ในช่วงสงคราม แม้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน แต่ละคนต่างอาจตระหนักถึงลางร้ายในเวลาที่ต่างกัน คุณอาจเป็นพลทหารที่ตื่นขึ้นมากลางดึกจากเสียงหวีดประหลาด อาจเป็นพลลาดตระเวนที่ไปพบค่ายทหารร้างกลางป่าลึกซึ่งมีทหารหลงเหลืออยู่เพียงหยิบมือและรอการจำนน หรือคุณอาจบัญชาการอยู่ที่กรุงลอนดอน และถูกปลุกให้ตื่นตอนตีสามด้วยเสียงโทรศัพท์

“เราแพ้แล้ว เชอร์ชิล เราแพ้อย่างหมดท่า”

นี่เป็นเรื่องราวก่อนจะถึงหายนะที่ดันเคิร์ก

กองทัพรถหุ้มเกราะ Panzer และเครื่องบินทิ้งระเบิด Stukas ที่แม่นราวจับวางของนาซีเยอรมันเคลื่อนพลเข้ายึดครองพื้นที่ในฝรั่งเศส และจัดวางกำลังเป็นแนวขวางเพื่อตัดขาดกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นสองส่วน รวมทั้งระเบิดสายโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข่าวสาร

เมื่อการสื่อสารถูกตัดขาด กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แต่ใช้พลทหารส่งสาร การส่งสารด้วยวิธีนี้ล่าช้า ส่งผลให้กองทหารจำนวนมากไม่รู้ถึงสถานการณ์ บ้างแตกทัพและหลงเข้าไปในพื้นที่ของข้าศึก และถูกซ้ำเติมด้วยการกดดันอย่างหนักของนาซี กำลังพลของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยืนหยัดสู้จึงมีเหลืออยู่น้อยเต็มที

นาซีใช้วิธีโปรยแผ่นพับสองภาษาลงมาให้ทหารสัมพันธมิตรยอมแพ้ แต่ปฏิกิริยาจากทหารสัมพันธมิตรก็มีทั้งเชื่อเป็นจริงเป็นจัง ไปจนถึงนำแผ่นพับไปใช้แทนกระดาษชำระ

ลอร์ด กอร์ต (Lord Gort) ซึ่งคุมกำลังทหารของอังกฤษในฝรั่งเศสและเบลเยียมรวมทั้งสิ้น 13 กองพล (แต่ละกองพลมีประมาณ 1-2 หมื่นนาย) เห็นว่าอังกฤษสู้ไม่ได้ และหากปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป ทหารจะตายหรือตกเป็นเชลยสงครามจนหมด จึงติดต่อไปทางลอนดอนเพื่อขออพยพ

ทว่าลอนดอนไม่เข้าใจสถานการณ์และปฏิเสธข้อเรียกร้อง แล้วเรียกประชุมผู้บัญชาการระดับสูงในห้องประชุมลับของรัฐสภาอังกฤษเพื่อวางแผนโต้กลับ แผนการถูกวางไว้เป็นอย่างดี และผู้เข้าประชุมต่างพอใจ แต่ในความเป็นจริง กองทหารที่ถูกวางไว้ในแผนเป็นเพียงตัวเลขบนแผ่นกระดาษ กำลังพลแท้จริงไม่ได้มีมากเช่นนั้น หรือบางส่วนก็เดินทางล่าช้ากว่ากำหนด

กองทหารอังกฤษจึงถูกกองทัพนาซีไล่บดขยี้ แผนตอบโต้มีอันต้องพับเก็บไป

ทหารที่อยู่บนเรือมองไปยังฝั่งซึ่งทหารอีกกลุ่มยังคงปักหลักต่อสู้กับทหารนาซี (ภาพ: www.thesun.co.uk)

ทหารอังกฤษขณะเดินขึ้นจากเรือ, เมืองโดเวอร์, 31 พฤษภาคม 1940 (ภาพ: ww2today.com)

พลเรือเอก เซอร์ เบอร์แทรม เเรมเซย์ (Admiral Sir Bertram Ramsay) ใช้ห้องลับชื่อ ‘ไดนาโม’ ซึ่งอยู่ในปราสาทโดเวอร์ เป็นสถานที่ติดต่อเรือสำหรับอพยพ เจ้าหน้าที่ในห้องทำงานข้ามวันข้ามคืนเพื่อพยายามรวบรวมเรือสำหรับทหารมากกว่า 300,000 นาย ทหารที่ดันเคิร์กต่างเฝ้ารอการปรากฏตัวของกองทัพเรือ เพราะราชนาวีเป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดของอังกฤษ และพลิกสถานการณ์ได้เสมอมา

ในช่วงแรก พวกเขารวบรวมได้เฉพาะเรือที่ไม่ใช่ของกองทัพ เพราะลอนดอนไม่อนุมัติ เรือเหล่านี้ส่วนมากจึงถูกทุ่นระเบิดของนาซีจมลง ทำให้ลำอื่นๆ ที่ตามมาขยาด แล้ววกหัวเรือกลับอังกฤษ

เมื่อถึงจุดวิกฤต ลอนดอนจึงระดมเรือพิฆาตที่ลาดตระเวนอยู่ในน่านน้ำอังกฤษทั้งหมดส่งไปเสริมปฏิบัติการไดนาโมที่ดันเคิร์ก รวมทั้งสิ้น 37 ลำ เป็นเรือลาดตะเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 9 ลำ เรือขนส่ง 2 ลำ เรือกำจัดทุ่นระเบิด 4 ลำ เรือใบ 4 ลำ และเรือหาปลา 17 ลำ

กองทหารแตกทัพได้รับคำสั่งจากทหารส่งสารให้มุ่งหน้าไปที่ดันเคิร์ก กองทหารเหล่านี้มีที่มาหลากหลายและปราศจากผู้บังคับบัญชา แค่คำว่า ‘ไร้ระเบียบ’ จึงดูจะไม่เพียงพอสำหรับการบรรยายภาพของดันเคิร์ก

มีบันทึกว่า “บางส่วนไปหลบในห้องใต้ดิน บ้างก็สวดมนต์ภาวนา บ้างก็ทิ้งอาวุธเดินเล่นอยู่ริมชายหาด บ้างก็นั่งจิบไวน์ในคาเฟ่เหมือนนักท่องเที่ยว ทหารบางคนถึงกับนอนอาบแดดอ่านหนังสือ..”

ท่ามกลางความวุ่นวาย กัปตันวิลเลียม เทนแนนต์ (William Tennant) ได้รับเลือกจากเพื่อนทหารให้เป็นผู้สั่งการ เทนแนนต์จัดการกับความวุ่นวาย และมีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้ทหารมากกว่า 330,000 นายกลับบ้านอย่างปลอดภัย

ทหารที่เดินทางกลับถึงเมืองโดเวอร์, 31 พฤษภาคม 1940 ​(ภาพ: ww2today.com)

บริเวณสถานีรถไฟของเมืองโดเวอร์, 31 พฤษภาคม 1940 (ภาพ: ww2today.com)

เมื่อเรือพิฆาตอังกฤษมาถึงก็ถูกต้อนรับด้วยการระดมยิงจากนาซี ฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่บนชายฝั่งถูกกดดันจากรถถัง ดันเคิร์กจึงเป็นเหมือนกับดักมรณะที่หดแคบเข้ามาเรื่อยๆ เที่ยวเรืออพยพจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา

ทหารส่วนหนึ่งเสียสละอยู่โยงเพื่อยันกองทัพนาซีไว้ ช่วยให้ปฏิบัติการอพยพนำทหารกลุ่มสุดท้ายกลับถึงเกาะอังกฤษได้สำเร็จ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 9 วัน ทหารมากกว่า 330,000 นายรอดชีวิตจากกับดักมรณะของนาซีราวปาฏิหาริย์

วอลเตอร์ ลอร์ด (Walter Lord) ผู้เขียนหนังสือ The Miracle of Dunkirk: The True Story of Operation Dynamo กล่าวไว้ว่า ตราบใดที่ภาษาอังกฤษยังคงอยู่ คำว่า ‘ดันเคิร์ก’ จะเป็นอนุสาวรีย์ที่แสดงถึงความหวังว่าความร่วมมือระหว่างมนุษยชาติยังคงมีอยู่ และวีรบุรุษยังไม่หายไปไหน

ภาพ: https://www.counter-currents.com
อ้างอิง:
The Miracle of Dunkirk: The True Story of Operation Dynamo โดย Walter Lord
http://www.jaegerplatoon.net/FORMATIONS6.html

FACT BOX:

  • ตัวละครหลักในภาพยนตร์เป็นตัวละครสมมติเกือบทั้งสิ้น วิลเลียม เทนแนนต์ ที่มีบทบาทในการอพยพก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโบลตัน อาจเป็นเพราะผู้สร้างตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากทำให้ภาพยนตร์ ‘อิง’ กับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงมากเกินไป ดังนั้น เนื้อหาจากหนังสือของวอลเตอร์ ลอร์ด จึงไม่ใช่การสปอยล์ภาพยนตร์แต่ประการใด และบรรดาทหารหนุ่มในภาพยนตร์ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากบันทึกความทรงจำของทหารในสงครามดันเคิร์ก
  • พลทหารในสงครามมีชื่อเล่นรวมๆ ว่า Tommy ส่วนนาซีเยอรมัน มีชื่อเล่นว่า Jerry คุ้นๆ ไหมครับ?
Tags: , , , , , , , ,