กว่าสองปีแล้ว ที่ เบิร์ท ยาน โพสท์ ทำงานที่ประเทศไทยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด แต่ถ้านับอายุงานของเขาที่บริษัทบรรจุภัณฑ์สัญชาติสวีดิชนี้แล้ว เขากำลังจะทำงานที่นี่ครบ 29 ปี นับตั้งแต่ตำแหน่งแรกที่เนเธอร์แลนด์ ประเทศบ้านเกิดของเขา

“เดี๋ยวนี้เวลาสัมภาษณ์งานใครแล้วเขารู้ว่าผมทำงานที่นี่มานานแค่ไหน บางคนก็พูดว่า ‘โห…คุณทำงานที่นี่มาตั้งแต่ก่อนผมเกิดเสียอีก’” ผู้บริหารชาวดัตช์เล่าให้ฟัง

ระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษนี้และตำแหน่งงานในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรปหรือแถบเอเชีย อย่าง สิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ทำให้เขาเป็นคนที่มองเห็นหลายความเปลี่ยนแปลงในองค์กรมาโดยตลอด รวมถึงเรื่องความยั่งยืนที่ทางเต็ดตรา แพ้ค ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสองรางวัลที่เพิ่งได้รับจากเวที Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards (ACES) 2019 เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา คือ รางวัลสุดยอดบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Top Green Companies in Asia) และรางวัลสุดยอดบริษัทที่มีความใส่ใจต่อชุมชน (Top Community Care Companies in Asia)

ตลอดช่วง 29 ปีที่เป็นส่วนหนึ่งของ เต็ดตรา แพ้ค คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนหรือเศรษฐกิจหมุนเวียน

ผมเห็นทั้งสิ่งที่เปลี่ยนและสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเรื่องของความยั่งยืน การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ การใช้ทรัพยากรทดแทนได้ การรีไซเคิล ไปจนถึงการทำเรื่องดีๆ ต่อคนในวงกว้างเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราทำมาเสมออยู่แล้ว แต่ในช่วงหลายปีมานี้ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เราทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน และนั่นจึงน่าจะเป็นเหตุผลที่เราได้รับรางวัลในครั้งนี้

อยากให้ช่วยเล่าถึงสองรางวัลที่ทางเต็ดตรา แพ้ค เพิ่งได้รับจากงาน ACES 2019 ซึ่งเป็นรางวัลด้านความยั่งยืน

ทั้งสองรางวัลเป็นเรื่องที่เราภูมิใจมาก รางวัลแรก Top Green Companies in Asia นั้นน่าจะได้จากนโยบายและการรณรงค์เรื่องการใช้กระดาษที่มีการรับรองโดย FSC™ (Forest Stewardship Council™) นั่นหมายความว่ากระดาษที่เราใช้มาจากป่าไม้ที่มีการปลูกทดแทนและผ่านการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบเท่านั้น

ส่วนอีกรางวัลคือ Top Community Care Companies in Asia มาจากงานที่เราตอบแทนให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งผมถือว่าเราโชคดีมากเพราะได้ทำงานร่วมกับลูกค้าหลายรายและองค์กรหลายแห่งในการนำกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคา เพื่อมอบให้กับคนที่มีความต้องการแต่ขาดแคลน

ในแง่การจัดการแล้ว เป็นเรื่องยากหรือไม่ที่เลือกใช้แต่กระดาษ FSC™ ในการผลิตเท่านั้น

ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องยากนะ เพราะการใช้กระดาษแบบนี้ในการผลิตเป็นเรื่องที่บริษัทของเราเลือกที่จะทำอยู่แล้ว ซึ่งเรารู้ว่าไม่ใช่ทุกคนในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่สำหรับเรา นี่คือเรื่องที่เราคิดและตั้งใจทำมานาน ผมดีใจแล้วก็ภูมิใจมากที่สามารถบอกได้ว่า บรรจุภัณฑ์ของเต็ดตรา แพ้ค ในเมืองไทยนั้น ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ผลิตจากกระดาษ FSC ซึ่งกระดาษส่วนใหญ่ผลิตจากต้นไม้ที่ปลูกทางตอนเหนือของยุโรปและบราซิล

การที่เราตัดสินใจแบบนี้มาจากแนวคิดลดวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทาง กระดาษที่ใช้เป็นเยื่อใยยาว ทนทาน ใช้น้อยลงแต่แข็งแรง เราลดขยะตั้งแต่เริ่มต้นผลิต และวัสดุที่นำมาใช้ต้องรู้ถึงแหล่งที่มาว่ามีการจัดการที่ถูกต้อง  นี่คือแนวทางในการผลิตอย่างรับผิดชอบของเรา

ดูเหมือนว่าการใช้กระดาษจะเป็นผลมาจากพันธกิจขององค์กรด้วย ถ้าอย่างนั้นวิสัยทัศน์และพันธกิจของเต็ดตรา แพ้ค ในปัจจุบันคืออะไร

คำมั่นสัญญา หรือ Brand Promise ที่เรายึดถือและปฏิบัติตามมาตลอดนั้นก็คือ Protects What’s Good หรือ ปกป้องทุกคุณค่า โดยในความหมายของการปกป้องนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นเรื่องของปกป้องอาหาร อนาคต และผู้คน เรื่องของคนนั้น เรายึดมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างเรื่องของความหลากหลาย ความปลอดภัย ส่วนในเรื่องของอนาคต เราเชื่อว่าการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบจะส่งผลให้คนรุ่นหลังก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ได้

จริงๆ แล้วการปกป้องอนาคตสามารถอธิบายคอนเซ็ปต์ของเรื่องความยั่งยืนได้อย่างดี เพราะถ้าเราจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการทำสิ่งต่างๆ อย่างยั่งยืน ซึ่งผมพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของเรา

คอนเซ็ปต์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนมีส่วนช่วยสังคมได้อย่างไรบ้าง

สำหรับเต็ดตรา แพ้ค แล้ว เรามองว่าการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ช่วยลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม เราพยายามที่จะปฏิบัติตามคอนเซ็ปต์ของการลดปริมาณการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งการผลิตที่มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดนี้ก็จะมีส่วนช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากการช่วยเหลือสังคมผ่านแนวคิดในการทำธุรกิจแล้ว อยากทราบเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคมโดยตรงของเต็ดตรา แพ้ค ด้วย ในฐานะที่บริษัทของคุณเพิ่งได้รับรางวัลสุดยอดบริษัทที่มีความใส่ใจต่อชุมชน

อย่างที่เล่าให้ฟังแต่แรกถึงโปรเจ็กต์ที่เราเอาแพ็คเกจที่ใช้แล้วมาสร้างหลังคา ชื่อของโครงการนี้คือ โครงการหลังคาเขียว เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก โดยเราจะมอบหลังคาให้กับผู้ประสบภัยหรือผู้ขาดแคลน และมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งการนำกล่องมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคานี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ปี 2010 และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราเพิ่งมีการลงนามขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อทำโครงการนี้ต่อเนื่องอีก 3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของเราที่พันธมิตรในโครงการนี้อย่างมูลนิธิฯ บิ๊กซี และผู้ประกอบการรีไซเคิล เข้าใจและทำให้เราทำโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากโครงการนี้แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเรายังเซ็นสัญญาความร่วมมือกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นหลายแห่งเกี่ยวกับโครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ หรือล่าสุดโครงการรีไซเคิลกล่องนมโรงเรียน โดยสนับสนุนให้มีการรวบรวมกล่องนมจากโรงเรียนต่างๆ และในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้กับเด็กๆ ในโรงเรียนเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้ พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

ช่วง 2 ปีที่อยู่ในเมืองไทยมา คุณมองว่าสถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทยเป็นอย่างไร

ผมเห็นกระแสความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น เห็นว่าคนมองเห็นว่าเราต้องร่วมมือกันทำอะไรสักอย่างและต้องทำให้มากขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นแล้ว แต่เราต้องยอมรับว่าเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะการรับรู้เรื่องนี้ในสังคมมีหลายระดับ

ที่น่าสนใจก็คือในแวดวงธุรกิจแสดงออกถึงการรับรู้เรื่องนี้มากขึ้น และเปิดกว้างสำหรับโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ เจ้าของกิจกรรม และภาครัฐ ทั้งยังมีการให้ข้อมูลกับสาธารณะมากขึ้นเกี่ยวกับช่องทางที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการชุมชนเพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน เรียกว่าเป็นเทรนด์เดียวกัน แต่อาจจะยังแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องระดับของการมีส่วนร่วม

เมื่อภาพรวมเป็นแบบนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีใช่ไหม

ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นนะ มันชัดเจนมากที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถทำธุรกิจในแบบเดียวกับที่เคยทำมาเมื่อ 20 ปีก่อนได้ ผมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต อยากเห็นพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืน

Fact Box

  • Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards หรือ ACES เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรและบุคลากรในเอเชียที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมเป็นประจำทุกปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัลนี้ได้ที่ http://www.acesawards.com/
  • และสำหรับความเคลื่อนไหว รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืนที่ เต็ดตรา แพ้ค ทำอย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามได้ที่ http://www.tetrapak.com/th/about/cases-articles/thailand-sustainability
Tags: , , , , ,