“ชีวิตปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) หลายที่ในเมืองไทย ในหลายชั่วอายุคน เขาปฏิบัติต่อผืนป่า ผืนดิน อย่างนอบน้อม อยู่แบบกลมกลืนและถนอมธรรมชาติ” 

ห่างออกไปราว 700 กิโลเมตร จากใจแผ่นดิน หมู่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่หอศิลป์ต้นตาล จังหวัดขอนแก่น กลุ่มภาคี Saveบางกลอย จัดนิทรรศการเพื่อนบางกลอย สะท้อนวิถีชีวิตและการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในลุ่มน้ำเพชรบุรี ที่อาศัยอยู่ในผืนดินแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคน หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็อาศัยอยู่ทำกินบนพื้นที่ป่ามาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2524 

จนราวสิบปีที่แล้ว หมู่บ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและฝ่ายความมั่นคงผาทำลายที่พักอาศัยและผลักดันออกจากผืนดินถิ่นเกิดด้วยข้ออ้างชาวบ้านบุกรุกป่า เผาป่า และทำไร่เลื่อนลอย

จากวันนั้นถึงช่วงเวลานี้ ตัวละครสำคัญอย่าง ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ แกนนำนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง หลานชายของโคอิ มีมิ หรือ ‘ปู่คออี้’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ต่างไม่ได้อยู่ร่วมขบวนต่อสู้แล้ว รายแรกจากไปเพราะการอุ้มหายอย่างไร้ความปราณี รายที่สองจากไปด้วยโรครุมเร้าในวัยชรา 

เมื่อต้นปี 2564 เรื่องชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง จากกิจกรรมรณรงค์กลับคืนสู่บ้านเกิดที่ใจแผ่นดิน ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ความรุนแรงในการจับกุมชาวบ้านหลายสิบราย และต้องถูกดำเนินคดี นอกจากภาพสื่อที่มองเห็นการกระทำของรัฐ สิ่งที่เป็นอยู่คือการที่ภาคประชาชนหลายฝ่ายพยายามรื้อฟื้นทำความเข้าใจพื้นที่แห่งนั้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับความพยายามของกลุ่มภาคี Saveบางกลอย กับนิทรรศการ ‘เพื่อนบางกลอย’ ใจกลางอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่นครั้งนี้ 

วิชัย นาพัว ผู้ทำงานเรื่องอนุรักษ์มายาวนานและเป็นผู้ริเริ่มนิทรรศการศิลปะนี้ เห็นว่าพอมีสถานการณ์บางกลอยอีกครั้ง เลยอยากเข้าไปช่วยเหลือเรื่องปากท้อง ข้าวปลาอาหาร ผ่านการระดมทุน แต่ทีนี้ก็คิดว่ามันยังไม่เพียงพอ น่าจะทำเรื่องนี้ให้คนได้รับรู้ในทางสาธารณะด้วย นอกจากสื่อกระแสหลักและสื่อบางส่วนนำเสนอ ทีนี้ก็คิดกันว่าจะเล่าอย่างไรดี เลยมองเห็นศิลปะเป็นหนึ่งใน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่จะทำงาน เช่น ใช้ภาพทำงานกับผู้คน ก็จะเกิดคำถาม ซึ่งปกติแต่ละปีเขาจะจองแสดงงานที่หอศิลป์ต้นตาลอยู่แล้ว ปีนี้จึงทำเรื่องบางกลอยขึ้นมา ด้วยที่ว่ากลุ่มภาคี Saveบางกลอย แต่ละคนจะมีงานเขียนงานวาดของตัวเอง เป็นโอกาสที่จะเชิญชวนเพื่อนๆ ที่สนใจศิลปะ สิทธิมนุษยชน และความเห็นอกเห็นใจพี่น้องชาติพันธุ์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ นำงานที่สื่อสารเรื่องราวเหล่านั้น มาบอกเล่าให้พี่น้องทางภาคอีสานที่เป็นอีกเผ่าหนึ่งให้รับรู้ 

“อีกหมุดหมายของนิทรรศการนี้เพื่อให้เผ่าเรา (ภาคอีสาน) ที่จำนวนคนเยอะมากและกระจัดกระจายอยู่ ให้ได้รับความสุขความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงรวมกันมาที่นี่”

วิชัย นาพัว กล่าวอีกว่า ด้วยคลุกคลีกับชีวิตปะกาเกอะญอหลายที่ในเมืองไทย สิ่งที่เขามีเหมือนกันคือ การจัดการทรัพยากรไร่หมุนเวียนในหลายชั่วอายุคน และมีการปฏิบัติต่อผืนป่า ผืนดิน อย่างนอบน้อม อยู่แบบกลมกลืนและถนอมธรรมชาติ

งานกวีในชื่อ ‘ต้องสู้มิดูดาย ใจแผ่นดินใจกลางหว่างผืนฟ้า’ ของ บำรุง บุญปัญญา นักพัฒนาเอกชนอาวุโส

อีกเหตุที่เลือกศิลปะมาเล่าเรื่องบางกลอย เพราะเป็นการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ และซ่อนความขัดแย้งได้ ศิลปะเป็นตัวกลางในการสื่อสารอย่างสันติ ใช้ความงามในหัวใจ และความสงบนิ่ง ให้คนฟังได้สัมผัสและเปิดรับ รับฟังรหัสข้อความเข้าสู่หัวใจ โดยไม่มีความขัดแย้ง 

เช่นเดียวกับ สัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอยอ’ ครูสอนศิลปะแห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงผลงานตัวเองว่า งานชิ้นนี้เริ่มต้นจากสิ่งที่เรารู้น้อยมากในบางกลอย เริ่มประมาณเดือนมีนาคม 2564 เขากับนักเรียนสนใจสีจากธรรมชาติ มีดิน มีดอกไม้ ถ้าบางกลอยคือลุ่มน้ำเพชรบุรี จึงตีความคน ธรรมชาติ ชาติพันธุ์ ก็เลยเอาภาพคนที่เรียกร้องสิทธิทางด้านทรัพยากรมาทำ มีดอกเฟื่องฟ้า ใบสัก ดอกอัญชัน ดินแดง ดอกจาน แทนธรรมชาติกับคน 

นอกจากนี้ ครูสอยอกำลังสอนประเด็นบางกลอยในห้องเรียน จึงชักชวนนักเรียน ม.1-ม.3 มาร่วมแสดงศิลปะในโปรเจ็กต์นี้ผ่านภาพวาด เริ่มจากคำถามว่า ใครเคยได้ยิน #Saveบางกลอย บ้าง แล้วพยายามหาทางเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับเรายังไง แล้วบอกว่ามีโปรเจ็กต์นี้ จะเอามาเชื่อมโยงกันยังไง ก่อนจะเห็นสิ่งที่สะท้อนผ่านภาพวาดเหล่านั้นผ่านภาพจำของบางกลอยคือ ปู่คออี้ เรื่องคนชาติพันธุ์กับป่า และภาพเจ้าหน้าที่รัฐกำลังไล่เผา ซึ่งโดยมากเป็นภาพในข่าว

งานศิลปะจัดวางใช้ชื่อ ‘The heart of the earth’ เป็นของ เมืองแคน อิสระธรรม สะท้อนการอุ้มหายบิลลี่

ภาพชุดของเด็กหญิงธัชนก พรมมา หรือ ‘เกล’ ผู้ทำงานศิลปะกับปู่ที่มีประสบการณ์ไปบางกลอย โดยใช้สีอะครีลิกวาดรูปใจแผ่นดิน

นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะจาก วสันต์ สิทธิเขต, นิรมล เมธีสิวกุล, มงคล เปลี่ยนบางช้าง, นรงค์ นาพัว, ปริพนธ์ วัฒนขำ, เกียรติศักดิ์ มนูศักดิ์ ฯลฯ

โดยภาพรวม ‘เพื่อนบางกลอย’ สะท้อนความรู้สึกผ่านบุคคล มองคนเท่ากัน ไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง หรือกะเหรี่ยงทำลายป่า หรือเป็นคนชาติอื่น โดยชาวบางกลอยก็พิสูจน์ตัวเองมาตลอดว่าเขาไม่ใช่ใครอื่นในบ้านตัวเอง หรือหากไม่ใช่คนไทย ก็ไม่ควรทำร้ายกันแบบนี้ ควรให้พื้นที่กันในการสื่อสาร

“มันวิเศษนะที่มีนิทรรศการอยู่ไกลถึงขอนแก่น มันสะท้อนอีกด้วยว่า ใกล้บ้านเราก็มีปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ที่บ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิ ที่โรงโม่หิน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น หรือเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานี คนที่เดินไปมาก็คงจะสงสัยว่าบุคคลในภาพเหล่านี้เป็นใคร การตั้งคำถามบางอย่างก็เพียงพอแล้ว และศิลปะก็ได้ทำงานแล้วในระดับนี้ อีกทางศิลปะมันดูบวก ให้ตัดสินผ่านความเป็นมนุษย์ และการตัดสินใจชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ” 

งานศิลปะจัดวางใช้ชื่อ ‘The heart of the earth’ เป็นของ เมืองแคน อิสระธรรม สะท้อนการอุ้มหายบิลลี่

ในแง่หนึ่งคนตั้งคำถาม และรับรู้ว่าพื้นที่แบบนี้มีอยู่ โดยเฉพาะการฟังคนในพื้นที่ให้เขามีสิทธิจัดการทรัพยากร หากเอาวิธีคิดแบบรัฐแบบเดียวชาวบ้านเขาก็อาจจะสูญเสียมากมาย ผู้จัดงานก็คาดหวังว่าคนที่เข้ามาดูจะเชื่อมโยงไปได้ 

แน่นอนว่าศิลปะไม่เป็นนายใคร ไม่เป็นขี้ข้าใคร มันทำงานโดยตัวของมัน เขาบังคับให้คุณเชื่อแบบเขา แต่ชวนตั้งคำถาม และทำงานโดยตัวของมันผ่านการตีความ วันนี้ศิลปะได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว “เราอยากบอกคนในพื้นที่ว่า นิทรรศการนี้ได้ถูกเล่าเรื่องราวบางกลอยต่อนะ ต่อไปเราอาจเขียนจดหมายถึงเขา ไม่อยากให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว ในฐานะครู ต่อไปเราอาจจะเชื่อมเรื่องนี้กับสิ่งที่สอน ซึ่งแน่นอนว่าเหล่านี้ไม่มีสอนในห้องเรียน และถ้ามี อย่างน้อยๆ หากรู้เรื่องบางกลอยก็จะทำให้เขารู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น” ครูสอยอเล่าทิ้งท้าย

Fact Box

นิทรรศการศิลปะ ‘เพื่อนบางกลอย’ จัดขึ้นที่หอศิลป์ต้นตาล ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 2-30 เมษายน 2564 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.30-22.30 น. สำหรับคณะครู อาจารย์ นักศึกษา ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะก่อนเวลาทำการ สามารถติดต่อได้ทาง 08-1729-6086

Tags: , , ,