หนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษา | ออกแบบโดยคนที่เคยสอบตกวิชานี้มาก่อน

ฐิติวุฒิ นันทิภาคย์หิรัญ, ปริพัฒน์ สินมา, คมจรัส แก้วชัยเจริญกิจ, ปพน วีระเมธีกุล เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เห็นปัญหาตอนที่น้องสาวของฐิติวุฒิสอบเข้ามหาวิทยาลัย แล้วต้องท่องจำหนังสืออย่างหนัก

สมัยมัธยม ปริพัฒน์และฐิติวุฒิเคยสอบตกวิชาสังคมศึกษามาก่อน เพราะไม่ชอบวิชาท่องจำ

พวกเขาเชื่อว่าภาพจะทำให้เราเข้าใจได้ดีกว่าข้อความยาวเหยียด

 

และนี่คือตัวอย่างเปรียบเทียบข้อมูลดิบที่เป็นความเรียง กับ Infographic ที่นำข้อมูลมาจัดเรียงเป็นระเบียบ

การบรรยาย 7 อันดับยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก เทียบกับเวอร์ชันใหม่ที่เข้าใจง่าย และมีลักษณะจริงของภูเขาให้ดูด้วย

การบรรยายวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งแบบเดิม กับเวอร์ชันใหม่ที่มีการแบ่งประเด็นและลำดับเวลา พร้อมกับมีภาพประกอบ

ข้อมูลแบบปกติเปรียบเทียบกับข้อมูลแบบ Infographic เรื่องกระบวนการยุติธรรม

หลังจากนั้น พวกเขาก็ได้พบกับเทคโนโลยี Augmented Reality ที่ส่องด้วยแอปในมือถือแล้วจะเกิดเป็นภาพสามมิติ จึงเอามาใช้กับข้อมูลบางอย่าง ซึ่งทำให้เข้าใจง่ายกว่าเดิม

ภาพ Ring of Fire ในวิชาภูมิศาสตร์

เรากลับมองว่าเป็นข้อดีเสียอีกที่พวกเราสอบตกวิชาสังคมฯ ตอนสมัยเรียน เราเข้าใจ เพราะเคยไม่ตั้งใจเรียนมาก่อน ทำไมเราไม่ทำหนังสือให้เข้าใจง่ายๆ ให้เด็กอยากเปิดอ่าน อยากเรียนรู้ อยากลองเล่น เขาอาจจะทำได้ดีขึ้นก็ได้

ตอนที่มีไอเดียจะทำหนังสือสังคมศึกษา คนรอบข้างตอบรับอย่างไร

หลังจากเรียนจบ เรา (ฐิติวุฒิ) เป็นอาจารย์พิเศษวิชา Design Thinking ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เลยนำตัวอย่างหนังสือก่อนเสร็จสมบูรณ์ไปให้นักเรียนในชั้นเรียนเขาลองทดสอบ น้องๆ ตอบรับดีมาก ถามว่าจะออกทันรุ่นพวกเขาสอบแอดมิชชันไหม เด็กๆ ตื่นเต้นมาก แต่คนไม่เห็นด้วยก็มีนะ เขาคิดว่าถ้าทำให้ง่ายเกินไป เด็กจะสรุปเองไม่เป็น แต่เราคิดว่าเอาเวลาไปคิดวิเคราะห์ต่อยอดดีกว่ามานั่งท่องจำไหม

ไม่ได้เป็นนักวิชาการ จะทำหนังสือเรียนได้หรือ

เรากลับมองว่าเป็นข้อดีเสียอีกที่พวกเราสอบตกวิชาสังคมฯ ตอนสมัยเรียน เราเข้าใจ เพราะเคยไม่ตั้งใจเรียนมาก่อน ทำไมเราไม่ทำหนังสือให้เข้าใจง่ายๆ ให้เด็กอยากเปิดอ่าน อยากเรียนรู้ อยากลองเล่น เขาอาจจะทำได้ดีขึ้นก็ได้ เด็กที่สอบตกไม่ได้โง่ เขาแค่อาจจะไม่สนใจ ผู้ใหญ่ควรจะเปลี่ยนคำถามที่ว่าทำไมเด็กโง่ มาเป็นคำถามว่าทำไมเด็กถึงไม่สนใจอยากรู้
ระหว่างทำ เราก็ตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หนังสือเรียนที่มีอยู่ในท้องตลาด ข้อมูลบางอย่างก็ไม่ตรงกัน พอทำเสร็จ เราก็นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง แต่ถ้าใครเจอข้อผิดพลาด เราก็ยินดีแก้ไขปรับปรุง ดีเสียอีกที่มีคนมาบอกเราว่าผิดพลาดตรงไหน จะได้พัฒนาให้ดีขึ้น

เมื่อหนังสือออกสู่ตลาด คนซื้อที่เราคิดไว้กับคนที่ซื้อจริงๆ เหมือนหรือต่างกันไหม

เป้าหมายหลักที่คิดไว้คือนักเรียนที่สอบแอดมิชชัน แต่พอหนังสือออกมา เราพบว่ามันกว้างกว่าที่เราคิด มันกลายเป็นหนังสือที่ใครก็อ่านได้ ลูกค้ามีตั้งแต่เด็ก 10 ขวบ ยันคนแก่วัย 60 ปี เขาอ่านเพื่อเอาไปสอนลูกหลานอีกที บางคนเป็นผู้ใหญ่ ซื้อเก็บสะสมก็มี บางคนเขียนมาขอบคุณ บอกว่าถ้ามีตั้งแต่สมัยเขาเรียน เขาคงได้เกรด 4 ไปแล้ว

เราอยากทำหนังสือที่ใครก็อ่านได้ ลูกค้ามีตั้งแต่เด็ก 10 ขวบ ยันคนแก่วัย 60 ปี เขาอ่านเพื่อเอาไปสอนลูกสอนหลาน ไม่มีหรอกคนโง่หรือคนฉลาด มีแต่คนที่สนใจกับคนที่ไม่สนใจ

งานออกแบบไม่ใช่การทำหน้าตาให้สวยงามเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญของการออกแบบคือมันต้องแก้ปัญหา ตอบโจทย์บางอย่าง และทำให้ชีวิตง่ายขึ้น Design Thinking คืออะไร มันก็คือเมื่อเราไปเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจปัญหา มองให้รอบด้าน มองความเป็นไปได้ว่าทำอะไรได้อีกบ้าง แล้วค่อยสรุปว่าจะทำอะไรดีเพื่อตอบโจทย์ ไม่ได้เอาความชอบส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญคือการรับคำวิจารณ์ให้ได้ มันต้องดีขึ้นอีก ถ้าวันหนึ่งการเรียนวิชาสังคมฯ เปลี่ยนไป เราก็จะปรับตาม

สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพนักออกแบบ

นักออกแบบไม่ใช่แค่ทำของสวยงามอย่างเดียว มันแล้วแต่โจทย์ นักออกแบบคือคนที่พยายามแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง โดยไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราเห็นปัญหา เห็นจุดเจ็บปวด (pain point) มานั่งคิดว่าทำอะไรกับมันได้บ้าง ลองทำแล้วก็ทดสอบ แล้วก็แก้ไข ปรับปรุง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำของน่าเกลียดที่มีแต่ฟังก์ชันนะ ความสวยงามมันมีประโยชน์มาก คือทำให้พอใจ เกิดความสนใจ อยากหยิบ อยากดู เราอยากทำหนังสือให้คนอยากอ่าน

สำหรับปริพัฒน์ เขาเคยได้รับงานออกแบบจากทันตแพทย์ให้ออกแบบหนังสือที่ให้ความรู้เรี่องปากแหว่งเพดานโหว่ให้ไม่ดูน่ากลัว โดยใช้ภาพประกอบมาช่วยอธิบาย

โปรเจกต์ออกแบบหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับโรคปากแหว่งเพดานโหว่สำหรับผู้ปกครองมือใหม่ที่ปริพัฒน์เคยออกแบบ ก่อนที่จะมาทำโปรเจกต์หนังสือวิชาสังคมศึกษาของ Wizes

นักออกแบบไม่ใช่แค่ทำของสวยงามอย่างเดียว มันแล้วแต่โจทย์ นักออกแบบคือคนที่พยายามแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง โดยไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

จากนักออกแบบกลายเป็นผู้ประกอบการ มีอะไรที่ต้องเรียนรู้บ้าง

หลักๆ คือใช้ความอดทนสูงมาก เพราะไม่ได้มีคนมาจ้างเราทำ อาจจะขาดทุนก็ได้ เราก็ต้องทำอาชีพหลักไปด้วยเพื่อหารายได้ แล้วแบ่งเวลาและเงินมาทำส่วนนี้ เล่มแรกใช้เวลาปีกว่า แต่เล่มถัดๆ ไปก็คงจะเร็วขึ้น อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำ ดีกว่านั่งบ่นว่าทำไมมันไม่ดีขึ้น การบริหารจัดการก็โคตรยาก เพราะพวกเราเป็นมือใหม่ เช่น การจัดการกับลิขสิทธิ์ ภาษี การจดทะเบียนหนังสือ สัญญา การดูแล stock คลังสินค้า การหาผู้จัดจำหน่าย การจดทะเบียนบริษัท เราใหม่มาก เราก็ต้องอาศัยสอบถามคนที่เคยทำ ลองผิดลองถูก เรียนรู้กันไป

อนาคตของ Wizes จะทำอะไรต่อ

เริ่มมีคนมาติดต่อให้เราออกแบบตำราเรียนใหม่ เรามีแผนจะออกหนังสือวิทยาศาสตร์ทั้งระดับพื้นฐานและอาจจะระดับ Advance ต่อไป หากสถาบันการศึกษาใด หน่วยงานใดสนใจจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงพัฒนาหนังสือเรียน หรือเปลี่ยนข้อมูลที่ยากให้เข้าใจมากขึ้น พวกเราก็รับออกแบบให้ได้ โดยใช้ Design Thinking มาแก้ปัญหา

วันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ฐิติวุฒิจะไปพูด TEDxKasertsartU เรื่องการใช้ Design Thinking ในการนำเสนอการเรียนการสอน

ติดตามไปฟังได้ที่นี่

https://www.facebook.com/TEDxKasetsartU/

FACT BOX:

หนังสือสังคมศึกษา Infographic ราคา 335 บาท สำหรับเตรียมสอบแอดมิชชัน มีขายที่ร้านซีเอ็ด ร้านคิโนะคุนิยะ และร้านนายอินทร์

ติดตามพวกเขาได้ที่:
Facebook https://www.facebook.com/wizesth/
Instagram https://www.instagram.com/wizes_thailand/

Tags: , , , , , , , ,