วมสมัยในปัจจุบัน 

ภาพจาก http://santiago-sierra.com/201909_1024.php

ภาพจาก http://santiago-sierra.com/201909_1024.php

ภาพจาก http://santiago-sierra.com/201909_1024.php

กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา ซานติอาโก เซียร์ร่า ทำงานศิลปะที่สำรวจประเด็นทางการเมืองด้วยศิลปะการแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาวที่กระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเขามักจะว่าจ้างเหล่าบรรดาคนชายขอบและคนด้อยโอกาสทางสังคม ที่ตกเป็นเหยื่อและเบี้ยล่างในโลกทุนนิยม อย่าง แรงงานพลัดถิ่น โสเภณี หรือผู้ลี้ภัย มาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แสดงงานศิลปะ โครงการศิลปะของเขามักจะใช้บุคคลชายขอบที่ด้อยโอกาสเหล่านี้มาทำงานในฐานะแรงงานที่ประกอบกิจกรรมอันไร้ประโยชน์และน่าอดสู ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบทุนนิยม 

เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในโลกศิลปะในฐานะศิลปินผู้ท้าทายความคิดเกี่ยวกับประเด็นความถูกต้องทางการเมือง และสร้างความขุ่นเคืองให้แก่นักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยแนวทางศิลปะที่พัฒนาจากศิลปะแบบมินิมัลลิสม์ และคอนเซ็ปชวลอาร์ต จนกลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ ศิลปะการแสดงสด, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ภาพยนตร์ และศิลปะจัดวาง ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน 3 Cubes of 100 cm On Each Side Moved 700 cm (2002) ที่เขาจ้างแรงงานพลัดถิ่นให้ผลักแท่งซีเมนต์ขนาดใหญ่สามแท่งจากผนังหนึ่งไปสู่อีกผนังหนึ่งในห้องแสดงงานอย่างไร้ประโยชน์ เป็นเวลาหลายชั่วโมง

หรือผลงาน 160 cm Line Tattooed on 4 People El Gallo Arte Contemporáneo. Salamanca, Spain. December 2000 (2000) ที่เขาว่าจ้างเหล่าโสเภณีติดยา (ด้วยเงินจำนวนเท่ากับราคาที่พวกเธอจะซื้อเฮโรอีนได้หนึ่งช็อต) ให้มานั่งเรียงแถวให้ช่างสัก สักหลังเป็นลายเส้นตรงต่อๆ กัน

หรือผลงาน The Trap (2007) ที่เขาจ้างผู้อพยพผิดกฎหมาย ที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบด้วยค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินให้มานั่งเฉยๆ รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในงานเปิดนิทรรศการศิลปะ

หรือในผลงานที่อื้อฉาวที่สุดของเขาอย่าง Six People Who Are not Allowed to Be Paid for Sitting in Cardboard Boxes (2000) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่เขาว่าจ้างผู้ลี้ภัยจากเชชเนียหกคนให้นั่งเฉยๆ อยู่ภายในกล่องกระดาษลังที่ต่อขึ้นมาหยาบๆ วันละสี่ชั่วโมง เป็นเวลาหกสัปดาห์ พวกเขาต้องรับค่าจ้างอย่างลับๆ เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ตามกฎหมายของเยอรมนี ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะได้รับเงินสงเคราะห์จากรัฐบาล แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะถูกเนรเทศและส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดทันที 

ด้วยความที่ตัวกล่องปิดมิดชิด ผู้ชมจะไม่สามารถมองเห็นผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจากภายนอก แต่รับรู้ว่ามีคนอยู่ในกล่องได้จากเสียงกระแอมไอและความเคลื่อนไหวของผู้ลี้ภัยที่นั่งอยู่ภายในกล่อง ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจและสร้างความตึงเครียดให้แก่บรรยากาศในห้องแสดงงานและผู้ชมเป็นอย่างมาก ผลงานชิ้นนี้ส่งให้เซียร์ร่ากลายเป็นดาวเด่นของวงการศิลปะร่วมสมัยโลก และดึงดูดความสนใจสาธารณชนให้หันมาสนใจในสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและแรงงานชายขอบในสังคม เขาต้องการเปิดโปงอำนาจความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมที่กดทับคนชายขอบเหล่านี้และปิดบังพวกเขาเอาไว้จนมองไม่เห็น

ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่หอศิลป์ LABOR เซียร์ร่ามุ่งเน้นในการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในเชิงอำนาจที่มองไม่เห็น และประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยผลงาน 52 Canvases exposed to the air of Mexico City ที่เซียร์ร่าเอาเฟรมผ้าใบเคลือบสเปรย์กาว 52 ชิ้น ไปแขวนเอาไว้ทั่วเมืองเม็กซิโกซิตี (ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในมหานครที่เปี่ยมมลพิษที่สุดโดยองค์การอนามัยโลกในปี 1992) และทิ้งไว้ให้อากาศมาสัมผัสผิวพื้นเหนียวหนืดของผ้าใบ เรียงระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ไปจนถึง 52 สัปดาห์ หรือหนึ่งปี ในแต่ละสัปดาห์แคนวาสจะถูกเอาออกทีละชิ้น จนเหลือชิ้นสุดท้ายในสัปดาห์สุดท้าย หลักจากนั้นเขาก็นำแคสวาสเหล่านี้ส่งให้นักอนุรักษ์งานศิลปะผนึกคราบมลพิษเหล่านั้นติดอยู่บนผืนผ้าใบอย่างแน่นหนาถาวร 

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหลักฐานอันน่าตื่นตระหนกของการสะสมของมลพิษในอากาศในเมืองแห่งนี้ ในรูปของเฟรมผ้าใบสีขาวนวลในสัปดาห์แรก ไปจนถึงเฟรมผ้าใบสีดำเขรอะในสัปดาห์ที่ 52 หลังจากเซียร์ร่าสุ่มตัวอย่างมลพิษบนผืนผ้าใบเหล่านี้ไปตรวจสอบในห้องทดลองก็พบว่ามันประกอบด้วยอนุภาคโลหะหนัก แบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ อันเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วยหลายร้อยโรค ตั้งแต่เยื่อบุตาอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนของทางเดินหายใจและผิวหนัง 

ภาพจาก https://www.labor.org.mx/portfolio/52-lienzos-expuestos-al-aire-de-la-ciudad-de-mexico/

ภาพจาก https://www.labor.org.mx/portfolio/52-lienzos-expuestos-al-aire-de-la-ciudad-de-mexico/

ภาพจาก https://www.labor.org.mx/portfolio/52-lienzos-expuestos-al-aire-de-la-ciudad-de-mexico/

เฟรมผ้าใบเหล่านี้ถูกแขวนเรียงรายไล่ระดับจากสว่างที่สุดไปหามืดที่สุด ดูไกลๆ คล้ายกับภาพวาดสไตล์มินิมัลลิสม์ ที่ให้บรรยากาศขรึมขลังเปี่ยมจิตวิญญาณ แต่เมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ ก็จะเห็นคราบไคลเขรอะเลอะเทอะที่ดูเหมือนกับศิลปินจงใจเอาสิ่งสกปรกเข้ามาแปดเปื้อนพื้นที่สีขาวสะอาดตาของหอศิลป์ก็ปาน

ถึงแม้ผลงานเหล่านี้จะดูสวยงามเปี่ยมสุนทรียะ แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์เสียดสีเย้ยหยัน น่าขันขื่นยิ่งกว่านั้น เมื่อเราเองก็รู้ดีว่าคราบไคลดำเขรอะที่เกาะบนผ้าใบเหล่านั้นเป็นสิ่งเดียวกับที่จะเข้ามาเกาะอยู่ในปอดของเราเวลาที่สูดหายใจเอาอากาศเข้าไปด้วยเหมือนกัน 

ผลงาน ‘52 Canvases’ แสดงข้อเท็จจริงอันหนักแน่นเกี่ยวกับการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าจะหวนกลับมาส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงกับมนุษย์เองในภายหลัง ไม่เพียงแค่ในเม็กซิโกเท่านั้น หากแต่เป็นในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะจากการขยายตัวของพื้นที่เมือง ความแออัดของประชากร ที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ และการทำลายสภาพแวดล้อมจากการพัฒนาทางธุรกิจและระบบอุตสาหกรรม 

น่าขันที่ผู้มีอำนาจรัฐต่างก็เพิกเฉยละเลยต่อวิกฤตเหล่านี้ สังเกตได้จากกฎหมายควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมที่หย่อนยานในหลายประเทศ รวมถึงในบ้านเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ได้มีการพิจารณาว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดอนุภาคละเอียด นั้นไม่ควรเกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในขณะที่กฎหมายของเม็กซิโกพิจารณาว่าให้สูงได้กว่า 57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกินขีดจำกัดขององค์การอนามัยโลกอย่างอย่างมาก 

เซียร์ร่าใช้งานศิลปะของเขาชุดนี้แสดงหลักฐานอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ไม่ต่างอะไรกับการชำแหละเนื้อเยื่อปอดสีดำสนิทของกรุงเม็กซิโกซิตีออกมาตีแผ่ให้เห็น ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เขากระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักถึงวิกฤตสภาพแวดล้อม และโครงสร้างของอำนาจอันฉ้อฉลที่อยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจน และตั้งคำถามกับเราว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกันเสียที.

นิทรรศการ ‘52 Canvases Exposed to Mexico City’s Air’ จัดแสดงที่หอศิลป์ LABOR เม็กซิโกซิตี เม็กซิโก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนมกราคม 2020 

ภาพจาก http://santiago-sierra.com/201909_1024.php

ข้อมูล

http://santiago-sierra.com/201909_1024.php

https://www.labor.org.mx/portfolio/52-lienzos-expuestos-al-aire-de-la-ciudad-de-mexico/ 

https://frieze.com/article/santiago-sierra-uses-mexico-citys-polluted-air-paint

ขอบคุณภาพจาก Estudio Santiago Sierra

Tags: , ,