นี่คือเต่าล้านปีของจริง วารสาร Nature เพิ่งตีพิมพ์รายงานการค้นพบฟอสซิลเต่าที่เคยมีชีวิตเมื่อ 228 ล้านปีก่อน จุดที่พบนั้น อยู่ในมณฑลกุ้ยโจวทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ทีมวิจัยบอกว่า ฟอสซิลเต่าอายุราว 228 ล้านปีที่เพิ่งค้นพบล่าสุดนี้ คือ รอยต่อวิวัฒนาการที่ขาดหายไป เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า อีโอริงโอคีลอิส ซินเอนซิส (Eorhynchochelys sinensis) แปลว่า “เต่ามีจะงอยปากยุคเริ่มแรกจากจีน”

การค้นพบครั้งนี้ช่วยต่อจิ๊กซอว์ความสงสัยที่มาเติมเต็มเส้นทางวิวัฒนาการของสัตว์ที่ถือกำเนิดตั้งแต่ยุคที่โลกยังมีไดโนเสาร์ เพราะที่ผ่านมามีการค้นพบซากดึกดำบรรพของเต่ายุคเริ่มแรกค่อนข้างน้อย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเต่า

อย่างไรก็ดี เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีรูปร่างลักษณะเป็นเอกลักษณ์ นักบรรพชีวินวิทยา (คนที่ศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต) ถกเถียงกันมานานแล้วว่ากระดองเต่ามาจากไหน พวกมันมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษกลุ่มใด เพราะฟอสซิลของเต่าเท่าที่เคยพบมาจากช่วงเวลา 2 ช่วง

ชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุ 240 ล้านปี เป็นเต่าไม่มีกระดอง แต่มีฟัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แปปโปคีลอิส (Pappochelys) อีกชนิดหนึ่งมีอายุ 220 ล้านปี ซึ่งมีกระดองเฉพาะข้างใต้ท้อง แต่ไม่มีกระดองบนส่วนหลัง และมีฟัน มีชื่อว่า โอดอนโทคีลอิส (Odontochelys)

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า จากเต่าไม่มีกระดองเมื่อ 240 ล้านปีก่อน และเต่ามีกระดองใต้ท้องเมื่อ 220 ล้านปีก่อน มาจนถึงเต่าสมัยใหม่อย่างที่เราเห็นกันซึ่งมีกระดอง ปากเป็นจะงอย แต่ไม่มีฟัน เส้นทางวิวัฒนาการของมันเป็นอย่างไร

ฟอสซิลเต่าที่พบล่าสุดที่จีน ยังคงไม่มีกระดอง แต่มีฟัน ความโดดเด่นอยู่ตรงที่มันเป็นเต่าชนิดแรกที่มีจะงอยปาก นั่นหมายความว่า แม้มันได้พัฒนาจนมีจะงอยปากแล้ว แต่ก็ยังคงเก็บฟันเอาไว้ กลายเป็นเต่าที่มีทั้งจะงอยปากและฟัน

ชุนหลี่ นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนในกรุงปักกิ่ง ผู้ร่วมเขียนรายงาน อธิบายว่า ฟอสซิลชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมที่สะท้อนให้เห็นรูปร่างลักษณะที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

เต่าชื่อเรียกยากชนิดนี้มีขนาดลำตัวใหญ่ทีเดียว วัดความยาวได้ 2.5 เมตร มีหางยาว โครงกระดูกแบนกว้าง บนหลังมีอวัยวะแผ่คล้ายจาน ซึ่งจะวิวัฒนาการเป็นกระดองในอีกหลายล้านปีข้างหน้า

นอกจากเผยให้เห็นรอยต่อของวิวัฒนาการแล้ว เจ้าตัวนี้ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับบรรพบุรุษของเต่า ซึ่งที่ผ่านมา มีคำอธิบายอยู่ 2 ทฤษฎี ว่าเต่ามีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกไหน

ฝ่ายหนึ่งบอกว่า บรรพบุรุษของมันอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกที่กลายมาเป็นสัตว์เลื้อยคลานสมัยใหม่และงู คือ ในช่วงแรกเริ่มของวิวัฒนาการ ด้านข้างของกะโหลกมีรู 2 รู เรียกว่า พวกไดแอพซิด (diapsids) อีกฝ่ายบอกว่า ต้นกำเนิดของเต่ามาจากพวกอะแนพซิดส์ (anapsids) คือ ไม่มีรูที่ว่านี้

โอลิเวียร์ รีพเพล นักบรรพชีวินวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์ฟีลด์ในชิคาโก หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า กะโหลกของอีโอริงโอคีลอิส มีร่องรอยบ่งบอกว่ามันเป็นพวกไดแอพซิด ซึ่งมีวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่า ดังนั้น ข้อถกเถียงในเรื่องบรรพบุรุษของเต่าจึงจบลงแล้ว

การค้นพบฟอสซิลชิ้นนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นภาพแจ่มชัดขึ้นว่า เต่ามีวิวัฒนาการแบบโมเสก (mosaic evolution) นั่นคือ เต่าแต่ละชนิดมีการพัฒนาอวัยวะอย่างเป็นเอกเทศจากกัน อวัยวะแต่ละส่วนใช้เวลาพัฒนามากน้อยไม่เท่ากัน และแต่ละชนิดไม่ได้สร้างอวัยวะในส่วนผสมอย่างเดียวกัน

เราจึงพบว่า เต่าบางชนิดมีกระดองหุ้มบางส่วน บางชนิดมีจะงอยปาก เมื่อกาลเวลาผ่านไป การผ่าเหล่าทางพันธุกรรมที่สร้างอวัยวะเหล่านี้ได้อุบัติขึ้นในเต่าชนิดหนึ่ง โดยมีการละทิ้งอวัยวะบางอย่าง พัฒนาอวัยวะบางอย่าง

ผลลัพธ์ก็คือ เต่าสมัยใหม่ ซึ่งมีกระดองหุ้มทั้งส่วนหลังและส่วนท้อง มีจะงอยปาก แต่ไม่มีฟัน

 

อ้างอิง:

Tags: ,