เรามักชอบฟังเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในวงสังสรรค์ ยิ่งได้เครื่องดื่มที่พาสติหลุดลอย อารมณ์ความรู้สึกพรั่งพรู ผู้ร่วมวงสนทนาก็ยิ่งมีเรื่องมาแลกเปลี่ยน

หลายครั้งเรามักคิดว่าเรื่องราวความรักของคนอื่นมันง่ายกว่าเรามากนัก กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คอยชี้ให้เห็นปัญหาและทางแก้ไข

แต่เมื่ออยู่ในความรัก เรากลับทำอะไรที่ควรทำไม่ได้เลย หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือสิ่งที่ควร

ความไม่เรียบของความรัก เป็นหนังสือวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นจากสำนักพิมพ์ Sunday Afternoon สำนักพิมพ์ที่นิยามอารมณ์เนื้อหาของหนังสือที่ผลิตออกมาว่าเปรียบเหมือนยามบ่ายวันอาทิตย์

‘ความรัก’ ที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้จึงมีความพลิ้วเบา หลับตาอาจได้ยินเสียงลมและเสียงกระดิ่ง แต่เพราะเป็นยามบ่าย หากนั่งผิดที่ก็อาจร้อนจนทรมาน

นังสือความยาว 216 หน้า มีเรื่องสั้น 23 เรื่อง ทุกเรื่องล้วนเต้นรำอยู่รอบๆ สิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’

แต่ความรักมีหลายแบบ บางแบบอาจเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ยิ่งวนเวียนอยู่ในนิยายและละครที่กำหนดนิยามความรักชัด บางครั้งเราเองก็ไม่แน่ใจว่าประสบการณ์ตรงหน้าบางเบาเกินกว่าจะเรียกว่ารักหรือเปล่า

แต่ ฮิโรมิ คาวาคามิ ผู้เขียน (และ มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ ผู้แปล) ได้จับจูงมือเราให้ลุกขึ้นมา ชักชวนให้เดินไปมองความรักในรูปแบบที่หลากหลาย เตือนเราว่า มันก็ไม่ผิดอะไร ถ้าความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในใจเราคนเดียว จะมีน้ำหนักมากพอให้เรากล้าเรียกมันอย่างไม่อายว่า ความรัก

อาจเริ่มจากความประทับใจของเด็ก ป.4 ที่มีให้รุ่นพี่สาวมัธยมฯ ปลาย ในเรื่อง ‘ภาพวาดฤดูใบไม้ผลิ’ เรื่องสั้นเล่าเรื่องโดยใช้น้ำเสียงของเด็กคนนั้น ซึ่งผู้อ่านอาจมองว่าไร้เดียงสา เขาตื่นตกใจกับความรักครั้งแรกของตนเมื่อได้พบหน้าหญิงสาว

“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะชอบผู้หญิง” เขาคิด

เธอทำให้เขาเหมือนต้องมนต์ จนยอมโดดเรียนพิเศษเพื่อไปเดินเล่นกับเธอ ซึ่งฟังดูเป็นอะไรที่เด็กน้อย และไร้การยับยั้งชั่งใจเหลือเกิน แต่แม้เราไม่ได้เป็นเด็ก ป.4 อีกต่อไป ใครก็อาจไร้เดียงสาเช่นนั้นได้เสมอ

ความรักอาจเป็นห้วงเวลาสั้นๆ ชวนพิศวงของสองสาวที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก แล้วจู่ๆ ก็เกิดอยากเล่น ‘ผ้ากันเปื้อนเปลือย’ ด้วยกัน ถอดเสื้อเสียจนหมด และสวมเพียงผ้ากันเปื้อน ยืนมองและลองสำรวจร่างกายของกันและกัน

บางครั้งรักก็ชวนฉงน เหตุใดคนสองคนจึงอยู่คู่กันได้ยาวนาน ทั้งที่หากพยายามสำรวจความรู้สึกประทับใจที่มีให้กัน ก็พบว่ากลับไม่ได้มีอะไรพิเศษมาตั้งแต่แรก

คาวาคามิเล่าเรื่องรักได้อย่างมีเสน่ห์ และมีลีลาที่หลีกหนีความเลี่ยนได้อย่างน่ารัก สำรวจความสัมพันธ์ได้ลึกโดยไม่ต้องอาศัยคำคม เธอเล่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เหมือนแอบมองมันลอดผ่านหน้าต่างบ้าน สร้างระยะห่างระหว่างเรื่องรักที่เป็นหัวใจสำคัญ กับชีวิตประจำวันของตัวละคร ที่ดำเนินไปอย่างเรียบเฉย

ไปเดินตลาด-ตัดผม-แวะร้านหนังสือ

ทุกอย่างเรียบง่าย และดูคล้ายกับว่าชีวิตไม่ได้รับความเสียหายใดจากความรักหรือการเลิกรา

แต่ที่จริง ลึกๆ แล้วในห้วงคิดที่ตัดสลับเข้ามา เต็มไปด้วยความสับสน ลังเล หรือเจ็บปวดของตัวละคร

บางคำรำพึงรำพันอาจไม่ใช่สิ่งที่ตัวละครคิดด้วยซ้ำ แต่เป็นเพียงการปลอบประโลมตัวเอง ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่รักครั้งใหม่
เมื่อเล่าเรื่องผ่านมุมมองที่ดูห่างไกล สิ่งที่ประทับลงในใจเมื่อเอ่ยถึงแต่ละเรื่องจึงอาจเป็น ‘วัตถุ’ ที่อยู่ในนั้น เช่น เครื่องชงกาแฟ ข้าวปั้น หรือกระดุม

ความไม่เรียบของความรัก อาจไม่ใช่หนังสือที่เราอ่านเพื่อเสพความหวานแหววจนจิกหมอน แต่คือความรักแผ่วๆ ที่เหมือนจริงเสียเหลือเกิน เหมือนเป็นเรื่องรักที่สาธยายอยู่หน้าฟองเบียร์ มันดูง่าย แต่แววตาของผู้เล่าบอกเราว่า มันไม่ง่ายสำหรับเขาหรือเธอเลย โดยเฉพาะเมื่อเป็นความรักที่ดูผิดมาตั้งแต่แรก และเพื่อนพ้องตักเตือนว่าควรยุติ

เช่นเดียวกับในเรื่อง ‘เพื่อนร่วมทาง’ เหตุการณ์ที่ผู้หญิงวัย 33 ปี ที่แต่งงานแล้ว ออกเดินทางไปทั่วประเทศหลังลาออกจากงาน และได้เจอกับชายหนุ่มนักศึกษาโบราณคดี วัย 19 ปี ตัดสินใจเดินทางไปด้วยกันในฐานะเพื่อนร่วมทาง แต่แล้วก็เลยเถิดตามคาด

เรื่องยากก็คือการลาจากและตัดสัมพันธ์ เมื่อการเดินทางที่พวกเขายื้อมานานนั้นต้องสิ้นสุด

 “ทำไงดี” เอจิพูดซ้ำ
“งั้นเดินทางร่อนเร่ไปเรื่อยๆ ด้วยกันเลยดีมั้ย” ฉันถาม
“ไปด้วยกันตลอดได้เหรอ” เอจิพูดด้วยน้ำเสียงฟังดูหวาดหวั่น

มันคือบทสนทนาปลายเปิด ที่ย้อนถามคนอ่านให้ลองคิดอีกครั้งว่า
ถ้าให้เลือกระหว่าง ‘ความเป็นไปได้’ ซึ่งทำให้หัวใจเต้นแรง
กับ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ เพื่อให้ชีวิตกลับไปเรียบง่าย
จริงๆ แล้ว เรามีสติมากพอที่จะเลือกหรือไม่

FACT BOX:

 

ความไม่เรียบของความรัก แปลมาจากหนังสือ Zarazara ซึ่งเป็นการรวมเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร ku:nel ระหว่างปี 2002-2006

Tags: , , , , , , , , ,