วันหนึ่งของปี 1979 ระหว่างที่ ‘เจมี’ (ลูคัส เจด ซูมันน์) กับ ‘โดโรเธีย’ (แอนเนตต์ เบนิง) แม่ของเขา กำลังจับจ่ายสินค้าอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต จู่ๆ ผู้คนก็พากันแตกตื่นและวิ่งไปมุงดูอะไรบางอย่าง เจมีกับโดโรเธียวิ่งตามไปอย่างไม่รู้เรื่องราว เพียงเพื่อจะพบว่า ’อะไรบางอย่าง’ ที่ว่า คือรถของพวกเขาที่กำลังมีเปลวไฟลุกโชน

จุดตั้งต้นดังกล่าวไม่มีอะไรมากไปกว่าความซวย และรถฟอร์ดกาแล็กซีที่ต้องให้พนักงานดับเพลิงมาช่วยดับไฟก็เป็นแค่รถเก่าๆ ของอดีตสามีของโดโรเธียที่เลิกรากันไปแล้ว จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่รถคันนี้ แต่เป็นเหตุการณ์สั้นๆ หลังสถานการณ์สงบลงต่างหาก เมื่อโดโรเธียเอ่ยชวนพนักงานดับเพลิงแปลกหน้าให้แวะไปฉลองปาร์ตี้วันเกิดของเธอในค่ำวันนั้น เพื่อขอบคุณที่เขาช่วยดับไฟให้ โดโรเธียไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลก แต่คำชักชวนนี้ก่อความเคอะเขินจนเจมีถึงกับมึนตึงกับแม่ของเขาไปเลย

เพียงฉากเปิดสั้นๆ 20th Century Women ก็แนะนำให้เรารู้จักตัวละครเอกของเรื่อง และเผยลักษณะนิสัยแบบคร่าวๆ ให้เราได้รู้ว่าหญิงวัยห้าสิบกว่าๆ คนนี้มีความน่าสนใจอย่างไร

โดโรเธียเกิดในปี 1924 ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างสองสงครามใหญ่ เธอจะตรวจสอบราคาหุ้นทุกเช้า มีอายุห่างจากลูกชาย 40 ปี (เจมีเกิดในปี 1964) แม้จะอยู่กันคนละช่วงวัย ทว่าหลายครั้ง เธอก็แก้ตัวให้กับลูกชายเมื่อเขาไม่ได้ไปโรงเรียนด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา ราวกับเธอไม่ได้แคร์อะไร และเข้าใจเหตุผลที่เจมีไม่อยากไปโรงเรียน

ในด้านหนึ่ง โดโรเธียดูเหมือนเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณเสรีที่ไม่สนใจกฎเกณฑ์ใดๆ แต่ลึกๆ แล้ว เธอยังคงเป็นแม่ที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงใจในตัวลูกชายเพียงคนเดียวของเธอ

แต่โชคดี (หรือเปล่า) ว่าที่บ้านไม่ได้มีแค่โดโรเธียกับเจมี เพราะยังมีผู้เช่าอย่าง ‘แอบบี’ (เกรตา เกอร์วิก) ตากล้องสาวพังก์ และ ‘วิลเลียม’ (บิลลี ครูดัป) นายช่างฮิปปี้ รวมถึง ‘จูลี’ (แอล แฟนนิง) เพื่อนสาวคนสนิทของเจมีที่เวียนมาหาเขาอยู่บ่อยๆ

​อยู่มาวันหนึ่ง โดโรเธียนำความกังวลใจประสาแม่ใบเลี้ยงเดี่ยว ที่ไม่เห็นเค้าว่าคนใกล้ตัวอย่างวิลเลียมจะเสริมบทบาทของ father’s figure ได้เข้าท่าเข้าทาง ไปไหว้วานแอบบีและจูลีให้ช่วยประคับประคองเจมีข้ามพ้นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อแทนเธอซึ่งอับจนหนทาง เพราะคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเข้าใจความคิดอ่านของลูกชายได้เทียบเท่ากับสองสาวซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับเจมีมากกว่า

หากจำกันได้ ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) ผู้กำกับเรื่องนี้ เคยฝากฝีไม้ลายมือไว้อย่างน่าจดจำใน Beginners หนังที่บอกเล่าเรื่องราวของชายแก่ที่เพิ่งเปิดเผยความจริงกับลูกชายว่าตัวเองเป็นเกย์เมื่อตอนอายุ 70 ปี หัวใจหลักของหนังเรื่องนั้นคือ ‘การก้าวพ้นวัย’ (coming of age) นั่นเอง เพียงแต่แทนที่จะเป็นการก้าวพ้นวัยของเด็กหรือวัยรุ่นอย่างที่เป็นภาพจำของหนังประเภทนี้ มิลส์กลับเลือกฉายให้เห็นว่าประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย

ใน 20th Century Women ก็เช่นกัน แม้ในตอนแรกคล้ายกับว่าหนังจะจับจ้องไปที่การเติบโตของเจมี แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปสักพัก เราจะเห็นว่า ‘การก้าวพ้นวัย’ กลับเกิดขึ้นกับตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง ไม่ว่าแอบบี วิลเลียม จูลี และที่สำคัญคือโดโรเธีย

บ้านของโดโรเธียคือพื้นที่ซึ่งรวบรวมคนที่หอบหิ้วสัมภาระอันไม่อาจวางลงได้อย่างสนิทใจ ตัวละครในเรื่องต่างก็มีปมปัญหาแตกต่างกันไป ไม่ว่าแอบบีที่ไม่เพียงแต่เป็นมะเร็ง แต่หมอยังสั่งห้ามไม่ให้เธอมีลูก จูลี เด็กสาวผู้ไม่ปรารถนาจะปลูกสัมพันธ์ยั่งยืนกับใคร แต่กลับยึดติดกับเจมี และสำหรับโดโรเธีย ภายนอกเธออาจไม่ยี่หระกับอะไร แต่ชีวิตของเธอก็เหมือนกับอยู่ในกรงขังทึมเทา

​แอบบี จูลี และโดโรเธีย คือที่มาของ 20th Century Women ความน่าสนใจของตัวละครทั้งสามอยู่ที่เจตนาของมิลส์ในการจำแนกอายุของพวกเธอให้อยู่กันคนละช่วงวัย พูดอีกอย่างคือลักษณะนิสัยและทัศนคติของผู้หญิงทั้งสามคนถูกจำแนกตามความเป็นไปของเหตุการณ์โลกในช่วงที่พวกเธอเกิดและเติบโตขึ้นมา อย่างโดโรเธียที่เติบโตในช่วงคาบเกี่ยวของสองสงครามก็ผ่านพ้นช่วงเวลาอัตคัตขัดสน อย่างที่เจมีพูดว่า “Dorothy comes from depression.” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่แม่ของเขาถือกำเนิดมานั่นเอง

ต่างจากจูลีที่โตมาในช่วงต้นยุค 70 ที่สหรัฐฯ ไม่เพียงแต่วุ่นวายอยู่กับสงครามเย็นซึ่งกำลังเดือดพล่านขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในคิวบา เหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งนำความระส่ำระสายมาสู่ประเทศ รวมถึงการที่สหรัฐฯ ตบเท้าเข้าสู่สงครามเวียดนาม

จูลีเติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอันไม่แน่ไม่นอน การไม่อาจวางใจได้ว่าใครคือมิตรหรือศัตรูในเวทีการเมือง ส่งผลให้ประชากรหน่วยย่อยเติบโตขึ้นอย่างล่องลอย และยากที่จะวางใจกับใครสักคน

แม้เรื่องราวของพวกเธอจะถูกจับจ้องและบอกเล่าผ่านน้ำเสียงและมุมมองของเจมี ทว่าตัวเจมีกลับเป็นดั่งผืนผ้าใบว่างเปล่า เขาคือภาพแทนของจิตวิญญาณวัยรุ่น ที่ตัวละครหญิงทั้งสามมีส่วนร่วมกันเจียระไนไม่มากก็น้อย

 

​20th Century Women คือหนังที่คว้าจับโมงยามของการเติบโตต่างยุคต่างวัยได้อย่างงดงาม และในทางหนึ่ง มันก็คล้ายจะล้อเล่นกับนิยามของความเติบโตซึ่งพาดเกี่ยวอยู่ระหว่างการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กับการเรียนรู้ที่จะก้าวพ้นอดีตและไม่หันกลับไปมอง มิลส์ใช้วิธีเล่าด้วยน้ำเสียงที่คล้ายจะถูกส่งผ่านจากอนาคต เป็นน้ำเสียงของการมองย้อนกลับมายังอดีต โดยรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกเธอและพวกเขาในวันข้างหน้า

หนังเรื่องนี้คือการฉายภาพกว้างของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในแทบทุกทศวรรษ และก็อย่างที่เราได้เห็นผ่านตัวตนและจิตวิญญาณของตัวละครต่างๆ ว่าพวกเขาต่างก็รับเอาคลื่นประวัติศาสตร์และกลิ่นอายการเมืองเข้าสู่ชีวิตแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวและไม่อาจขัดขืน

สุดท้ายแล้ว มนุษย์ก็หาใช่อะไรอื่น แต่คือผลลัพธ์ของการประกอบสร้างอันไม่มีสิ้นสุดโดยสรรพสิ่งที่รายรอบพวกเขา

 

FACT BOX:

ปี 1979
เป็นปีสุดท้ายที่ จิมมี คาร์เตอร์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน
ปีที่ เบรนดา สเปนเซอร์ เด็กสาววัย 16 ปี ถือปืนเข้าไปยิงกราดในโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่า
“หนูไม่ชอบวันจันทร์”
ปีที่โรงงานนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ เกิดรั่วไหลครั้งแรก
มีการวางจำหน่ายเครื่องตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง
คอมพิวเตอร์แอปเปิลออกสู่สายตาสาธารณชน
และปีที่ผู้กำกับ ไมค์ มิลส์ บอกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความเป็นปัจจุบัน​’

Tags: , , , , , , , ,