1. “เห็นตัวตลกไหม?” เป็นหัวข้อสนทนายอดนิยมในเมืองกรีนวิลล์ รัฐเซาท์แคโรไลนา ช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงปี 2016 ตลอดช่วงวันที่ 26 สิงหาคม ถึงวันที่ 7 กันยายน มีรายงานจากสำนักข่าวฟ็อกซ์ แคโรไลนา เกี่ยวกับเด็กๆ ที่อ้างว่าพบเห็นตัวตลกในบริเวณป่าและเขตชุมชนอย่างต่อเนื่อง หากมองในแง่ดี นี่เป็นแคมเปญการตลาดที่เล่นใหญ่มากของภาพยนตร์ที่จะลงโรงในปี 2017 แต่หากมองในแง่ร้าย สหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์ของ ‘ตัวตลก’ ที่เป็นฆาตกรโรคจิตอยู่ด้วย

2. ระหว่างปี 1972 ถึง 1978 เกิดคดีเด็กหายในพื้นที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถสืบทราบได้ภายหลังว่าฆาตกร คือนายจอห์น เวย์น เกรซี จูเนียร์ อาชีพตัวตลก ฆาตกรได้ล่อลวงเด็กชายกว่า 33 คนไปข่มขืนและฆ่าที่บ้านพัก จากนั้นฝังไว้ใต้ตัวบ้านรวมทั้งสิ้น 26 ศพ รอบบริเวณบ้านพัก 3 ศพ ที่เหลือถูกทิ้งลงแม่น้ำ เหตุการณ์นี้ได้เพิ่มความตื่นตระหนกในหมู่พ่อแม่ผู้ปกครองชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก

3. หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญเป็นเวลา 9 ปี สตีเฟน คิง เจ้าพ่อแห่งวงการนวนิยายสยองขวัญและฆาตกรรมก็ได้ตีพิมพ์นวนิยายชื่อ IT หรือ มัน ที่เป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กขี้แพ้ (The Loser Club) แห่งเมืองเดอรี กลุ่มเด็กธรรมดาๆ เจ็ดคนที่นอกจากจะต้องคอยเอาตัวรอดจากการแกล้งแบบโหดๆ ถึงชีวิตของ ‘ไอ้เฮนรี’ เด็กเกเรประจำเมืองเดอรีแล้ว เด็กๆ ยังพบว่าชีวิตของตนกำลังถูกทำลายอย่างช้าๆ จากบางสิ่งบางอย่างที่มักปรากฏให้เห็นในรูปตัวตลก ไม่ว่ามันจะคืออะไรก็ตาม สิ่งนั้นมีความชั่วร้ายอย่างมากและต้องการพาเด็กๆ ที่บริสุทธิ์ไปสู่ขุมนรก

4. ‘เมืองเดอรี’ ฉากสำคัญในนวนิยายเรื่องนี้ มีต้นแบบมาจาก ‘บังกอร์’ (Bangor) เมืองในรัฐเมนซึ่งสตีเฟน คิง เคยอาศัยอยู่ และใช้เวลาว่างเดินไปตามพื้นที่ต่างๆ ของเมือง เช่น ท่อส่งน้ำหรือสุสานประจำเมือง เพื่อหาไอเดียเขียนหนังสือ มีเรื่องเล่าว่าท่อส่งน้ำที่สตีเฟน คิง ใช้เป็นแบบในงานเขียนมีเด็กชายจมน้ำตาย ซึ่งก็น่าจะกลายมาเป็นต้นแบบของน้องชายของบิล เดนโบร หัวหน้ากลุ่มเด็กขี้แพ้นี่เอง

5. ปัจจุบัน สตีเฟน คิง ยังอยู่ดี และเพิ่งจะให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น บังกอร์ เดลี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2016 เกี่ยวกับปรากฏการณ์ตัวตลกในกรีนวิลล์และพื้นที่ต่างๆ เขาเตือนแฟนๆ ว่า ‘อย่าเยอะ’ เพราะจะเป็นการทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัว

ทว่าก็โดนแฟนๆ สวนเอาว่า “นิยายของคุณนั่นแหละตัวต้นเรื่อง”

สตีเฟน คิง ตอบแบบติดตลกว่า “ถ้าผมเห็นตัวตลกยืนแกร่วอยู่ใต้สะพานมืดๆ หรือมองขึ้นมาจากฝาท่อระบายน้ำ ต่อให้มันถือลูกโป่ง ผมก็กลัวอยู่ดี”

6. สตีเฟน คิง ยอมรับว่า ตลอดชีวิตมีความกลัวหลายอย่าง แต่ก็สามารถเอาชนะมันมาได้ ทว่าตัวตลกรวมทั้งแมงมุมเป็นสิ่งที่เขากลัวที่สุดและกลัวมาโดยตลอด

7. เรื่องแบบนี้มีสาเหตุจากปมในวัยเด็ก สตีเฟน คิง มีชีวิตครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เขามักฝันร้ายอยู่เสมอๆ ว่าเห็นแม่นอนอยู่ในโลงศพ และตัวเองถูกแขวนคอโดยมีอีกาจิกลูกตา นอกจากนี้เขายังทุกข์ทรมานจากความกลัวที่อธิบายไม่ได้ เช่น การถูกดูดลงไปในท่อระบายน้ำ ความตาย และตัวตลก เขาค้นพบว่าวิธีเดียวที่จะช่วยให้ต่อสู้กับสารพัดความกลัวเหล่านี้ได้ก็คือเขียนถึงมัน ด้วยเหตุนี้ นวนิยายของคิงในวัยผู้ใหญ่แต่ละเรื่องจึงมีพื้นฐานมาจากความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ความกลัวสัตวป่ากลายเป็นนวนิยายเรื่อง คุโจ เรื่องราวเกี่ยวกับสุนัขปีศาจและความกลัวเลือด กลายเป็นนวนิยายเรื่อง แครี ส่วนเรื่อง อิท สตีเฟน คิง อธิบายว่าเป็นจุดรวมของความกลัวทุกอย่างในชีวิตของเขา

8. นอกจากความกลัว นักเขียนผู้นี้ยังใช้ประโยชน์จากสถานที่รอบตัวในการสร้างงานที่มีความแปลกใหม่อีกด้วย หลังความสำเร็จแบบถล่มทลายของนวนิยายเรื่อง แครี (1974) สตีเฟน คิง ซื้อและย้ายเข้าไปอยู่ในคฤหาสน์ชวนขนหัวลุก ในเมืองบังกอร์ รัฐเมน คฤหาสน์อายุสองร้อยปีแห่งนี้มีห้องทั้งสิ้น 23 ห้อง ผนังด้านนอกทาสีแดงซีดเหมือนเลือดแห้ง ล้อมรอบด้วยรั้วเหล็กค้างคาวสีดำ ชาวเมืองเล่าว่าคฤหาสน์หลังนี้มักดึงดูดแมวดำและแฟนๆ ที่คลั่งไคล้งานเขียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

9. สภาพแวดล้อมใหม่ดูจะมีผลต่องานของคิงเป็นอย่างมาก เพราะหลังมุ่งมั่นอยู่กับการเขียน ระหว่างปี 1980 ถึงปี 1989 คิงตีพิมพ์นวนิยายถึง 16 เล่ม อาทิ กันสลิงเกอร์ (ภาคแรกของซีรีส์ ดาร์กทาวเวอร์) เดอะมิสเซอรี และ อิท งานเหล่านี้ล้วนได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ทว่าความสำเร็จนี้กลับแลกมาด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมลงจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ทาบิธา สปรูซ ภรรยาของสตีเฟน คิง เล่าว่าเธอมักพบสามีนอนสลบอยู่บริเวณโต๊ะทำงาน และบ่อยครั้งก็หมดสติจากการใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยัง เช้าวันหนึ่งในปี 1989 สตีเฟน คิง ถึงกับนอนจมกองเลือดอยู่ข้างโต๊ะทำงาน

10. สตีเฟน คิง ประสบปัญหาแบบเดียวกับนักเขียนมีชื่อหลายคนคือติดสุรา บุหรี่ และสารเสพติด เพื่อนร่วมงานในฮอลลีวูดหลายคนเล่าว่า ในงานปาร์ตี้ คิงจะเสพโคเคนแจกฟรีแบบ ‘จัดเต็ม’ และจุดหนึ่งในชีวิต เขาถึงขนาดต้องดื่มน้ำยาบ้วนปากผสมแอลกอฮอล์แทนเหล้า นี่คือเรื่องจริงไม่อิงนิยายที่สามารถหาอ่านได้ใน Haunted Heart: The Biography of Stephen King โดยลิซา รอกัก (Lisa Rogak)

สิ่งเหล่านี้ทำให้จินตนาการของเขาโลดแล่น ทว่าเมื่อหมดฤทธิ์ยา สมองของเขากลับตีบตัน เป็นเหตุให้ต้องเพิ่มปริมาณการเสพมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุที่สตีเฟน คิง รอดชีวิตมาได้ถึงปัจจุบันเพราะความรักของภรรยาผู้ที่บังคับให้เขาเลิกสารเสพติด กระทั่งกลับมาเขียนงานได้อีกครั้งและมีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง แต่แฟนๆ ส่วนมากกลับโหยหางานสมัยที่ชีวิตเขายัง ‘ไฮ’ อยู่มากกว่า

งานเขียน อิท ยังคงดึงดูดนักอ่านนวนิยายสยองขวัญทั้งเก่าและใหม่ เพราะสิ่งที่สตีเฟน คิง นำเสนอไม่ใช่เพียงอสรุกายตัวตลกเพนนีไวส์ แต่ยังรวมถึงประเด็นเกี่ยวกับ ‘ความกลัวในวัยเด็ก’ ความกลัวบางอย่าง เช่น ความมืด มักหายไปเมื่อเรากลายเป็นผู้ใหญ่ ทว่าก็ยังมีบางสิ่งที่ตามหลอกหลอนเราอยู่เสมอ โดยที่เราไม่รู้ตัว

ใน อิท ฉบับนวนิยาย กลุ่มเด็กขี้แพ้แห่งเมืองเดอรีที่โตเป็นผู้ใหญ่ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อย้อนนึกถึงวิธีที่พวกตนใช้กำราบ ‘มัน’ เมื่อ 27 ปีก่อน เพราะในวัยผู้ใหญ่ ความทรงจำของพวกเขาเริ่มรางเลือน ทั้งยังต้องแข่งกับเวลา เพราะ ‘มัน’ ได้วางแผนแก้แค้นแสนหฤโหดไว้มอบแก่สมาชิกทุกคนในกลุ่มโดยเฉพาะ

อ้างอิงจาก

Lisa Rogak, Haunted Heart: The Biography of Stephen King

Susan Farlow “Bangor, Maine: Easygoing, scenically blessed and, yes, Stephen King” Oct 24,2015, LA Times

Amanda Shaw “Deputies called to investigate another clown sighting”, Fox Carolina  Aug 27, 2016, foxcarolina

Emily Burnham “Stephen King weighs in on those creepy Carolina clown sightings”Sep 9 ,2016,  bangordailynews

James Smythe “Why Stephen King’s It still terrifies 30 years on”, Sep 23, 2016, The Guardian

Tags: , , , , , , , ,