มาถึงช่วงสิ้นปีแล้ว หลายคนคงจะเริ่มเห็นภาพเพื่อนฝูงญาติมิตรพาตัวเองข้ามเส้นรุ้งเส้นแวงไปนั่งรับลมหนาวบนยอดดอยบ้าง เดินช็อปปิ้งเฉิดฉายในชุดฤดูหนาวบ้าง หรือถ่ายภาพคู่กับอาหารที่หน้าตาดูดีล้ำโลกบ้าง ชวนให้อิจฉาตาร้อนจนอยากจองรถจองเครื่องบินตามเขาไปบ้าง

ติดก็แต่คนอีกไม่น้อยยังไม่หลุดพ้นวังวนของการทำงานและการเรียน ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ พยายามข่มใจรอให้โอกาสตัวเองมาถึง แต่อีกหลายคนก็อดรนทนไม่ได้ รู้สึกว่าถ้าไม่ได้เคลื่อนย้ายกายหยาบไปที่อื่น ธาตุไฟจะต้องเข้าแทรกเสียก่อน จำต้องตัดสินใจสนองตัณหาด้วยการหนีเที่ยว

วันนี้ เราจะไปดูกันว่ามีกระบวนท่าอะไรบ้างที่ใช้ในการหนีเที่ยว และเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไรบ้าง

 

กระบวนท่าที่หนึ่ง แกล้งป่วย

วิธีหนีงานสุดคลาสสิก ก็คือการแกล้งป่วย สรรหาสารพัดโรคมาเป็น ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่างปวดหัวปวดท้อง ไปจนถึงโรครุนแรงหน่อยอย่างไข้หวัด การแกล้งป่วยอย่างนี้ พูดง่ายๆ ว่า pretend to be sick เช่น Jack pretended to be sick, so that he could get a few days off. ก็จะแปลว่า แจ็คแกล้งป่วยจะได้หยุดงานสักสองสามวัน

นอกจาก pretend to be sick แล้ว ภาษาอังกฤษยังมีคำกริยา malinger แปลว่า แกล้งป่วย เช่น หากเรามีเพื่อนร่วมงานที่เราไม่มั่นใจว่าป่วยจริงหรือแค่แกล้งป่วยแล้วไม่ยอมมาทำงาน เราก็อาจพูดว่า Is she really ill or just malingering? ส่วนคนที่แกล้งป่วยบ่อยๆ จนเป็นนิสัย เราก็อาจเรียกว่าเป็น malingerer ก็ได้ เช่น Kelly is probably the most skillful malingerer I know. She deserves an Academy Award. ก็จะหมายถึง ในบรรดาคนที่ฉันรู้จักไม่มีใครแกล้งป่วยเก่งเท่าเคลลี่เลย สมควรได้รับรางวัลออสการ์เลยนะ

 

ฟังเสียงคำว่า malinger

อีกสำนวนในหมวดแกล้งป่วยนี้ คือ swing the lead แปลตรงตัวได้ความหมายว่า แกว่งตะกั่ว เป็นสำนวนฝั่งอังกฤษที่ค่อนข้างเก่าอยู่สักหน่อย ถ้าเป็นชาวต่างชาติรุ่นใหม่หน่อยก็เริ่มจะไม่รู้จักแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากการเดินเรือสมัยก่อน ที่แต่ก่อนต้องใช้เชือกผูกตะกั่วแกว่งวัดความลึกของลำน้ำ เนื่องจากงานนี้เป็นงานง่าย ใครที่อาสาทำหน้าที่นี้เลยถูกมองว่าพยายามเลี่ยงงานหนัก ขี้เกียจ ไปๆ มาๆ เลยกลายมาหมายถึง แกล้งป่วยเพื่อไม่ต้องทำงาน เช่น I don’t think there is anything wrong with our new accountant. He is just swinging the lead. ก็จะหมายถึง ฉันว่าบัญชีคนใหม่ไม่ได้เป็นอะไรหรอก แค่แกล้งป่วยเท่านั้นแหละ

 

กระบวนท่าที่สอง โดดเรียน

สำหรับคนที่ยังเรียนหนังสือแต่ความใฝ่รู้ต้านทานความอยากหนีเที่ยวไม่ไหว ก็อาจต้องใช้วิธีโดดเรียน ภาษาอังกฤษเรียกง่ายๆ ว่า skip school หรือ skip class หรือถ้าฝั่งอเมริกันก็อาจจะใช้ cut school หรือ cut class ได้เช่นกัน เช่น หากเราตั้งปณิธานแล้วว่าจะโดดเรียนแล้วจับเครื่องบินไปรับลมหนาวแดนอาทิตย์อุทัยแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ก็อาจพูดว่า I don’t care what anyone will say. I’m skipping schooltomorrow and hopping on the first flight to Japan.

ส่วนคนที่โดดเรียน เราจะเรียกว่า truant เช่น ถ้าเพื่อนของเราขาดเรียนเป็นประจำจนไม่มีใครห่วงแล้วเวลาไม่มาเรียน ก็อาจบอกว่า He is a persistent truant. We are no longer worried when he doesn’t show up. คำนี้ยังใช้เป็นกริยาหรือใช้ในสำนวน play truant แปลว่า โดดเรียน ได้ด้วย (ฝั่งอเมริกันจะใช้ play hooky มากกว่า) เช่น He was caught playing truant again. ก็จะแปลว่า เขาถูกจับได้ว่าโดดเรียนอีกแล้ว ส่วนสารวัตรนักเรียนหรือคนที่จับนักเรียนโดดเรียนแบบที่เราเคยได้ยินคนขู่บ่อยๆ ก็จะเรียกว่า truant officer

 

ฟังเสียงคำว่า truant

กระบวนท่าที่สาม หายตัวไปเลย

หลายคนถ้าไม่แกล้งป่วย ก็เลือกหายตัวมันไปเสียเลย ถ้าย่องหนีไปอย่างเงียบๆ ไม่ให้ใครรู้ ก็อาจพูดว่า duck out คำนี้ไม่ได้มาจาก duck ที่แปลว่า เป็ด แต่มาจาก duck ที่เป็นกริยา แปลว่า ก้มหลบ จะใช้แบบแว้บออกจากที่ทำงานชั่วครู่ก็ได้ เช่น duck out for a smoke ก็จะแปลว่า แว้บออกไปสูบบุหรี่ หรือจะใช้แบบหนีไปเที่ยวยาวหน่อยก็ได้ เช่น Liz ducked out for a couple of days to go see a concert in Singapore. ก็จะแปลว่า ลิซแอบหนีไปดูคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์มาสองวัน

ถ้าไม่ได้ย่องไปเงียบๆ แต่หายหัวไปดื้อๆ อยู่ๆ ก็อันตรธานหายตัวไป อย่างนี้จะเรียกว่า pull a disappearing act เช่น Everyone decided to pull a disappearing act on me, so I was the only one showing up at work. ก็จะหมายถึง ทุกคนตัดสินใจหายตัวกันไปหมด เลยเหลือแต่ฉันโผล่หัวมาทำงานคนเดียว

ส่วนอีกสำนวนว่าด้วยการหายตัวคือ go AWOL คำว่า AWOL นี้เป็นตัวย่อ (acronym) มาจาก absent without leave หมายถึง หายตัวไปโดยไม่ได้ลาหรือไม่ได้รับอนุญาต เดิมทีใช้ในวงการทหาร หมายถึงทหารที่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ปัจจุบันใช้กันแพร่หลายทั่วไป ให้ความหมายว่า หายตัวไปแบบตามตัวไม่ได้ เช่น หากเจ้านายกำชับว่าทุกคนต้องมาทำงานแต่ตัวเองดันหายตัวเสียเอง ก็อาจพูดว่า My boss insisted that we had to come to work, but she has gone AWOL herself.

 

ฟังเสียงคำว่า AWOL

ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการใด ขอให้ทุกคนหนีเที่ยวได้สำเร็จและได้พักผ่อนให้สดชื่นสมใจนะครับ

 

 

บรรณานุกรม
American Heritage Dictionary of the English Language
Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.
Longman Dictionary of Contemporary English
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford American Writer’s Thesaurus

Tags: , ,