เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยเล่นสนุกกับการค้นหาคำต่างๆ ในกูเกิล หากลองเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดจากเรื่องสั้นหรือพงศาวดารของญี่ปุ่น จะพบว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นมานอกเหนือจากข้อมูลต้นฉบับ ก็คือสื่อในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เช่น หากค้นหาด้วยคำว่า ‘rashomon’ จะปรากฏผลการค้นหาถึงหนึ่งล้านแปดแสนรายการ ทั้งๆ ที่ความหมายดั้งเดิมมีที่มาจากคติในพุทธศาสนามหายาน ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อป ทว่าเมื่อดัดแปลงเป็นสื่อสมัยใหม่อย่างภาพยนตร์ ก็เป็นที่รู้จักและนิยมไปทั่วโลก

เนื้อหาของภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นในอดีต กว่าครึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามและการเมือง จนเราพอจะปะติดปะต่อเอาได้ว่าตลอดเวลากว่าพันปี ญี่ปุ่นแทบจะไม่มีช่วงเวลาที่สุขสงบเลย กระนั้นชาวญี่ปุ่นก็กลับสามารถหยิบเอาเรื่องราวของสงครามมาถ่ายทอดให้เห็นแง่มุมอื่นๆ เช่น ชีวิตของประชาชนที่พยายามอยู่ให้รอดจากการรบพุ่งและช่วงชิงอำนาจ หลายเรื่องเข้าถึงอารมณ์คนดูและกลายเป็นผลงานที่ข้ามพ้นกาลเวลาและยุคสมัย

ภาพยนตร์สิบเรื่องที่หยิบยกมาแนะนำนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนเปิดลิ้นชัก นั่งไทม์แมชชีนของหุ่นยนต์แมวสีน้ำเงิน ไปดูเรื่องราวของสังคมญี่ปุ่นนับจากสมัยก่อนปฏิรูปเมจิในปลายศตวรรษที่ 19 ย้อนกลับไปถึงสมัยเฮอันในศตวรรษที่ 11 พร้อมกับสำรวจที่มาที่ไปของตัวละครที่รักชอบในมังงะสุดโปรด

 

10. Gohatto (ข้อห้าม); 1999

ภาพยนตร์ซามูไรที่มีตัวละครหลักเป็น ‘ชายหนุ่มรูปงาม’ (bishounen) แบบเดียวกับมังงะเรื่อง ซามูไรพเนจร (Rurouni Kenshin) ทว่ามุ่งไปที่ความรักระหว่างเพศเดียวกันในกลุ่มซามูไรชินเซ็งงุมิ องค์กรที่เป็นทั้งแขนขาและผู้ปกป้องรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ

หนังเปิดฉากขึ้นในโตเกียวปี 1856 ด้วยการต่อสู้ระหว่าง โซซาบุโร่ คาโน่ และ โซจิ โอคิตะ-ผู้ทดสอบสมาชิกใหม่ ก่อนที่คาโน่จะชนะไปได้แบบฉิวเฉียดและเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม ทันทีที่ชายหนุ่มวัยสิบแปดก้าวเท้าเข้าสู่ที่ประชุม สมาชิกในกลุ่มชินเซนงุมิต่างก็ตกตะลึงในความงามของเขา คนโด อิซะมิ และ อิจิคาตะ โทชิโซ ตัดสินใจรับคาโน่เข้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งคู่ตกหลุมรักคาโน่ในเวลาไม่นาน จนกระทั่งกฎและลำดับชั้นในกลุ่มเริ่มพังทลายเมื่อสมาชิกแต่ละคนต่างพยายามสานสัมพันธ์กับคาโน่

เหตุการณ์ดำเนินไปจนกระทั่งมีผู้พบศพสมาชิกของชินเซ็งงุมิเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา…

Gohatto ได้รับความสนใจในวงกว้างจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2000 แต่เป็นภาพยนตร์ที่ถูกเซ็นเซอร์ในญี่ปุ่น เนื่องจากตัวภาพยนตร์ ‘เปลือย’ ความย้อนแย้งของวัฒนธรรมชนชั้นซามูไรที่มีกฎข้อห้ามในการปฏิบัติตนมากมาย ทว่ากลับไม่มีข้อห้ามเรื่องการรักเพศเดียวกันอยู่เลย ผู้กำกับ โอชิมะ นางิสะ กล่าวว่าเขาต้องการนำเสนอภาพของซามูไรในมุมมองใหม่ เพราะแม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะมีข้อห้ามเรื่องการรักเพศเดียวกัน แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ตลอดหน้าประวัติศาสตร์นับแต่สมัยเฮอัน

 

9. The Life of Oharu (ชีวิตของโอฮารุ); 1952

ภาพยนตร์ขาวดำความยาว 137 นาที ผลงานของ เคนจิ มิโซงุจิ ผู้กำกับซึ่งได้ชื่อว่าทำภาพยนตร์เข้าถึงจิตวิญญาณของผู้หญิงได้ดีที่สุด

พล็อตเรื่องนำมาจากนวนิยายของอิฮาระ ไซคาคุ นักเขียนสมัยศตวรรษที่ 17 ถ่ายทอดญี่ปุ่นในสมัยเอโดะที่เริ่มปรากฏสังคมเมืองและวิถีชีวิตการหาความสุขแบบคนเมือง เช่น โรงละครคาบุกิ ซูโม่ และเกอิชา ตัวละครหลักโอฮารุในวัยชรา บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของเธอตั้งแต่วัยสาวที่อยู่ในสังคมชนชั้นสูง กระทั่งถูกลดสถานะทางสังคมลงเรื่อยๆ กระทั่งตกต่ำถึงขีดสุดในชีวิตบั้นปลาย เนื้อเรื่องของภาพยนตร์คล้ายคลึงกับงานเขียน อายาโกะ (Ayako) ของ เทซึกะ โอซามุ ทว่ามีฉากหลังของเรื่องราวต่างยุคสมัยกัน

 

8. Ibun Sarutobi Sasuke (สายลับซามูไร); 1965

ฉากของภาพยนตร์อยู่ในสมัยต้นยุครัฐบาลโทะกุงะวะ ก่อนสงครามชี้ชะตาที่เซกิงาฮาระ (ค.ศ.1600-1604) ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบว่า ช่วงเวลาสั้นๆ ครึ่งทศวรรษนี้เป็นยุคสมัยของสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยสายลับ การหักหลัง และลอบสังหาร

ตัวละครหลักของเรื่องคือ ซารุโทบิ ซาซึเกะ ต้องออกตามหาเพื่อนซึ่งทรยศไปเข้ากับฝ่ายโทโยโทมิโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ยังเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรม และการตามล่าจากนินจาตระกูลยางิวที่ดูเหมือนว่าจะรู้ทุกความเคลื่อนไหวของเขา

 

7. Shichinin no Samurai (เจ็ดซามูไร); 1954

ภาพยนตร์ความยาว 207 นาทีเรื่องนี้ได้รับคะแนนรีวิวจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ถึง 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม และถูกผลิตซ้ำมากที่สุดตั้งแต่ออกฉายครั้งแรกในปี 1954

เจ็ดซามูไรนำเสนอภาพลักษณ์ที่แปลกใหม่ของซามูไร ที่เลือกทำตามเสียงในจิตใจตัวเองแทนกฎเกณฑ์หรือหน้าที่ แม้ว่าซามูไรจะเป็นนักรบที่เก่งกาจ แต่ไม่เคยมีบทบาทใกล้ชิดกับประชาชนมาก่อน ความจริงที่น่าตกใจก็คือชาวบ้านส่วนมากกลัวซามูไร เพราะซามูไรมีสถานะทางสังคมเช่นเดียวกับอัศวินของยุโรป จึงมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจไปในทางที่เห็นแก่ตัวและหยิ่งในศักดิ์ศรี

ตำนานเจ็ดซามูไรนำเสนอภาพของซามูไรในยุคสงครามกลางเมืองที่ระบบชนชั้นนี้กำลังเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ เหล่าโรนิน-อดีตซามูไรทั้งเจ็ดก็เลือกที่จะเป็นฮีโร่ของชาวบ้านแทนการรับใช้ชนชั้นปกครอง (ไดเมียว) ดังนั้น แทนที่จะเรียกพวกเขาว่าซามูไรทั้งเจ็ด ควรใช้คำว่า ‘เจ็ดวีรบุรุษ’ เสียมากกว่า เพราะพวกเขาเลือกยืนอยู่ข้างผู้ที่เดือดร้อนโดยไม่สนค่าตอบแทนหรือบรรดาศักดิ์ใดๆ

 

6. Kagemusha (ขุนพลเงา); 1980

ภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำปี 1980 ของผู้กำกับมือทอง อากิระ คุโรซาวะ ที่มีฉากหลังเป็นไฟสงครามสมัยเซ็งโงะกุ (ค.ศ.1467-1615) อันเปรียบได้กับสามก๊กของญี่ปุ่น โดยผู้นำสำคัญสามคนในที่นี้ได้แก่ โอดะ โนบุนางะ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และ โทะกุงะวะ อิเอะยะสึ

คู่ปรับของโนบุนางะ ขุนพลทาเคดะ ชินเกน ผู้เกรียงไกรแห่ง ‘ฟุรินคาซัน’ ได้สิ้นใจไปในสมรภูมิรบแล้ว ทว่าสงครามยังคงดำเนินต่อไป และไม่มีใครนอกจากคนใกล้ชิดที่ทราบเรื่องการตายนี้ โนบุคาโดะน้องชายของชินเกนจึงใช้ชายไร้นามที่มีหน้าตาเหมือนกับชินเกนมาเป็นตัวแทนเพื่อรักษาขวัญกำลังใจของกองทัพไว้ ทว่า ‘ตัวตายตัวแทน’ นี้ กลับเรียนรู้ที่จะเป็นชินเกนได้อย่างรวดเร็วและนำพากองทัพกลับไปสู่สงครามครั้งสุดท้าย

 

5. Yôjinbô (โยจินโบะ); 1961

ในสมัยสงครามกลางเมือง ขุนพลผู้ครองแคว้นต่อสู้ชิงอำนาจกันอย่างไม่หยุดยั้ง ผลที่ตามมาก็คือ ไดเมียวจำนวนมากเสียชีวิตและซามูไรกลายเป็นโรนินเนื่องจากถือคติเรื่องความภักดี โรนินเหล่านี้จึงพเนจรไปเรื่อยๆ หลายคนกลายเป็นนักรบรับจ้าง

ซันจูโร่ ตัวละครหลักของโยจินโบะ (แสดงโดย โทชิโร มิฟุเนะ) เดินทางผ่านเมืองซึ่งเป็นสนามรบของแก๊งยากูซ่า ด้วยฝีมือที่เก่งกาจทำให้เขากลายเป็นที่ต้องการตัว เพราะทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าซันจูโร่เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะ ทว่าพวกยากูซ่าไม่รู้เลยว่าซันจูโร่ได้วางแผนทำลายแก๊งทั้งสองจากภายในอย่างเงียบๆ

โยจินโบะ เป็นภาพยนตร์ที่ตัวละครหลักเป็นแนวแอนตี้ฮีโร่ และ ‘วีรบุรุษนิรนาม’ ตามแบบภาพยนตร์คาวบอยของคลินต์ อีสต์วูด ที่เราคุ้นเคยกันในเวลาต่อมา

 

4. Kumonosu-jô (ปราสาทใยแมงมุม); 1957

ระหว่างเดินทางผ่านป่ากลับปราสาทใยแมงมุม วาชิสึ ทาเคโทกิ และมิกิ แม่ทัพคนสนิทของไดเมียวพบกับวิญญานประหลาดที่กล่าวคำทำนายสามประการ คือ ทั้งคู่จะได้รางวัลตอบแทนจากไดเมียวซูซูกิเป็นการเลื่อนตำแหน่ง จากนั้น วาชิสึจะกลายเป็นไดเมียวคนใหม่แห่งปราสาทใยแมงมุม ทว่าท้ายที่สุด บุตรชายของมิกิจะเป็นผู้ที่ได้ครองตำแหน่งนี้

เมื่อทั้งสองกลับถึงปราสาทก็เป็นตามคำทำนายจริงๆ ทว่าการที่วาชิสึจะทำให้คำทำนายที่สองเป็นจริงได้ ก็มีแต่จะต้องสังหารไดเมียวซูซูกิลงเท่านั้น

ปราสาทใยแมงมุม เป็นผลงานของ อากิระ คุโรซาวะ ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง แม็คเบ็ธ ของวิลเลียม เช็คสเปียร์ ที่นำเอาเรื่องราวการทรยศหักหลัง และผลจากความทะเยอทะยานไร้ขอบเขตจากยุคกลางในสก็อตแลนด์มาสู่ญี่ปุ่นในรูปแบบของละครโนห์

 

3. Onibaba (ปิศาจหญิงชรา); 1964

ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องนี้มีฉากอยู่ในสมัยเคนมุ รอยต่อระหว่างคามากุระและมุโรมาจิ และได้แนวคิดจากเรื่องเล่า niku-zuki-no-men หรือ ‘หน้ากากเนื้อ’ อันเป็นเรื่องราวของผู้หญิงสองคน คนหนึ่งเป็นแม่สามี (baba) อีกคนเป็นลูกสะใภ้ ที่เอาตัวรอดในสงครามด้วยการสังหารซามูไรบาดเจ็บและนำทรัพย์สมบัติไปขาย จนกระทั่งทั้งคู่ตกหลุมรักชายคนเดียวกัน แต่ชายคนนี้เลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับหญิงคนที่อายุน้อยกว่า ด้วยความริษยา แม่สามีจึงนำหน้ากากปิศาจที่ถอดจากศพซามูไรมาใส่เพื่อหลอกให้ทั้งคู่กลัว ทว่าเมื่อสวมใส่แล้ว หน้ากากนี้ไม่ว่าพยายามอย่างไรก็ถอดไม่ออก..

 

2. Rashomon (ประตูผี); 1950

เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องสั้นสองเรื่องของ ริวโนะสุเกะ อะคุตากาวะ คือ ‘ในป่าละเมาะ’ (In the Grove) และ ‘ราโชมอน’ (Rashomon) ทั้งสองเรื่องสะท้อนสภาพชีวิตที่ยากลำบากและผลกระทบของสงคราม

ตัวภาพยนตร์มีฉากหลังอยู่ในยุคสงครามเก็มเป จุดเปลี่ยนผ่านจากสมัยเฮอันไปสู่สมัยคามากุระ ชายตัดฟืนและนักบวชสนทนากันขณะหลบฝนอยู่ใต้ประตูราโชมอนเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมซามูไร ชายตัดฟืนรู้เรื่องราวเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่เลือกที่จะปิดปากเงียบ เพราะเขาเองก็มีส่วนในคดีด้วย ชายตัดฟืนเลือกที่จะสารภาพบาปกับนักบวชซึ่งโมโหเขามาก แต่ภายหลังการกระทำของชายตัดฟืนก็ทำให้นักบวชเห็นว่าโลกยังมีมนุษยธรรมเหลืออยู่

ริวโนะสุเกะ อะคุตากาวะ เป็นบุคคลที่ใบหน้าเคยปรากฏอยู่บนธนบัตรพันเยน และได้รับการดัดแปลงเป็นตัวละครชื่อเดียวกันใน Bungo Stray Dogs อนิเมะความยาว 24 ตอน ในอนิเมะดังกล่าว อะคุตากาวะมีพลังพิเศษที่ชื่อราโชมอน

 

1. Jigokuhen (ฉากนรก); 1969

เนื่องจากเนื้อหาในฉบับเรื่องสั้นและภาพยนตร์มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงขออิงตามฉบับภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียวเพื่อไม่ให้สับสน

Jigokuhen เป็นภาพยนตร์ดรามาย้อนยุค จากเรื่องสั้นปลายปากกาของ ริวโนะสุเกะ อะคุตากาวะ ผู้เขียน ‘ราโชมอน’ เป็นเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างศิลปินนักวาดภาพชาวเกาหลีนามว่าโยชิฮิเดะ และไดเมียวโฮโซกาวะ สืบเนื่องจากความเฟื่องฟูของพระพุทธศาสนาในยุคเฮอัน ไดเมียวนิยมสะสมภาพวาดเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเพื่อแสดงถึงสถานะของตน โฮโซกาวะต้องการให้โยชิฮิเดะวาดภาพฉากสรวงสวรรค์ไว้เป็นสมบัติประจำตระกูล ทว่ากลับได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “ข้าน้อยไม่สามารถวาดภาพที่ไม่เคยเห็นด้วยตาได้”

โยชิฮิเดะเลือกที่จะวาดภาพนรกแทน พร้อมกับอธิบายว่า เขาเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยตาจากความยากลำบากของผู้คนในแผ่นดินของโฮโซกาวะ ก่อนที่ภาพวาดจะเสร็จสมบูรณ์ เขาร้องขอให้โฮโซกาวะจัดหารถสำหรับชนชั้นสูงมาหนึ่งคัน และจุดไฟเผา เพื่อเป็นแบบสำหรับภาพวาดสุดท้าย โฮโซกาวะจัดเตรียมให้ตามที่ขอ ทว่าโยชิฮิเดะไม่ทราบเลยว่า ลูกสาวของเขาถูกไดเมียวที่ชั่วร้ายจับล่ามโซ่ไว้ในรถคันนั้นด้วย เมื่อภาพวาดเสร็จสมบูรณ์ โยชิฮิเดะผูกคอตายในห้องทำงานก่อนที่ภาพจะถูกจัดแสดง และเมื่อเปิดผ้าคลุมฉากออก โฮโซกาวะก็ถึงกับตัวสั่นด้วยความหวาดผวา เมื่อสิ่งที่เขาเห็นคือ…

Jigokuhen ยังปรากฏในอนิเมะ บลีช เทพมรณะ ภาคภาพยนตร์ตอนที่ 4 (Hell Verse)

 

Tags: , , , , , , , ,