เมื่อปลายเดือนกันยายน เฮอร์ริเคนมาเรีย (Maria) ถล่มเปอร์โตริโกราบเป็นหน้ากลอง มาจนวันนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้อยู่ที่ 49 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 76 ราย (ข้อมูลเมื่อ 20 ตุลาคม 2017)

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของเปอร์โตริโกได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เปอร์โตริโกขาดแคลนน้ำสะอาดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พื้นที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเกาะขาดกระแสไฟฟ้า ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการการสื่อสาร

การที่ คาร์เมน จูลิน ครูซ (Carmen Yulin Cruz) นายกรัฐมนตรีเมืองซาน ฮวน (San Juan) วิพากษ์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ถึงการให้ความช่วยเหลือที่ล่าช้าของจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ถือเป็นคำวิจารณ์ที่เหมาะสมแล้ว เพราะในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังแสดงท่าทีที่จะระงับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ผ่านทวิตเตอร์ว่า “เราไม่อาจปล่อยให้สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) กองทัพ และอาสาสมัครกลุ่มแรกๆ ที่ทำผลงานได้น่าทึ่ง (ภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก) อยู่ในเปอร์โตริโกได้ตลอดไป!”

คำพูดที่ดูไร้มนุษยธรรมของทรัมป์ภายใต้ ‘สภาวะที่ยากลำบาก’ ในเปอร์โตริโกนี้ เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเป็นเสมือนการส่งสัญญาณให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดยักษ์ เข้าไปแสวงหากำไรในพื้นที่ประสบภัย

 

นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein) นักเขียนและนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism ถึงมาตรการเชิงนโนยายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในแง่ของการรักษาผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ที่เข้าไปมีบทบาทในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ที่ได้รับอาการ ‘ช็อก’ จากสงคราม

เช่น การให้กรรมสิทธิ์แก่บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน (Halliburton) บริษัทผู้ผลิตอาวุธสงคราม บริษัทก่อสร้างอย่างแบคเทิล (Bechtel) หรือแม้แต่บริษัททหารรับจ้างอย่างแบล็ควอเตอร์ (Blackwater) ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศอิรักหลังเหตุการณ์ 9/11 ด้วยภาษีของประชาชน

ไคลน์ยังเสริมอีกว่า แม้สหรัฐฯ จะห่างไกลจากสงคราม แต่พื้นที่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติก็สามารถตกเป็นเหยื่อของนโยบายการแปรรูปที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ อาทิ รัฐบาลอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนตลาดเสรีของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) อนุมัติการปรับโครงสร้างระบบโรงเรียนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในเมืองนิวออลีนส์ (New Orleans) ในนามของการประหยัดงบประมาณส่วนกลาง ส่งผลให้จำนวนโรงเรียนรัฐลดลงจาก 123 โรง เหลือเพียง 4 โรง ในขณะที่โรงเรียนในกำกับของรัฐ (charter school) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7 เป็น 31 โรง

คำพูดที่ดูไร้มนุษยธรรมของทรัมป์ภายใต้ ‘สภาวะที่ยากลำบาก’ ในเปอร์โตริโกนี้
เป็นเสมือนการส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเข้าไปแสวงหากำไรในพื้นที่ประสบภัย

ประเด็นเรื่อง ‘ทุนนิยมใต้ภาวะวิกฤติ’ (Disaster Capitalism) ที่ไคลน์ยกขึ้นมา ตอกย้ำให้เราเห็นว่า วิกฤติทางการเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้น (สงคราม) และวิกฤติทางธรรมชาติ (พายุเฮอร์ริเคน) ล้วนเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มทุนในการแสวงหากลวิธีในการหากำไรกับการเปิดตลาดใหม่ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประสบภัยต้องเป็นผู้เสียเปรียบเสมอ

ในขณะนี้ เปอร์โตริโกเองก็กำลังจะถูกตักตวงผลประโยชน์ภายใต้ทุนนิยมรูปแบบนี้ ทางเว็บไซต์ Recode รายงานว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเลย์ อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) อัลฟาเบ็ต (Alphabet – บริษัทแม่ของกูเกิล) เทสลา (Tesla) และ แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ได้เอื้อเฟื้อเทคโนโลยีที่ตัวเองมี เข้ามาช่วยทดแทนโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย

การให้ความช่วยเหลือในยามเกิดภัยพิบัติย่อมเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือของบริษัทข้างต้นดูจะเป็นการใช้ความเสียหายเชิงโครงสร้างพื้นฐานและความทุกข์ของมนุษย์ เป็นโอกาสทดลองและเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ เสียมากกว่า

เทสลา แจกจ่ายแบตเตอร์รีประจำบ้านรุ่น Powerwall หลายร้อยลูกให้แก่รัฐบาลเปอร์โตริโก ไม่แค่นั้น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทยังทวีตว่า เขายินดีที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซมระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท

สาเหตุที่ข้อเสนอของมัสก์และเทสลาฟังดูน่าเย้ายวน ไม่ใช่เพราะมัสก์เป็นนักเจรจาฝีปากเก่งกาจ แต่เป็นเพราะเปอร์โตริโกอยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากทุกๆ ฝ่าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติดูจะเป็นเหมือนประตูมหัศจรรย์ที่เปิดให้มัสก์ก้าวข้ามความล่าช้าและพิธีรีตรองของระบบราชการในสภาวะปกติ

ฝั่ง อัลฟาเบ็ต ก็ได้รับอนุมัติสิทธิบัตรการทดลองโปรเจคลูน (Project Loon) จากองค์กรบริหารคลื่นความถี่ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Federal Communications Commission – FCC) ให้ส่งบอลลูนกระจายคลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ตจำนวน 30 ลูกในเปอร์โตริโก เพื่อทดแทนโครงข่ายที่เสียหาย โดยทางอัลฟาเบ็ตจะต้องประสานงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ในเปอร์โตริโก ซึ่งต้องยอมรับว่า คงเป็นเรื่องยากที่เทคโนโลยีที่ยังไม่พร้อมใช้งานอย่างเป็นทางการของอัลฟาเบ็ตจะได้รับการอนุมัติสิทธิบัตรให้มาเก็บข้อมูลการจำลองการใช้งานจริงใต้ภาวะปกติ

ในส่วนของ แอร์บีเอ็นบี ก็อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ใช้บริการแอปฯ ของบริษัทเพื่อหาแหล่งพักพิงชั่วคราวโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ผู้ใช้ทุกคนจะต้องลงทะเบียนกับแอปฯ ราวกับบริษัทกำลังเตรียมผู้ประสบภัยเหล่านี้ให้คุ้นเคยกับรูปแบบธุรกิจดิจิทัลและสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปันเพื่อหวังกำไร

ส่วนบริษัทที่แสวงหาประโยชน์จากแรง “ช็อก” ของเฮอริเคนมาเรียได้ย่ำแย่ที่สุด คงจะหนีไม่พ้นเฟซบุ๊กและมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

เฟซบุ๊กเกทับความช่วยเหลือของบริษัทอื่นๆ
จนแทบจะทำหน้าที่แทนรัฐบาลกลางเสียด้วยซ้ำ

เฟซบุ๊กบริจาคเงินจำนวนกว่าหนึ่งล้านห้าแสนดอลลาร์ให้แก่องค์กรการกุศลต่างๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับ NetHope องค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานด้านเทคโนโลยีติดตั้งโดรน กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และร่วมมือกับองค์การกาชาด เพื่อสร้าง ‘แผนที่ประชากร’ เป็นฐานข้อมูลให้แก่องค์การฯ ในการกระจายความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรียกได้ว่า เฟซบุ๊กเกทับความช่วยเหลือของบริษัทอื่นๆ จนแทบจะทำหน้าที่แทนรัฐบาลกลางเสียด้วยซ้ำ และก็เป็นเรื่องยากที่จะมองบทบาทการให้ความช่วยเหลือของเฟซบุ๊กในเปอร์โตริโกด้วยสายตาที่เป็นกลาง เพราะซักเคอร์เบิร์กดูจะจงใจใช้ภาวะวิกฤติเพื่อเล่นการเมืองและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทอย่างเกินพอดี

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซักเคอร์เบิร์กสาธิตบริการ ‘ความจริงเสมือน’ (Virtual Reality) ผ่านบริการ Facebook Spaces app ที่ทำหน้าที่คล้าย “ห้องเสมือนจริง” เอื้อให้ผู้ใช้อุปกรณ์ VR ที่เชื่อมต่อกับบริการนี้ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตจริงร่วมกันได้ แม้ผู้ใช้จะอยู่ห่างกันเพียงใดก็ตาม

บริการนี้ เป็นเหมือนลูกผสมระหว่าง Miiverse ของบริษัท นินเทนโด และ Facebook Live ผู้ใช้บริการแอปนี้จะต้องมีอุปกรณ์ VR อย่าง Oculus Rift ของบริษัทเฟซบุ๊ก จากนั้นก็สร้างอวตาร (avatar) แทนตัวเองขึ้นมา คล้ายๆ กับเวลาผู้เล่นออกแบบตัวละครในวิดีโอเกม

อวตารของผู้ใช้แต่ละคนจะเข้าปฏิสัมพันธ์กันใน ‘ห้องเสมือนจริง’ ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ในเชิงทฤษฏีแล้วผู้ใช้ทุกคนจะเห็นภาพชุดเดียวกันในเวลาจริง

การสาธิตเป็นไปได้อย่างราบรื่นในเชิงเทคนิค ทว่าผลตอบรับทางสังคมถือว่าย่ำแย่มาก เพราะห้องเสมือนจริงที่ซักเคอร์เบิร์ก และ เรเชล แฟรงคลิน (Rachel Franklin) หัวหน้าทีม Social VR ผู้ร่วมสาธิต นำมาใช้ เป็นภาพความเสียหายตามสถานที่ต่างๆ ในเปอร์โตริโก

ซักเคอร์เบิร์กและแฟรงคลินปรากฏเป็นตัวการ์ตูนอวตารของตัวเอง มีแต่ท่อนบน ล่องลอยอยู่กลางอากาศ ทั้งสองใช้ ‘ลูกแก้วย้ายที่’ (transportation orb) วาร์ปผู้ใช้จากดาดฟ้าของบริษัทเฟซบุ๊กไปสู่พื้นที่ในเปอร์โตริโกที่จมลึกอยู่ใต้น้ำ ก่อนจะไปจบลงที่ดวงจันทร์ได้ในพริบตา

เรียกได้ว่าเทคโนโลยีนี้ขจัดระยะห่างในการเดินทางออกไปได้ทั้งหมดจนเหลือแค่จุดหมาย ในระหว่างที่สาธิตอยู่นั้น ทั้งสองก็สนทนาถึงมาตรการของบริษัทในการให้ความช่วยเหลือแก่เปอร์โตริโก ตลอดจนรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายและอนาคตของเทคโนโลยีเสมือนจริงของบริษัท

ซักเคอร์เบิร์กเน้นย้ำว่า คุณูปการของเทคโนโลยีเสมือนจริงคือการ ‘ให้ความรู้สึกว่าคุณอยู่ในที่นั้นจริงๆ’ แต่ปัญหากลับกลายเป็นว่า สิ่งที่ผู้ชมเห็นนั้นตรงกันข้ามกับภาพที่ซักเคอร์เบิร์กบรรยายไว้ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยู่ในสถานที่ที่ซักเคอร์เบิร์กและแฟรงคลินพาเราไปทัวร์ สิ่งที่เราเห็นคือ ซีอีโอและบุคลากรของบรรษัทข้ามชาติกำลังใช้ความเสียหายของเปอร์โตริโกเป็นห้องทดลองเทคโนโลยีตัวใหม่ โดยที่เขาไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ เสมือนว่า หายนะก็เป็น ‘ทรัพยากร’ ที่ขุดเอามาใช้ได้ในเชิงการตลาด ด้วยน้ำมือของนักล่าอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonist) ที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องยืนยันความชอบธรรมแทนคำสอนของพระเยซู

เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยู่ในสถานที่ที่ซักเคอร์เบิร์กและแฟรงคลินพาเราไปทัวร์ สิ่งที่เราเห็นคือ ซีอีโอและบุคลากรของบรรษัทข้ามชาติกำลังใช้ความเสียหายของเปอร์โตริโกเป็นห้องทดลองเทคโนโลยีตัวใหม่

ซักเคอร์เบิร์กเขียนคำขอโทษการสาธิตดังกล่าวผ่านคอมเมนต์บนโพสต์บนเฟซบุ๊กของเขาเอง โดยยืนยันเจตจำนงเดิมว่า “ฟีเจอร์ที่ทรงพลังที่สุดของ VR คือการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น” และ “VR สามารถช่วยสร้างความตระหนักให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจากหลายๆ มุมโลก” ก่อนเขาจะขึ้นเวทีงานประชุม Oculus Connect งานประชุมสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ VR ที่จัดขึ้นในอีกสองวันถัดมา เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Oculus Go อุปกรณ์ VR แบบพกพาที่ใช้งานได้โดยไม่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ พร้อมโปรเจ็กต์ซานตาครูซ (Project Santa Cruz) หรือ Oculus Rift รุ่นใหม่ที่ไร้สายและทรงพลังมากกว่าเดิม

ถ้าซิลิคอนแวลลีย์แสวงหาผลประโยชน์จากอาการ “ช็อก” จากภัยพิบัติทางธรรมชาติของเปอร์โตริโก ผู้บริโภคเทคโนโลยีอย่างเราๆ เองก็ต้องประสบภาวะ “ช็อก” ถึงสองครั้งสองครา

ครั้งแรกคือ การช็อกให้เรารู้สึกว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติของภาคเอกชนที่มักมาพร้อมกับการ “รื้อเพื่อพัฒนา” โครงสร้างพื้นฐานทั้งในเชิงสาธารณูปโภคและเชิงการเมืองเป็นเรื่องปกติ

ส่วนการช็อกครั้งที่สอง คือการช็อกให้เราศรัทธาในเทคโนโลยีอย่างไร้คำถามและข้อสงสัยต่อบริษัทผู้ถือกรรมสิทธิ์

เทคโนโลยี VR ของเฟซบุ๊กเรียกร้องให้เราใส่ใจกับภาพที่เราเห็นในเวลาจริง โดยละเลยประวัติศาสตร์อาณานิคมของเปอร์โตริโกที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของสเปนในรูปแบบอาณานิคมในอดีต และด้วยมาตรการทางการเงินของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

เจตนารมณ์ในการสร้างความตระหนักและเมตตาระหว่างเพื่อนมนุษย์ของซักเคอร์เบิร์กเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ซักเคอร์เบิร์กกำลังขอให้เรามีความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ผ่านเทคโนโลยีที่บริษัทของเขาเป็นเจ้าของ มากกว่าความเข้าใจมิติเชิงประวัติศาสตร์และสังคม

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

FACT BOX:

  • เปอร์โตริโก เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปน แต่เมื่อแพ้สงคราม จึงถูกยกดินแดนให้แก่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันถือเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา
  • เฮอร์ริเคน มาเรีย เข้าถล่มเปอร์โตริโกตั้งแต่เมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเฮอร์ริเคนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 85 ปี
Tags: , , , , , , , , , , ,