เราอยู่ที่บ้านของ สิงห์ – วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นั่งพูดคุยกันบนพื้นห้องทำงานที่เห็นได้ชัดจากการตกแต่งว่าเจ้าของห้องเป็นนักเดินทางตัวยง บีนแบ็กบนพรมนุ่มๆ สีฟ้าสด เฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้ม หนังสือหลากหลายแนวเรียงราย มีเปลญวนผูกอยู่ภายในห้อง ลูกโลก หมวกกันน็อก ไปจนถึงแซ็กโซโฟน

นอกจากเป็นนักเดินทางแล้ว ห้องยังฟ้องชัดว่าเจ้าของห้องนี้เป็นคนที่มีหลายบทบาท หนึ่งในนั้นคือเป็นคนทำสารคดีที่ไปมาแล้วทั่วโลก เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมของ UNHCR และผลงานล่าสุด ซึ่งเป็นบทบาทที่คุ้นเคย ก็คือการเป็นนักเขียน บอกเล่าประสบการณ์โคตรเถื่อนในหนังสือเรื่อง เถื่อนแปด ซึ่งจะเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือ เดือนตุลาคม 2560

 

ชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เขียนหนังสือเล่มใหม่เสร็จไปแล้ว คือ เถื่อนแปด ได้ปลดภาระอันหนักอึ้งไปหนึ่ง ชีวิตในอีกหนึ่งปีครึ่งข้างหน้านี้จะอุทิศให้การทำ ‘เถื่อน Travel Season 2’ ชีวิตตอนนี้ก็จะเดินทางไปยังที่เถื่อนๆ แล้วเอาฟุตเตจกลับมาตัดงาน ตัดเกือบจะเสร็จก็ออกไปใหม่ เดินทางเดือนละทริปไปเรื่อยๆ

ค่อนข้างจะเหนื่อยเหมือนกัน แต่ยังรู้ตัวว่าอีกไกลกว่าจะจบตรงนี้

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เถื่อนแปด

 

ความพิเศษของทริปใน เถื่อนแปด คืออะไร

ทุกทริปที่อยู่ในเถื่อนแปดเป็นทริปที่เปลี่ยนชีวิตเราในหลายแง่ การได้อยู่กับตัวเองทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

อย่างทริปนามิเบีย มันดึงเราออกจากตอนที่เกือบจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ ตอนนั้นชีวิตดาวน์มากๆ แล้วเราก็ตัดสินใจแบกเป้แบกกล้องไปนามิเบียคนเดียว ไม่มีความอยากไปเลยนะตอนนั้น เพราะเราท้อกับชีวิต เราเหนื่อยมาก แล้วเราไม่ได้มีแรงอยากจะไปอยู่คนเดียวกลางทะเลทราย แต่เราไปด้วยความเชื่อว่ามันจะรักษาเราได้ แล้วมันก็รักษาเราจริงๆ

ทริปเกาหลีเหนือ เป็นทริปที่เราได้เห็นด้านของมนุษยชาติที่เราแบบ อ๋อ มันมีด้านอย่างนี้อยู่ด้วย มันทำให้เรามองเห็นอคติที่ผ่านมาในใจของเรา แล้วก็สำรวจกระบวนการของความเชื่อ ความศรัทธา หลายอย่างที่เรามีอยู่ในหัวเสียใหม่ มันทำให้เราได้เข้าใจมนุษย์คนอื่นมากขึ้น

ทริปเซเรนเกติ เป็นทริปที่ไปกับแม่ เป็นหนึ่งในความทรงจำที่มีคุณค่า แค่เราได้อยู่กับแม่ในพื้นที่ที่แปลกประหลาดขนาดนี้บนโลก มันก็สุดยอดแล้ว

ส่วนทริปที่ยาวที่สุด คือทริปสุดท้ายในอัฟกานิสถาน เป็นทริปที่เราต้องต่อสู้กับตัวเองเยอะมาก มันมีความกลัว หมายถึง ความกลัวตาย ความอยากเข้าใจ การโต้เถียงกันอยู่ในจิตใจ ความไม่เข้าใจ มีอยู่เยอะมากตรงนั้น เพราะว่าเป็นครั้งแรกของเราที่ไปในพื้นที่ war zone ในประเทศสงคราม เราได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

 

ย้อนกลับไปเรื่องอคติในใจ ที่ผ่านมามีอคติเรื่องอะไร

หลายเรื่องที่เราคิดอยู่ในหัว แต่เราไม่ได้สำรวจมันอย่างชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร หรือมีผลต่อการตัดสินคนอื่น ตัดสินตัวเอง หรือตัดสินโลกอย่างไร เราจะชอบเวลาเราเดินทางแล้วได้เห็นอีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เราเคยคิด เพราะเราเชื่อว่าการเติบโตมันมาจากการยินดีให้ตัวเราคนเก่าแตกสลายลงไปโดยไม่ไปฉุดรั้งมันเอาไว้ แล้วก็ยินดีต้อนรับเราคนใหม่อย่างไม่ต้องไปคิดอะไรมากเลยว่าแต่ก่อนเราเป็นอย่างนั้น แต่ก่อนเป็นอย่างนี้

เราเชื่อว่าทุกคนมีความคิดเกี่ยวกับเกาหลีเหนืออยู่ในหัวอยู่แล้ว ซึ่งเราจะไม่ชี้นำว่าควรจะต้องคิดอย่างไร แต่การไปที่นั่น การเดินทาง การใช้ชีวิต มันทำให้เราได้สำรวจความคิดว่า แต่ก่อน ความคิดเรามาจากไหน แล้วเรายอมให้สิ่งต่างๆ ข้างนอกมีผลต่อความคิดเรามากขนาดไหน การไปอยู่ตรงนั้น คนมักจะจบด้วยคำว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ มันมีคำตอบแค่ yes กับ no แค่นั้นเอง แต่เรารู้สึกว่าจริงๆ คุณสามารถครุ่นคิดกับประสบการณ์เหล่านี้ได้เยอะกว่านั้น สิ่งเหล่านี้คือมุมที่เราอยากนำเสนอในหนังสือ

 

จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือเป็นอย่างไร

เขียนบทความชิ้นแรกตอนอายุ 17 ปี ตอนนั้นไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS มาหนึ่งปี อาจารย์ให้เขียนถึงประสบการณ์หนึ่งปีนั้นลงวารสารโรงเรียน เล่มนั้นมันหายไหนแล้วไม่รู้

จากนั้น ตอนอายุ 19 ปี บรรณาธิการแพรวสุดสัปดาห์ เขาหานักเขียนหน้าใหม่ที่น่าสนใจ ก็มาถามผม ยอมรับตรงๆ ว่าเพราะเป็นลูกพ่อลูกแม่ล่ะ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักเขียน/นักวิชาการ และ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์) แล้วตอนนั้นเราเริ่มทำงานพิธีกรพอดี เขาเลยบอกให้ลองเขียนบทความสั้นดู เราก็ลองจากจุดนั้น แล้วก็พัฒนาเรื่อยมา

แต่ถามว่าทำไมถึงเริ่มเขียน คือเราเป็นคนคิดเยอะมาตลอด พอเป็นวัยรุ่นแล้วมีช่องทางให้เราเอาความคิดเหล่านั้นเป็น outlet ออกมาในรูปแบบงานเขียน เราก็ติดใจนะ รู้สึกว่ามันทำให้เราได้กลั่นกรองความคิดตัวเองแล้วนำเสนอออกไป

อีกแง่หนึ่งก็คือ ตอนเด็กมีปมด้อยพอสมควร เพราะทุกคนรู้จักพ่อรู้จักแม่อย่างเดียว เราก็ต้องพยายามดิ้นที่จะออกจากเงาพ่อเงาแม่ให้ได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ค่อยพบวิธีดีๆ เท่าไร จนกระทั่งเริ่มมีงานเขียนเข้ามา เรารู้สึกว่าเราได้เจอหนทางที่จะมีที่ทางของตัวเองอย่างถูกต้องแล้ว

 

จากงานเขียนในวันนั้น จนถึง เถื่อนแปด เล่มนี้ ตัวเองกับมุมมองที่ออกมาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

มุมมองของงานเขียนในช่วงวัยรุ่นจนถึง 25 ปี จะเต็มไปด้วยความเป็นคนหนุ่ม หมกมุ่นกับตัวเองเยอะ ตัดสินเยอะ มี judgment มากว่าอะไรดีอะไรไม่ดี วิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างเยอะ แต่ตอนเด็กๆ เราไปวิพากษ์สิ่งที่เราไม่รู้อยู่เยอะเหมือนกันนะครับ เพราะตอนนั้นรู้สึกว่างานเขียนที่ดีคืองานเขียนที่แรง เลยพยายามแสดงตัวตนเยอะมาก โดยใช้ภาษาเวอร์วังอลังการเกินเหตุ พยายามโชว์ความคูลเยอะมาก (หัวเราะ)

แต่พอยิ่งโตขึ้น เรากลับรู้สึกอย่างหนึ่ง คือ ความคิดเห็นของตัวเองสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ได้อยากโชว์ภาษาที่เหนือกว่าหรือเลิศล้ำอะไร แต่อยากเขียนถึงเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าตัวเราเอง จากเดิมโฟกัสแค่สิ่งที่อยู่ในหัว ตอนนี้อยากโฟกัสสิ่งที่อยู่ข้างนอกเรามากขึ้นเรื่อยๆ ประจวบเหมาะกับการได้เดินทางนะครับ มันเลยมีเรื่องมาเขียนใหม่เรื่อยๆ จากจุดที่มีแต่ตัวเอง ไปสู่จุดที่ตัวเองเล็กลงเรื่อยๆ จนตอนนี้ขี้เกียจพูดถึงตัวเอง

ตอนเด็กๆ เราไปวิพากษ์สิ่งที่เราไม่รู้อยู่เยอะเหมือนกันนะครับ เพราะตอนนั้นรู้สึกว่างานเขียนที่ดีคืองานเขียนที่แรง เลยพยายามแสดงตัวตนตัวเองเยอะมาก

 

การที่ต้องเอาเรื่องราวในทริป เถื่อนแปด ทั้งหมดมาร้อยเรียงเป็นตัวหนังสือ มันยากหรือท้าทายตรงไหน

มันยากในเชิงการนั่งครุ่นคิดกับมันให้จบกระบวน ซึ่งต้องใช้เวลาตกผลึก บางวันไม่ได้เขียนอะไรเลย แค่นั่งคิดเกี่ยวกับมันก็ใช้เวลาทั้งวันแล้ว แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เพราะว่าการนำเสนอในรูปแบบรายการ เราจะมานั่งครุ่นคิดตกผลึกอะไรมากไม่ได้ มันต้องทำให้สนุกตลอดเวลา ต้องมีมุกตลก ต้องน่าตื่นเต้น ฉับไว พอมาเป็นหนังสือเราก็อยากจะลงลึกกว่าเดิม ในเชิงกระบวนการคิดวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ รวมถึงแจงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าใครเคยดูรายการ ‘เถื่อน Travel’ มาแล้ว มาอ่านในนี้ก็จะรู้สึกว่ามันลึกกว่ากันเยอะพอสมควร ‘เถื่อน Travel’ เรายังเก็บรูปแบบของความสนุกของสื่ออยู่ ถามว่ามันยากไหม ในเชิงความลึกไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราอยากเขียนอย่างนี้อยู่แล้ว แต่การหาเวลาและทำให้เสร็จนี่ยากพอสมควรเลยครับ

 

ต้องอยู่ในช่วงเวลาแบบไหนถึงจะเขียนคล่อง ผ่านขั้นตอนอะไรบ้างจากทริปที่ไปมา

เวลาไปทริปกลับมาแต่ละทริป เราจะยังไม่เขียนเลยนะ ต้องปล่อยให้เวลามันตกผลึกไปสักพัก

ถ้าดูบทใน เถื่อนแปด มันจะไม่ใช่แค่ชื่อสถานที่ แต่จะมีหัวข้อนำมาก่อน อย่างเช่น อุดมการณ์ในคิวบา ราคะแห่งญี่ปุ่น หรือศรัทธาแห่งเกาหลีเหนือ เพราะแง่หนึ่ง เราเอาประเด็นของความครุ่นคิดมาแม็ตช์เข้ากับสถานที่ ถ้าแต่ละทริปมันบ่มจนเราเข้าใจมันแล้ว มันจะไม่ใช่เรื่องยากในการเขียน แต่เราต้องรอให้มันตกผลึก แล้วเกิดกระบวนการครุ่นคิดด้วยตัวของมันเอง

คำว่า “ด้วยตัวของมันเอง” คือมันอยู่ในหัวเราตลอด เมื่อการเดินทางครั้งไหนพร้อมที่จะกลายเป็นตัวหนังสือแล้ว เราจะรู้เอง ขณะที่การทำงานทีวีคือ กลับมาปุ๊บต้องทำเลย แต่กับหนังสือ เรารอเท่าที่เราต้องรอในการเข้าใจมัน บางทริปเกิดขึ้นเร็ว บางทริปเกิดขึ้นช้า บางทริปเราตั้งต้นจะเขียนแล้วแต่รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ รู้สึกว่าเรายังไม่ตกผลึกกับมันพอ เราก็จะหยุดก่อน ก็มีเหมือนกันทริปที่เริ่มเขียนมาแล้วรู้สึกแบบทริปนี้ยังไม่คมตัวอักษร ก็ลบทิ้งไปเลย แล้วไปเขียนเรื่องอื่นแทน หรือบางทริปที่เราไปมาแล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ได้อะไรจากทริปนี้มากมาย เราก็เลิก จะไม่เขียน เพราะมันควรจะเป็นทริปที่มีรสชาติที่อยู่ในหัวเราจริงๆ ถึงจะออกมาเป็นตัวหนังสือได้ แต่ถ้า process ในการเลือกทริปมัน flow จบแล้ว เรื่องราวที่จะเขียนมักจะไม่ค่อยตันเท่าไร เราจะรู้เสมอว่าจะเขียนอะไรต่อ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเกลาภาษา เรื่องการลำดับใจความ ส่วนใหญ่เขียนเสร็จปุ๊บก็นั่งอ่านใหม่อีกรอบ แล้วก็จะรีไรต์สองรอบเสมอ มันก็ใช้เวลาพอสมควรในการทำงานทั้งหมดนี้

 

อะไรถึงจะเรียกว่าตกผลึก

ตกผลึกคือ เราเข้าใจแล้วว่าทริปนั้นมีความหมายกับเราอย่างไร ความหมายทั้งเชิงการสื่อสารและความหมายในใจเรา ว่าเราเติบโตขึ้นอย่างไรจากการเดินทางครั้งนั้น บางทีการเติบโตมันไม่ได้เห็นชัดเจนในทันทีที่เราเพิ่งกลับมา เราเชื่อว่าทุกทริปมันทำให้มุมมองชีวิตเราเปลี่ยนไป แต่มันเปลี่ยนไปในจุดไหนที่แจกแจงรายละเอียดออกมาเป็นตัวอักษรได้

ถ้าเราไม่ได้มีอาชีพเป็นนักเขียนก็อาจจะไม่ต้องไปนั่งเคลียร์ตัวเองขนาดนั้นก็ได้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้ แต่กับเรา ถ้าเราจะทำงานตรงนี้ เราต้องชัดเจนกับมัน ใช้เวลาทำความรู้จักตัวเองและรู้จักทริปนั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากกลับมาแล้วด้วย เพราะเราได้เข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

 

มีทริปไหนไหมที่รู้สึกว่า ไปมาแล้ว กลับสับสนในตัวเองมากกว่าเดิม เช่น รู้สึกว่า เฮ้ย มีอะไรบางอย่างที่ไม่กระจ่าง

มีบางทริปนะครับที่ไปมาแล้วรู้สึกไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร ก็จะเกิดคำถามว่า ในชีวิตนี้ กระบวนการการเรียนรู้ยังอยู่ในการเดินทางหรือเปล่า ที่ผ่านมา เราอยากรู้เรื่องอะไรเราก็ออกไปเดินทาง เดินทางเสร็จแล้วก็ได้เติบโตขึ้น ได้งาน ได้ความรู้ใหม่ๆ ได้แรงบันดาลใจมากมาย แต่ถ้าบางทริปที่รู้สึกว่าลงทุนลงแรงไปเยอะแต่กลับไม่เติมเต็มตัวเองเท่าไร ก็มีครับ ก็จะเกิดคำถามว่า เราควรจะไปเติบโตด้วยวิธีอื่นแล้วหรือยัง มาถึงจุดอิ่มตัวของการเดินทางหรือยัง

แต่สุดท้ายนะ คำถามนี้มันจะโดนหักล้างด้วยทริปที่สุดยอดหลังจากนั้น (หัวเราะ)

 

เดินทางมารอบโลก สิ่งที่ไปเห็นมามันสะท้อนอะไรในสังคมไทยที่เป็นอยู่ปัจจุบันบ้าง

ข้อแรกคือ เราไม่ได้แย่ขนาดนั้นครับ คือคนเราอยู่เมืองไทยนานๆ จะเห็นความแย่ของสังคมไทยเยอะมาก แล้วเราก็จะบ่นจะด่า แต่ใน scope ของโลก ผมบอกเลยว่าเราค่อนข้างโอเคนะ ถามว่ามันดีสำหรับทุกคนไหม ไม่ มันมีคนที่เสียเปรียบในสังคมอยู่ ซึ่งเราก็ต้องไปช่วยกันทำให้มันดีขึ้น แต่โดยรวม มีคนจำนวนมากในหลายๆ ประเทศที่ผมไปเจอ ที่อยู่ได้อย่างมีความสุขในประเทศไทย ทั้งในเชิงวัตถุ ในเชิงบ้านเมือง เราบ่นเรื่องรถติด เรื่องสกปรก มีตัวอย่างอีกหลายประเทศมากๆ ซึ่ง… โอ้โห บ้านเรานี่คงเป็นแดนสวรรค์แน่นอนถ้าเทียบกับเขา

พอเราเห็นตัวอย่างประเทศที่ผ่านสงครามมาเยอะ เราคิดได้เลยว่าไม่มีทางเลือกไหนที่แย่กว่าสงคราม ถึงเราจะพูดในเชิงอุดมการณ์ ในเชิงความดีงามอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันนำไปสู่สงครามเมื่อไหร่ อุดมการณ์ทุกอย่างที่คุณเชื่อมันจะลงเหวหมดเลย

เราบ่นเรื่องการเมือง แน่นอน สภาพตอนนี้มันไม่ได้ดีนัก แต่มันมีที่ที่ fucked up กว่าเราอยู่เยอะมาก แล้วบางที การเห็นพื้นที่ที่ fucked up ตรงนั้นมันทำให้เห็นว่า ในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่บ้านเราเป็นอยู่อาจจะไม่ดีที่สุด แต่ก็ยังดีกว่าการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ดูว่ามันอาจจะนำไปสู่จุดไหน พอเราเห็นตัวอย่างประเทศที่ผ่านสงครามมาเยอะ เราคิดได้เลยว่าไม่มีทางเลือกไหนที่แย่กว่าสงคราม ถึงเราจะพูดในเชิงอุดมการณ์ ในเชิงความดีงามอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันนำไปสู่สงครามเมื่อไหร่ อุดมการณ์ทุกอย่างที่คุณเชื่อมันจะลงเหวหมดเลย สุดท้ายคือคุณก็แค่ฆ่าฝั่งตรงข้ามให้ได้แค่นั้นเอง นั่นคือจุดประสงค์สูดสุดของสงคราม เราคิดว่ามันต้องมี process ในการพัฒนาสังคมไปสู่จุดที่ดีกว่านี้ แต่ว่าถ้า cost มันคือการสละสันติภาพไป อย่างไรก็ไม่คุ้ม เท่าที่ผมเห็นมานะ แต่แน่นอนว่าหากคนไม่ได้เคยไปเห็นสงครามจริงๆ ได้ยินผมพูดอย่างนี้ เขาก็จะบอกว่า อ้าว ยูโอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่เหรอ ยูศิโรราบต่อมันหรือเปล่า ยูไม่เรียกร้องประชาธิปไตยแล้วเหรอ เราคงต้องบอกว่า เราไม่ได้หยุดเรียกร้อง แต่เราเข้าใจว่าการเรียกร้องโดยไม่มองว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง มันก็จะมีต้นทุนของมันอีกแบบ ซึ่งจะเป็นแบบที่… สุดท้ายจะไม่มีใครมีความสุขในประเทศนี้เลยก็ได้

 

ขอยกเรื่องหนังเอวีของญี่ปุ่นมาพูด เราเห็นว่าสังคมญี่ปุ่นมันดูซีเรียส ประชากรดูเป็นมนุษย์เงินเดือน มีขนบธรรมเนียมชัดเจน แต่เขามีหนังเอวีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเขา ส่วนไทยเราก็มีการค้าประเวณีซ่อนๆ อยู่ คิดอย่างไรกับการแสดงออกเรื่องพวกนี้ของญี่ปุ่นกับของไทย

คือเมืองไทยนี่ liberal สุดๆ บางเรื่อง และ conservative สุดๆ บางเรื่อง คือเรา liberal ในเชิงพฤติกรรมครับ แต่ว่า conservative ในเชิงหน้าตา โดยเฉพาะในเชิงรัฐและกฎหมาย เราไม่สามารถยอมรับว่ามีหญิงบริการอย่างถูกกฎหมายได้เพราะกลัวเสียหน้า แค่นั้นเอง ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันมีและมันใหญ่ที่สุดในโลกเลยนะครับ ผมยังทำเรื่องนี้ออกทีวีไม่ได้ ถ้าทำ จะทำแบบถึงกึ๋นไปเลย แต่คงต้องทำบนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น liberal เรื่องนี้มาก มีหนังโป๊ทุกประเภทบนโลก แต่เรื่องอื่นเขามีธรรมเนียมที่เป๊ะมาก ๆ ต้องทำทุกอย่างตามแบบตามแผน มีกฎระเบียบแม้กระทั่งการชงชาต้องหมุนซ้ายหรือขวา

 

ซึ่งมันดูขัดแย้งกัน

เพราะทุกที่มันมี pressure กับ release น่ะครับ ถ้ามันมีแรงกดดันมา มันก็ต้องปล่อย ไม่อย่างนั้นสังคมอยู่ไม่ได้ มันจะพังทลายจริงๆ แล้วมันก็จะนำไปสู่สภาวะที่สมาชิกสังคมต่อต้านทุกอย่างที่เป็นกฎระเบียบของสังคม

 

มองว่ามันเป็น balance ของญี่ปุ่นเหรอ

เป็น balance ของญี่ปุ่นครับ แล้วไทยเองเราก็มี balance ของเรา คือเรายินดีรับความ conservative และความปากว่าตาขยิบในหลายอย่างที่กดเรา ทั้งในเชิงจริยธรรม เชิงความคิดทางศาสนาและการเมือง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ปล่อยผีด้านอื่นเยอะมาก เท่าที่ผมเห็นมา โลกนี้ยังไม่มีประเทศไหนยอมรับเรื่องเพศที่สามได้มากเท่ากับประเทศไทยนะ เท่าที่ผมเห็นมานะครับ คือบ้านเรามันเป็นธรรมชาติเสียจนไม่ต้องมีใครพูดเรื่องนี้กันก็ได้ (หัวเราะ) เพราะในที่ทำงานทุกที่มีเพศทางเลือกอยู่ ไม่เคยจำกัดสิทธิอะไร ขณะที่บ้านอื่นเมืองอื่นมันไม่ใช่อย่างนี้ ขณะเดียวกันก็มีที่ที่เราโดนกดหลายอย่างอยู่ แล้วทุกสังคมก็มีอย่างนั้น อย่างในยุโรป บางที่ดูเหมือนแบบมีระบบที่ดี สะอาด liberal มากในเชิงการเมืองและสังคม แต่ว่าเขาทำงานกันหนักจนแบบ… อื้อฮือ

 

เราก็เป็นอย่างเขาไม่ได้แน่ ๆ

มันคือระเบียบที่เขา impose กับตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมากด บ้านเราอาจมีผู้มีอำนาจมากดเรา แต่เมืองนอก บางที่เขากดตัวเองจนเกินพอ คือมันมี balance and check กันอยู่ในทุกสังคมครับ แต่ว่านั่นแหละ การได้เห็นสิ่งที่เรามักจะพูดว่า โอ๊ย ประเทศนู้นก็ดี ประเทศนั้นก็ดี เอาจริงๆ คือ พอไปอยู่แล้วมันไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างมีต้นทุนของมันเสมอ แล้วถ้าเราไม่ได้ยินดีจะจ่ายต้นทุนนั้นในสังคมร่วมกัน ผมเห็นบางอย่าง คนไทยไม่ยินดีจ่ายแน่นอน เราก็ต้องยอมรับว่าเราจะมีอย่างเขาไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปดูด้านดีของเขาเพราะเราจ่ายแบบเขาไม่ได้ อย่างสแกนดิเนเวีย ภาษี 30-40 เปอร์เซ็นต์ โอ้โฮ ทำปุ๊บนี่โวยกัน รับรองเกิดกบฏแน่นอน

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เถื่อนแปด

 

คล้ายจะบอกว่า อย่ามองแต่ด้านดีของประเทศอื่น แต่ต้องมองบริบทรอบๆ ด้วยว่าอะไรทำให้มันเป็นอย่างนั้นใช่ไหม

ใช่ครับ แล้วก็สิ่งที่คนไม่เห็นหลายอย่าง ภูมิศาสตร์มีผลมาก ภูมิอากาศก็มีผล มันมีผลต่อความเป็นอยู่ของคน ความเป็นอยู่ของคนก็มีผลต่อนิสัยคน มันมีศาสตร์ที่เรียกว่า geopolitical คือการเมืองทางภูมิศาสตร์ เพราะว่าสังคมทุกประเภทโดนออกแบบขึ้นมาโดยปัจจัยสำคัญที่ว่ามันตั้งอยู่ตรงไหน อยู่บนภูเขาหรือเปล่า อยู่บนที่ราบหรือเปล่า อยู่ที่แม่น้ำ อุดมสมบูรณ์ไหม อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่บางประเทศเขามีสิ่งที่เขามี ก็เพราะว่าเขาตั้งอยู่ตรงนั้น นี่เป็นสิ่งที่เรากำลังสนใจศึกษาอยู่ แต่กลับมาสู่เมืองไทย เรารู้สึกว่าบ้านเรามีปัญหาเยอะมากแน่นอน แต่การนั่งบ่นเหมารวมว่ามันแย่ไปเสียหมด ประเทศนี้ไม่น่าอยู่อีกแล้ว มันก็เวอร์ไป

 

คุณเคยบอกว่าสถานที่ที่เถื่อนที่สุดคือเฟซบุ๊ก เพราะอะไร

ตอนนี้ผมเลิกแสดงทัศนะตัวเองในเฟซบุ๊กมาประมาณจะสองปีแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม รู้สึกว่ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไร คนสองฝั่งเข้ามาตีกัน ด่าเราบ้าง ด่ากันเองบ้าง แล้วก็แยกมวย แล้วก็ไปตีกันที่อื่น แต่เราก็เข้าใจว่า เมืองไทยมันไม่ใช่สังคมที่กล้าเผชิญหน้ากันตรงๆ พอมีเฟซบุ๊กปุ๊บ พวกเราเลยใส่กันแหลก ทุกคนมีอารมณ์อยากเผชิญหน้า อยากด่ากัน แต่ถ้าเป็นสังคมอื่น เขาอาจจะแบบชี้หน้าด่ากันตรงๆ ว่า เฮ้ยยู Why do you do this หรืออย่างในอเมริกาก็ไปฟ้องกันในศาลให้มันจบๆ ซึ่งไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีกว่าเรานะครับ แต่บ้านเรา พอมีเฟซบุ๊ก มันเลย addictive ตรงนี้ เพราะมันได้ระบายอารมณ์เต็มที่มาก แล้วพอมีใครเป็นเหยื่อประจำสัปดาห์ ทุกคนก็จะเข้าไปรุมกัน แสดงความสูงส่งทางจริยธรรมของตัวเอง ถามว่าเวลาเราโดนเองอย่างนี้ เราโกรธไหม เราต้องมีขันติ เราโคตรเข้าใจ nature ตรงนี้ของคนเลย แล้วก็มันเป็น nature เดียวที่ทำให้เกิดสงคราม ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทั่วโลก คือ nature ตรงนี้

 

หมายถึงความคิดที่ว่า ความคิดเรานี่แหละถูก?

ความต้องการจะถูกของมนุษย์นี่แหละครับ มันทำให้เกิดอะไรขึ้นเยอะมาก แล้วเราก็มองในแง่ดีไปว่าถ้ามันปล่อยกันแค่บนโลกออนไลน์ก็ดีแล้ว ดีกว่าจะไปหยิบอาวุธ หยิบปืนมาห้ำหั่นกันอย่างที่เราเห็นกันในประเทศอื่น

 

การเดินทางทำให้คุณสิงห์มองโลกแง่บวกขึ้นหรือเปล่า

เราพยายามมองทุกอย่างให้เป็น neutral (กลางๆ) จบที่คำว่า คนก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่ว่าเขาจะชูอุดมการณ์หรือชูศีลธรรมเซ็ตไหนมา จะเป็น liberal หรือเป็น conservative เราแค่มองว่า นี่เป็นแค่คนที่ต้องการเซ็ตของความถูกต้องอะไรสักอย่างมายึดถือไว้ ซึ่งเซ็ตนั้นจะเป็นอะไรก็ตอบสนอง need สิ่งเดียวกันของมนุษย์คนนั้น เพราะเราได้เห็นเซ็ตของจริยธรรมมาเป็นพันๆ เซ็ต ไปทุกที่ ทุกคนก็จะมีแบบศีลธรรมเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ อยู่

การที่เขาฆ่ามนุษย์ผู้อื่นเพื่อนายเขา เขาก็รู้สึกเขาเป็นคนดีได้ เพราะเขา loyal ต่อเจ้านายเขา ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต้องทำอะไรบางอย่างที่จะรู้สึกโอเคกับตัวเอง แม้กระทั่งผู้ก่อการร้ายหรือนักโทษประหารก็ตามแต่

ผมคุยกับอดีตมือปืนของเจ้าพ่อค้ายาที่โคลัมเบีย ตอนที่เขาทำอาชีพมือปืน เขาบอกว่าเขารู้สึกปกติมาก เพราะทุกคนรอบตัวเขาทำ แล้วเขาสามารถมีแง่มุมที่ตอบโจทย์เรื่องศีลธรรม ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีได้ด้วย คือคนเรามันจะมี morality หลายเซ็ตไงฮะ บางคนก็พูดเรื่อง freedom บางคนก็พูดเรื่อง respect บางคนก็พูดเรื่อง religion และ morality อย่างหนึ่งซึ่งมนุษย์ยึดถือกันมากคือ loyalty การที่เขาฆ่ามนุษย์ผู้อื่นเพื่อนายเขา เขาก็รู้สึกเขาเป็นคนดีได้ เพราะเขา loyal ต่อเจ้านายเขา ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต้องทำอะไรบางอย่างที่จะรู้สึกโอเคกับตัวเอง แม้กระทั่งผู้ก่อการร้ายหรือนักโทษประหารก็ตามแต่ แน่นอนมันคงจะมีอยู่บนโลกมั้ง คนที่เลวบริสุทธิ์ไปเลย แต่ว่า เท่าที่ผมสัมภาษณ์คนจากมุมมืดทั้งหลายบนโลก มันไม่มีคนอย่างนั้น ทุกคนมีแสงประจำตัวอยู่เสมอ คือเราไม่ได้บอกว่ามันผิดมันถูก เรามักจะโฟกัสว่า ไอ้นี่ผิด ไอ้นี่ถูก ไอ้นี่เลว ไอ้นี่ดี สิ่งที่เราทำมาตลอดแล้วจะทำต่อไปในงานของเรา คือ เราพยายามเข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงเป็นอย่างที่เขาเป็น

 

การมีชื่อเสียงมีผลกับตัวเองแค่ไหน

เราพยายามจะให้มันไม่มี แต่ว่าถามว่ามันมีไหม ก็คงต้องมีกันบ้าง เช่น ได้ทำรายการ ‘เถื่อน Travel Season 2’ ก็เพราะ Season แรกมันประสบความสำเร็จไงครับ แต่เราก็ต้องพยายามมานั่งลืมอีกว่ามันสำเร็จอย่างไร เพราะเราอยากออกไปสู่โลกกว้างโดยไม่มีความคิดว่าคนดูจะชอบไหม อันนี้ทางช่องจะว่าอย่างไร เพราะจุดเริ่มต้นของรายการมันเริ่มจากความอยากทำเพียวๆ ผมทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อผมไม่คิดอย่างอื่นเลย ผมคิดแค่ว่าผมอยากทำ และเราพยายามแยกชื่อเสียงออกจาก ego ให้ได้ แต่ก็ทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมา มันก็มีช่วงที่ไปไหนคนก็ โอ๊ย พี่สิงห์ๆๆ กับช่วงที่ไม่มีใครสนใจเลยเพราะช่วงนั้นไม่ได้ทำงานอะไร พอเราเห็นวงจรอย่างนี้ในชีวิต ก็พยายามจะเห็นความไม่จีรังของมัน

 

แต่สิงห์เหมือนกราฟขึ้นตลอดหรือเปล่า

มีช่วงลงบ้างเหมือนกันครับ แต่ว่าเราเอาช่วงลงนั้นเป็นบทเรียนว่าอย่าไปยึดอะไรกับมันมาก ถ้าวันหนึ่งมันลง ก็จงชิลล์กับมัน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งชื่อเสียงในการทำงาน เพราะมันเป็นแหล่งรายได้ คือพวกโพสต์ในโซเชียล อะไรอย่างนี้ บางทีเราก็มองเป็นเรื่องงานไปแล้ว เราต้องจัดการให้ยังมี interaction กับแฟนคลับอยู่ บวกกับโพสต์ให้สปอนเซอร์ต่าง ๆ เราก็ต้องคิดคอนเทนต์ขึ้นมา มันกลายเป็นงานไป ซึ่งเรารู้สึกโอเคกับมัน เราไม่อยากกลายเป็นคนที่เสพปุ่มไลก์เพื่อให้รู้สึกโอเคกับตัวเอง ซึ่งมันแยกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม มันก็ยังทำไม่ได้เต็มร้อยหรอกครับ ปัจจุบันนี้มันยากมากที่เราจะตั้งสมาธิไม่ให้ความเป็นออนไลน์ทั้งหลายมาส่งผลกระทบต่อสภาพจิตของเรา ต้องอยู่ใน process ของการเรียนรู้และเติบโตในแง่นี้

 

คุณวางตัวยังไงกับแฟนคลับที่อินกับคุณสุดๆ รู้สึกผูกพันกับคุณเป็นการส่วนตัว

ก็เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียงคนไหน แฟนคลับก็คงต้องมีความ adore กัน เรามีด้านที่เข้าถึงง่ายกับด้านที่เข้าถึงยากอยู่ ด้านที่เข้าถึงได้ง่ายคือ เวลาผมทำรายการหรือเขียนหนังสือ ผมยินดีเอาด้านอุบาทว์ของตัวเองมาออกโดยไม่คิดอะไรมาก บางทีไม่ได้อาบน้ำ หรือกางเกงในหน้าเอ หน้าบี หน้าซี ก็มาออกรายการเสียอย่างนั้น แล้วผมมีช่วงหัวเถิกๆ อยู่นะ (หัวเราะ) ตอนนั้นเครียด ถึงขั้นต้องซื้อ hairpiece มาแปะ อันนี้ผมก็เขียนลงไปในหนังสือเลย คืออาจจะเป็นเพราะความไม่เน้นความเป๊ะของตัวเอง คนเลยรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย

 

ถ้าพูดจริงๆ ในฐานะผู้ชายคนหนึ่งมันทำให้เราหลงตัวเองนิดหนึ่งไหม แบบ สาวกรี๊ดกูละ

ใช้คำว่า ego แล้วกัน มันก็ต้องมี อันนี้ยอมรับ แต่เราพยายามรักษามันให้สมดุล แล้วผมก็เช็กตัวเองอยู่ เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ชอบตัวเองที่เป็นอย่างนั้น พอเราเริ่มหลงตัวเองเมื่อไร มันจะปิดโอกาสตัวเองในการเรียนรู้จากคนอื่นไปเยอะมาก ในต่างประเทศมันทำได้ง่ายกว่า เพราะเราเป็น nobody สุดๆ ขณะที่เมืองไทยเนี่ย พอยิ่งดัง มันโดน treat ในมาตรฐานที่สูงกว่าอยู่ตลอด แง่หนึ่งก็สบายดี แต่อีกแง่หนึ่ง เราก็ต้องเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่าอย่าไปเคยชินกับมัน หรืออย่าไป take it for granted ผมได้ของฟรีเยอะมาก สปอนเซอร์อะไรมาเยอะ เราก็ต้องเตือนตัวเองให้ยังรู้สึก grateful ทุกครั้งที่ได้มัน มากกว่ามองมันเป็นอภิสิทธิ์ของเราไปเลย เราอยู่ในสถานะที่โดนสปอยล์เยอะมาก เราต้องพยายามอย่าให้ตัวเองกลายเป็นคนสปอยล์ การออกไปลำบากข้างนอกและการเป็น nobody ข้างนอก มันก็ช่วยเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ รวมถึงการทำงานด้านสังคมต่างๆ ที่เราเอาเวลาบางส่วนไปทำ ก็เตือนตัวเองว่าเราต้องพยายาม give back ด้วยการทำงานที่มีคุณค่าขึ้นมา ถ้ามีเวลาเหลือเราก็อยากจะทำด้านอื่นด้วย

พอเราเริ่มหลงตัวเองเมื่อไร มันจะปิดโอกาสตัวเองในการเรียนรู้จากคนอื่นไปเยอะมาก

เรื่อง ego ผมว่าทุกคนที่มีชื่อเสียง มันต้องต่อสู้กับตรงนี้พอควร แต่อย่างน้อย มองมันเป็นการต่อสู้ที่ต้องลดมันลงมา มากกว่าไปกอดรัดมันว่า โอเค ฉันคูล ฉันเจ๋ง อะไรอย่างนี้

 

คุณอยากรวยแค่ไหน

ตอนนี้อยู่ดีๆ เราก็หาเงินได้แบบ เอาเป็นว่าไม่บอกตัวเลขชัดเจน แต่ก็ประมาณหลายแสนบาทต่อเดือน ซึ่งบางทีก็ไม่รู้จะไปใช้อะไร เพราะสิ่งเดียวที่ใช้ก็คือการเดินทาง แล้วการเดินทางมันมีสปอนเซอร์จากงบประมาณรายการอยู่แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้แล้วในเชิงการเงิน

 

แปลว่าเป็นคนไม่ได้ชอบ luxury life

ไม่ชอบ luxury เลย แล้วถ้าเราเริ่ม luxury เมื่อไร เราอาจจะเริ่มรู้สึกอี๋ตัวเองก็ได้ แต่ผมชอบของเล่นนะ ซึ่งของเล่นผู้ชายหลายๆ อย่างมันก็แพงนะ (ยิ้ม) เดี๋ยวนี้มันอาจจะไม่จำเป็นต้องเน้นว่าหรู แต่ว่ามันสนุก หรืออย่างมอเตอร์ไซค์ เราก็ต้องห้ามตัวเองไม่ให้ไปซื้อคันเป้งๆ เหมือนกัน ผมก็เป็นพวกชอบขี่มอเตอร์ไซค์ แต่โดยรวม เราไม่ได้อยากไปลงทุนในหุ้น หรือขยายงานให้มีเงินแบบร้อยล้าน ถ้าจะมีก็คงคิดเรื่องการดูแลคนใกล้ตัว เช่น แม่ ตอนนี้ เงินที่เราหาได้มันก็สามารถ cover ให้คนอื่นได้ด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง เป็นจุดที่เราค่อนข้างขอบคุณตัวเองที่พาตัวเองมาอยู่ตรงนี้ได้ ผมโชคดีที่มี passion กับงาน แล้วความสุขกับแรงกดดันคือสิ่งเดียวกันในชีวิต

 

อยากให้ผู้อ่านได้อะไรจากงานเขียนของเราบ้าง

ทุกงานที่เราทำ มันเริ่มจากคำถามเดียวก่อนเลยว่า อยากทำไหม แล้วก็ไปสู่จุดที่ทำเพื่อตัวเองก่อนจะคาดหวังว่าอยากให้ผู้อ่านได้อะไร เพราะฉะนั้นก็ตอบได้ว่า ผมไม่ได้คิดหรือคาดหวังในตอนแรกว่าผู้อ่านจะได้อะไร แต่หลังจากมันเสร็จออกมาเป็นเล่มแล้ว ก็หวังว่า หนึ่ง คือได้ความบันเทิง แล้วสอง อาจจะได้ความรู้สึกเหมือนเวลาที่เราอ่านงานเจ๋งๆ ของคนอื่นเขา เรารู้สึกแบบ โอ้โฮ โลกนี้มันน่าสนใจจังเลย อยากออกไปดูจังเลย

ถ้าสมมติว่างานของเราทำให้คนที่ได้อ่านเขาสนใจโลกกว้างขึ้น แล้วอยากออกไปหาคำตอบด้วยตัวเอง เราก็จะยินดีนะ เพราะเราเชื่อว่า การเดินทางเป็นหนึ่งในแง่มุมที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดในชีวิตของคนคนหนึ่งเท่าที่จะทำได้ แล้วทุกครั้งที่มีคนมาขอจับมือเราในพื้นที่ต่างๆ แล้วบอกว่า โอ้โฮ พี่ทำให้ผมอยากออกไปดูนู่นดูนี่ เราก็จะดีใจมาก เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้เขาไปหาคำตอบของโลกนี้ด้วยตัวเขาเอง มากกว่าการยินดียอมรับสิ่งที่คนอื่นบอกต่อกันมา

Tags: , , , , , ,