หากจักรวาลของสตีเฟน คิง เต็มไปด้วยมนุษย์ต่างดาวชั่วร้ายและเรื่องราวของมนุษย์ที่พยายามเอาชีวิตรอดจากสิ่งเหล่านั้น จักรวาลของกีเยร์โม เดล โตโร ก็คงเต็มไปด้วยเหล่าอมนุษย์ที่พยายามเอาชนะข้อบกพร่องบางประการและฝ่าฟันอุปสรรคเฉียดตาย เพื่อที่จะได้มีตอนจบแบบ ‘มีความสุขตลอดไป’ (happily ever after)

จักรวาลของทั้งสองคนจึงเป็นสองจักรวาลที่ขนานกันอย่างสมบูรณ์แบบ

ในโลกของเดล โตโร เรื่องราวถูกถ่ายทอดจากมุมของอสุรกาย หรือไม่ก็อมนุษย์ ‘เฮลล์บอย’ เป็นปีศาจที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันของนาซี ‘บิลโบ’ แบ็กกินส์’ เป็นฮอบบิทผู้ดีจากชนบท ‘โอฟีเลีย’ จาก Pan’s Labyrinth เป็นเจ้าหญิงจากเทพนิยายมืดหม่น ขณะที่สิ่งมีชีวิตมีเกล็ดเรืองแสงใน The Shape of Water ได้รับการบูชาเป็นเทพเจ้าโดยชาวป่าแอมะซอน

ซึ่งจุดร่วมของตัวละครเหล่านี้คือความพิเศษที่มีมาแต่กำเนิด ทว่าต้องผ่านอุปสรรคและบททดสอบนานัปการเพื่อให้ได้สถานะนั้นกลับคืน

ผู้เขียนยอมรับว่าไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของเดล โตโร และไม่ค่อยอินกับตัวละครหลักที่ไม่ใช่มนุษย์ ทว่าก็สนใจ The Shape of Water เพราะรู้สึกว่ามีบางอย่างแตกต่างจากงานที่ผ่านมาของเขาซึ่งเป็นแนวแอ็กชั่นแฟนตาซี

The Shape of Water ดูจะมีความสุขุมนุ่มลึกและพล็อตที่ละเอียดอ่อนสมจริงมากขึ้นตามพัฒนาการของเดล โตโร ในวัย 53 ปีที่สั่งสมประสบการณ์มาอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งเขาเองก็ประกาศว่านี่คืองานที่ใฝ่ฝันจะสร้างมาตั้งแต่ 7 ขวบ ซึ่งเท่ากับว่านี่คืองานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิตของเขาเลยทีเดียว

เราเคยได้เห็นภาพยนตร์เกี่ยวกับลิงยักษ์และหญิงสาวจากเวทีบรอดเวย์ หรือแวมไพร์รูปงามกับหญิงสาวแสนธรรมดา ทว่าคงไม่เคยมีใครคิดว่าจะมีผู้อาจหาญบอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่างหญิงสาวกับมนุษย์เงือก

เดล โตโร ทำภาพยนตร์ที่ควรจะเป็นหนังสยองขวัญให้กลายเป็นหนังรัก ลดทอนความน่ากลัว และสร้างสิ่งแปลกใหม่อย่างแท้จริง โดยหยิบเอาสิ่งที่ผู้กำกับฯ ทั่วไปไม่คิดจะทำมาทำ และเดล โตโร ก็ทำได้ดีเสียจน The Shape of Water ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Golden Globes ถึง 7 รางวัล และได้รางวัล Best Director – Motion Picture และ Best Original Score – Motion Picture

เขาเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของอลิซา (แซลลี ฮอว์กินส์) กับมนุษย์เงือกในห้องทดลองลับของรัฐบาลอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม

อลิซาเป็นคนทำความสะอาดที่สูญเสียหลอดเสียงไปตั้งแต่ยังเด็ก และต้องสื่อสารกับผู้อื่นด้วยภาษามือ ทว่าความผิดปกติของเธอกลับเป็นจุดเชื่อมตัวละครต่างๆ เข้าด้วยกัน เธอได้ทำงานในห้องทดลองเพราะความเป็นใบ้ของเธอช่วยเก็บความลับของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

เพื่อนสนิทสองคนของเธออย่างไกล์ (ริชาร์ด เจนกินส์) ศิลปินที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน และเซลดา (อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์) ก็เลือกที่จะคบกับอลิซา เพราะเธอเป็นผู้ฟังที่คอยรับฟังปัญหาชีวิตโดยไม่ไปบอกใคร

เพื่อนทั้งสองของอลิซาต่างก็มีเรื่องราวที่ไม่สามารถบอกใครได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ไกล์มักจะแวะไปร้านฟาสต์ฟูดเพียงเพื่อจะพูดคุยกับพนักงานหนุ่ม หรือการที่เซลดาไม่สามารถสื่อสารกับสามีถึงสิ่งที่เธอต้องการ (เซ็กซ์) ได้ ส่วนอลิซาเองก็มีเรื่องราวนับพันอยู่ในใจ ทว่าไม่สามารถบอกกล่าวกับใครได้แม้แต่เรื่องเดียว

อลิซาเป็นตัวละครที่เก็บงำความรู้สึกไว้มากที่สุด และรอวันที่มันจะระเบิดออกมา เธอได้แต่รับเอาความรู้สึกของผู้อื่น โดยไม่สามารถระบายออกไปได้เลย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการสื่อสาร

เช่นเดียวกับมนุษย์เงือก (ดั๊ก เจนกินส์) ในห้องทดลอง ซึ่งมีสติปัญญาเช่นเดียวกับมนุษย์ สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ แต่ไม่สามารถพูดภาษามนุษย์ได้ ต้องเผชิญกับความเครียดและความอ้างว้างในห้องทดลองไร้ชีวิต ต้องหวาดกลัววันคืนที่จะถูกผ่าตัดแยกชิ้นส่วนเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ จุดนี้เองที่ช่วยทำให้ระยะห่างระหว่างอลิซากับมนุษย์เงือกหดแคบลง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่วันหนึ่งอลิซาจะแอบเข้าไปในห้องทดลองหนาวเหน็บเพื่อมองดูมนุษย์เงือกในโหลแก้ว และนั่งกินอาหารเที่ยงพร้อมกับเปิดเพลงแจ๊ซคลอเบาๆ

นี่คือความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ระหว่างคนสองคนที่ ‘ไม่มีใครจริงๆ’ และสามารถมองข้ามข้อด้อยของอีกฝ่ายและกำแพงทางภาษาไปได้

ภาพยนตร์ของเดล โตโร มักแสดงให้เห็นผลร้ายของการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ในทางที่ผิด เช่นนำไปใช้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นและการทดลองผิดมนุษยธรรม สิ่งที่ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาพยายามนำเสนอคือมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความพิเศษ และมีสิทธิ์ที่จะรักและภูมิใจในตนเอง แต่หลายครั้งสังคมรอบข้างก็เป็นด่านทดสอบ ซึ่งคนเหล่านั้นต้องฝ่าฟันไปให้ได้เพื่อที่จะเป็นตนเองได้อย่างสมบูรณ์

สิ่งเหล่านี้ปรากฏในภาพยนตร์ของเดล โตโร ในหลากหลายรูปแบบ เช่น เขาวงกตที่เต็มไปด้วยกับดัก มังกร ยักษ์โทรลล์ ทว่าในกรณีของ The Shape of Water มันคือแบบทดสอบในชีวิตจริง แบบทดสอบที่บ่งบอกว่า ‘โลกใบนี้มันช่างโหดร้าย’

กระจก หลอดแก้ว และผู้คนในชุดกาวน์สีขาว แท้จริงแล้วอาจเป็นอะไรที่น่ากลัวยิ่งกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตจริง

Tags: , ,