เมื่อบทเพลงสุดทรงพลังอย่าง Do You Hear the People Sing? จากละครเวทีและหนังคลาสสิกเรื่อง Les Misérables ถูกผู้ประท้วงชาวฮ่องกงซึ่งออกมาต่อต้านการร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน นำมาร้องเพื่อปลุกใจและแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา

เราพบว่าเพลงนี้ไม่ได้เพิ่งถูกหยิบยกมาร้องในเหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่ผ่านการเอ่ยเอื้อนโดยหลากหลายกลุ่มคน หลากหลายความเชื่อ และหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมือง มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง, กลุ่ม กปปส., ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หรือแม้กระทั่ง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ยังเคยหยิบเพลงนี้มาใช้ในการหาเสียงมาแล้ว จนอาจเรียกได้ว่าเพลงนี้ถูกผู้คนพยายามช่วงชิงความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวบทของมันมาโดยตลอด

แต่เพราะอะไรบทเพลงเดียวกันจึงถูกนำไปตีความได้ในหลากหลายเหตุการณ์, อุดมการณ์ และช่วงเวลาขนาดนั้น The Mo Ju อยากพาทุกคนย้อนกลับไปค้นหาความสำคัญของ ‘บทเพลงแห่งการต่อสู้’ ที่ไม่ว่าเวลาและสภาพสังคมจะผ่านมานานเพียงใด ก็ยังคงเป็นสื่อที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกและรวมใจของผู้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมตั้งคำถามถึงการช่วงชิงความหมายของเพลงแห่งการต่อสู้ผ่านทั้ง 3 บทเพลงนี้ Do You Hear the People Sing?, สู้ไม่ถอย และ แสงดาวแห่งศรัทธา

Do You Hear the People Sing?

เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นโดย Claude-Michel Schönberg เพื่อใช้ในการแสดงละครเวทีเรื่อง Les Misérables ซึ่งเปิดแสดงครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 1980 ที่โรงละคร Palais des Sports ในปารีส ก่อนจะถูกจัดแสดงซ้ำและนำไปทำเป็นภาพยนตร์อีกหลายครั้ง โดย Les Misérables หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนาม ‘เหยื่ออธรรม’ เป็นวรรณกรรมฝรั่งเศสที่เขียนโดย วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนและรัฐบุรุษที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของฝรั่งเศสวุ่นวายที่สุด คือมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ เป็นระบอบจักรวรรดิและระบอบสาธารณรัฐ สลับไปมาอยู่หลายต่อหลายครั้ง


Les Misérables เวอร์ชั่นภาพยนตร์ปี 2012

เพลง Do You Hear the People Sing? ถูกบรรเลงขึ้นในช่วงท้ายของเรื่อง ในปี 1832 เมื่อ ‘ฌอง วัลฌอง’ ตัวเอกของเรื่องและ ‘โคเซ็ตต์’ ลูกสาวบุญธรรม มีเหตุให้ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับกลุ่มปัญญาชนชาวปารีสซึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านกษัตริย์หลุยส์ ฟิลลิปส์ เพื่อเรียกร้องให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบสาธารณรัฐ ในเหตุการณ์กบฏเดือนมิถุนายน หรือ June Rebellion ซึ่งเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความไม่พอใจที่อำนาจซึ่งควรเป็นของประชาชนถูกแย่งชิงไปครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะหลังจากที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 แห่งราชวงศ์บูร์บงถูกโค่นลงได้สำเร็จใน July Revolution ปี 1830 แต่แทนที่รัฐสภาในขณะนั้นจะสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นในฝรั่งเศส กลับยกพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

หลังจากที่ละครเวทีเวอร์ชั่นแรกเปิดแสดงในปี 1980 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว Do You Hear the People Sing? ถูกนำไปใช้ปลุกใจทางการเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศไทย โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนที่นำเพลงนี้มาใช้รณรงค์แต่ละกลุ่ม กลับอยู่ในขั้วความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างแบบสุดขั้ว

ครั้งแรกที่เราพบเพลงนี้ถูกนำมาใช้ในบริบทการเมืองไทย คือช่วงหลังการสลายการชุมชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในปี 2553 โดยเพลงนี้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยในหลากหลายเวอร์ชั่นเพื่อใช้ในการรวบรวมจิตใจของผู้คนและแสดงความเจ็บแค้นหลังเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้น


เสียงเพลงแห่งมวลชน (Do you hear the people sing?)

แต่หลังการนำมาใช้ของกลุ่มคนเสื้อแดง ใครจะไปเชื่อว่าในปี 2557 กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะนิรโทษกรรมความผิดให้ผู้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ซึ่งรวมถึง ทักษิณ ชินวัตร ด้วย ก็หยิบเพลงนี้ขึ้นมาใช้แทนการแสดงออกถึงความเกรี้ยวโกรธของประชาชนเช่นกัน


Do You Hear The People Sing [Thailand uprising] /กปปส มวลมหาประชาชน 2557

และไม่ใช่แค่การเมืองไทยในอดีต เพราะล่าสุดแม้แต่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็ยังได้หยิบยกบางเนื้อหาของบทเพลงมาสื่อสารกับผู้คน ในการแถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องคดีถือหุ้นสื่อและมีมติให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วยอีกคน ในประโยคที่ว่า “วันนี้อยากให้พี่น้องประชาชนยืนเงียบๆ นิ่งๆ แล้วเงี่ยหูฟัง พวกเราได้ยินเสียงของความโกรธของผู้คนที่อยู่ข้างนอกไหม วันนี้พวกเราได้ยินเสียงของความไม่พอใจของผู้คนที่อยู่ข้างนอกหรือเปล่า” – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 23 เมษายน 2562

หรือแม้กระทั่ง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่ชัดเจนในอุดมการณ์อนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง ก็ยังเคยหยิบเอาเพลงนี้มาใช้ในการหาเสียง จนเกิดคำวิจารณ์ในแง่ลบจากทั้งผู้แต่งเพลงในละครเวทีและผู้คนทั่วไปซึ่งมองว่าอุดมการณ์ของทรัมป์และวิกตอร์ อูโกผู้เขียน Les Misérables นั้นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงมาแล้วเช่นกัน


Deplorable Entrance: Trump Takes Stage to ‘Les Mis’ Song

สู้ไม่ถอยและแสงดาวแห่งศรัทธา

นอกจาก Do You Hear The People Sing? แล้ว เราพบว่ายังมีบทเพลงที่ผ่านการ ‘ช่วงชิงความหมาย’ หรือการใช้บทเพลงในบริบทที่แตกต่างออกไปจากความต้องการดั้งเดิมของผู้ประพันธ์ในการเมืองไทยอีกหลายเพลง แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘เพลงสู้ไม่ถอย’ และ ‘เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา’


สู้ไม่ถอย – เวที กปปส. ถนนราชดำเนินนอก วันที่ 20 พ.ค. 2557 (คืนก่อนการรัฐประหาร)

เพราะเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ อันเปรียบเสมือนเป็นเพลงปลุกใจที่โดดเด่นที่สุดเพลงหนึ่งของม็อบ กปปส. ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อกดดันให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากการเป็นหัวหน้ารัฐบาล เปิดทาง ขอนายกฯ พระราชทานโดยอ้างอิงมาตรา 7 และปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กลับเป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดย ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

โดยเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ ถูกแต่งขึ้นในเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2516 ที่มีมติให้ลบชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย ด้วยสาเหตุที่นักศึกษาตีพิมพ์หนังสือ ‘มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ’ ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร นอกจากนั้นเพลงนี้ยังเคยถูกใช้เป็นเพลงมาร์ชเพื่อนำนิสิตนักศึกษาออกเดินประท้วงบนถนนราชดำเนินในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลามาโดยตลอดอีกด้วย


แสงดาวแห่งศรัทธา – เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สะพานมัฆวานรังสรรค์ วันที่ 6-8-2551

ส่วนเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ที่แต่งขึ้นโดย ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ในยุคสมัยที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยอำนาจของเผด็จการทหารที่คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง และถูกใช้เป็นเพลงที่ปลุกเร้าให้กำลังใจกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยตลอดมา ก็ถูกหยิบมาใช้ในการแสดงออกทางการเมืองในหลากหลายเหตุการณ์และอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, การชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี เพื่อต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา, การจุดเทียนให้กำลังผู้ที่ถูกควบคุมตัวในคดีการกระทำความผิดมาตรา 112 ไปจนถึงการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐประหารปี 2557 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ หลายต่อหลายครั้ง


เนื้อเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ บนหน้าปกนิตยสารมติชน สุดสัปดาห์ และเนชั่น สุดสัปดาห์

อิสระจากบริบทและอุดมการณ์

เมื่อย้อนกลับมาดูที่ตัวเนื้อเพลงโดยตัดบริบทดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ประพันธ์และบริบทรอบข้างของสังคมในแต่ละยุคสมัยออกไป เราพบว่าสิ่งที่เป็นจุดร่วมในทั้ง 3 บทเพลงอมตะอย่าง Do You Hear the People Sing?, สู้ไม่ถอย และแสงดาวแห่งศรัทธา ซึ่งส่งผลให้บทเพลงเหล่านี้กลายมาเป็นบทเพลงแห่งการต่อสู้สุดคลาสสิก ที่ถูกผู้คนหยิบยกมาใช้ในการแสดงความคิดเห็นและต่อสู้ทางการเมืองอยู่เสมอก็คือ เนื้อหาที่ไม่ได้เจาะจงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่เน้นไปที่การปลุกเร้าอารมณ์ของผู้คนให้รวมกันเป็นหนึ่ง

แตกต่างจากเพลงที่มีเนื้อหาระบุแนวคิดชัดเจนอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ ที่ระบุความหมายของคนหนักแผ่นดินในมุมมองของผู้แต่งเอาไว้ในบทเพลงอย่างชัดเจนว่า หมายความถึงคนที่ดูถูกประเทศชาติ, ปลุกระดมผู้คนให้สับสนวุ่นวาย, ทำลายประเพณีและสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงชื่นชมต่างชาติมากกว่าประเทศไทย ซึ่งถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้ปลูกฝังแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ ก่อนจะนำมาสู่การล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา และยังคงถูกใช้ในอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน คือ ตอนที่ ‘บิ๊กแดง’ หรือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ตอบคำถามสื่อกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวปราศรัยว่าต้องการเสนอนโยบายตัดงบกระทรวงกลาโหม 10% และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ว่าให้คุณหญิงสุดารัตน์ไปฟังเพลงนี้

และ ‘แองเตอร์นาซิอองนาล’ เพลงปลุกใจที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพและฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส ซึ่งถูกหยิบมาใช้ซ้ำโดยผู้ที่มีอุดมการณ์ทางสังคมนิยมและสาธารณรัฐ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการถูกใช้เป็นเพลงชาติของสหภาพโซเวียต หรือการนำกลับมาทำใหม่ในเวอร์ชั่นภาษาไทยของ ‘วงไฟเย็น’ ในปี 2559 (วงไฟเย็นเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีแนวคิดนิยมระบอบสาธารณรัฐและมีบทบาทบนเวทีการเมืองในยุคหลังการรัฐประหารปี 2549 ปัจจุบันลี้ภัยทางการเมืองไปผลิตผลงานเพลงและรายการสตรีมมิ่งต่อต้านคณะเผด็จการทหารในต่างประเทศ)

โดยเพลง ‘Do you hear the people sing?’ และเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ ถึงแม้จะถูกแต่งขึ้นจากคนละเหตุการณ์และช่วงเวลา แต่เมื่อย้อนดูที่ตัวเนื้อเพลง จะพบมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันมากคือพูดถึงการรวมตัวกันของมวลชนที่โกรธเกรี้ยวและต้องการรวบรวมขุมกำลังให้เข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับอำนาจเบื้องบนที่ไม่เป็นธรรม โดยพร้อมที่จะยอมสละแม้แต่เลือดเนื้อหรือชีวิตของตนเองเพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม ซึ่งเป็นเนื้อหาที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองแทบจะทุกกลุ่มสามารถนำมาใช้เพื่อปลุกระดมจิตใจผู้คนได้ทันที นอกจากนี้ทั้งสองเพลงยังมีรูปแบบของจังหวะและแนวเพลงที่คล้ายคลึงกันคือเป็นเพลงมาร์ชที่แต่งขึ้นสำหรับใช้ประกอบการเดินแถว ทั้งเนื้อหาและทำนองจึงสามารถกระตุ้นให้ผู้ฟังรู้สึกฮึกเหิมได้เป็นอย่างมาก

“Do you hear the people sing?
Singing the songs of angry men?
It is the music of the people
Who will not be slaves again
When the beating of your heart
Echoes the beating of the drums
There is a life about to start
When tomorrow comes”

Do you hear the people sing? – Les Misérables

 

“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ ก้าวเข้าไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาดเขาจะฟัน พวกเราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย สู้ขาดใจพวกเราเสรีชน”

สู้ไม่ถอย – เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ในขณะที่เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ซึ่งถึงแม้จะแต่งขึ้นในช่วงเวลาที่ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ มีชีวิตยากลำบากอยู่ในเรือนจำด้วยคดีทางการเมือง แต่เฉพาะตัวเนื้อเพลงไม่ได้เจาะจงถึงประเด็นทางการเมืองโดยตรง โดยพูดถึงความศรัทธาที่จะคอยเป็นพลังและความหวังในช่วงเวลาที่ผู้คนเกิดความสิ้นหวังและมืดมน ทำนองเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาไม่ได้เน้นที่ความฮึกเหิมและการกระตุ้นอารมณ์โกรธเกรี้ยวของผู้คนเหมือนกับอีกสองเพลง แต่มีทำนองที่อ่อนโยนและทรงพลัง เสมือนเป็นการปลอบโยนผู้คนที่ประสบพบเจอกับปัญหาในทุกช่วงเวลาของชีวิต ไม่ต่างจากวันที่จิตรมองลอดลูกกรงของห้องขังออกมาเห็นแสงดาวที่ยังคงปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ทุกค่ำคืน

“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง”

แสงดาวแห่งศรัทธา – จิตร ภูมิศักดิ์

โดย ‘นกป่า อุษาคเนย์’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ทางเลือก ได้เคยพูดถึงเพลงนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจในบทความ ‘รำลึกบทเพลงแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์’ ว่า “เพลงของจิตรอยู่เหนือกาลเวลา เพลงแสงดาวแห่งศรัทธาแสดงให้เห็นถึงความหวัง ความเข้มแข็ง ปลุกให้คนลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมแพ้ มันจึงมีความเป็นสากลและเข้าได้กับทุกสังคม นั่นคือไม่ว่าจะตกอยู่ในยุคของรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือเผด็จการทุนนิยม เพลงนี้ก็ยังคงไม่ล้าสมัย เพราะกรอบของมันกว้างใหญ่มาก คือการต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะถูกปกครองด้วยระบอบใดและมีรัฐบาลแบบไหนก็ตาม”

ชวนให้คิดถึงคำพูดของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักปรัชญาและสัญญะวิทยาชาวฝรั่งเศสที่อธิบายเอาไว้ในผลงานเรื่อง ‘The Death of the Author’ หรือ ‘การตายของผู้ประพันธ์’ ว่า ผู้ประพันธ์ (Author) ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดนั้นได้ตายไปแล้ว จะเหลือก็แต่ผู้เขียน (Writer) ซึ่งเป็นเพียงร่างทรงหรือเปลือกที่ถ่ายทอดเรื่องราวซึ่งถูกชักนำโดยมายาคติของสังคม ดังนั้นหลังจากที่นักเขียนเสร็จสิ้นการจรดปากกา ตัวตน ความคิด และบริบท ที่มาจากมุมมองหรือชีวิตจริงของผู้ประพันธ์จึงไม่ได้มีความหมายใดๆ กับการนำมาตีความตัวบทอีกต่อไป แต่เป็นตัวผู้อ่านที่จะสามารถกำหนดความหมายของงานชิ้นนั้นๆ ได้โดยอิสระ

ในส่วนของความสำคัญที่ทำให้ดนตรีมีความผูกพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างยาวนาน Ron Eyerman ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Music and Social Movements ได้อธิบายว่าเป็นเพราะดนตรีมีความสามารถในรูปแบบเดียวกับ ‘ภาษา’ ซึ่งสามารถรวบรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มคนให้สามารถดำเนินการสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ดีกว่าการอยู่ตัวคนเดียว และยังสร้างอัตลักษณ์ของความรู้สึกร่วมที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความคิดนั้นๆ และ Joan Baez นักกิจกรรมทางการเมืองและศิลปินที่นำเสียงเพลงมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอก็ได้กล่าวว่า “ดนตรีคือสื่อเดียวที่เป็นภาษาสากลซึ่งผู้คนสามารถเข้าใจร่วมกันได้อย่างแท้จริง แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจริงๆ นั้นไม่เคยเกิดขึ้นจากเสียงดนตรี เพราะมันเกิดขึ้นจากสิ่งที่คุณทำ เสียงเพลงแค่เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนมันต่างหาก”

เมื่อฟังก์ชันที่สำคัญของเสียงดนตรีในการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือการเป็นเสมือนภาษาสากลที่รวมใจผู้คนเอาไว้ด้วยกัน และคำกว้างๆ อย่าง ‘เสรีภาพ ความถูกต้องและความยุติธรรม’ ในมุมมองและการตีความของผู้คนย่อมไม่ได้หมายถึงสิ่งเดียวกันเสมอไป จึงอาจหมายความได้ว่าถึงแม้บริบทและอุดมการณ์ทางการเมืองอันเป็นรูปธรรมของตัวผู้ประพันธ์ อย่างระบอบหรือตัวบุคคล จะไม่ตรงกับอุดมการณ์ของกลุ่มผู้ที่นำบทเพลงไปใช้ แต่หากระบอบนั้นๆ ไม่ถูกหยิบยกมาใส่ในบทเพลงอย่างชัดเจน และท่วงทำนองรวมทั้งเนื้อหาส่วนหนึ่งของเพลงก็ยังคงสามารถตอบสนองการรวมใจของผู้คนในเหตุการณ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี การที่เนื้อหาของบทเพลงถูกหยิบยื่นอุดมการณ์และความหมายใหม่ซึ่งเป็นอิสระจากบริบทดั้งเดิมของตัวเองให้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจนักในปัจจุบัน

Tags: , , , , , , , , , , ,