“คำถามหนักอยู่นะพี่” 

คือคำแรกที่วีรยาพูดกับเราหลังทักทายกันเสร็จสิ้น

เป็นอีกหนึ่งวันที่ไม่เหมือนกับวันอื่นๆ เราได้มาเยือนยัง BNK48 Digital Live Studio ที่ MBK Center เพื่อพบกับ ‘วี’ – วีรยา จาง สมาชิกรุ่นที่ 2 ของวงไอดอลไทย BNK48

ภาพจำแรกที่พบกัน วีรยาแต่งตัวด้วยชุดพร้อมขึ้นเวทีแบบจัดเต็ม ถ้าดูตามตารางงาน เธอกำลังรอที่จะไลฟ์ในรายการหนึ่งร่วมกับสมาชิกเซ็มบัตสึคนอื่นๆ และ The Momentum มีเวลาหนึ่งชั่วโมงที่จะได้ใช้ร่วมกับเธอแบบตัวต่อตัว ถึงจะแสนสั้นแต่ก็ได้รู้จักตัวตนของเด็กสาวคนนี้เพิ่มขึ้นมาพอสมควร

แรกเริ่มวีรยาค่อนข้างกดดัน อาจเป็นเพราะประเด็นที่กำลังจะพูดคุยดูจริงจังไปสักนิด จนทำให้เธอแอบกระซิบบอกเราว่าคำถามหนัก หรืออาจเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างยังไม่คุ้นเคยกัน จึงได้แต่บอกเธอว่า “ไม่ต้องเครียด อย่าเพิ่งเครียด” ก่อนเริ่มพาเธอเข้าสู่ใจความสำคัญที่ทำให้เรามาพบกันวันนี้ เรามีคำถามมากมายอยากถามเธอ ทั้งเรื่องการแต่งตัวเป็นเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้มีแค่ความฮาอย่างเดียว หรือประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมที่วีรยาเคยพบเจอมา และความหมายของคำว่า ‘ไอดอล’ ในมุมมองของเธอเอง  

ช่วงที่ทุกคนกำลังเงียบ ส่วนเรายังไม่ทันได้อ้าปากถาม วีรยากลับชิงพูดขึ้นมาก่อนว่า “โอ๊ย ยากจัง” ปล่อยมุกผ่อนคลายตัวเองล่วงหน้าไปก่อน บรรยากาศดูมีสีสันขึ้นแบบไม่รู้ตัว แม้คำถามจะชวนให้ปวดหัวก็ตามที

 

‘เสาไฟวีรยา’ ความเป็นไทยในแบบที่เข้าใจได้

ย้อนกลับไปยังงาน BNK48 Janken Tournament 2020 ที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘งานจังเก้น’ วีรยาเรียกเสียงฮือฮาปนเสียงหัวเราะด้วยการปรากฏตัวเป็นเสาไฟฟ้าไทย เสาไฟฟ้าที่ส่วนยอดมีสายพะรุงพะรังพันกันยุ่งเหยิง มีซากขี้นกเลอะเทอะ พร้อมป้ายโฆษณาแปะอยู่ทั่วทุกมุม รวมถึงศิลปะการขีดเขียนข้อความบอกรักตามเสาไฟของคนที่สัญจรไปมา ซึ่งวีรยาเก็บรายละเอียดเหล่านั้นมาได้ครบถ้วน

หากใครยังไม่รู้ การเลือกเซ็นเตอร์ของวงในตระกูล 48 ในญี่ปุ่นมีอยู่แค่ไม่กี่วิธี หนึ่งในนั้นคือการเลือกโดยเหล่าผู้บริหาร ที่จะตัดสินว่าใครสมควรยืนหน้าสุด นอกจากการเลือกของผู้มีอำนาจ อีกวิธีที่จะได้เป็นเซ็นเตอร์คือการเลือกตั้ง และสุดท้าย การเฟ้นหาคนดวงดีในงาน ‘จังเก้น’ ที่ภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ‘เป่ายิงฉุบ’

งานจังเก้นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2010 ในชื่อ AKB48 Group Unit Janken Tournament เปิดโอกาสให้สมาชิกตระกูล 48 ในญี่ปุ่นทั้ง AKB48, SKE48, NMB48, HKT48 และ NGT48 ลงแข่ง เพื่อหาคนที่เป่ายิงฉุบเก่งที่สุด รางวัลของผู้ชนะคือการได้เป็นเซ็นเตอร์ในซิงเกิลถัดไป ส่วนอันดับที่ 2 ถึง 16 ก็จะได้อยู่ในมิวสิกวิดีโอด้วยเช่นกัน เมื่อโอกาสที่หายากดั่งทองกลายเป็นสิ่งที่สามารถครอบครองได้ง่ายๆ ด้วยการเป่ายิงฉุบ สมาชิกจำนวนมากที่อยากมีโอกาสลองไปยืนอยู่ตรงตำแหน่งที่ 0 (เซ็นเตอร์) ในมิวสิกวิดีโอ จึงพากันตบเท้าเข้าสู่ทัวนาเมนต์นี้

เกริ่นมาเสียยืดยาว แล้วงานจังเก้นที่ว่าเกี่ยวอะไรกับเสาไฟฟ้าไทยของ วีรยา จาง ล่ะ?

อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานจังเก้น นอกจากการวัดดวงด้วยการเป่ายิงฉุบ เวทีนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ประชันเครื่องแต่งกายและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าแข่งขัน ที่มีตั้งแต่สุดอลังการไปจนถึงสุดแปลก บางคนแต่งสวย บางคนเน้นตลก ซึ่งสมาชิกวงพี่ที่ญี่ปุ่นหลายคน เคยแต่งตัวเป็นสัญลักษณ์เด่นในจังหวัดตัวเองเช่น คนที่มาจากโตเกียวจะแต่งตัวเป็นหอคอยโตเกียว หรือคนที่มาจากโอซากะก็จะแต่งตัวเป็นหอคอยซึเทนคาคุ ส่วน วีรยา จาง จากประเทศไทย เลือกแต่งเป็นเสาไฟฟ้า ชูความเป็นไทยในแบบของวีรยา

“ตอนแรกจะแต่งเป็น ‘ไทยชนะ’ อะไรที่เกี่ยวกับไทยชนะ แต่ไม่รู้จะทำออกมาแบบไหนเลยล้มเลิกไป เคยคิดว่าจะแต่งสวยเป็นนางสาวไทย สุดท้ายก็ไปจบที่เสาไฟ ต้องยอมรับเลยว่า ไม่เคยเห็นประเทศไหนมีแบบนี้ มันแสดงถึงความเป็นไทยมากๆ ภาพเสาไฟที่หนูเห็นมันคือความรุงรัง ตอนแรกก็คิดว่าที่พันกันยุ่งๆ คือสายไฟ แต่พอไปหาข้อมูลถึงได้รู้ว่ามันคือสายสื่อสาร สายโทรศัพท์ สายเคเบิล เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มีความเป็นไทยดี แล้วตรงตัวเสาก็มีป้ายติดโปรโมตเต็มไปหมด ทั้งร้านหมูกระทะ รับกำจัดปลวก ภาพที่เห็นในงานจังเก้นเลยออกมาเป็นแบบนั้น แล้วเราก็แอบใส่ชื่อตัวเองเข้าไปด้วยตรงเสาว่า ‘วีรยาล้างแอร์’ เพื่อความซอฟต์”

อินเนอร์การเล่าแบบตั้งใจของวีรยาทำให้เราถึงกับหลุดหัวเราะ เธอมองค้อนก่อนยืนยันว่า เสาไฟฟ้าของเธอมันคือที่สุดแล้ว

“จริงๆ นะพี่ พี่มองแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเสาไฟไทยป้ะ มันไทยนะเว้ย”

เมื่อเปิดประเด็นเสาไฟฟ้ามาขนาดนี้ เราจึงถามกลับไปว่า เสาไฟหนึ่งต้นที่วีรยาไปด้อมๆ มองๆ เพื่อดูว่ามีอะไรเป็นองค์ประกอบเด่น นอกจากขี้นก ป้ายโฆษณา ความยุ่งเหยิงของสายไฟบนยอด เสาไฟต้นนั้นทำให้เธอเห็นอะไรอีกบ้าง

“เห็นความไม่เป็นระเบียบ ทัศนียภาพของประเทศไม่สวยงาม นอกจากความยุ่งของสายไฟ หนูรู้สึกว่าควรมีบอร์ดมาตั้งไว้ใกล้เสาไฟให้คนได้แปะโปรโมต บอร์ดก็คงไม่ได้ใช้งบเยอะขนาดที่จะจ่ายไม่ไหว คนจะได้ไม่ต้องไปแปะป้ายที่เสาไฟ เพราะเสาไฟฟ้าไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้มีอะไรไปแปะเต็มไปหมด เวลาเดินผ่านจะได้ดูเป็นกิจจะลักษณะ แยกเป็นมุมชัดๆ ไปเลยว่าตรงนี้มีประกาศ คุณสนใจอะไรก็มาดูตรงบอร์ดไม่ใช่ตรงเสาไฟ ส่วนเรื่องสายไฟยุ่งๆ เรื่องนี้ประชาชนก็ทำไม่ถูกด้วย เพราะเขาลากกันเอง”

“เรื่องสายไฟมีหลายประเด็นมาก หนูไม่ได้ศึกษาลงลึกเลยไม่รู้ว่าทำไมเขาไม่เอาลงดิน มันอันตรายต่อคนเดินไปเดินมา หนูเคยเห็น บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ เขาถ่ายรูปสายไฟไทยแล้วเอาไปลงโซเชียลฯ คนเห็นเต็มไปหมด แล้วเขาก็งงว่าที่บิล เกตส์ถ่ายคืออะไร ชาวต่างชาติมาเที่ยวเขาก็ถ่ายรูปคู่กับสิ่งนี้ นั่นแหละค่ะ สัญลักษณ์ของประเทศไทย”

ข้อความประกอบภาพสายไฟยุ่งเหยิงของเจ้าพ่อวงการธุรกิจอเมริกันที่วีรยาเล่าให้ฟัง มีใจความสำคัญที่อาจทำให้เห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้นว่า ‘เพราะโครงสร้างพื้นฐานบกพร่อง หลายพื้นที่ในเมืองจึงพบปัญหาไฟดับอยู่บ่อยๆ สายไฟและหม้อแปลงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้เลย ผมเห็นหลายเมืองมีสายไฟยุ่งเหยิงที่เกิดจากที่ประชาชนลอบเชื่อมสายกับกระแสไฟหลักกันเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยเท่าไหร่นัก’

 

ภายใต้ความทุกข์ระทม ทุกพื้นที่ย่อมต้องมีเสียงหัวเราะ

อย่างที่เกริ่นไปแล้วกับบทสนทนาว่าด้วยเสาไฟฟ้าไทยจากงานจังเก้นของ BNK48 วีรยาสร้างความทรงจำไว้อย่างชาญฉลาดด้วยความคิดสร้างสรรค์จากการมองสิ่งรอบตัว นอกจากแฟชั่นสุดล้ำ ในแง่ดวงกับฝีมือการเป่ายิงฉุบก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เธอสามารถเป่ายิงฉุบชนะคนแล้วคนเล่า จนเหลือสองคนสุดท้าย แต่น่าเสียดายที่ต้องพ่ายให้กับ ‘จีจี้’ – ณัฐกุล พิมพ์ธงชัยกุล ถึงอย่างนั้น เธอก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของซิงเกิลจังเก้นแรกของ BNK48 กับเพลง วาโรตะพีเพิล (Warota People) ที่รับช่วงต่อมาจาก NMB48 วงรุ่นพี่จากนัมบะ-โอซากะ

วะ-โร-ตะ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเสียงหัวเราะ ชื่อเพลงภาษาไทยจึงเป็น ‘หัวเราะเซ่’ ส่วนท่วงทำนองของเพลงเวอร์ชันต้นฉบับก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน สดใส มาพร้อมกับแฟชั่นสไตล์สาวโอซากะ และท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์ คล้ายกับว่าองค์ประกอบทุกอย่างของ Warota People ถูกสร้างมาเพื่อให้ผู้ชมได้หัวเราะตามชื่อเพลงจริงๆ

แต่ในยุคนี้ ยังมีอะไรให้เราพอจะหัวเราะแบบปากกว้างอย่างจริงใจได้จริงหรือ? เราถามวีรยาไปแบบนั้น และเธอก็บอกให้เราลองมองรอบตัว มองหน้าเธอ มองเพื่อนร่วมงานที่มาด้วยกัน เรื่องเล็กๆ เหล่านี้อาจทำให้เรามีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าได้ง่ายๆ

“สิ่งที่ทำให้หัวเราะได้ในแต่ละวันคือสิ่งเล็กๆ เวลาหนูเล่นกับหมา อยู่กับเพื่อน คุยกับครอบครัวก็หัวเราะได้แล้ว ตอนเล่นเกมก็หัวเราะได้อีกนิดหนึ่ง หากเหนื่อยแล้วอยากได้เสียงหัวเราะ หนูจะอยากมองรอบข้างให้มากขึ้น บางทีเราอาจพบว่ามีความสุขอยู่รอบตัว”

วีรยายืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า Warota People ทั้งเวอร์ชันของ NMB48 และ BNK48 จะต้องสร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคนได้อย่างแน่นอน แม้ว่าวันนั้นอาจมีใครกำลังเจอเรื่องยากๆ ในชีวิตก็ตาม

“ถึงแม้ว่าบางครั้งชีวิตมันจะยากหน่อย และรู้สึกยากเกินไปที่จะหัวเราะ แต่หนูคิดว่าทาง BNK48 สร้างเพลงนี้เพื่อมาเป็นอีกหนึ่งเสียงหัวเราะ อย่างน้อยเพลงนี้ก็ต้องทำให้ใครสักคนคลายเครียดได้ ถึงแม้มันจะแค่ชั่วโมงเดียวหรือแค่วันเดียว แต่ Warota People ก็เป็นสิ่งเล็กๆ หนึ่งสิ่งที่สามารถช่วยให้คุณได้หัวเราะ เชื่อหนู ดูสักครั้งหนึ่งได้หัวเราะแน่”

ถ้าวีรยาจะขายขนาดนี้ ก็คงต้องลองดูสักครั้งว่า วีรยาที่ปรากฏตัวในเอ็มวีจะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมได้จริงไหม

 

ไอดอลอย่างเราก็เป็นกระบอกเสียงเรื่องสิทธิสตรีได้นะ

หลังเรื่องเสาไฟฟ้าตลกร้ายจบลงพร้อมเสียงหัวเราะ เราชวนวีรยาพูดถึงประเด็นสังคมที่คนยุคนี้มักเอ่ยถึงกันแทบจะตลอดเวลา เรื่องที่ว่าคือ ‘สิทธิ’ และ ‘ความเท่าเทียม’ ซึ่งความเท่าเทียมตามความเข้าใจของวีรยาคือสิ่งที่ทุกคนมีอยู่กับตัว

“มันคือสิทธิของทุกคน ความเท่าเทียมแตกแขนงไปหลายด้านมาก ทั้งการพูด การแสดงความคิดเห็น การใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม แล้วคนอื่นก็ไม่มีสิทธิจะมาบังคับให้เราห้ามพูดได้ เอาจริงๆ เรื่องความเท่าเทียมในสังคมเป็นสิ่งที่ยาก ลองมองให้ทั่วจะเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกอย่างเลย”

ทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิ แต่ความไม่เท่าเทียมก็มีอยู่ทุกที่

“การได้รับโอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากัน อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่เป็นคนเลือก อาจมีบางคนที่พยายามแล้วแต่ไม่ถูกเลือก เลยรู้สึกว่าความไม่เท่าเทียมมีอยู่ทุกที่ แก้ยากมาก เพราะทุกคนย่อมอยากให้ตัวเองได้ในสิ่งที่หวัง ส่วนเราต้องพยายามทำให้มันเท่าเทียมสุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งหนูเป็นครอบครัวคนจีนเลยค่อนข้างจะเห็นชัด เวลามีลูกชาย เขาจะมีแอ็กชันมากกว่าหรือทะนุถนอมเป็นพิเศษ ลูกสาวก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เราอาจเป็นส่วนเล็กในภาพรวมขนาดใหญ่ ที่สามารถลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมได้ หนูยังคิดแบบนั้นตลอด ถ้าเรารวมกัน ช่วยกัน สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดผลอะไรบางอย่างได้สักนิดหนึ่ง อะไรๆ อาจดีขึ้นก็ได้”

นอกจากวงการไอดอลที่เธอคลุกคลี อีกหนึ่งวงการที่วีรยาได้มีส่วนร่วมอยู่บ่อยครั้งคือ ‘วงการเกม’ เธอได้พบเจอเรื่องราวมากมายจากโลกออนไลน์ มีโอกาสเห็นหลายสิ่งทั้งเรื่องราวดีๆ และเรื่องชวนให้ขมวดคิ้ว ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอเจอก็ล้วนเกี่ยวข้องกับสิทธิความเท่าเทียมที่แตกแขนงแยกย่อยมาเป็นคำว่า สิทธิสตรี’

“เวลาเล่นเกมก็จะเจอเรื่องความไม่เท่าเทียม คนชอบบอกว่าผู้ชายเล่นเกมเก่ง ผู้หญิงเล่นเกมไม่เก่ง เวลาเล่นเองก็เจอเยอะมาก ผู้ชายในเกมส่วนใหญ่จะทำเหมือนผู้หญิงอ่อนแอตลอด จะเข้ามาดูแล เข้ามาช่วย ในมุมของหนู การที่คุณดูแลผู้หญิงในเกมเป็นพิเศษมากกว่าผู้ร่วมทีมคนอื่น ก็เหมือนคุณกำลังมองว่าเราไม่เท่ากันหรือเปล่า

  “ผู้ชายบางคนที่เห็นเขาไม่ชอบ ก็มักจะเกิดการล้อเลียนขึ้น เขาจะแกล้งดัดเสียงให้เหมือนผู้หญิงเพื่อแกล้งผู้ชายที่มาดูแลเรา รู้สึกว่ายากเหมือนกันที่จะพูดให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ ยากที่จะพูดให้เขารับฟังว่า ปฏิบัติกับเราให้เท่ากับคนอื่นๆ ได้ไหม เขาอาจคิดว่าผู้หญิงอ่อนแอ แล้วเป็นหน้าที่เขาที่จะต้องปกป้อง แต่อยากให้ลองมองว่าทุกคนมีความหมายเท่ากัน

“เวลาดูสตรีมจะเห็นว่า ผู้ชายไม่ค่อยซีเรียสเรื่องความเท่าเทียม เขาไม่ค่อยให้ความเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่รู้ว่าเขาไม่ให้รึเปล่า คำพูดบางอย่างเหมือนกับว่าคุณกำลังเหยียดอยู่ แต่อาจไม่รู้ตัวว่าสิ่งนั้นคือการเหยียด บางครั้งเหมือนคุณกำลังคุกคามทางเพศคนอื่นอยู่นะ มีแบบนี้เยอะมาก”

วีรยาเล่าถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อก่อนหลายคนอาจทำกันเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่พอสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา สังคมก็ทำความเข้าใจประเด็นละเอียดอ่อนนี้มากขึ้น สิ่งที่เมื่อก่อนเคยทำได้อาจต้องคิดมากกว่าเดิมว่าไม่ควรทำเหมือนเดิมแล้วหรือเปล่า และเธอก็หวังว่าวงการเกมจะให้ความสนใจในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

“หนูเคยอยากเป็นนักแข่งเกม ประมาณว่า ‘ฉันนี่แหละจะเป็นผู้หญิงที่เล่นเกมเก่ง’ แต่พอได้เล่นก็รู้แล้วว่าตัวเองไม่เก่ง แต่มันก็แค่หนูคนเดียว ในโลกนี้ยังมีผู้หญิงอีกเยอะมากที่เล่นเกมเก่งจริงๆ เลยอยากให้คนในวงการเกมปฏิบัติต่อทุกคนให้เท่ากัน”

นอกจากประเด็นเรื่องของความเท่าเทียม อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกคือ ‘ความสบายใจ’ ทุกคนมีสิทธิที่จะทำบางสิ่ง แต่ถ้ามีใครใช้สิทธิของตัวเองเพื่อรุกล้ำสิทธิของคนอื่น เรื่องของสิทธิอาจเปลี่ยนเป็นการล้ำเส้นได้ โดยที่ผู้รุกล้ำก็ไม่ทันตระหนักว่าตัวเองก้าวมาใกล้เกินไปแล้ว  

“เคยมีเคสตัวอย่างก็คือ ตอนหนูเล่นเกม แฟนคลับคนหนึ่งมักจะมาตามดูไอดีเรา ไปค้นประวัติการเล่นย้อนหลังว่าหนูเคยเล่นกับใครบ้าง แล้วเอาไปลงโซเชียลฯ เพื่อเล่าถึงคนที่เล่นเกมกับเราแบบเสียๆ หายๆ พูดว่าหนูให้สิทธิพิเศษให้ความใกล้ชิด หนูก็อยากบอกว่าไม่ได้มีความพิเศษอะไรเลยเพราะรู้จักกันอยู่แล้ว หนูมองว่าไม่ใช่เรื่องของเขาที่จะทำแบบนี้ หนูจะเล่นเกมกับใครก็ได้ อันนี้คือเรื่องส่วนตัว ถ้าเรื่องไหนสบายใจที่จะเล่าออกไป ก็ถือว่าคุณสามารถรับรู้และตอบโต้ได้ แต่ว่าบางเรื่องหนูไม่ได้อยากจะเอาออกมา คุณไปตามสืบแล้วเอามาพูดต่อ แบบนี้ก็ไม่ค่อยโอเค”

มีวิธีจัดการอย่างไรกับกรณีล้ำเส้นแบบนี้?

“เพราะว่าเจอมาเอง และรู้สึกว่าไม่อยากเจอแบบนี้อีกแล้วเลยพูดออกไป หนูเคยพูดเรื่องนี้ในไลฟ์ แล้วแฟนคลับจะเอาสิ่งที่หนูพูดไปลงในแท็ก #WeeBNK48 ก็จะช่วยเตือนกัน บางคนที่ติดตามเราอยู่อาจไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ หรือเขาอาจกระทำสิ่งนี้อยู่แต่ไม่รู้ตัว ก็อยากให้อ่านแล้วตระหนัก หนูอาจเปลี่ยนความคิดหรือแนะนำใครได้บ้าง จะใช้คำว่าแนะนำคงไม่ดีนัก เพราะหนูก็ยังเด็กอยู่ แต่หนูรู้สึกว่าเราตระหนักเรื่องนี้ แล้วก็อยากให้ทุกคนรู้ คิดว่าแฟนคลับคงยอมรับฟังมากขึ้นค่ะ

“เรื่องของสิทธิสตรีถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิงและเพศอื่นๆ สิ่งที่พวกเรา (BNK48) ทำได้คือการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น ในสังคมปัจจุบันเราถูกปลูกฝังมากับเรื่องชายเป็นใหญ่ เรื่องนี้อาจดูเป็นสิ่งที่ยากจะเปลี่ยนเพราะถูกปลูกฝังมานาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้”

วีรยาปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยความหวัง

 

‘ไอดอล’ ที่มีความหมายว่าไอดอล

หลังคำถามจริงจังหนักหน่วงที่ทำให้วีรยาเกิดอาการเกร็งเล็กน้อย ผ่านไปคำถามแล้วคำถามเล่า แม้ก่อนการพูดคุยเธอจะแอบบ่น แต่พอเอาเข้าจริง วีรยาตอบทุกคำถามคาใจด้วยความตั้งใจและจริงใจ ซ้ำยังมีอารมณ์ร่วมกับบทสนทนาเสมอ

เท่าที่เธอเล่าให้ฟัง วีรยาเป็นไอดอลมาสองปีแล้ว ความรู้สึกตั้งแต่วันแรกที่ก้าวสู่โลกใบใหม่ที่เรียกว่า BNK48 จนถึงตอนนี้ยังคงเต็มไปด้วยความตั้งใจและสนุกสนาน แม้จะมีความต่างจากช่วงแรกเริ่มบ้างเล็กน้อยก็ตาม

“ตอนแรกจะรู้สึกเฟรช รู้สึกตื่นเต้นไปกับทุกอย่าง พออยู่มาเรื่อยๆ เหมือนกับเราค่อยๆ เติบโตขึ้น ค่อยๆ ปรับตัวได้ และก็ยังรู้สึกสนุกกับการเป็นไอดอลอยู่เหมือนเดิม”

แล้วเบื่อหรือยัง?

“ถ้าบอกตรงๆ ก็ต้องมีบ้าง แน่นอนว่าบางช่วงจะเกิดความรู้สึกว่าเหนื่อยจัง แต่สุดท้ายความรู้สึกนั้นจะอยู่กับเราไม่นาน แล้วก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม”

อาชีพไอดอลวงเกิร์ลกรุ๊ปถือเป็นอาชีพที่ใครๆ ต่างก็รู้ว่า น้อยคนนักที่จะทำตลอดไป วันเวลาเปลี่ยนผ่านจากสาวน้อยเติบโตไปเป็นหญิงสาว ก้าวผ่านวันแล้ววันเล่า เมื่อลองมองไกลไปถึงปลายทางของอาชีพ วีรยาถามตัวเองเสมอว่าจะเป็นไอดอลไปถึงเมื่อไหร่ แล้วถ้าจบการศึกษาจากวงไปแล้วจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิต

“หนูเคยคิดว่าจะเป็นไอดอลถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัยปีสามหรือปีสี่ ส่วนเรื่องที่ว่าจะจบไปทำอะไร หนูมีแผนในใจเยอะมาก เยอะจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนไปทำ ช่วงนี้หนูกำลังอินกับการออกกำลังกาย เลยคิดว่าอย่างน้อยถ้าออกจากวงไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านออกกำลังกาย หรือว่าผันตัวเป็นเทรนเนอร์ อาจจะมีแฟนคลับอยากมาเล่นกับเรา เคยลองถามแฟนคลับในไลฟ์ว่า ถ้าวีเป็นเทรนเนอร์จะมาเทรนด์ด้วยกันไหม?’ ก็มีคนบอกว่าจะมา แต่หนูมองว่าตรงนี้อาจเป็นอาชีพเสริมมากกว่า นอกจากนี้ หนูยังมีฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส แล้วคณะที่อยากเข้าคือคณะเกี่ยวกับภาษาอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปอยู่ดี เพราะอนาคตคือสิ่งไม่แน่นอน”

วีรยาเป็นคนที่มีความฝันหลายอย่าง และค่อยๆ เดินไปจนถึงจุดหมาย หนึ่งในฝันที่เธอทำสำเร็จไปแล้ว คือการเป็นไอดอล

แต่ถ้าลองถามกันอย่างจริงจังว่า ‘ไอดอล’ มีความหมายว่าอะไรกันแน่? ทุกคนย่อมมีคำตอบในใจของตัวเอง เมื่อวีรยาลองนึกภาพตามว่าคนทั่วไปในสังคมไทยให้นิยามกับคำคำนี้ไว้อย่างไรบ้าง คำตอบที่ได้นั้นไม่แน่นอนและมีมากกว่าคำตอบเดียว

“บางคนไม่ได้เข้าใจเหมือนหนู บางคนอาจคิดว่าหนูเป็นเน็ตไอดอล เป็นแค่คนที่น่ารักไปวันๆ ไม่ทำอะไร ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน บางคนอาจมีความรู้สึกอคติปนมานิดหนึ่ง หนูเคยเจอมากับตัว เขาเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่อายุเท่ากัน หลายครั้งเขาจะเหยียดเพราะแค่หนูเป็นไอดอล จริงๆ อาจไม่ใช่เพราะไอดอล แต่เพราะหนูคือ BNK48 ต่างหาก พอเห็นชื่อวงก็จะมีปฏิกิริยาบางอย่างออกมาให้เห็น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดแบบนี้ เพราะหนูเคยไปเจอทวีตหนึ่งพูดว่า ‘คุณออกมาเรียกร้องหาความเท่าเทียม แต่เหยียด BNK48 เราก็ไม่นับนะ’ เลยรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้สังคมอาจไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วจริงๆ การทำความเข้าใจความหมายของไอดอลเลยค่อนข้างกว้างมาก”

ก่อนมาเป็นไอดอล วีรยาเคยเข้าใจว่าไอดอลต้องเก่งรอบด้าน ต้องเป็นแบบอย่างให้กับสังคม แต่ประสบการณ์และการเติบโตทำให้ความหมายของไอดอลในความคิดวีรยาเริ่มชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการเป็นไอดอลในแบบ วีรยา จาง มีมิติและมุมมองที่ต่างออกไปจากช่วงเริ่มต้นพอสมควร

“เมื่อก่อนรู้สึกว่าไอดอลต้องเป็นต้นแบบ เพอร์เฟกต์ เรียนเก่ง เต้นเก่ง ร้องเก่ง ต้องเก่งทุกอย่าง แต่ตอนนี้หนูรู้สึกว่าทุกคนเป็นไอดอลได้ อยู่ที่ว่าเรานิยามไอดอลไว้แบบไหนมากกว่า หนูเป็นไอดอล หนูก็อยากเป็นไอดอลที่เป็นตัวของตัวเอง แล้วอยากให้ทุกคนชอบหนูเพราะหนูเป็นตัวเอง ไม่ใช่บังคับหรือต้องคาดหวังว่าหนูจะต้องเรียนเก่ง แรกๆ หนูกดดันตัวเองหนักเพราะอย่างพี่เฌอ (เฌอปราง อารีย์กุล กัปตัน BNK48) เขาเรียนเก่งมาก”

“แต่ตอนนี้ทำความเข้าใจแล้วว่า แต่ละคนมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ตอนหนูเข้ามาแรกๆ ก็เครียดเว้ยพี่ แต่พออยู่ไปเริ่มเจออะไรหลายอย่าง เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเองอาจจะดีกว่า แค่เป็นเราในแบบที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนก็พอ ถ้าคนจะชอบ เราก็อยากให้ชอบแบบที่เป็นเรา”

หลายคนอาจชอบวีรยาเพราะเธอเป็นตัวเอง แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่บางคนอาจอดไม่ได้ที่จะคาดหวัง อยากให้ปรับตรงนั้นอีกนิด แก้ตรงนี้อีกหน่อย แล้วเธอจะกลายเป็น ‘วีรยา จางที่สมบูรณ์แบบ’ ความคาดหวังเหล่านี้ค่อนข้างส่งผลกับเธอมากพอสมควร

“ความคาดหวังเป็นเรื่องปกติ เพราะหนูก็คาดหวังกับตัวเอง หนูชอบไอดอลคนไหน หนูก็แอบคาดหวังบางอย่างกับเขา แต่บางครั้งเราอาจโดนคาดหวังเยอะมากจนเกิดความกดดัน ทำให้รู้สึกไม่เป็นตัวเอง เริ่มไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เขาพอใจ หนูยังจัดการเรื่องการกดดันตัวเองจากความคาดหวังของคนอื่นไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่”

หลายครั้งหลายหน สมาชิก BNK48 พยายามพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็น พยายามทำให้คนที่เกลียดชังรู้ว่าพวกเธออาจไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่คิด พยายามแก้ความเข้าใจบางอย่าง ที่สังคมตีตราและมองว่า BNK48 จะต้องเป็นแบบนี้ BNK48 จะต้องแย่แบบนั้น BNK48 ก็มีแค่นี้ แต่สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็น หรือที่ใครเข้าใจไปเสียทั้งหมดก็ได้

“ทุกคนในวงพยายามหมดเลย แต่ละคนพยายามโชว์ความสามารถของตัวเองลงโซเชียลมีเดีย แต่หนูก็ไม่รู้ว่าคนที่ไม่ชอบอยู่แล้วจะมาสนใจไหม หนูทำเท่าที่ทำได้ อีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเขาด้วยว่าจะเปิดใจมองเราไหม ไม่ใช่ว่าให้เราทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะทำไปก็เท่านั้น”

แม้วีรยาจะบอกว่าเธออาจเป็นเด็กในสายตาใครหลายคน ซ้ำยังเป็นไอดอลที่ถูกมองว่าน่ารักไปวันๆ ในโลกของการเป็นไอดอลก็ถูกครหา ในโลกของเกมก็ถูกกรอบความเป็นผู้หญิงทำให้ช้ำใจ แต่สิ่งสำคัญที่วีรยาย้ำอยู่เสมอคือ เมื่อเกิดปัญหา เกิดความไม่สบายใจ หรือไม่พอใจกับบางสิ่ง เราต้องเปิดอกคุยกัน ไม่ว่าใคร วงการไหน หรืออายุน้อยกว่าเท่าไหร่ การเรียนรู้กันและกันเพื่อทำความเข้าใจความคิดของอีกฝ่ายคือสิ่งสำคัญที่สุด

“เราอาจยังเด็กก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่มีความสามารถหรือไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง หนูรู้สึกว่าเยาวชนไม่หยุดเรียนรู้ แล้วการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในโรงเรียน ทุกคนเริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เลยรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้เก่งไม่แพ้กัน เหมือนกับว่าเราต้องคุยกันนะ”

ถ้ามีโอกาส อยากให้ทุกคนได้ลองคุยกับ วีรยา จาง เหมือนที่เราได้คุย

ถ้ามีโอกาส หวังว่าคุณอาจเฝ้ารอที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดผ่านบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสาไฟฟ้า การเล่นเกม ความเท่าเทียม ที่อาจทำให้คุณตกหลุมรักเธอซ้ำๆ ไม่รู้จบ

 

Tags: , , , , , ,