‘โตไปไม่โกง’ ดูจะไม่ใช่คำขวัญประจำใจของเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติอย่าง ‘ลิน’ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) แบงค์ (ชานน สันตินธรกุล) พัฒน์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) และ เกรซ (อิษยา ฮอสุวรรณ) ที่ร่วมกันวางแผนโกงการสอบภายในโรงเรียนจนถึงระดับนานาชาติที่มีชื่อว่า STIC ซึ่งเป็นการสอบที่ใช้เพื่อยื่นคะแนนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก รูปแบบและวิธีการโกงของพวกเขาเป็นระบบ แนบเนียน ไม่แพ้กับการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ และเป็นการโกงที่มีศิลปะผสมทักษะทางดนตรีและการแสดงขั้นสูงที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน

ประเด็นหลักที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะบอกกับคนดูคงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา แต่อาจจะไม่ใช่การศึกษาในฐานะเครื่องมือปลดเปลื้องปัจเจกให้พ้นจากอวิชชาอีกต่อไป แต่มันมีไว้เพื่ออะไร ใครมี ‘ส่วนได้’ หรือ ‘ส่วนเสีย’ บ้าง และสุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่โกงในเกมนี้?

 

ก.ข.ค.ง. ข้อสอบตัวเลือกที่ใครเลือก?

“จงเลือกคำตอบที่ถูกต้อง” เป็นประเด็นที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะภาพยนตร์เน้นทั้งภาพและเสียงของการฝนดินสอลงในกระดาษคำตอบ ข้อสอบตัวเลือกมีเส้นแบ่งของความถูกผิดชัดเจน จนทำให้เราไม่สามารถโต้แย้งหรือให้เหตุผลได้ว่ามันถูกหรือผิดเพราะอะไร เราทำได้แค่ ‘เลือก’ ในสิ่งที่ ‘คนอื่นเลือก’ ให้เราไว้แล้วว่าเราควรหรือไม่ควรที่จะรู้หรือไม่รู้อะไร ซึ่งถ้าเราเชื่อว่าวัยรุ่นโดยเฉพาะวัยมัธยมเป็นวัยค้นหาตัวตน ข้อสอบกากบาทก็เหมือนคุกกักขังความคิดที่มีทางเลือกให้เราแค่ถูกหรือผิด โดยไม่ให้โอกาสอธิบายสักนิดว่าทำไมถึงเลือกคำตอบนี้ และไม่เลือกคำตอบอื่น หรือค้นหาว่าจะมีสิ่งตรงกลางระหว่างความถูกผิดบ้างมั้ย

ชัดเจนว่าหนังพยายามเล่นกับจุดอ่อน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นความล้มเหลวของข้อสอบตัวเลือกที่เปิดช่องให้กับความฉลาดอย่างมีสุนทรียะของลิน เธอใช้ทักษะการเล่นเปียโนสร้างโค้ดลับในการบอกคำตอบลูกค้า ที่เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ในโรงเรียนก่อนขยายวงกว้างจนนำไปสู่การสอบสวนและถูกจับได้ในที่สุด

น่าขันว่าแทนที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจะสืบค้นต้นตอของปัญหา ว่าทำไมเด็กถึงเรียนไม่เข้าใจจนต้องพึ่งการลอกข้อสอบแบบมีสไตล์ของลิน หรือออกแรงหาวิธีออกข้อสอบใหม่ย้อนศรเด็ก ไม่เปิดช่องให้เกิดการลอกข้อสอบกันง่ายๆ กลับกลายเป็นว่า ผอ.เพียงแค่ลงโทษลิน โดยการตัดทุนต่างๆ รวมถึงโอกาสสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ นั่นแสดงให้เห็นว่า ลึกๆ แล้ว ผอ.ในฐานะบุคคลากรทางการศึกษาหวาดระแวงการท้าทายและละเมิดอำนาจในมือตน มากกว่าการค้นหาวิถีทางสู่ปัญญาที่แท้จริง ในแง่นี้แล้ว โรงเรียนยังเป็นที่สำหรับบ่มเพาะปัญญาอยู่หรือไม่

ข้อสอบตัวเลือกนี้ถูกเปรียบเทียบกับข้อสอบ STIC ที่มีทั้งแบบปรนัยและข้อสอบแบบอัตนัยที่ต้องเขียนอภิปราย ลินบอกว่า “มันเป็นส่วนที่เราช่วยพวกแกไม่ได้นะเว้ย” และถูกย้ำอีกครั้งในตอนท้ายเรื่อง “ถึงเราไปกับพวกแก (พัฒน์และเกรซ) เราก็ช่วยพวกแกไม่ได้ เพราะที่นั่นเขาใช้ข้อสอบข้อเขียน” อันที่จริงการโกงอาจเกิดขึ้นได้ถ้ารู้โจทย์ก่อน แต่การเปรียบเทียบข้อสอบสองแบบนี้ ประเด็นคืออย่างน้อยข้อสอบเขียนเป็นข้อสอบที่เราต้องคิดและทำด้วยตัวเอง ออกแบบและฝึกฝนการใช้เหตุผลเอง และเป็นข้อสอบที่การลอกจะบังเกิดผลน้อยกว่าแน่ๆ ถ้าเทียบกับข้อสอบแบบตัวเลือก

แน่นอนว่าการเขียนเป็นสิทธิพื้นฐานที่ยืนยันเสรีภาพของปัจเจกในการแสดงออกซึ่งความคิด ทัศนคติ อีกทั้งการเขียนในรูปแบบของการทำข้อสอบยังเป็นแบบฝึกหัดการใช้เหตุผล ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการฝนเลือกคำตอบที่ใครสักคนพร่ำสอนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดบนโลกใบนี้ โดยเปรียบเทียบกับตัวเลือกอื่นที่มีประดับให้รู้ว่ามีสิ่งผิดอยู่บนโลกใบนี้เช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น การกากบาทมาตลอดทั้งชีวิตก็อาจเป็นการยืนยันความไร้ซึ่งเสรีภาพที่แท้จริงของเรา

หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ น่าจะชี้ได้ชัดถึงความทรงพลังของข้อสอบแบบตัวเลือก และเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้รู้ว่า เราผ่านการทดสอบการใช้เหตุผลกันน้อยมากจริงๆ เราจึงปล่อยให้การแบ่งถูกผิดที่คนอื่นขีดเส้นไว้บังกั้นการใช้เหตุผล ความไร้เหตุไร้ผลจึงผุดให้เห็นอยู่ทุกหนทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่ได้ชวนเราตั้งคำถามเรื่องข้อสอบกับระบบการศึกษาไทยเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ชัดและพาคนดูไปร่วมวิพากษ์ขอบเขตของ ‘อำนาจ’ ที่การศึกษาเป็นเพียงสับเซตหนึ่งของมันเท่านั้น

ขั้วอำนาจที่โกงกันซ้ำไปซ้ำมา

ความหน้าไหว้หลังหลอกของสถานศึกษาเป็นประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรกเข้า ค่ากิจกรรม ค่าเรียนพิเศษ ซึ่งทำให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่งที่เราอาจคุ้นชินและปล่อยปละ จนการศึกษาเป็นเสมือนตลาดที่มีการค้ากำไรที่ไม่น่าจะสุจริตกันโดยสุจริต ซึ่งหนังพาเราลงลึกถึงการวิพากษ์ระบบทุนนิยมที่การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งสำหรับใช้ตีกรอบ หรือบางกรณีเรียกได้ว่าทำนาบนหลังเรา

ฉากหนึ่งในหนังที่น่าสนใจ คือเป็นตอนที่ลินถูก ผอ. เรียกพบ เพราะเธอต้องสงสัยว่าให้เพื่อนลอกข้อสอบ ตำแหน่งแห่งที่ในการจัดวางตัวละครรวมถึงบทสนทนามีนัยและชวนคิด ถือเป็นฉากจำลองของศาลพิพากษา คำให้การของตัวละครล้วนมีนัยเล่นล้อกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้เป็นอย่างดี

ผอ. ในฐานะตัวแทนอำนาจสมัยใหม่ซึ่งถูกจัดวางตำแหน่งให้เป็นผู้พิพากษา แต่เป็นศาลที่ยึดเจตนารมณ์ของทุนนิยมโดยชัดเจน บทลงโทษจึงเป็นเงื่อนไขเงินๆ ทองๆ อย่างการตัดทุนอาหารกลางวัน ตัดสิทธิ์การสอบชิงทุน ฯลฯ ซึ่งเป็นอย่างที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้นว่าความหวาดระแวงของ ผอ. คือความหวาดระแวงต่อการท้าทายและละเมิดอำนาจในมือตนมากกว่าสิ่งอื่นใด

ลินที่ผันตัวมาเป็น ‘ผู้เล่น’ ร่วมค้ากำไร แต่รูปแบบและวิธีการของเธอไปละเมิดและบ่อนเซาะอำนาจที่ใหญ่กว่า การค้ากำไรของเธอจึงถูกตีตราว่าเป็นการ ‘โกง’ ซึ่งถ้าดูจากในเรื่อง สาเหตุที่ลินต้องโกงก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกโกงก่อน เนื่องจากเงื่อนไขการเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้มีเรื่องใต้โต๊ะที่พ่อไม่เคยบอกเธอ สิ่งที่ลินทำน่าจะเรียกว่าเป็นการล้างแค้นหรือการเอาคืนมากกว่า โดยอาศัยการโกงข้อสอบเป็นเครื่องมือ

แบงค์ในฉากเดียวกันนี้ คือนักเรียนตัวอย่างในอุดมคติไทย ยากจน แต่เรียนเก่งและรักความยุติธรรม เงินซื้อไม่ได้

และตัวละครที่น่าสนใจมากคือพ่อของลิน ที่เหมือนจะเป็นคนในบงการของอำนาจ และนำเสนอภาพของ ‘คนดี’ ที่ต่อต้านการโกง ยอมจนดีกว่ามีความสุขจากเงินที่ได้มาจากความทุจริต แต่เอาเข้าจริง เราต้องไม่ลืมว่าพ่อของลินเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการโกงในระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่ยัดเงินให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าลูกชาวบ้านร้านตลาด พูดอีกอย่างก็คือ ถึงพ่อจะดู submissive แต่ก็เป็นการยอมตามน้ำที่ได้ประโยชน์จากการเอารัดเอาเปรียบนี้เหมือนกัน ความย้อนแย้งสำแดงตัวตอนที่ด่าลูกว่า

“ยังไม่รู้ตัวอีกหรือว่าตัวเองผิด” เขาเงียบ ก่อนพูดขึ้นว่า “อืม พ่อผิดเองแหละ”

เอาเข้าจริง เราจะเห็นคนในสังคมแบบตัวละครนี้อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง

พูดให้ถึงที่สุด ‘ฉลาดเกมส์โกง’ พยายามชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมที่กระทำต่อปัจเจกบุคคลในฐานะพลเมืองของรัฐ และทุนนิยมอุปถัมภ์ที่ค้ำชูผู้เล่นต่างๆ ให้เข้ามาเอารัดเอาเปรียบกันในเกมของการศึกษา ซ้ำไปซ้ำมาและซ้ำกันไปเรื่อยๆ ความยุติธรรมไม่เคยมีตัวตนอยู่แล้วในระบบทุนนิยม แต่ตัวละครบางตัวที่เป็นตัวแทนของสถาบันทางสังคมก็มักจะนำข้ออ้างนี้มาใช้กำจัดคนที่บ่อนเซาะอำนาจตน ดังนั้น หนทางที่น่าจะยุติธรรมที่สุดคือโกงกลับระบบที่โกงเรา เหมือนที่ลินพูดกับแบงค์ว่า “ต่อให้แกไม่โกง ชีวิตก็โกงแกอยู่ดี”

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์จะขึ้นชื่อว่าดี ก็ต้องมีการสั่งสอนศีลธรรมซะหน่อย มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายเป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีของชาติ ลินจึงต้องสารภาพบาปว่าตัวเองได้กระทำการโกงอย่างไรไปบ้าง แต่เชื่อเถอะ ในยุคที่ศิลปะผ่านการพิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามันไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่รับใช้สังคม ข้ออ้างทางศีลธรรมอาจถูกสอดแทรกเข้ามาบ้าง ก็เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ภาพยนตร์อยู่รอดในบริบทสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่อการตั้งคำถามและความเห็นต่าง

เพราะเอาเข้าจริง สิ่งที่ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ให้เรามากกว่านั้นแน่ๆ คือการเอาใจช่วยการเอาคืนระบบที่โกงเราทุกๆ คน ซึ่งเราทำอะไรมันไม่ได้ในชีวิตจริง

 

บทสรุปคนโกง

บทบาทของพัฒน์และเกรซที่นำเสนอภาพของทุนนิยมโดยแท้ที่เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้จัด และนายทุน ที่ใช้เงินในการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้กับอัจฉริยะอย่างลินและแบงค์ซึ่งท้ายที่สุดต่างก็สะบักสะบอมจากการละเมิดอำนาจเดิม ในขณะที่พัฒน์และเกรซอาจมีลุ้นและเจ็บตัวบ้าง แต่ก็ได้กำไรไปเต็มๆ จากเกมนี้

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในสังคม ‘ฉลาดเกมส์โกง’ จะเข้าถึงคุณได้ เพราะเราทุกคนล้วนแต่มีประสบการณ์ถูกเอารัดเอาเปรียบจากอำนาจทุนนิยมผ่านระบบการศึกษา จะมากหรือน้อยก็ตามแต่ ภาพยนตร์ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ เรื่องนี้ยังพอจะทำให้รู้ว่าสังคมของเรายังคง ‘คิด’

แม้ความไร้เหตุไร้ผลถูกทำให้มีเหตุผล การเรียกร้องความยุติธรรมดูเหมือนจะไร้ความหมาย และการเพิกเฉยปิดหูปิดตาปิดปากของเราเอาไว้

Tags: , , ,