22 ธันวาคม 2561 ครบรอบสองปีการจำคุกของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา บัณฑิตวัย 26 ปี จากรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวดินและกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร และต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แม้ว่าไผ่จะสะสมคดีความมาโดยตลอดจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่มีเพียงคดีเดียวที่ทำให้เขาต้องอยู่ในเรือนจำยาวกว่าสองปี คือคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมาย ‘หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ’ จากการแชร์บทความข่าวพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย

การดำเนินคดีมาตรา 112 กับ ไผ่ ดาวดิน นำไปสู่การตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา การเลือกปฏิบัติโดยการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล รวมไปถึงเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

แม้ไผ่จะถูกยกย่องจากสังคมและผู้คนที่ศรัทธาในอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ตัวตนของเขากลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก บางมุมของเขาอาจเป็นเด็กหนุ่มช่างฝันไร้เดียงสา บางมุมเขาอาจเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่บ้าระห่ำ และบางมุมเขาอาจเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย

นักศึกษาที่ไม่ชอบศึกษาในห้องเรียน

ครั้งหนึ่งไผ่เคยเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเขาก็เป็นเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป ใช้ชีวิตแบบคนที่สนใจแต่เรื่องของตัวเอง กิน เที่ยว  เล่น เรียน ไปตามประสา แต่จุดหักเหสำคัญในชีวิตของเขาคือการเข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาดาวดิน กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภาคอีสาน

หลังจากเข้าร่วมกับกลุ่มดาวดิน ไผ่ได้ไปลงพื้นที่ พบเจอรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ครั้งหนึ่งเขาเคยไปเจอชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องทรัพยากร แล้วถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน ซึ่งมันทำให้เขาเห็นภาพของความไม่ยุติธรรมในสังคมได้ชัดขึ้นและลึกขึ้นกว่าที่เคย

เหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของไผ่ คือตอนไปลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งชาวบ้านออกมาคัดค้านการตั้งเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบย้ายเสาให้อ้อมพื้นที่ชุมชนออกไปตั้งบริเวณอื่น หน่วยงานดังกล่าวตอบโต้ด้วยการสั่งให้รถแม็คโครเอาที่ตักดินมาจ่อหัวชาวบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้กลุ่มนักศึกษาสะเทือนใจมาก และกลายเป็นคนต่อต้านการกระทำที่โหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แต่ด้วยสไตล์การศึกษาผ่านการลงพื้นที่แบบกลุ่มดาวดิน มันทำให้เขาและเพื่อนถูกมองว่า พวกเขาเป็นพวกเถื่อน ไม่มีระเบียบ ไม่ชอบเข้าเรียน ไปจนถึงเป็นคอมมิวนิสต์

แม้อาจารย์มักบอกเขาและเพื่อนดาวดินคนอื่นๆ เสมอว่า “หากอยากช่วยชาวบ้านก็ขอให้ตั้งใจเรียนจะได้จบไปช่วยเหลือชาวบ้านได้” แต่ไผ่กลับเห็นว่า ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยควรใช้ให้คุ้มค่า การออกไปทำกิจกรรม ลงพื้นที่ เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก และรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น

นักกิจกรรมที่ชอบทำก่อนคิดที่หลัง

มีคำกล่าวกันในกลุ่มดาวดินว่า “ทำก่อน คิดทีหลัง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการเป็น ‘นักปฏิบัติ’ ทุกครั้งที่จะจัดกิจกรรม สมาชิกจะช่วยกันคิดว่าอยากผลักดันประเด็นอะไร และจะทำออกมาในรูปแบบไหน หากมีคนเห็นด้วยก็ลงมือทำ แล้วจึงมาสรุปบทเรียนทีหลัง อะไรที่ทำแล้วไม่ดีก็นำมาปรับปรุง

แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะไม่ยอมคิดก่อนทำ จึงทำให้ไม่เห็นผลที่จะตามมาว่ารุนแรงเพียงใด แต่ไผ่บอกว่า “ถ้าคิดก็ไม่ได้ทำ เพราะบางครั้งคิดมากเกินไปจนกลัว ข้อดีของการทำก่อน คิดทีหลัง คืออย่างน้อยก็ได้ทำอะไรที่อยากทำ”

หลายครั้ง ไผ่ออกไปเคลื่อนไหวตามสัญชาตญาน ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะกระทำได้  ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงได้เห็นไผ่และกลุ่มดาวดินรวมกลุ่มใส่เสื้อยืดสีดำติดสติ๊กเกอร์ข้อความว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” พร้อมชู 3 นิ้วสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ขณะขึ้นเวทีกล่าวเปิดงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่น หลังการรัฐประหารเพียง 6 เดือน และอยู่ในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

ไผ่เคยกล่าวว่า เขาเบื่อแล้วกับคำว่ารอให้สถานการณ์สุกงอมก่อน เขาคิดว่าทุกคนต้องทำให้สถานการณ์มันสุกงอมด้วยตัวเอง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำจะสามารถทำให้สังคมเรียนรู้ว่าการรัฐประหารนั้นไม่ดีได้ไหม หรือทำให้คนอื่นๆ ในสังคมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร เราไม่สามารถคาดหวังตรงนั้นได้ แต่เรารู้สึกว่า เราอยากทำในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

นักกฎหมายที่ไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย

ไผ่เคยเล่าว่า ในฐานะนักศึกษากฎหมาย เขาถูกสอนว่ากฎหมายคือความยุติธรรมมาโดยตลอด แต่ในความเป็นจริง กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม มันคือเครื่องมืออย่างที่มีคนกล่าวเอาไว้ว่า ชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชนนั้น เขาจึงคิดว่ากฎหมายมันไม่มีความเป็นธรรม

หลังการรัฐประหาร ไผ่ต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรมในนามของกฎหมายอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ เช่น การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อปราศรัย ชูป้ายผ้า และบางครั้งก็เพียงแค่แจกเอกสารหรือจัดเวทีเสวนา แต่เขากลับถูกดำเนินคดีในฐานะก่อความไม่สงบเรียบร้อย ยุยงปลุกปั่นฯ เสมือนเป็นภัยความมั่นคงของชาติบ้านเมืองรวมไม่น้อยกว่า 6 คดี

เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดคงหนีไม่พ้น การถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา ‘หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ’ จากกรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

แม้ข่าวเดียวกันนี้จะมีคนแชร์มากว่า 2,400 แชร์ และคอมเมนท์อีก 1,000 กว่าคอมเมนท์ แต่เจ้าหน้าที่รัฐเลือกดำเนินคดีเฉพาะนักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล โดยมีไผ่เป็นบุคคลแรกที่ถูกดำเนินคดี ไผ่ยังถูกเพิกถอนสิทธิในการประกันตัวจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ที่ศาลมองว่ามีท่าที ‘เย้ยหยันอำนาจรัฐ’ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชัดเจนในขอบเขตของกฎหมาย

ซ้ำร้ายกว่านั้น การต่อสู้ของไผ่ถูกบีบให้สู้เพียงลำพัง ไผ่เรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเพื่อให้สังคมร่วมจับตาและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมว่าสิ่งที่เขาแสดงออกมันผิดอย่างไร แต่ก็ถูกปฏิเสธจากศาล ไผ่ขอใช้สิทธิประกันตัวเพื่อให้ได้มีสิทธิเตรียมตัวสู้คดีอย่างเต็มที่แต่ก็ถูกปฏิเสธอีกเช่นเดียวกัน

อุปสรรคเหล่านี้ ทำให้การเดินหน้าต่อสู้คดีของเขาและครอบครัวกลายเป็นทางเลือกที่ทำร้ายตัวเองมากที่สุด

ในวันที่ไผ่ตัดสินใจรับสารภาพ ศาลถามไผ่อีกครั้งว่า เขาจะเปลี่ยนแนวทางสู้คดีหรือไม่ พร้อมทั้งกล่าวกับไผ่ด้วยว่า การจะชนะคดีนี้เป็นเรื่องยาก เพราะองค์พระมหากษัตริย์ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุด ครอบครัวและศาลจึงขอหารือกันเพื่อพิจารณาอัตราโทษที่เป็นไปได้หากไผ่จะรับสารภาพ

หลังศาลมีคำพิพากษา ไผ่กล่าวแค่เพียงว่า “ก่อนมาศาลวันนี้ไม่ได้คิดว่าจะมารับสารภาพ ขณะที่อยู่ในเรือนจำได้แต่คิดเรียบเรียงว่า จะเบิกความในคดีของตนเองเพื่ออธิบายอย่างไรบ้าง แต่วันนี้เมื่อมาคุยแล้วพบว่า ไม่มีทางเลือก”

เมื่อสิงหาคม 2017 ไผ่กล่าวหลังศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 5 ปี (จำเลยรับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน) ว่า “ผมสู้เต็มที่แล้ว ทั้งสู้กับตัวเอง สู้กับทุกอย่าง ก็สู้ได้แค่นี้”

นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ    

ในสายตาของฝ่ายความมั่นคงที่ทำงานปกป้องความมั่นคงให้รัฐบาลทหารในปัจจุบัน คงไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่ไผ่ทำนัก แต่ในอีกซีกมุมหนึ่งของโลก ไผ่ คือคนที่คู่ควรกับการยกย่องเชิดชู

14 เมษายน 2560 มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) เจ้าของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยเหยื่อของการปราบปรามการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ (เมื่อปี 2523) มูลนิธิได้ทำงานรวบรวมและบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามสังหารประชาชนที่เมืองกวางจู เพื่อเป็นการสืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ตัดสินใจมอบรางวัลกวางจูให้แก่ไผ่

โดยจดหมายที่แจ้งการได้รับรางวัลของไผ่ ระบุว่า มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้คุณทราบว่า คุณคือผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 ขอแสดงความยินดีด้วย

ในจดหมายระบุถึงความเห็นของคณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 ว่า พวกเขาขอชื่นชมความกล้าหาญและจิตใจรักความเป็นธรรมของของไผ่ ที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราเล็งเห็นด้วยว่าการต่อสู้ของคุณช่วยปลุกเร้าประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ให้หันมาสนใจสภาพการณ์ทางการเมืองและความสำคัญของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งได้สร้างคุณูปการต่อการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย

อย่างไรก็ดี หลังไผ่ทราบว่าตัวเขาได้รางวัลดังกล่าว เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่คิดว่าคนอย่างผม คนหนุ่ม คนอีสานธรรมดาจะได้รางวัลเดียวกับคนระดับผู้นำประเทศหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลได้ บอกตรงๆ ว่าตอนแรกก็ยังงงๆ พอตั้งสติได้ผมก็ดีใจ มันเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่ผมได้ทำลงไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความสนใจ ติดตามประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“แต่ที่ผมเสียใจก็คือ สิ่งที่ผมได้มันเป็นเพียงแค่รางวัล สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าก็คืออิสรภาพ ซึ่งมันเป็นสิทธิของผมและสิทธิของผู้ต้องขังในคดีการเมืองอีกจำนวนมาก แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะได้มันมา”

Fact Box

  • มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี
  • มาตราดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่มักนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งคนที่เห็นต่าง เพราะเปิดให้ใครก็ตามสามารถริเริ่มคดีได้ ต่างจากคดีหมิ่นประมาททั่วไปที่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดี ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมาย บ้างเสนอให้ยกเลิกมาตรานี้ บ้างเสนอให้มีการตั้งองค์กรเฉพาะมาทำหน้าที่กลั่นกรองคดีเพื่อป้องกันผลกระทบจากการใช้กฎหมายในทางมิชอบ แต่ยังไม่มีภาคการเมืองกลุ่มใดกล้าแตะต้องกฎหมายมาตรานี้
Tags: ,