1.

ภายในโลกที่เต็มไปด้วยการเดินทางเคลื่อนย้ายของผู้คน ‘Xenophobia’ หรือ โรคความหวาดกลัวคนต่าง (เชื้อ) ชาติ มักถูกหยิบยกขึ้นมาในสังคมซึ่งความแตกต่างทางเชื้อชาติกลายเป็นภาชนะรองรับและสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงทางการเมือง

งานจำนวนไม่น้อยศึกษาเรื่องนี้ โดยเชื่อมโยงแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เงื่อนไขทางพันธุกรรม และลักษณะทางกายภาพ ที่กลายเป็นสิ่งที่กำหนดและลำดับชั้นของคุณค่าในการเป็นมนุษย์ของคนอย่างแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม โรคความหวาดกลัวคนต่าง (เชื้อ) ชาติ มีนัยที่ต่างไป โรคประเภทนี้ไม่ได้เป็นอาการป่วยไข้ทางร่างกาย แต่เป็นสภาวะทางจิตใจ (Mental) ซึ่งไม่เพียงมาจากฐานคิดที่มองตนอยู่เหนือคนอื่น แต่ยังรวมถึงความรู้สึกถึงภัยคุกคามทั้งทางกายภาพและความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตน ด้วยน้ำมือของคนที่ต่ำต้อยกว่า ‘โรค’ ชนิดนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยาหรือปฏิบัติการทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน มันยังเป็นฐานหล่อเลี้ยงสำคัญที่จะทำให้แนวคิดการเหยียดเชื้อชาติดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ผมเห็นว่าการทำงานทางศิลปะในลักษณะที่เรียกว่า Global Art หรือ ศิลปะโลก มีส่วนสำคัญในการสร้างบทสนทนาปัญหานี้ เรกซ์ บัตเลอร์ (Rex Butler) นักวิจารณ์และนักทฤษฎีทางศิลปะชาวออสเตรเลียเห็นว่า การเคลื่อนไหวที่สำคัญทางศิลปะหลังจากยุคโพสต์โมเดิร์นมากับโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้ศิลปินตระหนักถึงโครงข่ายทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน และเป็นสาระสำคัญของศิลปะร่วมสมัยที่ไม่อาจถูกกักขังภายใต้พรมแดนของรัฐชาติและประเด็นทางเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งได้อีกต่อไป

หน้าที่ของศิลปินจึงเสมือน ‘นักแปลความทางศิลปะ’ (Artistic translator) เพื่อสื่อสารปัญหาเฉพาะเรื่องสู่โลกกว้าง สร้างความตระหนักในปัญหาและความจำเป็นในการมีชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้

นิโกลาส์ บูร์ริโยด์ (Nicolas Bourriaud) นักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส พยายามรวบยอดความคิดทางศิลปะภายใต้บริบทนี้ เพื่อที่จะทัดทานกระบวนการสร้างมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) และความคิดเชิงพาณิชย์นิยม (Commercialism) ที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะ รวมถึงในวงการอื่นๆ สำหรับเขา ศิลปินคือคนที่กำลังค้นหาสภาวะความทันสมัยแบบใหม่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานหน้าที่ของนักแปลความ

แน่นอน บูร์ริโยด์กำลังหมายถึงสาระสำคัญของโลกปัจจุบัน ว่าคือการแปลคุณค่าทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ให้เชื่อมโยงสู่โครงข่ายของโลก นี่คือกระบวนการเปลี่ยนโฉมและปรับปรุงความคิดแบบทันสมัยนิยม (Modernism) ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งควรถูกเรียกว่า ความคิดแบบทันสมัยนิยมที่แตกต่าง (Altermodernism)  สำหรับเขาแล้ว ความคิดนี้คือส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกับการผสานระหว่างวัฒนธรรมจนเกิดวัฒนธรรมใหม่ และการต่อสู้มาเพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง

งานศิลปะและความร่วมสมัยของงานศิลปะจึงควรวางบนฐานของการพูดคุยหลายระดับ ท่ามกลางการมีส่วนร่วมกันของหลายวัฒนธรรม  สิ่งเหล่านี้ นับเป็นการรื้อถอน ‘ความเป็นศูนย์กลาง’ ของการกำหนดมาตรฐานต่างๆ  ในแง่มุมนี้ สำหรับความคิดทางศิลปะแล้ว ‘วัฒนธรรม’ จึงมีลักษณะของพื้นที่ของคนที่สามารถใช้ภาษาได้หลากหลาย แม้จะไม่มีภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาแม่หรือเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในทุกภาษา เนื่องจากศิลปินกลุ่มนี้ให้ความสนใจปัญหาของการอพยพ ลี้ภัย การเดินทางท่องเที่ยว และคนซึ่งเดินเตร็ดเตร่และเร่ร่อนในเมืองอย่างไร้จุดหมาย พวกเขาเชื่อว่า ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบหลักของความร่วมสมัยทางวัฒนธรรม และเป็นพลังที่ทำให้โลกในปัจจุบันเคลื่อนไหว

สภาวะความทันสมัยที่แตกต่าง จึงสะท้อนและวิพากษ์ปัญหาที่มาจากสภาวะความทันสมัย ดังนั้น การสร้างผลงานทางศิลปะของศิลปินในฐานะนักแปลความ จึงเป็นเสมือนการสร้างบทสนทนาสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมใหม่ (New common intelligibility) ที่คนในสังคมพึงมี

งานศิลปะในกลุ่มนี้ จึงให้ความสำคัญกับความคิดเรื่องการ ‘แทนที่’ ของวัตถุทางวัฒนธรรม (Displacement of cultural material) จากสถานที่หรือบริบทหนึ่ง สู่สถานที่และบริบทอื่น กลายเป็นแก่นกลางในการวิเคราะห์ของบูร์ริโยด์

      (หมายเหตุ:- จอห์น พอตตส์ (John Potts) ศาสตราจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (Macquarie University) ประเทศออสเตรเลีย  ได้เขียนเชื่อมโยงแนวคิดว่าด้วย Displacement ในงานศิลปะร่วมสมัย กับการทำงานของกลุ่มศิลปิน Global Art ได้อย่างน่าสนใจ ในบทความปรากฏรายละเอียดการหยิบยกตัวอย่างงานศิลปะของศิลปินชาวไทยด้วย อาทิ สุรสีห์ กุศลวงศ์ และนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ตลอดจนศิลปินแนวมินิมอลอย่าง Kim Soo-ja)

แนวคิดในลักษณะนี้ ยังพบในความคิดในเรื่อง Object biography ของ อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai) ที่มองว่า การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ติดมากับวัตถุ ซึ่งเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามบริบท หรือถูกนำมาจัดแสดงในสถานที่แห่งใหม่ วัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านั้นล้วนมีวิธีการมอง การหยิบใช้ และความคิดในเชิงวัฒนธรรมติดมาด้วย ดังนั้น เมื่อวัตถุทางวัฒนธรรมถูกพรากและจัดวางในบริบทใหม่ ซึ่งมีวิธีการมองและจับจ้องวัตถุที่ต่างออกไป ผู้ชมจะสร้างวิธีการอ่านอย่างไรทั้งในเชิงการวิพากษ์และสร้างความเข้าใจร่วมใหม่อันพึงมี

 

2.

ความคิดทางศิลปะข้างต้น ทำให้ผมนึกถึงนิทรรศการภาพถ่ายชุดหนึ่งในหัวข้อ สงครามบนกำแพง(WARONWALL) ซึ่งจัดแสดงเมื่อปี 2016 เป็นงานแสดงชุดภาพถ่ายบาดแผลทางสงครามในซีเรียทั้งในเชิงภาพถ่ายบุคคลและภูมิทัศน์ซึ่งจัดแสดงบนกำแพงเบอร์ลิน ในบริเวณริมแม่น้ำชเปร (Sprea) หรือเป็นรู้จักในนาม แกลเลอรีฝั่งตะวันออก (East-Side-Gallery) โดยมี ไค วีเดนเฮอเฟอร์ (Kai Weidenhöfer) ทำหน้าที่เป็นช่างภาพ ใช้เวลาห้าเดือนในซีเรียเพื่อบันทึกภาพทั้งหมด นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายนี้ เขายังมีหนังสือภาพในชื่อ Syrian Collateral หรือหลักประกันของชาวซีเรีย

ไคเล่าในเว็บไซต์ของนิทรรศการว่า งานของเขา (ซึ่งอาจรวมไปถึงที่มาของหนังสือ) วางอยู่บนความย้อนแย้งระหว่างภาพของความโหดร้ายของสงครามกับการรับรู้ของผู้คน สงครามทำให้เรารับรู้ภาพชีวิตของผู้บาดเจ็บและสูญเสียในเชิงตัวเลข อาทิ การรายงานขององค์กรอนามัยโลกซึ่งระบุว่าในปี 2015 จะมีผู้บาดเจ็บจากสงครามเดือนละประมาณ 25,000 คน ในจำนวนตัวเลขนั้นมี 45 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเด็กและผู้หญิง และประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ต้องทุกข์ทนกับการสูญเสียอวัยวะและพิการ นอกจากนั้นยังมีการรายงานข่าวการถล่มเมือง หมู่บ้าน และศูนย์อพยพต่างๆ มากมาย เหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนแต่ปฏิกิริยาในการแก้ไขปัญหากลับเกิดขึ้นอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งที่ไคตระหนักคือ การรับรู้เพียงจำนวนตัวเลขเหล่านี้ไม่อาจทำให้เราเข้าใจและเห็นถึงคุณค่าของความเป็นคน

การเดินทางไปถ่ายภาพในซีเรียของเขาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเป็นประจักษ์พยานในความพรั่นพรึงของสงคราม พร้อมกับการต่อสู้กับมายาคติของการรับรู้ชีวิตคนในฐานะจำนวนนับ

การนำภาพถ่ายกลับมาจัดแสดง จึงไม่ต่างจากการเคลื่อนย้ายโลกและชีวิตความรุนแรงในซีเรีย ให้มาปรากฏตัวอย่างท้าทายอีกครั้งบนกำแพงเบอร์ลิน

หลายท่านคงทราบดีว่ากำแพงเบอร์ลินเป็นที่รู้จักกันในนามของสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกและกีดกันทางการเมือง ประวัติศาสตร์ของกำแพงนี้ แม้ไม่ได้มีอายุยาวนานดั่งกำแพงเมืองจีนหรือกำแพงเมืองทั่วไป แต่มันคือปราการขนาดใหญ่ที่กั้นคนสองกลุ่มอยู่ในโซนตะวันตกและตะวันออก อุดมการณ์กลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากยิ่งกว่าชีวิตของคน หลายต่อหลายครั้งทีเดียวที่เอกสารทางประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงความตายของคนมากมาย ผู้พยายามปีนป่ายข้ามกำแพงและหลบหนีออกจากการมีชีวิตอยู่อย่างมิอาจเห็นอีกด้านหนึ่งของกำแพง แน่นอน ในปี 1989 กำแพงเบอร์ลินล่มสลายลง คงเหลือแต่แนวกำแพงบางส่วนซึ่งถูกเก็บไว้เพื่อเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นหลัง ชาติเยอรมนีถือกำเนิดขึ้นใหม่หลังจากนั้น ชาติที่เกิดขึ้นใหม่นี้จึงมีความหมายของการไม่กีดกันแบ่งแยก แม้จะเป็นเพียงอุดมคติ และหลายคนจะบอกว่า ความหมายดังกล่าวอาจจำกัดเฉพาะในกลุ่มคนเยอรมันด้วยกันก็ตามที

การจัดแสดงภาพถ่ายของไคกำลังส่งสารอะไร?

เราอาจเข้าใจได้ว่า เขาเลือกพื้นที่เฉพาะ (specific site) ซึ่งมีความหมายทางการเมืองและประวัติศาสตร์มาช่วยขับเน้นสารในเนื้องานของเขาให้แหลมคมยิ่งขึ้น หลายครั้งทีเดียว งานศิลปะโดยตัวมันเองอาจไม่สามารถเปล่งพลังได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะงานภาพถ่ายในยุคซึ่งคนแทบทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ในเชิงเทคโนโลยีและทักษะ ความคิดลักษณะนี้ออกจากดูเบาประวัติศาสตร์การเมืองและการทำงานด้านภาพนิ่งไปสักหน่อย เราอาจตีความหมายได้อีกแบบว่า งานนิทรรศการนี้ ไม่ได้ใช้แนวกำแพงเบอร์ลินเป็นสถานที่จัดงาน แต่การติดตั้งภาพถ่ายของชาวซีเรียบนกำแพงประวัติศาสตร์ของชาติเยอรมนีต่างหาก คืองานศิลปะในภาพรวม

กระแสความเกลียดชังและหวาดกลัวคนต่าง (เชื้อ) ชาติในเยอรมนี โดยเฉพาะในเบอร์ลินทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากปี 2012 ซึ่งนับว่าเป็นปีแรกๆ ที่ผู้อพยพลี้ภัยชาวซีเรียและประเทศอื่นในแถบอาหรับเดินทางเข้ามา แม้รัฐบาลเยอรมันมีนโยบายมุ่งเน้นมนุษยธรรมและเปิดรับผู้ลี้ภัย แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกไม่ปลอดภัยที่คนกลุ่มใหม่เข้ามา เหตุผลทางด้านความต่างทางเชื้อชาติและการนับถือศาสนาของผู้มาใหม่กลายเป็นสิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มขวาจัดในเยอรมนีชูนโยบายทางการเมืองและเดินขบวนเรียกร้องสิทธิอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในเขตซึ่งเคยเป็นเยอรมนีตะวันออกเดิม ซึ่งนับว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดมากที่สุด

สงครามบนกำแพง จึงทำหน้าที่ฉายภาพเหลื่อมซ้อนกันทั้งในเชิงมิติของเวลาและพื้นที่ ศิลปินได้แปลความหมายของทุกข์ลำเค็ญ ความสูญเสีย และภาวะไร้หลักประกันใดๆ ในชีวิตของชาวซีเรีย ลงบนกำแพงเบอร์ลินซึ่งเคยสร้างความเจ็บปวดจากการแบ่งแยกและกีดกันทางการเมืองของคนเยอรมัน หากนับย้อนเวลากลับไป คนเยอรมันที่เคยชื่นชมความสามารถของคนในชาติตัวเอง ก็ล้วนประสบกับความล้มเหลวในชีวิตหลังแพ้สงครามโลกถึงสองครั้ง ประสบการณ์ชุดนี้ หากไม่ใช่ทางตรงก็ถูกส่งผ่านมายังประสบการณ์ทางสังคมที่รับรู้ผ่านคนในครอบครัวและการเห็นความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินถิ่นเกิด

สัญลักษณ์อย่างกำแพงเบอร์ลินจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการย้อนเวลาไปสู่บทเรียนและการเผชิญหน้ากับความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า งานนิทรรศการภาพถ่ายสงครามบนกำแพงจึงมิใช่การนำเสนอเรื่องราวของเหยื่อสงครามในซีเรียเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นเสมือนกระจกที่คนเยอรมันต้องส่องสำรวจตัวตนของพวกเขา ผ่านภาพถ่ายบุคคลและภูมิทัศน์ที่ล่มสลายในดินแดนตะวันออกกลาง

โรคความหวาดกลัวคนต่าง (เชื้อ) ชาติ สาเหตุของปัญหามิได้อยู่ที่คนต่างเชื้อชาติ ทว่าเป็นความหวาดกลัวความเป็นอื่นที่อยู่ในจิตใจของตนเอง

 

3.

การเคลื่อนตัวสู่ สภาวะความทันสมัยที่แตกต่าง ในการทำงานทางศิลปะ อาจเน้นการแทนที่ของวัตถุทางวัฒนธรรมผ่านการพรากมันจากบริบทดั้งเดิม สู่บริบทใหม่ ผ่านประเด็นปัญหาร่วมสมัย

ปัจจุบัน การทำงานลักษณะนี้พบเห็นได้ทั่วไป และออกจะเป็นแนวทางหลักในการทำงานของศิลปินจำนวนไม่น้อยไปเสียแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ สงครามบนกำแพง บอกกับเราก็คือ มันยังมีการแทนที่บางประเภทที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายทางกายภาพ นั่นก็คือ การพยายามปรับเปลี่ยนและถ่ายเทความหมายเชิงนามธรรมของวัตถุหรืออวัตถุ (Immateriality) ให้เกิดแรงผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงสำนึกคิด (Mentality) อันเป็นปมปัญหาของผู้คน

กำแพงเบอร์ลินที่ตั้งตระหง่านนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ความหมายของมันเปลี่ยนไปหลังมีสงครามที่ซีเรียประทับบนผนังของกำแพง  เช่นเดียวกับกำแพงซึ่งกั้นตัวเองกับความเป็นอื่นในใจของผู้ชม ก็อาจถูกบ่อนเซาะไปผ่านการอ่านและสร้างบทสนทนา ผมอดคิดถึงไม่ได้ว่านิทรรศการนี้ไม่ได้จัดเพื่อคนซีเรียซึ่งเป็นผู้อพยพเพียงอย่างเดียว แต่ยังจัดให้คนเยอรมันจำนวนมากซึ่งคิดว่าพวกเขาเป็นเจ้าของบ้านต่างหาก

พิจารณาจากจุดนี้ แนวทางของบูร์ริโยด์จะถูกพัฒนาให้ไกลออกไปจากจุดยืนของศิลปะโลก

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น โรคความหวาดกลัวคน (เชื้อ) ชาติ ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการรับยาหรือปฏิบัติการทางการแพทย์  โรคนี้คือความเจ็บป่วยในระดับจิตใต้สำนึกซึ่งสร้างกำแพงหลากหลายชั้นขึ้นมาขวางกั้นและกำหนดความสัมพันธ์กับคนอื่น ปฏิบัติการที่ศิลปะโลกและสงครามบนกำแพงบอกเราคือ บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำลายกำแพง ชีวิตที่ปราศจากกำแพงอาจไม่ชวนคิดและว่างเปล่าจนไม่อาจหาความหมายใดๆ สิ่งที่เราทำได้คือการแทนที่ความหมายมันใหม่

หากชาติคือกำแพงปราการในใจของมนุษย์ เราจะแทนที่มันได้ด้วยสิ่งใด?

Tags: , , , , , , ,