พังชิบหาย แต่ดีต่อใจชิบหาย

หลายทอล์กใน YED Talks ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ เวลาผ่านไปแค่ครึ่งปีที่ได้คลุกคลีอยู่กับการจัดงานทอล์กพังๆ นี้ตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงคราวนี้ ที่มาเป็น YED Talks x Heineken ก็พบว่า อีเวนต์รวมความพังแบบนี้เริ่มสามารถดึงดูดคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้อย่างน่าประหลาดใจ

ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปเป็นสปีกเกอร์เอง จนถึงครั้งล่าสุด แค่เข้าไปช่วยงานเบื้องหลังกรุบกริบ พบว่ามันมีบรรยากาศแตกต่างไปราวเหวกับฟ้า การไปร่วมงานครั้งล่าสุด ผมเดินเข้าไปพร้อมกับไส้กรอกอีสานสี่ไม้ที่ซื้อติดมือมาจากท่าน้ำสี่พระยาเพื่อแก้หิว เดินเข้าประตูงานไปด้วยความเหวอ กับความหรูหรามีระดับที่เพิ่มขึ้นแบบแปลกหูแปลกตา

เมื่อห้าหกเดือนก่อน เวทียังดูกระหลั่วๆ เอาผ้าดำมาขึงเป็นแบ็กดรอปฉากหลัง เอาลังเบียร์มาเรียงต่อกันแล้วเอาเทปพันสายไฟสีแดงมาแปะปะ วางตั้งบนเวทีเพื่อเลียนแบบเวที TED Talk ต้นฉบับ แค่จะฉายโปรเจกเตอร์จากหน้าจอคอมพ์ประกอบการทอล์ค ภาพยังดูไม่ค่อยชัดเลยด้วยซ้ำ แต่งานครั้งล่าสุดมีโปรดักชั่นยิ่งใหญ่ ระบบแสงสีเสียง ทีมภาพ ทีมวิดีโอ พร้อมแบคดรอปอลังการพร้อมโลโก้ Heineken ผู้สนับสนุนหลัก

มาวันนี้ มันได้กลายเป็นอีเวนต์ฮิตติดตลาด และเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของ โน้ต พงษ์สรวง กับ Dudesweet ไปแล้ว

พอหาที่นั่งจับจองเก้าอี้ได้ แทะไส้กรอกอีสานกับขิงฝานไปสักแป๊บเดียว ก็รู้ตัวแล้วว่าต้องจรลีออกจากห้องไปก่อน เพราะคนหนุ่มสาวที่เข้ามาในงาน ไม่ได้เถื่อนถ่อยอย่างที่เคยคุ้น กลิ่นฉุนของอาหารคาวๆ อาจจะสร้างความรำคาญให้พวกเขา ผู้คนในงานมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่มคนเรื้อนๆ ที่แค่มาหาวงปาร์ตี้เมาปลิ้นในคืนวันเสาร์ แต่ตอนนี้ กลุ่มคนฟังเปิดกว้างออกไป ผู้คนสนใจเรื่องราวแบบนี้มากขึ้นๆ จนผมแปลกใจ

Heineken มองเห็นสิ่งนี้เป็นโอกาสที่จะมาร่วมเปิดโลกให้กับคนรุ่นใหม่ ความพังกลับมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่โลกของเราท่วมท้นไปด้วยภาพความสุขความสำเร็จ

ทุนนิยมและบริโภคนิยมเฉลิมฉลองคุณค่าอยู่แค่สี่ประการ หนึ่ง เซ็กซ์ สอง ความสนุกสนาน สาม ความหนุ่มสาว และสี่ ความสำเร็จ เราเห็นภาพการเฉลิมฉลองทั้งสี่ประการนี้มาตลอดชีวิต ทุนนิยมสนับสนุนให้สร้างและเผยแพร่ไปให้มากๆ เพราะมันช่วยกระตุ้นให้เราบริโภค สรุปรวมง่ายๆ ให้พอเห็นภาพ สินค้าและบริการทั้งหมดในระบบสังคม ซื้อขายกันเพื่อให้เรามีเซ็กส์ที่สนุกสนาน ในร่างกายที่งดงามแข็งแรงแบบหนุ่มสาว และมุ่งหน้าไปสู่ความสุขความสำเร็จ

ภาพผ่านสื่อผลิตซ้ำสังคมนี้ และมันขัดเกลาเข้าไปถึงแก่นแกนภายใน จนทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้เกิดมาต้องมีความสุข ทำอะไรต้องสำเร็จ ถ้าชีวิตไม่มีความสุขความสำเร็จก็ไม่คุ้มค่าที่จะอยู่ต่อไป หรือแม้กระทั่งไม่น่าจะเกิดขึ้นบนโลกนี้ด้วยซ้ำ

โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยีการสื่อสาร แต่มันเป็นเทคโนโลยีทางสังคมด้วย มันไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการใช้งานสื่อสารคมนาคมเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำและผลิตซ้ำสังคมแบบนี้ จนกระทั่งมันยิ่งหนักแน่นและเป็นจริงเป็นจัง เมื่อเรามีโทรศัพท์มือถืออยู่บนฝ่ามือ เราจึงแทบไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากการเป็นร่างทรงของสังคมแห่งความสุขความสำเร็จ เราจึงอวด โซเชียลมีเดียเปลี่ยนเราทุกคนให้กลายเป็นพวกขี้โม้โอ้อวด รู้สึกตลกตัวเองบ้างไหม เราอวดทุกอย่าง แม้กระทั่งกาแฟ ความสุขคือการได้บริโภคเหนือกว่า ความสำเร็จคือการทำงานที่ยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยาน ล้ำหน้าไปกว่าคนอื่น สังคมทำงานผ่านปลายนิ้วเราออกไป โดยที่ส่วนใหญ่เราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ

สังคมแบบนี้เจ็บป่วย ภาพความสุขความสำเร็จไม่ได้หลอมรวมเรา แต่แบ่งแยกเราออกเป็นปัจเจกที่รู้สึกแหว่งวิ่นและขาดพร่องตลอดเวลา ต้องคอยซื้อหาข้าวของอะไรมาเติมเต็ม หรือไม่ก็ต้องคอยเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบ วางวัดประกบอยู่กับชีวิตของคนอื่น ภายในใจเราส่วนใหญ่รู้สึกพ่ายแพ้เจ็บปวด แต่เรายังพอมีแรงกำลังที่จะฮึดสู้แข่งขัน ภายนอกจึงต้องทำตัวให้ดูชาญฉลาดเหลือเกิน แข็งแกร่งเหลือเกิน สวยงามเหลือเกิน แล้วก็ยิ่งโอ้อวดมากขึ้นเป็นลูปที่หมุนวนไปเรื่อยๆ

อยากจะอ้วก – ทราย เจริญปุระ เธอทอล์คเรื่อง “อะไรๆ ก็กู” เล่าเรื่องราวการทำงานในวงการบันเทิงตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กสาว เธอถูกโลกธุรกิจจับไปปั้นแต่งให้กลายเป็นสิ่งที่สวยงามเกินไป โพสิทีฟเกินไป เมื่อมองย้อนกลับไป เธอสารภาพว่าเธอคลื่นเหียนเวียนไส้ตัวเอง

พอมาวันนี้ เธอมาในเดรสแดงสด ทาปากแดงจัด เกล้าผมมวยกลางกบาล เมื่อยืนบนเวที เธอดูเหมือนยายเพิ้งเพี้ยนๆ เล่าเรื่องพังๆ ในชีวิตทุกมิติ ทั้งความรัก การงาน ครอบครัว และนิสัยส่วนตัว ทำให้คนฟังหัวเราะเฮฮา เวลาผ่านไปเกินสิบห้านาทีตามกำหนด แต่ก็ไม่มีใครยอมให้เธอลงจากเวที เธอเล่าไปเรื่อยๆ เรื่องยิ่งพังลงเรื่อยๆ ยิ่งเล่าถึงผลงานเก่าๆ ที่น่าอับอาย ความรู้สึกผิดบาปที่มีต่อคนในครอบครัว เราคนฟังในห้องนั้นทั้งหมด กลับยิ่งรู้สึกใกล้ชิดกับเธอมากขึ้นเรื่อยๆ

ความจริงแท้ของชีวิตเรามันทำงานแบบนี้ เราเชื่อมโยงและกลมกลืนกันด้วยเรื่องพังๆ เชื่อผมเถอะ

เมื่อเดือนที่แล้ว a day BULLETIN ที่ผมทำงานอยู่ เพิ่งจัดงานอีเวนต์เล็กๆ BULLETIN TALK ล้อมวงนั่งสนทนากันแบบใกล้ชิด เรียกว่าเป็นวงไดอะล็อกก็ได้ วงหนึ่งมีคนมาร่วมแค่สิบกว่าคน แต่ละคนนั่งฟังและนั่งเล่าเรื่องราวที่เป็นตัวของตัวเองอย่างที่สุด เราพบว่าเรื่องเล่าที่ดี การสนทนาที่ดี และความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีนั้น ส่วนใหญ่แล้วล้วนผ่านมาทางเรื่องพังๆ ความรัก ความสัมพันธ์ การงาน สุขภาพ บรรดาความฝันและความหวังที่ไม่มีวันเป็นจริง ยิ่งเล่า ทั้งคนเล่าและทั้งคนฟังก็ยิ่งอิน และมันทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา แปลกใจมากๆ ว่าเรื่องราวเหล่านี้มีคุณค่ามาก แต่มันกลับสูญหายไปไหนในโลกปัจจุบัน

ตอนที่เรากำลังซ้อมและคุยโครงสคริปต์กับเสกสรร แห่งมูลนิธิ SATI ที่มาทอล์กเรื่อง “ชีวิตฮาร์ดคอร์ของเด็กเร่ร่อน” เราถามเขาว่า ต้องการจะสื่ออะไรออกไปให้กับคนฟังจากทอล์กนี้ เขาคิดอยู่นาน ตอบกลับมาว่า ไม่ได้ต้องการอะไร แค่อยากให้มีคนเปิดใจรับรู้รับฟัง ได้ยินเรื่องราวที่คนอื่นเห็นต่างเหล่านี้บ้าง เมื่อได้รู้ ได้เห็น บางทีมันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ สำหรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเขาเอง บอกตามตรงว่าไม่ได้คาดหวังอะไรไปถึงขนาดนั้น

เขาพาเราเข้าไปอยู่ในรองเท้าเดียวกันกับเด็กโสเภณีชายหญิงที่เร่ร่อนอยู่แถวสถานีรถไฟหัวลำโพง พอเข้าไปร่วมยืนอยู่ตรงนั้น โดยห้อยแขวนคำตัดสินและการประเมินคุณค่า เพียงแค่รับรู้รับฟังอย่างเดียว เราไม่ได้เกิดแค่ความสงสารสะเทือนใจ แต่เกิดความเห็นอกเห็นใจขึ้นมาพร้อมกันด้วย เรื่องพังๆ ในชีวิตของคนที่อยู่ระดับล่างที่สุดในสังคมไทยทุกวันนี้ ไม่ได้ให้เราแค่ความรู้สึก Pity แต่ยังให้ความรู้สึก Empathy และผมคิดว่าความเห็นอกเห็นใจคนอื่น น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยุคสมัยแห่งการอวดความสุขความสำเร็จ

เรื่องจริงในชีวิตจึงมีพลังเหนือกว่าคำสอน คำแนะนำ คำตัดสินใดๆ มีพลังเหนือกว่าภาพท่องเที่ยวรอบโลก และภาพอาหารชวนน้ำลายสอ ไม่น่าแปลกใจเลยที่โพสต์หนึ่งในเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ทำยอดไลค์ยอดรีชถล่มทลายเป็นประวัติการณ์

มันเป็นเรื่องราวของสปีกเกอร์อีกคนในงานนี้ ฆฤณ เป็นเด็กหนุ่มอดีตนักศึกษาทันตแพทย์ ที่ลาออกมาด้วยอาการของโรคซึมเศร้า เขาตกอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของสังคม ที่ทำงานผ่านพ่อแม่ ครอบครัว และเพื่อนบ้าน ที่กำหนดไว้ว่า เด็กชนชั้นกลางทุกคนจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพื่อเป็นหมอ เป็นวิศวะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทันตแพทย์

ไม่ว่าคุณจะเรียนเก่งแค่ไหน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในชนชั้นที่มีโอกาสทางสังคมดีแค่ไหน แต่สุดท้ายคุณก็รับมือกับสังคมไม่ไหวอยู่ดี ความพังในชีวิตของเราทุกคนไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกไปจากความคาดหวังของสังคม ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง คนนอก ของอัลแบร์ กามูส์ และปรัชญาสำนักอัตถิภาวนิยม ที่สอนไว้ว่า “นรกคือคนอื่น” เราทุกคนล้วนเป็นนรกของกันและกัน เราตัดสิน ประเมิน คาดหวัง และแข่งขันกันตลอดเวลา ทั้งในโลกแห่งความจริงและในโลกออนไลน์ ในโซเชียลมีเดียที่ก้มหน้าเล่นกันทั้งวัน ทุกที่ ทุกเวลา และนั่นนำมาซึ่งนรกในใจของเราทุกคน

สปีกเกอร์ที่ผมมองว่าเขาเป็น ‘คนนอก’ ที่สุด คือ พังก์เกื้อ จากเด็กหนุ่มชนชั้นล่างในสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียม ไม่ว่าคุณเรียนจบอะไร มีทักษะในการทำงานด้านใด ไม่มีใครสนใจหรอกว่าคุณใช้ Excel เป็น เล่น Photoshop กับ Illustrator ได้ ถ้าคุณเกิดมาตรงจุดนั้น ชีวิตคุณก็ไม่มีทางไปได้ไกลเกินกว่าจุดนั้น การเป็นพนักงานเช็คสต็อกในธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ระดับโลกคือความฝันสูงสุดของเขา แต่ก็ยังเข้าไปเป็นไม่ได้ด้วยซ้ำ

หลังจากนั้น เขาจึงก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ตัวเองขึ้นมาใหม่ กลายเป็นพังก์ติดยา ถูกตำรวจจับเข้าโรงพยาบาลบ้า ขนาดโบกแท็กซี่ยังไม่รับ ชีวิตคนๆ หนึ่งที่ถูกเบียดขับออกไปจนตกชายขอบของสังคม เขาขากเสลด ถ่มถุยน้ำลายลงบนเวที เอาตีนเหยียบขยี้ เพื่อยืนยันว่าเขาเป็นตัวของตัวเอง เขาจึงถุย แต่ถ้าใครมาถุยต่อจากเขา นั่นคือผู้ตาม พอพูดจบก็ทำเอาคนทั้งห้องส่งเสียงเชียร์ ไชโยโห่ร้อง ถูกอกถูกใจ

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตของพังก์เกื้อ ที่ได้รับการยอมรับและเสียงปรบมือมากขนาดนี้ ถ้าเป็นในบริบทอื่น อย่างถ้าไปเจอเขาที่ข้างถนนหรือบนรถไฟฟ้า เราทุกคนจะเบือนหน้าและเดินหนีให้ห่าง นอกงาน YED Talks x Heineken เราไม่สามารถเฉลิมฉลองความพัง ความบัดซบแบบนี้ได้ เพราะระบบสังคมนี้ถูกถักทออย่างหนักแน่นและแยบยล จนเราไม่ทันฉุกคิดกับตัวเอง และมองข้ามการประกอบสร้างทางสังคมนี้ไป

ถ้าอยากจะเห็นจุดแตกปริหรือร่องรอยบางอย่าง ที่จะช่วยให้เราสืบย้อนกลับไปในเบื้องลึกของความคิดและจิตใจ คุณจะต้องมาฟังทอล์กของน้องพิสชา หัวข้อเรื่อง “เกิดมาไม่สวย” เนื้อหาแทบไม่ต่างจากการอ่าน text สังคมวิทยาที่เขียนโดยนักสตรีศึกษาชั้นนำของโลก

เธอรื้อสร้างนิยามของความงามลงไปจนถึงแก่นแกน ผ่านเรื่องเล่าในชีวิตจริงของเธอเองแต่ละช่วงวัย สืบย้อนความงามแบบขาวหมวยจากซีรีส์ไต้หวันในวัยเด็ก การกดขี่ทางชนชั้นของสีผิวที่มีอยู่แม้แต่ในสังคมชนบทห่างไกล และตามมาหลอกหลอนเธอตอนชีวิตมหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึงเมื่อโตเป็นสาวเต็มตัว เธอออกไปท่องโลกกว้าง ทำกิจกรรมทางสังคมให้กับองค์กรระดับโลก จนได้เรียนรู้ว่าโลกนี้มีอะไรสำคัญให้มองเห็น มากกว่าแค่ในกรอบค่านิยมของสังคมไทย

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องพังๆ ของเพื่อนพ้องน้องพี่ คือการรู้จักเปิดมุมมองและเปลี่ยนมุมมอง เพื่อจะได้เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ โอกาสใหม่ๆ เรียนรู้และเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีอีกมากมายหลายเรื่องที่เรายังคับแคบเกินไปโดยไม่ทันรู้ตัว แค่เรื่องเล็กๆ ที่เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี มีเมตตา จิตใจใสสะอาด แต่กลับขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในมุมมองของคนอื่น ต้องขอบคุณน้องกานต์เดช เด็กวัยรุ่นพิการ ที่มาช่วยตบหน้าเราจนคอหมุน

ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีแค่ไหน แต่สุดท้ายไม่วายที่เราจะเป็นนรกของคนอื่นอยู่ดี ในมุมมองของคนพิการ เขาไม่ได้ต้องการรับความสงสารหรือความเห็นอกเห็นใจ ความใจดี ความเป็นคนดีของเราเบียดขับบางอย่างให้แปลกแยกแตกต่างออกไป นี่คือข้อสรุปร่วมกันของสปีกเกอร์แทบทุกคน ที่เราช่วยกันทำสคริปต์ให้ในปีนี้

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกเจ็บปวดจากสังคม อิทธิพลของโลกที่ถล่มถมทับลงมาบนตัวปัจเจก เรื้อรังยาวนาน หาทางออกไม่ได้

คอนเทนต์ในโลกสมัยใหม่โฟกัสไปที่ความสุขความสำเร็จมากเกินไป มีข้อสรุปที่ลงตัวเกินไป มีบทเรียนที่ฉลาดเกินไป และใครๆ ต่างก็ช่างมีข้อคิดอะไรๆ กันได้เร็วเหลือเกิน

บางทีกวาดตาไปบนหน้าวอลล์ก็เห็นแค่เด็กวัยรุ่นออกมาอัดคลิปสอนการใช้ชีวิต อ้างตัวเป็นโค้ช เป็นกูรู มีความสุขความสำเร็จกันไปหมด นักคิดนักเขียนที่แสนชาญฉลาด นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ สตีฟ จ็อบส์ บิลล์ เกตส์ อีลอน มัสก์ แจ็ค หม่า เรื่องเล่าท่วมท้นพวกนี้กลับทำให้ชีวิตแห้งแล้ว

ไม่แปลกใจกันเหรอ ที่มีผู้คนออกมากมายมาพร่ำสอน ออกมาให้แรงบันดาลใจ ออกมาประกาศคุณค่ามากมายต่างๆ ท่ามกลางภาพแห่งความสุขความสำเร็จในโซเชียลมีเดีย แต่ทำไมภายในใจเรากลับพังชิบหาย

กูจะอ้วก – ทรายเล่าถึงชีวิตสมัยเป็นนักร้อง ที่โดนจับให้ร้องเพลงโลกสวย

Your Everyday Devastated คือสิ่งนี้

เมื่อเรามาเจอเวทีพังๆ แบบนี้ เรื่องพังๆ ช่วยทำให้เราเปิดมุมมองใหม่

ไม่ต้องมีสคริปต์ ถึงจะมีสคริปต์ไว้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่พูดตามสคริปต์อยู่ดี ไม่ต้องมีแผนงานอะไร ไม่ต้องมีเหี้ยไรมาก

แต่มีคอนเทนต์เว้ย มีคอนเทนต์ และคอนเทนต์ของกูคือความพัง

 

 

ถ่ายภาพโดย ภาณุทัช โสภณอภิกุล

Tags: , , ,