“ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ตลาดหนังในจีนจะเติบโตแซงหน้าอเมริกาจนมีมูลค่าสูงที่สุดของโลก”

นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ตรงกัน เห็นได้ชัดจากการที่รายได้หนังในบ็อกซ์ออฟฟิศของจีนพุ่งสูงจนทำลายสถิติเป็นว่าเล่น สวนทางกับรายได้หนังในอเมริกาที่การเติบโตลดลงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจอเมริกาแย่ลง บวกกับคนนิยมดูหนังผ่านบริการสตรีมมิงที่บ้านมากกว่าออกมาดูที่โรงหนัง

และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีอีกหนึ่งสถิติที่ถูกทำลาย นั่นคือการที่หนังจีนเรื่อง Wolf Warrior II ทำรายได้ในจีนสูงถึง 866.01 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของจีน ทำลายสถิติเก่าของ The Mermaid ที่ทำไว้ 526.85 ล้านเหรียญ อีกทั้งยังทำสถิติเป็นหนังที่ทำเงินในประเทศเดียวสูงเป็นอันดับสองรองจาก Star Wars: The Force Awakens ที่เคยทำเงินในอเมริกา 936.7 ล้านเหรียญ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับการจับตามองไม่ใช่แค่ในจีน แต่รวมถึงอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก และยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของตลาดหนังในจีนที่กำลังจะแซงหน้าฮอลลีวูดในเร็ววัน โดยบทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

 

Wolf Warrior II หนังสร้างปรากฏการณ์

ก่อนลงโรงฉาย Wolf Warrior II ถือเป็นหนังนอกสายตาที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำเงินเยอะ เนื่องจาก Wolf Warrior ภาคแรก (2015) ทำเงินในจีนไปแค่ 89.11 ล้านเหรียญ อีกทั้งภาคสองนี้ยังฉายชนกับ The Founding of an Army หนังโฆษณาชวนเชื่อสร้างโดยรัฐบาลจีน ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะทำเงินถล่มทลาย แต่กลับกลายเป็นว่า Wolf Warrior II มาแรงด้วยกระแสปากต่อปาก จนทำรายได้ในจีนสูงถึง 866.01 ล้านเหรียญ หรือ 5.62 พันล้านหยวน (และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหนังยังยืนโรงฉายอยู่) ด้วยทุนสร้างเพียง 30 ล้านเหรียญ หนังเรื่องนี้สร้างสถิติไว้มากมาย ทั้งการเป็นหนังที่ทำรายได้ใน 1 วันสูงสุด ทำรายได้เปิดตัว 3 วันและ 7 วันสูงสุด ทำรายได้ผ่านหลัก 2 พันล้าน – 3 พันล้าน – 4 พันล้านหยวนเร็วที่สุด

Wolf Warrior II เป็นผลงานกำกับ/เขียนบท/โปรดิวซ์/แสดงนำโดย อู๋จิง-นักแสดงแนวแอ็กชันที่หลายคนคุ้นเคยจาก SPL ทั้ง 2 ภาค ร่วมแสดงโดยเซลินา เจด (จากซีรีย์ Arrow) และแฟรงก์ กริลโล (จาก The Purge: Anarchy) หนังเล่าเรื่องราวของหน่วยรบพิเศษที่ตั้งใจจะเกษียณตัวเอง แต่กลับเข้าไปพัวพันในภารกิจช่วยเหลืออาสาสมัครทางการแพทย์ชาวจีนในแอฟริกาจากกลุ่มกบฏติดอาวุธและพ่อค้าอาวุธชาวตะวันตกสุดเหี้ยม

ทำไมหนังจึงประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ เราสามารถวิเคราะห์สาเหตุออกเป็น 3 ข้อดังนี้

หนึ่ง-หนังมีเนื้อหาในเชิงชาตินิยม กระตุ้นความรักชาติ สร้างความรู้สึกฮึกเหิมให้กับผู้ชมชาวจีน ซึ่งเราสามารถเห็นถึงการขายความรักชาติได้ตั้งแต่โปสเตอร์หนังที่มีภาพตัวเอกชูนิ้วกลางพร้อมคำโปรยว่า “ใครที่ข่มเหงคนจีน, ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน, จะต้องโดนกำจัด”

ผู้ชมจะเห็นได้ถึงอุดมการณ์ของรัฐจีนในปัจจุบันได้จากหนัง โดยตัวเอกของเรื่องเป็นทหารจีนที่มีคุณธรรม รักชาติ และปฏิบัติต่อทุกคนเท่าเทียมกัน ในขณะที่ตัวร้ายคือนักปฏิวัติและนักธุรกิจชาวตะวันตก แรนซ์ พาว จากบริษัทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Artisan Gateway ได้พูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า “จีนได้ค้นพบหนัง Rambo ของตัวเองแล้ว” ส่วนคลิฟฟอร์ด คูแนนแห่ง The Irish Times ได้ให้ข้อสังเกตว่า “ความนิยมของหนังเรื่องนี้สะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนที่เห็นด้วยกับนโยบายแข็งกร้าวทางการทหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมถึงนโยบายขยายฐานทัพจีนออกไปนอกประเทศ”

ด้วยเนื้อหารักชาติดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายของหนังไม่ได้มีแค่คอหนังแอ็กชัน แต่ยังรวมถึงคนจีนแทบทุกเพศทุกวัย จึงทำให้หนังประสบความสำเร็จมากขนาดนี้

แต่การใส่ความรักชาติลงไปก็ไม่ได้การันตีว่าหนังจะทำเงินเสมอไป หากขาดเหตุผลข้อที่สอง-อย่างคุณภาพของตัวหนัง ซึ่งความโดดเด่นของ Wolf Warrior II อยู่ที่ตัวหนังดูสนุก โปรดักชันและซีจีที่ยอดเยี่ยม โดยหนังทำได้ถึงทั้งแอ็กชัน ดรามา อารมณ์ขัน ฉากต่อสู้ ซึ่งดูดีขึ้นผิดหูผิดตาจากภาคแรก เนื่องมาจากได้มีการร่วมมือกับทีมงานจากฮอลลีวูดอย่างพี่น้องรุสโซ (ผู้กำกับ Captain America: Civil War) ซึ่งรับตำแหน่งที่ปรึกษา, ผู้กำกับงานสตั๊นต์ – แซม ฮาร์เกรฟ (จาก Captain America: Civil War), ผู้ประพันธ์ดนตรี – โจเซฟ ทราปานีส (จาก Tron: Legacy) และผู้ออกแบบเสียงจากฮอลลีวูด รวมถึงนักแสดงยอดฝีมืออย่างแฟรงก์ กริลโลที่มารับบทตัวร้ายในหนังด้วย

หนังเรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของการร่วมมือแบบ East meets West ที่ลงตัว ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคนพยายามทำมาก่อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เห็นได้จากหนังฮอลลีวูดที่พยายามใส่ความเป็นจีนไปแบบอิหลักอิเหลื่อ เช่น The Great Wall หรือหนังจีนที่พยายามเอานักแสดงฮอลลีวูดมาเล่น หรือหนังฮอลลีวูดที่เอานักแสดงจีนมาเล่นแต่กลับได้บทที่ไม่น่าจดจำ

ภาพยนตร์เรื่อง The Great Wall

เหตุผลข้อที่สาม-เกิดจากการเข้าฉายในช่วงเวลาที่พอเหมาะ หนังเข้าฉายในวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกกันว่า ‘Blackout Period’ โดยทางการจีนมีนโยบายห้ามหนังฮอลลีวูดเข้าฉายในช่วงปลายซัมเมอร์ของทุกปี เพื่อเปิดทางให้หนังจีนมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น ผลก็คือ Wolf Warrior II เข้าฉายโดยไม่เจอคู่แข่งสายแข็งอย่างหนังฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์เลยจนทำเงินฉลุย

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังได้มีการประกาศสร้างภาคสามไปแล้วเรียบร้อยโรงเรียนจีน สำหรับใครที่สนใจอยากดูหนังเรื่องนี้ หนังมีโปรแกรมเข้าฉายในไทยตั้งแต่ 19 ตุลาคม 2017 เป็นต้นไป

 

มูลค่าตลาดหนังในจีนที่เพิ่มขึ้น

ด้วยรายได้มหาศาลของหนังเรื่องนี้บวกกับหนังเรื่องอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดหนังในจีน อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผู้คนมีเงินจ่ายค่าตั๋วหนัง บวกกับมีโรงหนังเปิดใหม่มากมาย (ปัจจุบันจีนมีโรงหนัง 41,179 จอ ซึ่งมากที่สุดในโลก แซงแชมป์เก่าอย่างอเมริกาซึ่งมี 40,759 จอ) และมีหลายรูปแบบทั้ง 2D, 3D, 4D และ IMAX ส่งผลให้การดูหนังในโรงถือเป็นประสบการณ์ความบันเทิงที่ตอบสนองสิ่งที่ผู้ชมต้องการได้อย่างดี

โดยในปี 2016 รายได้รวมจากการขายตั๋วในจีนอยู่ที่ 6.78 พันล้าน เพิ่มจาก 6.58 พันล้านในปี 2015 (แม้จะเพิ่มขึ้น แต่หากดูเปอร์เซ็นต์การขยายตัวก็จะพบว่าซบเซาลงจากปีก่อนๆ เนื่องจากเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.7 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากปีก่อนๆ ที่เพิ่มขึ้น 30-50 เปอร์เซ็นต์มาตลอด)

ภาพยนตร์เรื่อง Warcraft: The Beginning

ด้วยเม็ดเงินมหาศาลดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่คนทำหนังจีน/ฮ่องกงซึ่งเคยไปทำหนังที่ฮอลลีวูดล้วนกลับมาทำหนังที่จีนกันเป็นแถว เห็นได้จากเฉินหลง, เจ็ท ลี, ดอนนี่ เยน, โจวเหวินฟะ, ผู้กำกับจอห์น วู นอกจากนั้นผู้กำกับที่ในอดีตเคยขัดแย้งกับรัฐอย่างจางอวี้โหมวก็เปลี่ยนท่าทีเป็นเด็กดีของรัฐและทำหนังบลอกบัสเตอร์เน้นเอาใจผู้ชมชาวจีนแทน

การที่ประชากรจีนมีมากถึง 1.3 พันล้านคน ทำให้ผู้สร้างหนังแค่ทำหนังให้ถูกปากผู้ชมชาวจีนประเทศเดียวก็ร่ำรวยได้โดยไม่ต้องง้อผู้ชมประเทศอื่น ผลก็คือหนังจีนในยุคนี้ส่วนใหญ่เน้นตอบสนองผู้ชมในประเทศเป็นหลัก โดยมักจะมีลักษณะโฉ่งฉ่างล้นเกิน มีโปรดักชันและซีจีที่เน้นเล่นใหญ่มากกว่าความสมจริง มีเนื้อหา-ประเด็น-มุกตลกที่เน้นเอาใจคนจีนซึ่งต่างชาติไม่เข้าใจ ต่างจากหนังฮ่องกงในยุค 80s-90s หรือหนังเกาหลีในปัจจุบันที่มีความเป็นสากลมากกว่า ผลก็คือรายได้หนังจีนในต่างประเทศน้อยกว่าในประเทศแบบคนละขั้ว เห็นได้จาก Wolf Warrior II ที่ทำเงินในอเมริกาได้แค่ 2.7 ล้านเหรียญ

 

สถานการณ์หนังต่างประเทศในจีน

ปัจจุบันรายได้ของหนังฮอลลีวูดส่วนใหญ่มาจากนอกอเมริกา โดยถือเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งตลาดหนังที่ใหญ่ที่สุดนอกอเมริกาก็คือประเทศจีนนี่เอง ด้วยรายได้ในจีนทำให้หนังที่เจ๊งในอเมริกาหลายเรื่องพลิกสภาพกลายเป็นหนังที่ทำกำไรและมีโอกาสสร้างภาคต่อ เช่น Warcraft: The Beginning ทำเงินในอเมริกา 47.37 ล้านเหรียญ แล้วไปทำเงินในจีน 213.54 ล้านเหรียญ ส่วน Pacific Rim ทำเงินในอเมริกา 101.8 ล้านเหรียญ และทำเงินในจีนอีก 111.94 ล้านเหรียญ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ฮอลลีวูดจะเอาใจตลาดจีนอย่างออกนอกหน้า ทั้งการส่งซูเปอร์สตาร์ เช่น จอห์นนี เดปป์ ทอม ครูซ เข้าไปโปรโมตหนังในจีน รวมถึงการสร้างหนังในรูปแบบที่ผู้ชมชาวจีนชื่นชอบ อย่างการเปลี่ยนหนังฟอร์มยักษ์ให้เป็น 3 มิติเพื่อฉายเฉพาะในจีน ดังที่เรียกว่า ‘Special Chinese 3-D Edition’ ไม่เว้นแม้หนังอย่าง Jason Bourne ที่เต็มไปด้วยกล้องสั่นแบบแฮนด์เฮลด์ก็ยังถูกนำมาแปลงเป็น 3 มิติจนได้

 

การเอาใจผู้ชมชาวจีนยังรวมถึงการนำนักแสดงจีนชื่อดังมาร่วมรับบทในหนัง เช่น คริส วู ฟ่านปิงปิง การกำหนดให้ฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศจีน รวมถึงการร่วมสร้างหนังกับบริษัทในจีน ซึ่งส่งผลให้ได้เงินลงทุนมหาศาลในยุคที่เงินลงทุนจากสหรัฐเริ่มร่อยหรอ รวมถึงทำให้มันมีสถานะเป็นหนังจีน ไม่ติดกำแพงโควต้า

ที่ผ่านมา อุปสรรคที่สำคัญต่อการหยิบชิ้นปลามันในจีนของฮอลลีวูดก็คือ ‘โควตาหนังต่างประเทศ’ ซึ่งทางการจีนได้กำหนดให้หนังต่างประเทศเข้าฉายในจีนได้ไม่เกิน 38 เรื่องต่อปี เนื่องจากจีนต้องการให้ส่วนแบ่งรายได้ของหนังจีนอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การแย่งชิงโควตาเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ด้วยการเจรจาทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คาดว่าการขยายโควตาน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ขวากหนามอีกอย่างหนึ่งคือการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ทำให้การเสนอภาพความรุนแรง เรื่องผีสางเหนือธรรมชาติ ฉากเซ็กซ์ร้อนแรง ตัวละครเพศที่สาม รวมถึงเนื้อหาในเชิงต่อต้านรัฐบาลจีนถือเป็นเรื่องต้องห้าม — ทำให้หนังฮอลลีวูดจำนวนมากยากจะเล็ดลอดกำแพงเซ็นเซอร์จีนเข้าไป

อ้างอิง:
the guardian
variety
boxofficemojo
indiewire

FACT BOX:

5 อันดับหนังจีนทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ล้านเหรียญ)
Wolf Warrior II (2017) – 866.01
The Mermaid (2016) – 526.85
Monster Hunt (2015) – 381.86
Kung Fu Yoga (2017) – 254.53
Mojin: The Lost Legend (2015) – 255.75

หนังฮอลลีวู้ดทำเงินสูงสุดในจีน (ล้านเหรียญ)
The Fate of the Furious (2017) – 392.81
Furious 7 (2015) – 390.91
Transformers: Age of Extinction (2014) – 320.0
Avengers: Age of Ultron (2015) – 240.11
Zootopia (2016) – 235.59

Tags: , , , ,