ปี 2020 เป็นปีที่ผลงานด้านศิลปะการแสดงของไทยมีจำนวนน้อยกว่าปกติ ครึ่งแรกของปีถูกพิษโควิดเล่นงานเช่นเดียวกับทุกวงการ ทว่าช่วงครึ่งปีหลังผู้สร้างและคณะละครต่างๆ ก็พยายามสร้างสรรค์ผลงานออกมาท่ามกลางข้อจำกัดและอุปสรรคมากมาย ต่อไปนี้คือ ‘ละครเวทีแห่งปี’ จากสมาชิกชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง โดยเราไม่ได้พยายามตัดสินว่านี่คือละครเวทีที่ดีที่สุด หากแต่พยายามจะจดจำและบันทึกผลงานเหล่านั้นเอาไว้ 

‘หมายเลข 60’ (No. 60) (กำกับโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คัมพานี)

การแสดงแห่งปีที่สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์ ผ่านการค้นคว้าด้วยการทำงานจริงมานานกว่าสองทศวรรษ พัฒนานาฏศิลป์ไทยด้วยการวิจัยที่ผสมวิทยาศาสตร์และผสานศิลปะหลายสาขา (แบบที่ลุงเรียกว่า ‘บูรณาการ’) 

นอกจากได้รับเชิญไปแสดงที่ Tokyo Performing Arts Meeting (TPAM) in Yokohama เมื่อต้นปี 2020 และ Taipei Arts Festival เมื่อกลางปี (แบบที่นักแสดงทั้งคณะต้องกักตัว 14 วันทั้งขาไป-กลับ) แล้ว ยังมีงานชื่อ ‘สาธิตหมายเลข 60’ ที่เป็นการแสดง (บรรยาย) ประกอบการบรรยาย (แสดง) หรือ lecture-performance และนิทรรศการภาพไดอะแกรมวิเคราะห์ท่ารำแม่บททั้ง 59 ท่า ซึ่งจัดมาแล้วทั้งที่แกลเลอรี Artist+Run และพิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาฯ มีการจัดพิมพ์หนังสือที่รวบรวมความรู้ทั้งหมด และจบท้ายปลายปีด้วยการนำไปทดลองต่อกับนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพ าแล้วมาจัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพฯ หรือเรียกว่าทั้ง walk the talk และ talk the walk 

โควิดปิดพรมแดนเปิดเมื่อไร ‘หมายเลข 60’ น่าจะได้ไปแสดงตามเทศกาลศิลปะการแสดงสำคัญๆ ของโลกอีกหลายแห่งตามที่ได้จองคิวไว้ ช่วยยืนยันว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) อย่างโขนนั้น สามารถ ‘พัฒนา’ ต่อไปอย่างยั่งยืนได้ ไม่ต้องใส่ตู้ขึ้นหิ้งตามพิพิธภัณฑ์ให้ ‘ชื่นชม’ กับอดีตเพียงอย่างเดียวแบบที่หลายๆ คนเชื่อ (ชมสารคดีเบื้องหลังล่าสุดได้ที่ https://youtu.be/smjU8dRD9Uk ) – ปวิตร มหาสารินันทน์

ละครแห่งประเทศฟะรังฟะแรงก์ ค.ศ.1684 (กำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย)

ละครโชว์เคสเปิดตัวของเทศกาลละครกรุงเทพ จัดโดย เครือข่ายละครกรุงเทพ ที่เชิญนักการละครรวมดาวมาร่วมกันสร้างงานเพื่อสร้างสีสันให้เทศกาล ผู้กำกับคนแรกที่ได้รับเกียรติในปีแรกนี้คือ ปานรัตน กริชชาญชัย จาก New Theatre Society โดยดัดแปลงบทจาก L’impromptu de Versailles (1663) ของ Molière และ La bête (1991) ของ David Hirson เล่าเรื่องการปะทะกันระหว่างหัวหน้าคณะละครอนุรักษ์นิยมหัวเก่า กับนักแสดงข้างถนนหัวสมัยใหม่ได้อย่างจิกกัด ด้วยมุกขำขันแบบตลก café ที่มีรสนิยมดีเหลือเกิน ไม่แปลกใจที่ละครจะปังจนต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งชมกันเลย – ‘กัลปพฤกษ์’

The Enchantra Alcazar เปิดม่านมนตรา มายาตลาดสด (กำกับโดย จิรวัฒน์ โตสุวรรณ)

นี่คืองานสเตจมิวสิคัลของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งให้ผลลัพธ์ในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่างานสเตจมิวสิคัลของเวทีใหญ่ระดับมืออาชีพเลย ตัวเรื่องมีความทะเยอะทะยาน จากพล็อตที่อาจดูเรียบง่าย ทว่าซับซ้อนและเปี่ยมไปด้วยลีลาแพรวพราวในการนำเสนอ การแสดง การร้อง และคอริโอกราฟ รวมถึงงานออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม และฉากต่างๆ อาจไม่สมบูรณ์พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยิ่งใหญ่ น่าตื่นตาในระดับที่สามารถดึงดูดคนดูให้เข้าไปร่วมสำรวจ และตามติดเรื่องราวได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ที่น่าชื่นชมมากคือ ละครเต็มไปด้วยความสดใส และพลังแห่งความสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเพลงและดนตรี ที่รังสรรค์ท่วงทำนอง และเนื้อร้องออกมาได้อย่างไพเราะ รื่นหู และน่าจดจำ – สิโรรส เอ็มอธิ สุรฐาชัยวัฒน์

SAVE FOR LATER  (กำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่)

การแสดงเรื่องนี้เล่นในช่วงเดือนกรกฏาคมที่เพิ่งคลายล็อกดาวน์ ในเมื่อไม่สามารถเล่นละครแบบมีผู้ชมมานั่งรวมกันเยอะๆ ได้ ผู้สร้างก็เลยให้เราดูละครเรื่องนี้คนเดียว กล่าวคือผู้ชมจะต้องเดินเดี่ยวลัดเลาะไปตาม ‘ด่าน’ ต่างๆ บริเวณชั้นหนึ่งและใต้ดินของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เป็นอีกครั้งที่นพพันธ์ใช้และจัดสรร ‘พื้นที่’ ได้อย่างชาญฉลาด หลังจากเล่นละครมาแล้วทั้งในโกดังร้าง อาร์ตแกลเลอรี่ และแบคเสตจของโรงละคร นอกจากนั้นแม้จะได้รับโจทย์มาเป็นธีมการประหยัดพลังงาน แต่ท่าทีของละครก็ปราศจากการสั่งสอนการฉอดใดๆ กลับเป็นงานที่เท่ เก๋ เปรี้ยว แบบสุดปัง – คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

Flu-Fool (2020) (กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล)

หากต้องสรุปการเมืองไทยในปี 2020 ด้วยการแสดงสักเรื่อง Flu-Fool เวอร์ชั่น 2020 ของคณะละครฟิสิคัล B-Floor ได้สะท้อนให้เห็นชัดว่าสังคมไทยยังคงตกอยู่ในวังวนแห่งความป่วยไข้และความเขลาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับการฉายภาพแห่งความหวังจากการที่ผู้คนต่างลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องในสิ่งที่เชื่อมั่น ซึ่งทำให้เห็นว่าคนทำละครมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ทั้งบนเวทีและบนท้องถนน นอกจากนั้นการแสดงเรื่องนี้ยังถ่ายทอดสดให้ชมทางออนไลน์อย่างมืออาชีพ และให้มุมมองที่แตกต่างจากการชมสดได้อย่างน่าสนใจ – แก้วตา เกษบึงกาฬ

Act of Paddling (กำกับโดย ธนพล วิรุฬหกุล)

Act of Paddling ส่งพลังงานลึกลับแบบเดียวกับที่เคยปรากฏใน Post Show Talk with Pina Bausch and Dancers (2012), Hipster the King (2014) และ The Retreat (2018) ด้วยมวลที่เข้มแข็งดุดัน และให้น้ำหนักกับบริบทการเมืองร่วมสมัยซึ่งเป็นสารตั้งต้นอย่างมีนัยสำคัญ การเคลื่อนไหวของนักแสดงทั้งสาม ล้อไปกับการจัดแถวเรียงแนว วางตนให้สอดรับกับทิศทางและจังหวะของคนข้างเคียง แต่ในบางขณะที่กำลังประคองรูปแบบให้ดำเนินไป สิ่งที่ยึดร้อยพวกเขาก็คลายตัว มนุษย์ทั้งสามแตกออกจากกันเพื่อส่งเสียงประจำตนผ่านร่างกาย แล้วจึงกลับเข้าสู่รูปแบบอีกครั้งเพื่อรับมือกับไฟนีออนสีฟ้าม่วงแสบตากับเก้าอี้ปริศนาที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่แสดง

 

ทั้งหมดคือความหมายและปรัชญาแห่งเนื้อหนังร่างกายของผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่การประท้วงถูกนิยามว่าไร้แกนนำ ธนพลสร้างละครการเมืองที่มีเนื้อสัมผัสพิสดารเมื่อวางเปรียบกับละครที่สื่อสารประเด็นเดียวกัน เมื่อเขาเผยให้เห็นธรรมชาติกับพลังงานของมนุษย์ในสภาวะที่อัตลักษณ์อย่างปัจเจกบุคคลพยายามแสวงหาที่ทางและรูปแบบ ภายใต้จิตสำนึกร่วมของมวลชน – ชญานิน เตียงพิทยากร

CYBERPUNK TH 2020 (กำกับโดย รัฐกร พันธรักษ์, ธนวิชญ์ ทองพรหม, กิตตินันท์ ชาวปากน้ำ, ปานมาศ ทองปาน)

4 ละครสั้นที่หยิบเอาประเด็นทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาเล่าแบบสุดจัด ไต่ระดับความพีคตั้งแต่เรื่องอุดมการณ์ของมนุษย์และหุ่นยนต์, แอพหาคู่ยุค New Normal ที่ฉายภาพซ้ำความสัมพันธ์และการไม่ยอมรับตัวตนของ LGBTQ, คู่แม่-ลูกชวนถกเถียงถึงชีวิตนิรันดร์ที่ท้ายเรื่องปั่นหนักจนต้องหัวเราะลั่นออกมา แต่ไม่มีอะไรพีคสุดปรอทเท่าเรื่องสุดท้าย ‘อาตมาฝันถึงการปฏิวัติ’ ที่ดันให้ CYBERPUNK TH 2020 เข้าเส้นชัย ว่าด้วยชีวิตของหลวงปู่ป่วยโคม่าที่ได้รับถวายเครื่อง VR จากญาติโยม นับเป็นการผสานประเด็นทางศาสนาเข้ากับเทคโนโลยีที่ยียวนเกินคาด เชื่อเถอะว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลก VR แม้แต่การบรรลุนิพพานดนยา สุทธิวรรณ

Special Mention (ปรากฏการณ์หรือการแสดงอื่นๆ ที่เราอยากพูดถึงเพิ่มเติม)

  1. ละครออนไลน์ vs. ละคอนออนสตรีท

แน่นอนว่าละครเวที ศิลปะที่อาศัยการอยู่ร่วมกันในสถานที่และเวลาเดียวกันของศิลปินและผู้ชมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การผลิต ‘ละครออนไลน์’ (ที่หลายๆ เรื่องเหมือนหนังสั้นแนวทดลองหรือการประชุมออนไลน์มากกว่า) มาแข่งกับเนื้อหาอื่นๆ ที่ครองโลกออนไลน์ (และความจริงที่ว่าผู้ชมต้องทำงานออนไลน์มากขึ้น) อยู่แล้วนั้น 

ผลปรากฏออกมาชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่ทั้งทางเลือกและทางรอดของละครเวที แต่ที่ทั้งเลือกได้ รอดแน่และทำกันอยู่ในหลายๆ ประเทศ คือการคิดแบบ hybrid เพิ่มทางเลือกการรับชมงานละครเวที (รวมทั้งการแสดงสดอื่นๆ) คือ ให้ชมได้ทั้งในโรงละครที่มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการสาธารณสุขและชมได้ทางออนไลน์ในราคาบัตรที่ถูกกว่าและเวลาชมที่สะดวกให้เลือกมากกว่าและมีคุณภาพการถ่ายทำ ตัดต่อและเผยแพร่ระดับมืออาชีพให้อรรถรสในการชมไม่แพ้การดูหนังออนไลน์  

ทั้งนี้ในปีที่เพิ่งผ่านพ้นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นเหมือน ‘ละคอนออนสตรีท’ ที่มีองค์ประกอบของละครเวทีครบถ้วนและหลากหลายชวนให้ติดตามได้ทั้งในสถานที่จริงและออนไลน์ ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีจุดพลิกผันอีกกี่ครั้งและจุดสูงสุดคืออะไร เมื่อแก่นความคิดหลักประกาศแจ้งชัดเจนแล้ว – ปวิตร มหาสารินันทน์

2. กำเนิดคณะละครรุ่นใหม่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย

แม้ปี 2020 จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่น่ายินดีที่คณะละครรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยได้ถือกำเนิดขึ้นและสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายแนวให้รับชม ไม่ว่าจะเป็น Crystal Theatre กับการแสดง ‘ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น’ ซึ่งเปิดแสดงและรีสเตจไปถึง 2 ครั้งในปีนี้ รวมถึงคณะละครที่เข้าร่วมในเทศกาลละครกรุงเทพอย่าง Throw BKK, Bloom Theatre, Good Thank Association ก่อนจะปิดท้ายปีด้วยผลงานมิวสิคัลจาก Aorta Production รวมถึงการเกิดคณะละครใหม่ในแต่ละภูมิภาค เช่น Part Time Theatre ในเชียงใหม่ ซึ่งทำให้อยากติดตามผลงานชิ้นต่อไปของคณะเหล่านี้ – แก้วตา เกษบึงกาฬ

3.  สยามมิตร พิชิตมาร (กำกับโดย วิธะวินธ์ ธนะชัย)

เวลาวิจารณ์งานแสดงเรื่องไหนที่รังสรรค์งานโปรดักชันออกมาได้ไก่กา เราก็มักจะเทียบกันว่า “เห่ยอย่างกับละครโรงเรียนมัธยม!” แต่งานละครเยาวชนจากกลุ่ม Young Pack Action เรื่องนี้ แม้จะมีสเกลงานโปรดักชันไม่ต่างจากงานละครโรงเรียนดังว่า แต่ลีลาอันละเอียดประณีตในเชิงการกำกับกลับมีชั้นเชิงที่วิจิตรเกินตัว ตั้งแต่ตัวบทที่ใช้ภาษาเหนือมาเล่าเรื่องราวตำนานเจ้าล้านนา ร่างทรง ผีสิง มนต์ดำ โรคระบาด และวิทยาศาสตร์แห่งการพิสูจน์ความวิปริตโดยฝรั่งต่างด้าว ผ่านการแสดงที่ขับเคี่ยวคาแรกเตอร์กันมาอย่างดี พร้อมด้วยงาน choreography ที่ออกแบบบล็อคกิ้งและการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงแต่ละรายเอาไว้อย่างละเอียดยิบ กลายเป็นงานแสนหลอนที่แม้ไม่ได้อาศัยพร็อพใดๆ สักชิ้น นอกเหนือจากดวงไฟดวงเล็กๆ ส่องจากพื้นเพียงหนึ่งดวง หากกลับสร้างพลังแห่งเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ กลายเป็นงานระดับเด็กมัธยมที่น่าดูชมไม่แพ้งานโปรดักชันมืออาชีพเลย – ‘กัลปพฤกษ์’

4.  สุดยอดการแสดงแสนยอดเยี่ยมที่คุณควรดูก่อนคนเล่นตาย (กำกับโดย ธนพนธ์ อัคควทัญญู, ปฏิพล อัศวมหาพงษ์, ปัถวี เทพไกรวัล)

เราอาจเรียกผลงานชิ้นนี้ว่าละคร event-specific (เทือกเดียวกับงานอาร์ต site-specific) เพราะมันดูเหมือนถูกดีไซน์ให้แสดงในเทศกาลละครกรุงเทพเท่านั้น แต่ในขณะที่กำลังโจมตีคนดูด้วยมุกวงใน แต่งตัวพูดจาเลียนแบบปรมาจารย์ครูละคร ฉายหน้าคนละครตัวจริงที่กำลังฉอดขึ้นโปรเจ็คเตอร์ หรือขุดเรื่องหลังบ้านเทศกาลมาแบให้เพื่อนร่วมวงการหวีดร้องว่าจะพูดเรื่องนี้ออกสื่อจริงหรือคะ (และชวนหม่นหมองเมื่อ rap rhyme บนเวทีมันไม่ค่อยจะรื่นหู) นักแสดงทั้งสามยังได้เปลือยวิธีคิดหรือความกลัวของคนจำนวนมากเกี่ยวกับสถาบัน ลอกเปลือกให้เห็นชนิดไม่ปรานีปราศรัย 

ในช่วงเวลาที่คนกล้าพูดถึงสถาบันในระดับชาติมากขึ้นทุกวัน ความกล้านั้นอาจไม่ได้เผื่อแผ่มาถึงสถาบันในสังคมที่เล็กกว่าระดับประเทศแต่คนยังต้องสังกัดกินอยู่ เราอาจเป็นครูที่เชียร์ให้เด็กต่อต้านเครื่องแบบ แต่เมื่อถึงวันสอบก็บอกให้เขาใส่ๆ มาเถอะชีวิตจะได้ง่าย อาจจะเชียร์สิทธิประกันสังคมฟรีแลนซ์แต่พอเห็นค่าเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ก็กลับมานั่งปั่นงาน บางคนอาจเป็นดาวดังเมื่อกล้าท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของหลอดยาสีฟัน แต่ถูกสาปแช่งรุมกระทืบเมื่อถามถึงดอกบัวเจ็ดก้าว การเป็นคนทำละครอาจพูดถึงชนชั้นและความพังของสถาบัน(การละคร)ได้ยากกว่าสถาบันที่คนเขาเคยกลัวกัน – ชญานิน เตียงพิทยากร

5. ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น (Restage) (กำกับโดย Sebastian Zeballos)

น่าเสียดายว่าผู้เขียนไม่ได้ดูเวอร์ชันที่เล่นครั้งแรก เลยไม่รู้ว่ารีสเตจแล้วแตกต่างจากเดิมอย่างไร แต่อยากพูดถึงในแง่การเล่าเรื่องการเมืองโต้งๆ และหมู่มวลนักแสดงที่ใช้พลังงานมหาศาลเหมือนกินเชื้อเพลิงเป็นอาหาร อีกทั้งขอยกให้เป็นละคร reference เยอะแห่งปี 

ด้วยสัญญะที่แฝงไว้แทบทุกวินาที เรียกเอาลิ้นชักความทรงจำด้านประวัติศาสตร์การเมืองออกมารื้อดูและคิดตามกันไม่หวาดไม่ไหว ยิ่งสถานที่เป็นห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ยิ่งเพิ่มความขลังอีกเป็นเท่าตัว ทว่าปัญหาอย่างเดียวของละครคือความกระชับ ด้วยข้อมูลที่อัดแน่น ทำให้คนดูอย่างเราเหนื่อยเร็วกว่าที่ควรจะเป็นและเก็บสารได้ไม่ครบจนกว่าจะถึงปลายทาง – ดนยา สุทธิวรรณ

Fact Box

ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง  เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงในไทยเมื่อปี 2554 ก่อนจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ International Association of Theatre Critics ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงของไทยถือเป็นภาคีสมาชิกนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 7 ในทวีปเอเชีย ต่อจากจีน ไต้หวัน อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ www.facebook.com/IATC.Thailand

Tags: