“เปรี้ยง!” เสียงกังวานก้องสะท้อนไปทั่วทิวป่าสนดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ร่างสีดำสนิทจะค่อยๆ ล้มลงบนพื้นหิมะสีขาวโพลน วันที่ 22 กันยายน 2009 คือวันที่สุนัขป่าขนดำนามว่า ‘โรมีโอ’ จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

โรมีโอเป็นชื่อของหมาป่าขนดำซึ่งเป็นที่รู้จักในแถบธารน้ำแข็งเม็นเดลฮอลล์ เมืองจูโน มลรัฐอลาสกา จากพฤติกรรมประหลาดที่ทำให้นักชีววิทยาและชาวเมืองฉงนงุนงงไปตามๆ กัน เพราะเจ้าหมาป่ามักปรากฏตัวขึ้นบริเวณชายป่าและจากไปในเวลาเดียวกันของทุกปีต่อเนื่องกันมา 6 ปี โดยช่วงเวลาสั้นๆที่มันปรากฏตัว เจ้าหมาป่าเลือกที่จะเข้าหาชาวเมืองที่พาสุนัขมาเดินเล่นบริเวณชายป่าโดยปราศจากท่าทีที่ดุร้าย

การปรากฏตัวอย่างเป็นปริศนาและต่อเนื่องของมัน กลายเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่ผู้คนในท้องถิ่นรอคอยและบอกเล่าแบบปากต่อปาก ในเวลาไม่นาน โรมีโอกลายเป็นมาสค็อตที่มีกลุ่มแฟนคลับขนาดย่อมๆ คอยตามถ่ายภาพและติดตามความเคลื่อนไหว แต่ชาวเมืองบางส่วนกลับหวาดกลัวโรมีโอเพราะเชื่อว่าสัตว์ป่าย่อมมีสัญชาติญาณดุร้ายและคาดเดาไม่ได้.

ด้านกรมอุทยานสัตว์ป่าแห่งมลรัฐอลาสกา (Alaska Department of Fish and Game authorities) แสดงถึงความกังวลและพยายามเตือนไม่ให้ประชาชนไปยุ่งกับโรมีโอมากจนเกินไป เพราะสัตว์ป่าบางชนิด หากอยู่ใกล้ชุมชนมนุษย์ จะสูญเสียสัญชาตญาณสัตว์ป่าและดำรงชีวิตในธรรมชาติด้วยตนเองไม่ได้อีก โรมีโอยิ่งมีนิสัยประหลาดเข้ากับฝูงหมาป่าด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว จึงทำให้เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายหรือถูกมนุษย์ล่าได้ง่ายขึ้น

4 วันภายหลังโรมีโอหายตัวไป ก็มีรายงานการจับกุมนายพรานสองคนด้วยข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง รายงานฉบับนั้นระบุว่า หมาป่าที่เสียชีวิตมีขนสีดำสนิท นายพรานตัวบอกว่ายิงมันได้โดยง่ายเพราะหมาป่า “ไม่กลัวคนแต่อย่างใด” นายพรานทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหาล่าสัตว์สงวน

การตายของโรมีโอยังอยู่ในความทรงจำของผู้คน นิค ยานส์ ชาวเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านพักบริเวณชายป่าและเป็นผู้พบเห็นโรมีโอเป็นคนแรก นำภาพทั้งหมดที่เขาเก็บรวบรวมไว้มาเขียนเป็นหนังสือชื่อ “A Wolf Called Romeo”

 

ปริศนาจากโรมีโอ

การเสียชีวิตของมันนำมาสู่คำถามและประเด็นถกเถียงตามมามากมาย ว่าเหตุใดโรมีโอจึงมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกจากหมาป่าทั่วไป? เพราะตามปกติ หมาป่าจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์นอกฝูง และมีพฤติกรรมหวงถิ่นรุนแรงถึงขั้นรุมทำร้ายมนุษย์หรือสุนัขเลี้ยงที่พลัดหลงเข้าไปในอาณาเขตของพวกมัน

นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจพฤติกรรมของโรมีโออธิบายว่า หมาป่ามีลักษณะเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์สังคมที่มีพัฒนาการทางสมองสูงอื่นๆ เช่น ลิงชิมแปนซี มีบุคลิกเฉพาะตัว ดังนั้น แม้จะอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่บางตัวก็อาจเลือกที่จะหนีจากกลุ่ม อาจมีตัวที่แปลกแยกหรือกล้ามากพอที่จะเข้าหามนุษย์

สุนัขป่าที่ ‘เชื่อง’ เหล่านี้เป็นบรรพบุรุษของสุนัขเลี้ยงแสนรักของมนุษย์ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ต้องการอธิบายว่า เรื่องของโรมีโอไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่มีเหตุการณ์ ณ จุดใดจุดหนึ่งในช่วงหลายพันปีก่อนที่สุนัขป่าเลือกที่จะทิ้งฝูงของตนเองและมาเข้าฝูงของมนุษย์

 

รอยเท้ามนุษย์คู่กับสัตว์เลี้ยง ร่องรอยทางโบราณคดีที่ชวนให้ตีความ

หากอ้างอิงจากงานเขียน “A Dog in the Cave: The Wolves Who Made Us Human” ของเคย์ ไฟรเดนบอร์ก ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก มีการอ้างอิงหลักฐานจากถ้ำ Chauvet (โชเวท์) ตอนใต้ของฝรั่งเศสซึ่งปรากฏร่องรอยของภาพฝาผนังรูปสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วจำนวนมาก และฟอสซิลที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นฟอสซิลรอยเท้าของมนุษย์ที่ยืนคู่กับสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจากหมา และนักโบราณคดีฝรั่งเศสอธิบายว่า รอยเท้าดังกล่าวเป็นของมนุษย์ยุคหินวัยรุ่น และสัตว์บางอย่างที่ไม่ใช่ทั้งหมาป่าหรือหมา เพราะสัตว์ดังกล่าวมีขนาดพอๆ กับสุนัขเกรทเดนขนาดใหญ่ หรืออาจเท่ากับเสือขนาดย่อมๆ มีขนาดตัวโดยประมาณอยู่ที่ 164 เซนติเมตร รอยเท้าก็มีขนาดใหญ่กว่าสุนัขในปัจจุบัน จุดนี้เองที่ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่า เป็นการค้นพบรอยต่อทางวิวัฒนาการของหมาป่า

รอยเท้าดังกล่าวเป็นของมนุษย์ยุคหินวัยรุ่น และสัตว์บางอย่างที่ไม่ใช่ทั้งหมาป่าหรือหมา เพราะสัตว์ดังกล่าวมีขนาดพอๆ กับสุนัขเกรทเดนขนาดใหญ่ หรืออาจเท่ากับเสือขนาดย่อมๆ

โดยในปี 1950 มีความพยายามทดลองแนวคิดดังกล่าว โดยนักวิทยาศาสตร์โซเวียต ดิมิทรี เบลยาเอฟ พยายามทดลองหาคำอธิบายวิวัฒนาการจากสัตว์ป่ามาสู่สัตว์เลี้ยงผ่านโครงการวิจัย “จิ้งจอกสีเงิน” (Silver Fox) ด้วยการทดลองผสมหมาจิ้งจอกไซบีเรียตามทฤษฎีของเมนเดล คัดเลือกเฉพาะตัวที่มีความก้าวร้าวน้อยและเป็นมิตรกับมนุษย์มาเลี้ยง

หลังจากผสมสุนัขจิ้งจอกไปกว่ายี่สิบรุ่น เบลยาเอฟพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งในสุนัขจิ้งจอกเหล่านี้ คือพวกมันมีรูปร่างของกะโหลกที่เปลี่ยนไปจนคล้ายคลึงกับสุนัขเลี้ยงและมีหูที่ตกลู่ลง (หูตั้งเป็นลักษณะของสัตว์ป่า) ทั้งยังแสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม คือมีความขี้เล่นและเป็นมิตร เมื่อพิจารณาจากรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกันกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของสุนัขป่าและสุนัขเลี้ยง เบลยาเอฟได้ข้อสรุปว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์นำหมาป่าที่มีความดุร้ายน้อยมาเลี้ยง แล้วกำจัดกลุ่มที่ดุร้ายออกไป

เรื่องนี้นำมาสู่คำถามถัดไปที่ว่า เมื่อกว่า 20,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์สามารถทำให้หมาป่าซึ่งเป็นนักล่าระดับต้นๆ ในห่วงโซ่อาหารเชื่องได้อย่างไร? นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า มนุษย์กับหมาป่ามาพบกันด้วยปรากฏการณ์บางอย่าง และสามารถทำให้หมาป่าเชื่องได้สำเร็จ โดยเราไม่ได้ใช้วิธีบังคับให้เชื่องแบบเดียวกับม้าป่าหรือวัวป่า ทว่าน่าจะเกิดจากผลประโยชน์ร่วมกันบางประการ

ข้อสันนิษฐานก็คือ สุนัขป่ากลุ่มหนึ่งล่าสัตว์สู้ตัวอื่นไม่ได้ จึงเข้ามาหาเศษอาหารในแหล่งที่พักอาศัยของมนุษย์ เมื่อคุ้นเคยกับมนุษย์มากขึ้น ก็เกิดความร่วมมือกับมนุษย์ในการหาอาหาร อีกข้อสันนิฐานหนึ่งคือมันเป็นหมาป่าหลงฝูงแบบเดียวกับกรณีของโรมีโอที่ดุร้ายน้อยและเข้ากับสุนัขป่าด้วยกันไม่ได้

หากอ้างอิงตามหนังสือของเคย์ ไฟรเดนบอร์ก เราอาจแบ่งมนุษย์และสุนัขป่าออกเป็นคู่ความสัมพันธ์สองขั้วคือ Homo Sapiens (มนุษย์ปัจจุบัน) กับ Homoneanderthalensis (ญาติห่างๆของมนุษย์)

เมื่อเปรียบเทียบหลักฐานทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในถ้ำของมนุษย์ทั้งสองกลุ่ม นักโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์พบซากกระดูกของหมาป่าฝังอยู่ในถ้ำ หลายแห่งเช่นที่ Predmosti ทางเหนือของฝรั่งเศสและแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในอิสราเอล โดยถูกฝังคู่กับมนุษย์ในฐานะสัตว์เลี้ยง ในขณะที่ถ้ำของนีแอนเดอร์ธัลไม่พบซากกระดูกของสุนัขแต่อย่างใด หรือถ้ามี ก็พบในลักษณะของอาหาร

ถ้ำที่พบซากกระดูกสุนัขถูกฝังในฐานะสัตว์เลี้ยง มักจะมีซากกระดูกแมมมอธกระจายอยู่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เป็นหลักฐานว่า มนุษย์ยุคหินกลุ่มที่เลี้ยงสุนัขประสบความสำเร็จในการล่ามากกว่า

เรื่องราวเหล่านี้เป็นหลักฐานอธิบายถึงบทบาทของสุนัขที่มีต่อการล่าของมนุษย์ในอดีต พวกมันช่วยให้มนุษย์ยุคหินล่าช้างแมมมอธได้มากขึ้น มีอาหารกินมากขึ้น และมีอัตราการอยู่รอดที่สูงขึ้นด้วย เพราะช้างแมมมอธเป็นแหล่งพลังงานและอาหารสำคัญยิ่งยวดในยุคหินที่ป่าเถื่อนโหดร้าย ช้างแมมมอธหนึ่งตัวที่ล่าได้นั้นหมายถึงการมีที่พักอาศัยที่อบอุ่น กระดูกของพวกมันสามารถนำไปสร้างบ้าน ขนใช้ทำเสื้อผ้า เนื้อและไขกระดูกเป็นแหล่งพลังงานชั้นเลิศ

จากสัตว์นักล่าสู้ผู้เฝ้าฝูงแกะ

มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลล่าเหยื่อด้วยวิธีการดักซุ่มแล้วตีเหยื่อด้วยกระบองจนตาย ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่เสี่ยงและล้าสมัยมากในยุคหิน ทั้งยังมีโอกาสตกเป็นเหยื่อเสียเองมากกว่า ในยุคเอาตัวรอดแบบนี้ หมา(ป่า)พึ่งพาอาศัยเครื่องมือล่าสัตว์ที่ทันสมัยของมนุษย์ยุคหิน ในขณะที่มนุษย์หินก็พึ่งพาทักษะในการดมกลิ่นและตามรอยเหยื่อของพวกมัน

ยังมีสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพัฒนาการร่วมที่ไม่พบในสัตว์สปีชีส์อื่น นั่นคือความสามารถทางการแสดงออกด้วยสีหน้าและการรับรู้ความรู้สึกผ่านดวงตา สุนัขสามารถแสดงออกทางสีหน้าได้ถึง 8 แบบและรับรู้อารมณ์ของมนุษย์ได้ในระดับหนึ่งผ่านการมอง เวลาที่มองไม่ชัด พวกมันก็จะเอียงคอเพื่อให้เห็นสีหน้าของเราได้ดีขึ้น ในขณะหมาป่าซึ่งเป็นบรรพบุรุษ แทบไม่มีการแสดงออกทางสีหน้าเลย การมองสำหรับหมาป่าเป็นการข่มหรือท้าทายเสียมากกว่า

ความผิดปกติทางสมองที่พบเฉพาะในสิ่งมีชีวิตซึ่งมีพัฒนาการสมองสูงและมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับมนุษย์เช่นหนู (เวลาที่หนูปีนขึ้นไปบนกรงและกระโดดลงมาซ้ำๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเป็นลักษณะของอาการย้ำคิดย้ำทำ) ก็พบในสุนัขด้วย ในลักษณะของการวิ่งไล่งับหางตนเอง

จากความสัมพันธ์ที่อธิบายในข้างต้นจะเห็นว่าหมามีความใกล้ชิดกับมนุษย์ยุคหินและมนุษย์ปัจจุบันมากยิ่งกว่าสัตว์สายพันธุ์ใดๆ

ทว่าบทบาทความสำคัญของพวกมันที่มีต่อชีวิตของมนุษย์ก็ลดน้อยถอยลง ในขณะที่มนุษย์พัฒนาจากสังคมไล่ล่าหาเก็บ ไปสู่สังคมเกษตรกรรม และยิ่งน้อยลงอีกเมื่อมีการค้นพบวิทยาการที่ก้าวหน้า มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเกิดขึ้นของเมืองขนาดใหญ่

รอยเท้าเล็กๆ ของมนุษย์และอุ้งเท้าของหมาป่าที่กลายเป็นฟอสซิลในถ้ำ Predmosti ทางเหนือของฝรั่งเศส ที่ทั้งคู่ยืนหันหน้าเข้าหาผนังที่วาดภาพ กวางป่า วัว และช้างแมมมอธ ราวกับสหายที่ชื่นชมผลงานที่ร่วมทำมาด้วยกัน รอยเท้าเล็กๆ คู่นี้แสดงถึงมิตรภาพอันแนบแน่นและยาวนาน

หมาป่ากลายจากสัตว์ที่ช่วยในการล่าสมัยยุคหิน กลายมาเป็นสัตว์เฝ้าฝูงปศุสัตว์ในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักเพาะปลูก กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้มีอำนาจสำหรับล่าเพื่อเกมกีฬา เป็นสัตว์ที่ใช้ในสงคราม  จนกระทั่งกลายสัตว์เลี้ยงคลายเหงา เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์พึ่งพาหมาในการทำงานน้อยลง จนมีหมาจรจัดให้เห็นอยู่มากมาย ซึ่งเราไม่ควรลืมว่าตลอดเวลาหลายพันปีพวกมันเป็นสัตว์ที่อยู่เคียงข้างเราเสมอมาและผ่านความเปลี่ยนแปลงมาด้วยกันทุกยุคสมัย

อ้างอิง:

 

 

Fact Box

เคย์ ไฟรเดนบอร์ก เป็นนักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับวัยรุ่น ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์หรือนักบรรพชีวิน รายละเอียดในหนังสือจึงเป็นการเรียบเรียงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ

Tags: , , , , ,