ได้ข้อสรุปชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้วว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานพื้นที่มากกว่า 2.9 ล้านไร่ ในเขตจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ยังไม่ผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ตามวาระพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

โดยคณะกรรมการฯ มีมติส่งกลับเอกสารนำเสนอ (Refers) ซึ่งรายละเอียดในเอกสารขอปรับแก้ (Amendment) ฉบับวันที่ 7 กรกฏาคม 2562 ระบุสิ่งสำคัญสามประเด็นที่ประเทศไทยต้องลงมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเชิงจัดการและการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะยื่นเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกครั้งภายในระยะเวลาสามปี

สามประเด็นสำคัญดังกล่าว ได้แก่

หนึ่ง ทบทวนขอบเขตพื้นที่ภายใต้ความตกลงร่วมกันระหว่างไทยและเมียนมาร์

สอง จัดเตรียมและยื่นผลวิเคราะห์เปรียบเทียบซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า ขนาดพื้นที่ที่ปรับลดลงของกลุ่มป่าแก่งกระจานจะยังมีคุณค่าและความสำคัญมากเพียงพอตามหลักเกณฑ์ข้อ 10 ของการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวข้องด้านความครบถ้วนสมบูรณ์ การปกป้องคุ้มครอง และการจัดการ

ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ 10 กำหนดไว้ว่า ต้องประกอบด้วยแหล่งอาศัยทางธรรมชาติที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่ รวมทั้งพบชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่กำลังถูกคุกคามรุนแรง โดยสิ่งมีชีวิตนั้นมีคุณค่าโดดเด่นระดับสากลในมุมมองทางวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์

และสาม แสดงให้เห็นว่า ความห่วงกังวลทั้งหมด (ซึ่งหมายถึงด้านสิทธิมนุษยชน) ได้รับการแก้ไขผ่านการหารือพูดคุยกันอย่างเต็มที่กับชุมชนท้องถิ่น (กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจาน-ผู้เขียน) ดังข้อความวรรค 123 ในเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก

ซึ่งข้อความวรรค 123 ระบุว่า การมีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอชื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกของชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชนพื้นเมือง ภาครัฐ เอ็นจีโอ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้พวกเขาสามารถรับผิดชอบดูแลพื้นที่มรดกโลกร่วมกับรัฐภาคี อนุสัญญาฯ ส่งเสริมให้รัฐภาคีดำเนินการเสนอชื่อร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และรัฐภาคีต้องแสดงให้เห็นว่า เป็นการเสนอโดยได้รับความยินยอมจากกลุ่มชนพื้นเมืองแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องเปิดเผยกระบวนการเสนอชื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วยภาษาต่างๆ ที่เหมาะสม และจัดเวทีหารือหรือทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นด้วย

ลองไล่เรียงรายละเอียดเพิ่มเติมกันทีละประเด็น

#1 ขอบเขตพื้นที่ภายใต้ความตกลงร่วมกันระหว่างไทยและเมียนมาร์

เรื่องขอบเขตผืนป่านั้นดูเหมือนจะบรรลุความเข้าใจที่ตรงกันไปแล้ว โดยไทยเลือกขยับให้ห่างจากเส้นสมมติแนวเขตแดนเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตรเพื่อคลายความกังวลของเมียนมาร์ และสร้างความมั่นใจว่าพื้นที่ประกาศเขตมรดกโลกอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด แต่ก็ยังจำเป็นต้องเจรจาเพื่อความชัดเจนของแนวทางและความร่วมมือในการทำงานอนุรักษ์อยู่ดี

#2 ยื่นข้อมูลยืนยัน ว่าขนาดพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่ปรับลดลงยังมีคุณค่าและสำคัญ 

การปรับแนวเขตในประเด็นแรกส่งผลให้พื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจานลดลงมากถึงร้อยละ 15  แต่เอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ยังเป็นข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในขอบเขตพื้นที่เดิม นำมาซึ่งประเด็นที่สองคือไทยต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคนิคอีกครั้ง เพื่อยืนยันคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ในขอบเขตพื้นที่ใหม่ที่คิดเป็นร้อยละ 85 ของพื้นที่เดิม

#3 ความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับความห่วงกังวลด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้นถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่รัฐบาลไทยมีแนวโน้มจะจัดการได้ยากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสองประเด็นก่อนหน้า

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทย อธิบายในทำนองว่า ประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา และเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว แต่ส่งข้อมูลทั้งหมดถึงที่ประชุมไม่ทันตามกำหนดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 จึงจะนำเสนอข้อมูลทั้งหมดนี้ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งในปีหน้า

พร้อมกันนี้ยังพยายามชี้ให้เห็นพัฒนาการสำคัญของประเทศไทยด้านการให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นผ่านการประกาศใช้กฎหมายใหม่สองฉบับ คือ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ด้วย

แก้กฎหมายป่า 2 ฉบับเพื่อพัฒนา “เพื่อสิทธิชุมชน”…คำกล่าวอ้างอันเบาหวิว

เมื่อพิจารณากฎหมายสองฉบับ ส่วนที่พอจะเกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงกับกรณีนี้อยู่บ้างก็มีเพียงบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ซึ่งให้กรมอุทยานฯ สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานฯ หากรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายช่วยเหลือประชาชนก็สามารถจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เสนอ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้คราวละไม่เกิน 20 ปี 

ทัังนี้ต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ และกำหนดหน้าที่ของบุคคลเหล่านี้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่โครงการ ตลอดจนเงื่อนไขของการอยู่อาศัยหรือทำกิน รวมถึงมาตรการกำกับดูแลด้วย

ขณะที่ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 57 เปิดโอกาสเพิ่มอีกนิดหนึ่ง คือให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นสามารถพิจารณาจัดทำโครงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่เกิดทดแทนได้อย่างยั่งยืน ตามหลักวิชาการ วัฒนธรรม และวิถีชุมชน โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสียก่อน และมีบทเฉพาะกาลในลักษณะเดียวกับที่ปรากฏใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่เท่านั้น

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและติดตามปัญหาการคุกคามชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาอย่างต่อเนื่องให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เป็นการแก้ไขกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ

ประการแรกคือรวบอำนาจการกำหนดนโยบายการจัดการและพิจารณาให้ความเห็นชอบไว้กับคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง โดยที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้เลย

ประการที่สองเป็นเรื่องเงิน คือให้ส่วนแบ่งไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินค่าบริการหรือเงินค่าตอบแทนแก่เทศบาลหรือ อบต. อันเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ โดยเงินอีกร้อยละ 90 ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เก็บไว้เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาพื้นที่ที่รับผิดชอบ

“พูดง่ายๆ แทบจะไม่เกี่ยวกับชุมชน แต่เขียนกฎหมายเพื่อจะเอาเงินไว้กับกรมอุทยานฯ โดยตอนท้ายมีบทเฉพาะกาลซึ่งไม่ใช่สาระหลักของ พ.ร.บ. ไม่อยู่ในกฎหมายใหญ่ ได้พูดถึงชุมชนไว้นิดหน่อย โดยอ้างถึงมติ ครม. 30 มิถุนายน 41 ให้ตรวจพิสูจน์สิทธิชุมชนในป่า เช่น ถ้าอยู่มาก่อนอาจจะจัดพื้นที่ให้อยู่โดยมีเงื่อนไข หรือมาทีหลังให้ย้ายออกตามรายละเอียดเงื่อนไข” นายสุรพงษ์กล่าว

หนำซ้ำยังเพิ่มอำนาจการจับกุมแก่เจ้าหน้าที่ เพิ่มโทษแก่ผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรและผู้เก็บหาของป่า ทำให้ผู้อาศัยอยู่ในป่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนที่แทรกอยู่ในข้อบังคับทางกฎหมายจึงกลายเป็นคำกล่าวอ้างอันเบาหวิวไม่สามารถลบล้างภาพจำเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เลย

บาดแผลลึกที่ยังไม่คลี่คลาย ระหว่างรัฐไทยกับกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

นับตั้งแต่การรื้อทำลายทรัพย์สิน เผาบ้านเรือนและยุ้งฉางรวม 98 หลังของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ที่เกิดและอาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 โดยในช่วงแรกทาง อช. แก่งกระจานอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า 

กระทั่ง ‘ปู่คออี้’ นายโคอิ  มี่มิ ชายชราวัย 100 ปี หนึ่งในผู้เสียหายออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองและชุมชน ความจริงจากฟากฝั่งผู้ถูกกระทำจึงได้รับการเปิดเผยว่า พวกเขาเป็นคนดั้งเดิมและอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาเป็นร้อยปี ทุกคนมีหลักฐานและเอกสารประจำตัวประชาชนคนไทยอย่างถูกต้อง สิ่งปลูกสร้างที่โดนเผาทำลายก็มีเลขที่บ้านและทะเบียนบ้าน 

ปี 2555 ด้วยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ปู่คออี้และชาวบ้าน รวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมและเรียกร้องค่าเสียหายกรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อช. แก่งกระจาน

ระหว่างที่กระบวนในชั้นศาลดำเนินไป นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปี แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หลานของปู่คออี้ ก็โดนเจ้าหน้าที่ อช. แก่งกระจาน ควบคุมตัวฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า 6 ขวด และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในช่วงกลางเดือนเมษายน 57

บิลลี่เป็นพยานคนสำคัญของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง เป็นคนเดียวที่ใช้ภาษาไทยได้ดี คอยทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้ชาวกะเหรี่ยง ทั้งยังเป็นผู้เก็บข้อมูล ทำเอกสาร ประสานงานกับพยานอื่นๆ เมื่อเขาหายตัวไปเพียง 1 เดือนก่อนขึ้นให้การครั้งแรกต่อศาล นี่จึงเกี่ยวโยงกับคดีความอย่างไม่ต้องสงสัย

บิลลี่เป็นพยานคนสำคัญของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง เป็นคนเดียวที่ใช้ภาษาไทยได้ดี คอยทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้ชาวกะเหรี่ยง ทั้งยังเป็นผู้เก็บข้อมูล ทำเอกสาร ประสานงานกับพยานอื่นๆ เมื่อเขาหายตัวไปเพียง 1 เดือนก่อนขึ้นให้การครั้งแรกต่อศาล นี่จึงเกี่ยวโยงกับคดีความอย่างไม่ต้องสงสัย

สองเหตุการณ์ข้างต้นคือบาดแผลลึกด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ที่ยื่นเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งนานาชาติเองรับรู้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับคนอยู่ป่ามาโดยตลอด

แม้สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาในเดือนมิถุนายน 2561 ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิด และให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท แต่การทวงถามความคืบหน้าจากภาครัฐในกรณีบิลลี่กลับไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร ไม่มีการดำเนินการใดใดกับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จนถึงปัจจุบันครอบครัวของเขาก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนรากความคิดการจัดการทรัพยากรป่าแบบที่ต้องขับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากพื้นที่ ต่างจากนานาอารยะประเทศที่เชื่อมั่นในการอยู่ร่วมของคนกับป่า และสวนทางกับหลักการของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองอย่างเต็มที่ ดังเห็นได้จากแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติหลายแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยมีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย อาทิ 

ผืนป่า Tri-National de la Sangha complex ในพื้นที่ของประเทศแคเมอรูน สาธารณรัฐคองโก และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ผืนป่า Batwa ประเทศยูกันดา, เทือกเขา Western Ghats ประเทศอินเดีย, ผืนป่า Wet Tropics of Queenland ประเทศออสเตรเลีย, อุทยานแห่งชาติ Manu ประเทศเปรู และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ พ.ศ. 2534 

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนรากความคิดการจัดการทรัพยากรป่าแบบที่ต้องขับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากพื้นที่ ต่างจากนานาอารยะประเทศที่เชื่อมั่นในการอยู่ร่วมของคนกับป่า และสวนทางกับหลักการของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองอย่างเต็มที่

“เรายื่นเรื่องขอเป็นมรดกโลกมาแล้ว 6 ปี อ้างตลอดว่าเราทำดีแล้ว และพยายามล็อบบี้ ผมใช้คำว่าล็อบบี้นะ สุดท้ายก็แพ้เค้าตลอด แล้วยังดื้อจะใช้วิธีการเดิมแทนที่จะปรับความเข้าใจกับชุมชน เคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน…อย่างออสเตรเลีย นอร์เวย์ เขาส่งคนเข้าไปดูในพื้นที่เลย เขามีสถานทูตในไทยและคอยส่งข้อมูลกลับไปว่าไทยดำเนินการอย่างไรบ้างในเรื่องนี้ เราปิดฟ้าไม่ได้ และการล็อบบี้ในทางการทูตคือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ถ้าเขาโหวตให้เรา เราจะต้องทำอะไรให้เขา เอาอะไรไปแลกกับเขา” นายสุรพงษ์ทิ้งท้าย

ตราบที่บาดแผลจากการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้รับการเยียวยา ปัญหาสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการสะสาง หนทางการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานก็น่าจะยังอีกยาวไกล ลำพังพลังล็อบบี้คงไม่ช่วยให้คณะผู้แทนไทยสมหวังในปีถัดไปแน่นอน

ที่มาภาพเปิด โดย tontantravel

Tags: , , , , , , , ,