“ผู้หญิงที่โตแล้ว แต่งตัวเพื่อตัวเองไม่ได้เพื่อเอาใจผู้ชาย” 

หลายวันที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นแคปชันรูปในอินสตาแกรมของ ‘นิวเคลียร์’ – หรรษา จึงวิวัฒนวงศ์ ที่ออกมาโพสต์ภาพ หลังอดีตสามี ‘ดีเจเพชรจ้า’ – วิเชียร กุศลมโนมัย ให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่า ตัวเองเป็นคนหัวโบราณ ไม่ได้เสียดายที่เลิกกันเพราะไม่ชอบที่นิวเคลียร์แต่งตัวเซ็กซี่ เวลาเห็นแฟนใส่บิกินีจะรู้สึกหวง มองว่าโป๊ แม้ว่าจะชอบมองผู้หญิงใส่บิกินีแต่ถ้าเป็นแฟนตัวเองก็อยากเห็นคนเดียว อยากให้เขาเป็นของเราคนเดียว ไม่อยากแชร์กับใคร

ความคิดแบบนี้คือแนวคิดหัวโบราณ หรือการถูกครอบงำด้วยระบบชายเป็นใหญ่?

คำว่า ‘ชายเป็นใหญ่’ คงไม่ใช่คำแปลกไม่คุ้นหูอะไรมากนักในศตวรรษที่ 21 แม้คุณไม่ใช่เฟมินิสต์ (Feminist) ก็ต้องเคยได้ยินกันมาบ้าง ระบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy) เป็นคำที่ใช้อธิบายระบบสังคมที่เอื้อให้เพศชาย หรือ ‘ความเป็นชาย’ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร เช่น พ่อ สามี ลูกชายที่มีสิทธิมีอำนาจเหนือเพศอื่น หรือแนวคิดที่เพศชายเป็นศูนย์กลางของสังคมเป็นผู้นำ ระบบนี้จะมอบอำนาจและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ให้กับความเป็น ‘ชาย’ มากกว่าเพศอื่นๆ 

หากให้นิยามสั้นๆ ว่าระบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตยคืออะไร? ผู้เขียนคงจะสรุปว่าเป็นแนวคิดที่ ‘จู๋เป็นเจ้าโลก’

ระบบชายเป็นใหญ่หล่อหลอมให้ผู้ชายมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความเป็นผู้นำสูงเพราะมีอำนาจเหนือผู้อื่น สิ่งที่ชี้ชัดให้เห็นว่าบทบาททางเพศของผู้ชายสัมพันธ์กับแนวคิดชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี คือการภูมิใจในขนาดอวัยวะเพศ วัฒนธรรมความเชื่อที่นิยมชมชอบลูกชายมากกว่าลูกสาว หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมการข่มขืน เช่น วัฒนธรรมฉุดสาวในกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อนุญาตให้ผู้ชายใช้กำลังฉุดผู้หญิงที่ตัวเองชอบไปเป็นภรรยาได้ แม้ว่าผู้หญิงจะไม่ยินยอมก็ตาม ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางวัฒนธรรมยังเปิดโอกาสให้คนที่ข่มขืนคนอื่นแต่งงานกับเหยื่อได้อีกด้วย

มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ได้สำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและหญิงพิการในปี 2564 พบว่า ผู้หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดแจ้งความร้องทุกข์เฉลี่ยมากถึงปีละ 3 หมื่นราย ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ยังไม่รวมถึงข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่รายงานการฆาตรกรรม การทำร้ายร่างกายอดีตภรรยา หรืออดีตแฟนสาวหลังจากถูกปฏิเสธไม่คืนดี ฯลฯ

กรณีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในยุคไหน ศตวรรษใด แม้กระทั่งในยุคสมัยที่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่แนวคิดที่มองร่างกายผู้หญิงเป็นสิ่งที่ครอบครองได้ หึงหวงได้ โดยใช้เหตุผลของความรักความห่วงใย ยังคงเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มทำเป็นปกติ หรือหากมองระบบชายเป็นใหญ่แบบ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels ) อาจกล่าวได้ว่า ระบอบทุนนิยมคือระบอบชายเป็นใหญ่ เป็นระบอบที่ผู้หญิงตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกดขี่ที่ย่ำแย่กว่าผู้ขายแรงงาน และตรรกะของทุนที่ต้องแข่งขันครอบครองทรัพย์สินและทรัพยากรต่างๆ ก็เกิดขึ้นพร้อมกับแนวคิดการแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในตัวเพศหญิง 

แม้ว่าชื่อของระบบที่ครอบโลกนี้ไว้คือ ‘ชายเป็นใหญ่’ แต่ทุกเพศทุกวัยก็สามารถรับวิธีคิดแบบจู๋เป็นเจ้าโลกมาปรับใช้ได้เหมือนกัน (ทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) เช่น ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นตำรวจศีลธรรม คอยจับตาตรวจสอบว่าผู้หญิงด้วยกันเองแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยหรือเปล่า เป็นกุลสตรีไหม เป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามีหรือไม่ และส่งต่อความคิดเป็นลูกสาวต้องทำงานบ้าน เกย์ไม่ชอบกะเทยเพราะมองว่าสาวกว่า ไม่ชอบเกย์ที่ออกสาวกว่าตัวเอง หรือเป็นเกย์ต้องแมนๆ ไปกันแบบรุ่นสู่รุ่น

The Momntum ชวนสำรวจแนวคิด ‘มายาคติ’ และความเชื่อในโลกชายเป็นใหญ่ที่กดทับความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างยาวนาน ซึ่งการกดทับที่ว่านี้ไม่ได้เบียดบังหรือส่งผลกระทบแค่เพศหญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ผู้ชายก็ได้รับผลกระทบในโครงสร้างแบบนี้เช่นกัน 

   1. ทำแท้ง = บาป

เคยได้ยินมายาคติ ความเชื่อเกี่ยวกับการทำแท้งบ้างไหม แล้วเคยได้ยินอะไรมาบ้าง? 

ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ภูมิภาคไหน อายุเท่าไร เราเชื่อว่าคุณอาจต้องเคยได้ยินมายาคติเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งคือบาป บาปกรรมจากการทำแท้งเป็นกรรมที่แก้ไม่ได้ ใครทำแท้งจะมีแต่สิ่งแย่ๆ เข้ามาในชีวิต หรือแม้แต่ใครช่วยเหลือให้การสนับสนุนคนทำแท้งก็จะได้รับโทษทัณฑ์ของกรรมเวรไปด้วย ส่วนเด็กที่ถูกทำแท้งจะกลายเป็นผีที่เคียดแค้นคอยหลอกหลอน ขี่คอ ชวนเล่น หรือก่อกวนจนทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไม่ได้ 

แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมผีเด็กไม่ไปตามพ่อบ้าง?

ในบรรดาหนังผีที่เล่าเรื่องผีเด็ก มักมีต้นเรื่องมาจากการทำแท้ง ไม่ว่าจะท้องตอนเรียน ท้องก่อนแต่ง หรือท้องไม่พร้อม ส่วนมากมักฉายภาพซ้ำการทำแท้งของวัยรุ่นที่ลูกหรือผีเด็กไม่ยอมไปผุดไปเกิด ซ้ำยังเคียดแค้นผู้เป็นแม่มากๆ แม้ว่าจะทำแท้งตอนอายุครรภ์ยังน้อย เป็นตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ แต่เวลาโผล่มาหลอกหลอนกลับมาในรูปแบบทารกเดินเตาะแตะหรือคลานได้เสียอย่างนั้น และทำไมผีเด็กที่ถูกทำแท้งถึงเลือกปฏิบัติ ตามหลอกตามขี่คอแม่เป็นส่วนใหญ่ ทำไมไม่ตามพ่อบ้างทั้งที่ตอนทำตอนมีเซ็กส์ก็ทำด้วยกันทั้งสองคน

“แน่นอนว่าที่ผีเด็กไม่ค่อยจะพยาบาทพ่อมัน เพราะปิตาธิปไตยให้ให้อิสระทางเพศกับผู้ชายมากกว่า” – ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย

คำพูดของชานันท์ สะท้อนแนวคิดและความเชื่อนี้เป็นอย่างดี และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ ‘ผู้หญิง’ หรือเรือนร่างของผู้หญิงมีไว้เพื่อตอบสนองผู้ชาย ผลิตลูกไว้สืบพันธุ์ เป็น ‘เครื่องจักรผลิตลูก’ แม้ว่าผู้หญิงจะอุ้มท้อง 9 เดือน เป็นผู้แบกรับน้ำหนัก แบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพ และอีกมากมาย แต่เมื่อลูกลืมตาบนโลก ทารกกลับถูกแปะป้ายนามสกุลจากตระกูลของพ่อ

สำนวนไทยที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” หรือวลีที่ว่า “ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูง เพราะเดี๋ยวก็แต่งงานมีลูกมีผัวและย้ายไปอยู่บ้านอื่น ต้องเป็นแม่ที่ดีของลูกเป็นเมียที่ดีของสามี” ล้วนสะท้อนโครงสร้างปิตาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่เมื่อใดที่เธอตัดสินใจด้วยตัวเองว่าต้องการมีเซ็กส์เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ ไม่ได้อยากสืบพันธุ์ ไปจนถึงการทำแท้ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นขบถต่อระบบชายเป็นใหญ่อย่างมาก 

พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีมติแก้กฎหมายให้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หากอายุครรภ์ตั้งแต่ 12-20 สัปดาห์ ต้องปรึกษาจากแพทย์และส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปรายมี ส.ส. บางรายยกความเชื่อทางศาสนาและบาปบุญคุณโทษมาเป็นเหตุผลในการคัดค้านกฎหมายทำแท้ง 

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ล้างคำพิพากษาคดี ‘Roe v. Wade’ ยุติกฎหมายที่เคยให้สิทธิการทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์กับผู้หญิงที่ใช้มากว่า 50 ปี ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่าการทำแท้งเป็นบาป พร้อมกับนิยามสภาพบุคคลว่าเกิดขึ้นหลังการปฏิสนธิ ดังนั้นการทำแท้งจึงถือเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนาทุกกรณีและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ความเชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ เวรกรรม ผีเด็ก หรือใดๆ ล้วนเป็นสิทธิความเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้น การทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิทางร่างกายของผู้หญิง ผู้คนก็ควรเคารพและให้เจ้าของร่างกายเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่ต้องขึ้นอยู่กับใครอื่นที่ไม่มีส่วนร่วมในสิทธิในร่างกาย และไม่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็กที่กำลังจะลืมตาขึ้นมาดูโลก 

ส่วนในประเด็นความคิดเห็นของ ส.ส. ผู้เป็นตัวแทนของประชาชน ผู้เขียนมองว่าคุณก็มีสิทธิที่จะเชื่อ มีสิทธิที่จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ แต่เมื่อใดที่สวมหมวกการเป็นตัวแทนประชาชน กรอบศาสนาหรือความเชื่อส่วนบุคลลไม่ควรอยู่เหนือการรักษาสิทธิ และควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เลือกคุณมา

2. ‘สุภาษิตสอนหญิง’ ที่เขียนโดยเพศชาย

“แม้นเขารักอย่าดื้อทำถือสัตย์ เร่งเคร่งครัดกลัวภัยใหญ่มหันต์

คำนับนอบสามีทุกวี่วัน อย่าดุดันดื้อดึงตะบึงตะบอน

ครั้นสิ้นแสงสุริยาอย่าไปไหน จุดไต้ไฟเข้าไปส่องในห้องก่อน

ระวังดูปูปัดสลัดที่นอน ทั้งฟูกหมอนอย่าให้มีธุลีลง

ถ้าแม้นว่าภัสดาเข้าไสยาสน์ จงกราบบาททุกครั้งอย่าพลั้งหลง

แม้นเมื่อยเหน็บเจ็บปวดในทรวดทรง ช่วยบรรจงนวดฟั้นให้บรรเทา” 

– สุภาษิตสอนหญิง

สุภาษิตสอนหญิงที่ปรากฏชื่อผู้แต่งในบทไหว้ครูว่า ‘ภู่’ ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่าผู้ประพันธ์คือ ‘สุนทรภู่’ ที่แต่งสุภาษิตและวรรณกรรมต่างๆ เพื่อสอนสตรีในช่วง พ.ศ. 2340-2383 และเนื้อหาวรรณกรรมเหล่านี้ยังถูกสืบทอดผ่านห้องเรียนมาจนถึงทุกวันนี้ 

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มพัฒนาหลักสูตรการศึกษาครั้งแรกในปี 2503 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้ผูกขาดการจัดทำแบบเรียน บังคับให้สถานศึกษาทั่วประเทศต้องนำแบบเรียนที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้นไปใช้ทำการเรียนการสอน ซึ่งเนื้อหาที่ประชาชนต้องเรียนก็มาจากการเลือกของกระทรวงศึกษาเพียงฝ่ายเดียว หรือเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดทางความคิดและครอบงำเชิงวัฒนธรรม (Cultural Hegemony) ที่ช่วยผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ ความเชื่อ และค่านิยมบางอย่าง จนทำให้เกิดการยินยอมและกลายเป็นความชอบธรรมทางความคิดโดยปริยาย ซึ่งกวีเอกอย่างสุนทรภู่เป็นหนึ่งในแบบเรียนที่นักเรียนไทยต้องเจอ 

สุภาษิตที่ยกมาเบื้องต้น ฉายภาพแนวคิดชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี โดยเนื้อหาสุภาษิตสอนหญิงมีทั้งข้อห้ามและข้อปฏิบัติ เช่น เป็นผู้หญิงอย่าทอดทิ้งพ่อแม่ ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นชู้ อย่าเล่นการพนัน ส่วนข้อปฏิบัติคือต้องเป็นกุลสตรี รักนวลสงวนตัว ปรนนิบัติสามี ดูแลบ้านเรือนไม่ให้ขาดตกบกพร่อง และต้องเคารพสามี ดังคำกล่าวที่ว่า “แม้นว่าภัสดาเข้าไสยาสน์ จงกราบบาททุกครั้งอย่าพลั้งหลง” ที่แปลว่า แม้ว่าสามีเข้านอนก็ต้องกราบเท้าเพื่อแสดงความเคารพอย่าได้ขาด

สุภาษิตสอนหญิงจึงเป็นภาพสะท้อนวรรณกรรมที่ส่งต่ออุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ เสนอภาพและฉายซ้ำความคาดหวังให้ผู้หญิงปรนนิบัติพัดวี จงรักภักดีต่อสามี และเทิดทูนกราบแทบเท้า หากใครทำตามก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่า และสุภาษิตสอนหญิงที่เขียนโดย ‘ชาย’ ก็ยังแสดงอำนาจเหนือกว่าเพศหญิงด้วยการกดให้ผู้หญิงอยู่ใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการมีอำนาจมากกว่าทั้งในพื้นที่สาธารณะและในพื้นที่บ้าน โดยผู้หญิงถูกจองจำให้อยู่แต่บ้าน ทำงานบ้าน และจงรักภักดีต่อสามีเท่านั้น

ขณะที่ผู้หญิงถูกปลูกฝังให้รักเดียวใจเดียว แต่วัฒนธรรม ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ กลับเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด หากย้อนไปในสมัยสุโขทัยจะพบว่า ผู้ชายมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้หญิง มีสถานะต่างๆ สูงกว่า จึงทำให้มีเมียหลายคนได้ มีข้อห้ามเพียงแค่ห้ามคบชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ผู้หญิงไม่สามารถมีสามีหลายคนอย่างที่ผู้ชายมีหลายเมียได้ 

อีกหนึ่งวรรณคดีโบราณอย่าง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ที่เล่าว่า นางวันทองต้องไปอยู่กินกับขุนช้างอย่างไม่เต็มใจ ทุกข์ทนกับการถูกขุนช้างข่มขืน แต่ฝ่ายหญิงกลับถูกประณามว่าเล่นชู้สองจิตสองใจจนต้องโทษประหารชีวิต ขณะที่ผู้ชายมีหลายเมียอย่างขุนแผนกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถูกต้องตามบรรทัดฐานสมชาติชายชาตรี 

“ถึงชายใดเขาพอใจมาพูดเกี้ยว

อย่าโกรธเกรี้ยวโกรธาว่าหยาบหยาม

เมื่อไม่ชอบก็อย่าตอบเนื้อความตาม

มันจะลามเล่นเลยเหมือนเคยเป็น” 

– สุภาษิตสอนหญิง

บทประพันธ์นี้แสดงให้เห็นว่า การคุกคามทางเพศต่อเพศหญิงหรือเพศอื่นๆ ของผู้ชายสามารถทำกันเป็นปกติ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ผู้หญิงจะโดน ‘เกี้ยว’ หรือโดนแซว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน เวลาผู้หญิงเดินผ่านมักถูกกลุ่มผู้ชายตะโกนแซว (Catcalling) นอกจากสุภาษิตเหล่านี้จะส่งต่อชุดความคิดที่มองว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติแล้ว ยังทำให้เหยื่อไม่กล้าออกออกมาพูดหรือออกมาตอบโต้ทางอ้อมอีกด้วย 

“อย่าลืมตัวมัวเดินให้เพลินจิต

ระวังปิดปกป้องของสงวน

เป็นนารีที่อายหลายกระบวน

จงสงวนศักดิ์สง่าอย่าให้อาย” 

– สุภาษิตสอนหญิง

สุภาษิตสอนหญิงให้รักนวลสงวนตัว ปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องแต่งกายมิดชิด ขณะเดียวกันก็ส่งต่อแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ว่า หากผู้หญิงถูกข่มขืนก็เป็นเพราะไม่ระวังตัว หรือถูกข่มขืนเพราะแต่งกายโป๊เกินไป ถูกสังคมรุมประณามทั้งการแต่งตัวไปจนถึงการพาตัวเองไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ผู้หญิงในสังคมต้องระวังตัวอย่างมาก เพื่อไม่ให้ไปทำตัว ‘ยั่วยวน’ จนผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศ

แต่ทำไมถึงไม่มีสุภาษิตสอนชายให้ยับยั้งชั่งใจ สอนให้ผู้ชายจัดการอารมณ์ตัวเอง และหัดเคารพสิทธิของผู้หญิงบ้าง?

นอกจากนี้ยังมีบทประพันธ์ที่แสดงให้เห็นว่า หากเกิดเป็นผู้หญิงแต่ไม่มีความเป็นกุลสตรี มีความเป็นชายมากเกินไป (Masculinity) ก็จะไม่เป็นที่ต้องการหรือผิดไปจากความคาดหวังของสังคมชายเป็นใหญ่ที่ต้องการให้ผู้หญิงเรียบร้อย พูดน้อย อ่อนน้อมถ่อมตน และรักสามี

หนังสือเรียนชุด ‘ภาษาเพื่อชีวิต’ ของกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายความหมายของคำว่าสุภาษิตสอนหญิงเพิ่มเติมไว้ดังนี้ “สุภาษิตสอนหญิงเป็นวรรณคดีประเภทคำสอนที่แสดงวัตถุประสงค์ในเนื้อหาอย่างชัดเจนว่าต้องการเป็นเครื่องเตือนสติสอนใจสตรี มีเนื้อหาสอนหญิงทุกวัย และมีสาระครอบคลุมแทบทุกเรื่องทั้งทางกาย วาจา ใจ และการครองตนให้เหมาะสมตามค่านิยมที่ดี การปฏิบัติตนต่อบิดา มารดา สามี และบุคคลทั่วไป เช่น สอนให้รู้จักรักนวลสงวนตัว รักศักดิ์ศรีของหญิง ไม่ชิงสุกก่อนห่าม หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมก่อนถึงเวลาอันควร” 

“จงรักนวลสงวนห้ามใจไว้ อย่าหลงใหลจำคำที่ร่ำสอน

คิดถึงหน้าบิดาแลมารดร อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี” 

– สุภาษิตสอนหญิง

3. ไม่ตรงเพศสภาพกำเนิด = บาป 

เมื่อความหลากหลายทางเพศถูกมองเป็นเรื่องผิดหลักศาสนา ถูกอ้างด้วยศีลธรรมอันดี

“กฎหมายใดก็ตามที่ตราขึ้นมาแล้วขัดหรือแย้งกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีการถือปฏิบัติมาแล้ว 1,400 กว่าปี และไม่มีการแก้ไขแล้ว เราไม่สามารถที่จะรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อที่ 7 ให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถรับผู้เยาว์ได้” 

ซูการ์โน มะทา ส.ส.จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม (อ่านข่าวเต็มได้ทาง https://bit.ly/3R5K66a)

ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมตินัดพิจารณาว่าจะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 หรือที่เรียกกันว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่มีเนื้อหาสำคัญหลักๆ คือการเปลี่ยนข้อความในกฎหมายที่ระบุว่า ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ สามารถสมรสกันได้ เปลี่ยนเป็น ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ สามารถสมรสกันได้ รวมถึงการเปลี่ยนคำว่า ‘สามีและภรรยา’ ให้เหลือเพียงแค่ ‘คู่สมรส’ และกฎหมายฉบับนี้จะทำให้คู่สมรสทุกคู่มีสิทธิขอรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน การคุ้มครองเช่นเดียวกับเพศหญิงและชาย แต่ในช่วงการอภิปรายเพื่อรับหลักการร่างดังกล่าว ความเชื่อ ชุดความคิด และหลักศาสนาที่ตัวแทนประชาชนอย่างซูการ์โนหยิบยกมาใช้กลับเป็นความเชื่อและความศรัทธาส่วนบุคคลที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการและการรักษาสิทธิของประชาชน 

นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกถึงหลักการทางศาสนาต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า การที่บุคคลหนึ่งไม่ตรงเพศสภาพกำเนิดถือเป็นสิ่งแปลก ผิดธรรมชาติ หรือเป็นบาป เช่น อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งขณะรับร่างอภิปราย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างของกระทรวงยุติธรรม เพราะมีการจำกัดว่าคู่ชีวิตต้องเป็นเรื่องระหว่างเพศเดียวกันเท่านั้น และคู่สมรสต้องเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติ การแต่งงานของเพศอื่นจึงไม่ใช่หลักธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องปกติ จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษบังคับใช้ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของกระทรวงยุติธรรม 

กฎหมายฉบับเดียวกันนี้ของกระทรวงยุติธรรมยังเป็นกฎหมายที่เห็นว่า LGBTQ+ เป็นคนไม่ปกติ ต้องมีกฎหมายพิเศษออกมาสำหรับคนกลุ่มนี้ และการเที่ยวกำหนดว่าชายหญิงให้เป็น ‘คู่สมรส’ ชาย-ชาย และหญิง-หญิง ให้เป็น ‘คู่ชีวิต’ ส่วนเกย์กับทอมถ้าจะสมรสกันให้ใช้กฎหมายคู่สมรส เรื่องนี้จึงต้องตั้งคำถามว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นใครถึงไปกำหนดชีวิตของคนเหล่านั้น และ​​ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนา ศาสนาหลักของประเทศ ได้แก่ พุทธ คริสต์ และอิสลาม การประกอบพิธีทางศาสนาพุทธในงานมงคลสมรส เพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น ต่างกับศาสนาคริสต์หรืออิสลามที่การสมรสเกี่ยวข้องกับศาสนา สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือหากเป็นการ ‘สมรสเท่าเทียม’ จะเป็นการบังคับผู้นำศาสนาให้ต้องประกอบพิธีสมรสให้กับคนทุกเพศ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า เสียงของผู้นำศาสนาอื่น จะไม่รับฟังหรืออย่างไร (อ่านข่าวเต็มได้ทาง https://themomentum.co/report-democrat-no-samesex-marriage)

แต่ละศาสนากล่าวถึง LGBTQ+ อย่างไรบ้าง?

คัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า เพศสัมพันธ์คือของขวัญจากพระเจ้า ควรจะเกิดขึ้นระหว่างการสมรสของชายกับหญิงเท่านั้น เนื่องจากการสมรมอย่างถูกต้องตามจารีตประเพณีเป็นพื้นฐานของการสร้างครอบครัวที่เด็กเกิดมาและได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศเพราะเห็นว่าผิดธรรมชาติและไม่เป็นไปตามประประสงค์ของพระเจ้า

หากมาดูพระคัมภีร์หรือไบเบิลจะพบว่า มีบัญญัติหลายข้อที่กล่าวว่าการรักร่วมเพศ = บาป การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นบาป การใช้เครื่องแต่งกายของเพศตรงข้ามเป็นที่พึงรังเกียจแด่พระเจ้า การสมรสที่ถูกต้องตามประสงค์พระของเจ้าคือการสมรสระหว่างชายคนหนึ่งกับหญิงคนหนึ่ง 

แม้ว่าพระไตรปิฎกจะไม่มีบัญญัติไหนเขียนว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นบาป หรือการไม่ตรงเพศสภาพกำเนิดเป็นสิ่งขัดต่อหลักคำสอนแบบตรงๆ แต่ศาสนาพุทธได้ส่งต่อชุดความคิดที่ว่าการเป็นเกย์ ทอม ดี้ เป็นบุคคลที่ทำบาปในชาติที่แล้ว เช่น ชาติก่อนเคยเกิดเป็นผู้ชายแต่ทำผิดศีลข้อ กาเม สุมิจฉาจาร คือการเป็นชู้กับเมียชาวบ้าน หลังจากตกนรกหมกไหม้และเกิดมาเป็นคน เศษเวรกรรมยังตามมาเล่นงานอยู่ ส่งผลให้บางคนตัวเป็นชายใจเป็นหญิง บางคนตัวเป็นหญิงแต่ใจเป็นชาย ฯลฯ ส่วนคนที่เกิดและมีเพศตรงกับสภาพกำเนิดนั้น ชาติที่แล้วเป็นชายที่รักษาศีลข้อที่ 3 ไม่เจ้าชู้ไม่ผิดลูกเมีย ส่วนผู้หญิงชาติที่แล้วทำบุญมาเหมือนผู้ชาย แต่ในอดีตชาติเคยผิดศีลกาเม สุมิจฉาจาร จึงเกิดมาเป็นเพศหญิง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทางพุทธศาสนามีการเหยียด ‘ทุกเพศ’ โดยอาจตีความได้ว่า การที่ไม่ได้เกิดมาเป็นเพศชายหรือเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด คือการทำบาปทำกรรมมามากว่าเพศชาย และคนที่เกิดมาเป็นเพศชายนั้นชาติที่แล้วทำบุญมามากเป็นผู้บริสุทธ์ 

อีกสิ่งหนึ่งในศาสนาพุทธที่ เซ็นวัชระ กรุณา เป็นผู้เขียน และพระวรธรรม แปลได้อย่างน่าสนใจ คือหลายปีที่ผ่านมา เกย์หรือเลสเบี้ยนจำนวนมากให้ความสนใจกับศาสนาพุทธ เพราะมีจุดเริ่มต้นว่าพุทธศาสนาไม่ได้รังเกียจเพศเดียวกัน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาวยิวหรือคริสเตียน แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวและการศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนา กลับพบว่าอาจารย์ผู้ชายชาวเอเชียมีทัศนคติเยียดเพศ (Sexism) และรังเกียจเพศเดียวกัน (Homophobia) สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจอย่างมาก เพราะพุทธศาสนไม่มีคำสอนที่บ่งบอกถึงอาการรังเกียจคนรักเพศเดียวกันอย่างชัดเจนไม่เหมือนศาสนาในตะวันตก

แต่จากการเข้าไปสำรวจตรวจสอบกลับพบว่า การรังเกียจเพศเดียวกันในพุทธศาสนาไม่แตกต่างจากศาสนาในตะวันตก แต่พุทธศาสนานั้นรังเกียจผู้หญิงอย่างมาก และถูกทำให้ถูกต้องผ่านคำสอนในพุทศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การรังเกียจเพศหญิง แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผู้หญิงหรือมีลักษณะแนวโน้มไปทางผู้หญิงก็จะถูกรังเกียจด้วย ดังนั้น เกย์บางคนที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิงก็จะถูกรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติไปด้วย 

เหล่านี้ยังไม่รวมการเลือกปฏิบัติในการบวชเข้าสู่ร่วมกาสาวพัสตร์ ที่ห้ามคนที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงบวช ดังที่พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ระบุถึงบุคคลที่ห้ามบวชคือบัณเฑาะก์, คนลักเพศ และอุภโตพยัญชนก 

4. ในโลกชายเป็นใหญ่ ผู้ชายก็ถูกกดทับได้เหมือนกัน

แม้ผู้ชายจำนวนมากจะได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย จนพยายามหาทางรักษาสืบทอดโครงสร้างนี้เพื่อคงอำนาจของตัวเองไว้ แต่ไม่ใช่แค่ผู้หญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบในระบบชายเป็นใหญ่ แต่ผู้ชายก็ถูกกดทับเช่นกัน 

ในสังคมนี้ยังมีผู้ชายบางส่วนที่ถูกตัดสินว่าไม่ใช่ ‘ชาย’ ในนิยามของระบบปิตาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นความเป็นชายแบบรอง (Subordination) ได้แก่ ความเป็นชายที่ไม่เป็นไปตามนิยามของสังคมชายเป็นใหญ่ เช่น เนิร์ด อ้วน เตี้ย อ่อนแอ บอบบาง จนภายหลังนำความอ่อนแอที่ยึดโยงกับเพศหญิงมาใช้เพื่อลดทอนความเป็นชาย เช่น ไอ้ลูกติดแม่ ลูกแหง่ ไม่แมน ฯลฯ

เมื่อมีลักษณะไม่ตรงคำนิยามแบบชายในโลกของปิตาธิปไตย ก็จะถูกบีบออกจากสังคม แม้แต่ในโลกที่จู๋เป็นใหญ่ก็ยังมีระบบชนชั้นแบบจู๋ๆ กดทับกันอีกทอดด้วย เช่น อำนาจ อายุ ฐานะทางการเงิน ชาติตระกูล และสถาบันสังคม

อีกมายาคติหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า นอกจากความเชื่อที่ปลูกฝังต่อลูกผู้ชายว่าต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ เป็นสุภาพบุรุษ ไม่ได้กดทับแค่เพศอื่น แต่ขณะเดียวกัน เพศชายก็ต้องแบกรับความคาดหวังดังกล่าว จนทำให้พอเจอปัญหาใหญ่แล้วคิดหาทางออกไม่ได้ ก็อาจเลือกการฆ่าตัวตาย เพราะถ้ายอมเอ่ยปากปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือ อาจถูกมองว่าเป็นผู้นำครอบครัวที่ล้มเหลว

ความเป็นชายไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือเพียงเกิดมาเป็นชาย แต่เมื่อความเป็นชายที่มีไม่เป็นไปตามนิยามของสังคมปิตาธิปไตย ก็อาจะถูกขับไสไล่ส่งได้ เช่น ในฉากหนังสุดฮิตเรื่อง ‘แฟนฉัน’ กับวลี “เจี๊ยบตัดยางเราทำไม” ที่เจี๊ยบต้องบอกลาการเล่นกระโดดยางที่ถูกมองว่าเป็นการละเล่นของผู้หญิง แสดงความเป็นชายเพื่อให้กลุ่มเพื่อนยอมรับ และแสดงความเป็นชายเพื่อไม่ให้ถูกตีตราจากสังคมว่าไม่ใช่ผู้ชาย

การที่ถูกแปะป้ายความเป็นชายตั้งแต่เกิด ส่งผลให้ต้องกดดันตัวเองและบางทีก็กดทับผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองถูกยอมรับและขยับไปอยู่อีกขั้นหนึ่งของสังคมปิตาธิปไตย บางครั้งการประคับประคองรักษาสถานะของตัวเองในโลกจู๋เป็นใหญ่ก็อาจทำให้หลายคนกลายเป็นคนเหยียดเพศ กีดกันทางเพศ หรือกดขี่ทางเพศโดยไม่รู้ตัวได้ 

ที่มา: 

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-54513499

https://www.supremecourt.gov/opinions/21pdf/19-1392_6j37.pdf

https://thematter.co/brief/178917/178917#google_vignette

 https://prachatai.com/journal/2019/06/83015 

https://prachatai.com/journal/2018/04/76677

https://thematter.co/thinkers/sex-ray/ghost-of-abortion-right/134580

http://www.feminista.in.th/post/patriarchy

https://workpointtoday.com/violence-to-th-women-2022/

https://bit.ly/3bHnlF6

https://bit.ly/3Ny031N

https://bit.ly/3I75rbh

https://bit.ly/3yAy25D

https://www.bbc.com/thai/international-61852728

http://www.bbsthai.org/stevebbs/gay.pdf

https://bit.ly/3bIx0v5

https://prachatai.com/journal/2015/09/61621

Tags: , , , , , ,