ทุกคนน่าจะเคยเรียนมาแล้วว่าวิธีการคุมกำเนิดมีวิธีอะไรบ้าง

แต่ถ้าหากจะมีเซ็กซ์ ไม่ว่าจะในช่วงอายุใด เราจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนมาอย่างไรดี? ในที่นี้เราจะเฉพาะเจาะจงไปที่เรื่องของการคุมกำเนิด ที่เป็นคนละเรื่องกันกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การนับระยะปลอดภัย (safety period)

ระยะปลอดภัยที่ว่าคือ “หน้า 7 หลัง 7” โดยนับจาก ‘วันแรก’ ที่มีประจำเดือน (เมนส์) คือ 7 วันก่อน ‘หน้า’ ที่จะมีเมนส์วันแรก และ 7 วัน ‘หลัง’ จากวันแรกที่มีเมนส์แล้ว เพราะในระยะนี้จะยังไม่มีไข่ตก จึงสามารถมีเซ็กซ์ได้โดยไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นหากช่วงหน้า 7 หลัง 7 รวมเป็น 14 วันนี้ของใครคร่อมกับวันวาเลนไทน์ก็ถือว่า “ปลอดภัย” ระดับหนึ่งตามชื่อวิธีการ

แต่วิธีการนี้ไม่เหมาะกับคนที่เมนส์มาไม่แน่นอน หรือมีรอบเดือนรอบสั้นที่สุดกับรอบยาวที่สุดต่างกันมากกว่า 10 วัน (จะต้องจดบันทึกประวัติเมนส์มาแล้วหนึ่งปี) หรือช่วงที่มีอารมณ์เครียด ก็สามารถทำให้การตกไข่เปลี่ยนแปลงไปได้

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้มีโอกาสตั้งครรภ์ค่อนข้างสูงถึง 24% จึงไม่ควรใช้เป็นวิธีหลักในการคุมกำเนิด

ภาพที่ 1 การนับ “หน้า 7 หลัง 7”

หากวันวาเลนไทน์อยู่ในช่วงนี้ถือว่าอยู่ใน “ระยะปลอดภัย”

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptives: COC)

เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมใช้มาก คือยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นแผง มีส่วนประกอบของฮอร์โมนรวมสองชนิด ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งยับยั้งการตกไข่และทำให้อสุจิเคลื่อนที่ยากขึ้น บางยี่ห้อมีเพียง 21 เม็ดแล้วเว้นไป 7 วันค่อยเริ่มกินแผงใหม่ แต่ส่วนใหญ่มี 28 เม็ด ซึ่ง 7 เม็ดสุดท้ายเป็นแป้งหรือวิตามินเพื่อป้องกันการลืมกินยา

วิธีการกิน ให้เริ่มต้นกินยาในวันแรกที่เมนส์มาหรือภายใน 5 วันแรกของรอบเดือน จากนั้นต้องกินยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันของทุกวัน จึงแนะนำให้กินก่อนนอน และไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่น

แต่ถ้าหากจะเริ่มกินยาในช่วงอื่น ก็สามารถกินได้ โดยต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และควรงดการมีเซ็กซ์หรือใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ไปด้วยอีก 7 วัน ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่จะมีเซ็กซ์ในวันวาเลนไทน์ก็ต้องเริ่มกินยาตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์แล้ว (บทความนี้เผยแพร่ในวันที่ 8 ก.พ. จึงไม่ทันแล้ว)

หลังจากกินยาแล้วอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาจมีสิวได้ วิธีการนี้มีประสิทธิภาพดีมากในทางทฤษฎี แต่เมื่อใช้จริงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 5-7.6% ในปีแรกของการใช้

อย่างไรก็ตาม ยาเม็ดคุมกำเนิดมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคบางโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด จึงควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้

ถุงยางอนามัยชาย (male condom)

น่าจะไม่ต้องอธิบายยืดยาว แต่จะขอเน้นย้ำบางเรื่อง อย่างแรกคือข้อดีของถุงยางฯ โดยนอกจากจะสามารถคุมกำเนิดได้แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเชื้อ HIV ได้อีกด้วย

อย่างที่สอง ต้องฉีกซองด้วยมือ แต่ระวังเล็บมือหรือแหวนเกี่ยว และต้องสวมขณะที่องคชาตแข็งตัวเต็มที่ หากต้องการความหล่อลื่นให้ใช้สารหล่อลื่นที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เช่น K-Y jelly ทาหลังจากสวมถุงยางฯ เรียบร้อยแล้ว

อย่างที่สาม (ไหนว่าจะไม่พูดเยอะ) เมื่อใช้จริงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 15% โดยอาจมีสาเหตุมาจากขนาดถุงยางฯ ไม่เหมาะสม องคชาตอ่อนตัวขณะมีเซ็กซ์ ไม่รีบถอนองคชาตหลัง ‘เสร็จ’ แล้ว หรือถุงยางฯ หลุดขณะถอน

ผลข้างเคียงของถุงยางฯ คืออาการแพ้ และขัดขวางขั้นตอนการมีเซ็กซ์ แต่เมื่อเทียบกับความเสี่ยงทั้ง 2 อย่างที่พูดไปตอนแรก หลังอ่านบทความนี้จบก็เข้าร้านสะดวกซื้อแล้วซื้อพกติดไว้ในกระเป๋าเลยครับ

การหลั่งนอก (withdrawal)

คือการรีบถอนองคชาตให้น้ำอสุจิหลั่งนอกอวัยวะเพศหญิง โดยต้องระวังเปื้อนบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้อสุจิเล็ดลอดเข้าไปกับมูกแถวนั้นได้ ซึ่งถ้าหากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนที่จะมีเซ็กซ์ก็เป็นทางเลือกรองสุดท้ายที่จะใช้ได้ และถึงแม้จะเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด แต่ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงถึง 22%

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (morning-after pills)

เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่หมอโรงพยาบาลชุมชนอย่างผมใช้บ่อยที่สุด (อย่า! อย่าคิดว่าผมจะใช้เองนะครับ) ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกข่มขืน จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นวิธีการคุมกำเนิดหลัก แต่ก็จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่มีเซ็กซ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือใช้ถุงยางอนามัยแล้วเกิดแตกหรือรั่ว

คือเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วนั่นเอง

มีสองวิธีหลัก ได้แก่ 1. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่พูดถึงก่อนหน้า แต่กินในปริมาณที่จะได้รับฮอร์โมนเพียงพอ กับ 2. การใช้ยาที่มีโปรเจสตินขนาดสูง มีโอกาสตั้งครรภ์ 3.2% และ 1.1% ตามลำดับ

ซึ่งทั้งสองวิธีจะต้องกินให้เร็วที่สุดหลังมีเซ็กซ์หรืออย่างช้าภายใน 72 ชั่วโมง คือภายในคืนวันที่ 17 ก.พ. จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง แต่วิธีที่ 2 มีผลข้างเคียงอย่างการคลื่นไส้-อาเจียนน้อยกว่า

ยาฝังคุมกำเนิด (implant contraception)

เป็นวิธีคุมกำเนิดที่อยากแนะนำให้รู้จักมากที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นระยะเวลานาน เรียกได้ว่าเจ็บตัวครั้งเดียว (ถ้ารวมตอนเอาออกด้วยก็เป็นสองครั้ง รวมตอนฉีดยาชา) อยู่ได้นาน 3 ปี โดยจะฝังไว้ตรงต้นแขนข้างที่ไม่ถนัดในชั้นใต้ผิวหนัง ฝังเสร็จแล้วก็สามารถคลำได้ว่าแท่งยาอยู่ตรงไหน

การฝังยาจะต้องทำภายใน 5 วันแรกของรอบเดือน หลังจากนั้นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นอีก 7 วัน ต้องขออภัยจริงๆ ครับที่บทความนี้เผยแพร่ในวันที่ 8 ก.พ. จึงยังทันอยู่สำหรับวันวาเลนไทน์ในปีหน้า!

มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าการทำหมัน คือมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.01% ต่อปี ที่สำคัญ หญิงวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 10-20 ปีสามารถขอรับการฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง

แต่ผลข้างเคียงที่อาจรบกวนคือ เมนส์มักจะกระปริดกระปรอยในช่วง 3 เดือนแรก และจะลดลงจนอาจไม่มีเมนส์เลย  ซึ่งการมีเมนส์เป็นการเปลี่ยนแปลงของผนังมดลูกตามรอบเดือนเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการขับของเสียออกจากร่างกายตามความเชื่อเดิมแต่อย่างใด

ภาพที่ 2 เปรียบเทียบการคุมกำเนิดด้วยยาฝังคุมกำเนิด (implant) ห่วงอนามัย (IUD) ยาคุมกำเนิดชนิดกิน (pill) และถุงยางอนามัย (male condom) ที่มา: CDC

สุดท้ายจะเห็นได้ว่าไม่มีวิธีการคุมกำเนิดแบบใดที่ลดโอกาสการตั้งครรภ์เหลือ 0%  แต่การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคุมกำเนิดอยู่บนแนวคิดการลดอันตราย (harm reduction) หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นได้ก็ต้องลดอันตรายจากความเสี่ยงนั้นแทน ส่วนถ้าหากจะป้องกันความเสี่ยงความเสี่ยงทั้งสองอย่าง คือการติดเชื้อโรคกับการตั้งครรภ์ได้ 100% ก็เห็นจะมีอยู่วิธีเดียวคือ ปฏิเสธการมีเซ็กซ์ แต่คงไม่ใช่ทางที่ทุกคนจะเลือกแน่ๆ 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ธีระ แสงทอง และคณะ. นรีเวชวิทยา ฉบับสอบบอร์ด. พิมพ์ครั้งที่ 3. เชียงใหม่: พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์, 2551.
  • Effectiveness of Family Planning Methods
Tags: , , , , ,