ในหนังสือ Unsettled: Cambodian Refugees in the New York City Hyperghetto (2015) เขียนโดย อีริก ตัง (Eric Tang) เล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัย (Refugees) ชาวกัมพูชาที่หนีสงครามเวียดนามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้ปกครองของรัฐบาลพลพต และย้ายเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ก่อนที่ตังผู้เขียนจะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเท็กซัส เขาเคยเป็นนักพัฒนาชุมชน เข้าไปทำงานและคลุกคลีกับชุมชนผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาในแถบบรองซ์ (Bronx)ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นถิ่นยากจนและอันตรายในนิวยอร์ก

ตังสัมภาษณ์ผู้หญิงชาวกัมพูชาที่ชื่อ ‘ราน’ กับครอบครัวของเธอ เพื่อย้อนเรื่องราวกลับไปตั้งแต่รานถูกจับเข้าค่ายแรงงานของเขมรแดง ถูกบังคับให้แต่งงานภายในค่ายและหลังจากเวียดนามล้มรัฐบาลพลพตแล้วเข้ายึดกัมพูชา ครอบครัวรานถูกทหารเขมรแดงจับไปเป็นตัวประกันในป่านานกว่าหนึ่งปี จนในที่สุดสามารถหนีข้ามชายแดนเข้ามาในค่ายผู้ลี้ภัยเขาอีด่าง จังหวัดสระแก้ว ในไทยได้สำเร็จ ภายหลังครอบครัวของเธอได้รับคัดเลือกให้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ โดยถูกกำหนดให้มาอาศัยในเขตบรองซ์ เมืองนิวยอร์กในช่วงต้นปี 1980

รานและผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาประมาณ 10,000 คน ถูกส่งมาให้อาศัยในชุมชนที่นักสังคมวิทยาชื่อ ลูอิช วัคคง (Loic Wacquant) เรียกว่า Hyperghetto ซึ่งหมายถึงชุมชนแออัดที่อยู่ในเมืองใหญ่ มีสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าชุมชนรอบข้าง Hyperghetto เป็นชุมชนที่เสมือนถูกตัดขาดจากโลกและสังคมภายนอกที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า คนที่อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคมเป็นสาเหตุที่กดทับคนเหล่านี้ให้ตกอยู่ภายใต้สภาพที่ถูกกักขัง ไม่สามารถหลุดพ้นจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้

ผู้อพยพชาวกัมพูชาถูกส่งให้เข้าไปอยู่ในอาคารรกร้าง เสื่อมโทรม ไม่มีสาธารณูปโภคที่เหมาะสม (บางอาคารไม่มีเครื่องทำความร้อน) ห่างไกลจากแหล่งงาน ชุมชน และโรงเรียน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เขตบรองซ์ถือเป็นชุมชนที่มีอาชญากรรมสูงและมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น รายได้และเชื้อชาติ

ตังเปรียบการย้ายถิ่นของคนกัมพูชากลุ่มนี้เสมือนกับการ ‘หนีเสือปะจระเข้’ เนื่องจากพวกเขาเพิ่งหนีจาก ‘สงครามจักรวรรดินิยม’ ที่ทำลายบ้านเกิดเมืองนอนในกัมพูชา และต้องมาผจญกับสงครามชนชั้นในชุมชนแออัดของสหรัฐฯ อีกต่อหนึ่ง สงครามจักรวรรดินิยมที่ตังกล่าวถึงก็คือสงครามเวียดนามที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีบทบาทโดยตรงในการทิ้งระเบิดลงกัมพูชาและลาว ทั้งยังแทรกแซงสนับสนุนฝ่ายการเมืองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้

มุมน่าสนใจที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอและโต้แย้งมีอยู่สามประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก หนังสือโต้แย้งว่าการเหมารวม (Stereotype) กลุ่ม ‘ผู้ลี้ภัยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ เช่น คนลาว คนม้ง และคนกัมพูชา ว่าเหมือนกันกับ ‘ผู้อพยพชาวเอเชียกลุ่มอื่น’ เช่น คนเชื้อสายจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพียงเพราะเป็นคนเอเชียเหมือนกัน กลับยิ่งปล่อยปละและละทิ้งผู้ลี้ภัยที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ

ความเชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาใหญ่ พวกเขาเชื่อว่าผู้ลี้ภัยสามารถผลักดันตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาพความย่ำแย่ในชุมชนแออัดของสหรัฐฯ ได้ในไม่ช้า แต่ที่จริงแล้ว ผู้อพยพ (Immigrants) ชาวเอเชียที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถยกระดับความเป็นอยู่หลังย้ายถิ่นเข้ามาในสหรัฐฯ ได้ไม่นาน มีความแตกต่างจากผู้ลี้ภัยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ต่างกัน และผู้อพยพชาวเอเชียตะวันออกไม่ได้ถูกผลักไสให้ไปอยู่ใน Hyperghetto

การส่งผู้ลี้ภัยให้ไปอยู่ใน Hyperghetto ในนิวยอร์กหรือในเมืองใหญ่อื่นๆ ทำให้ผู้ลี้ภัยเจออุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรม การไม่มีโรงเรียนและสิ่งแวดล้อมที่ดีทำให้ลูกหลานของผู้ลี้ภัยต้องถูกบังคับให้เติบโตอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการหางาน ทำให้เกิดกับดักความยากจน กลายมาเป็นชนชั้นที่ด้อยกว่าคนอเมริกันที่ยากจนที่สุด

ตังเห็นว่าที่ผ่านมา ทัศนคติของเจ้าหน้าที่กลับกลายเป็นตัวทำลายอนาคตของผู้ลี้ภัยเสียเอง เช่นไม่สนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง แต่ให้อดทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่เสื่อมโทรมและทำงานให้หนักแทน เพื่อจะได้หลุดพ้นจากโครงการสวัสดิการรัฐและออกจากชุมชนแออัด แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้จะทำงานหนักอย่างไรก็ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักนี้ไปได้

ประเด็นถัดมา หนังสือเล่มนี้แนะว่า สภาวะที่เกิดกับผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาในบรองซ์เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างการรับรู้ และทัศนคติเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ลี้ภัยมีคุณลักษณะอยู่สองอย่างคือ ความพิเศษ (Refugee Exceptionalism) และความชั่วคราว (Refugee Temporality)

เรื่องความพิเศษนั้น หมายถึงทัศนคติที่มองว่าผู้ลี้ภัยอยู่ในสถานภาพที่ไม่เหมือนใครเพราะหนีภัยสงครามมา จึงมีความอดทน ไม่บ่น ยอมรับได้ทุกสภาพการณ์ ฉะนั้น การย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ ยังดีกว่าอยู่ในภาวะสงครามหรือค่ายผู้ลี้ภัย

ส่วนเรื่องความชั่วคราว หมายถึงทัศนคติที่ว่าผู้ลี้ภัยจะหลุดพ้นจากบรองซ์ได้ในไม่ช้า ทำให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรผู้ลี้ภัยจัดหาสถานที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราวๆ คือแย่ๆ ให้อยู่ไปก่อน

ตังโต้แย้งว่ารัฐมีการจัดการผู้ลี้ภัยด้วยวิธีการที่คล้ายคลึงกับการ Planned Shrinkage ซึ่งถูกคิดค้นโดย RAND องค์กรวิจัยด้านนโยบายของสหรัฐฯ วิธีการคือรัฐจะตัดงบสนับสนุนต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้ชุมชนเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เพื่อกดดันให้กลุ่มคนผิวดำต้องย้ายออกจากพื้นที่นั้นๆ ซึ่งตังคิดว่าการปฎิบัติต่อผู้ลี้ภัยบ่งบอกถึงการใช้เทคนิคเดียวกันในการจัดการกับกลุ่มคนผิวดำที่ยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกว่า underclass ในสังคมอเมริกัน

ประเด็นสุดท้าย ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าผู้ลี้ภัยขี้เกียจและมีลูกเยอะจึงยากจน แต่จากประสบการณ์ของครอบครัวราน พวกเขาไม่เคยหยุดทำงาน เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนา อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทาสก็เติบโตเป็นดอกเห็ดตามไปด้วย เช่นเดียวกันกับแรงงานทาสใน Hyperghetto ในเขตบรองซ์ ชาวกัมพูชาใช้อพาร์ตเมนต์ของตัวเองเป็นโรงงานนรก (Sweatshop) ประกอบและผลิตสินค้า เช่น เข็มขัดและยางรัดผมเด็ก เพื่อส่งพ่อค้าคนกลางในไชนาทาวน์ที่รับออเดอร์มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อีกต่อหนึ่ง ที่น่าแปลกใจคือ พวกเขาต้องเย็บป้าย Made in China บนสินค้าที่ผลิตภายในอพาร์ตเมนต์ในเขตบรองซ์ นิวยอร์ก

ตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่ใน Hyperghetto รานกับลูกๆ ของเธอต้องทำงานตั้งแต่เช้าจรดกลางคืนเหมือนกับครอบครัวชาวเขมรครอบครัวอื่นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถหารายได้เพียงพอที่จะปลดปล่อยตัวเองให้ออกจากระบบความช่วยเหลือของรัฐได้ กฎหมายสวัสดิการฉบับปฏิรูปปี 1996 ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า คนที่มีสิทธิ์รับเงินสวัสดิการจากรัฐจะต้องทำความสะอาดถนน สวนสาธารณะ และสถานที่ราชการ อย่างน้อย 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งกลุ่มผู้ลี้ภัยคิดว่าเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้ช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน แต่ถูกบังคับให้ต้องทำงานที่มีรายได้น้อย (เมื่อเทียบกับการออกไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รอบนอกเมืองนิวยอร์ก) ตังจึงโต้แย้งว่าระบบสวัสดิการกลับกลายเป็นกับดัก (Welfare Trap) ให้ผู้ลี้ภัยถูกใช้เป็นแรงงานราคาถูก

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเพิ่ม เพราะคิดว่าเป็นภาระแก่สังคมอเมริกัน องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยก็ถูกตัดเงินงบประมาณ จึงเดาไม่ออกเลยว่านโยบายต่อต้านผู้อพยพของทรัมป์จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กและใหญ่ ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งทำให้ผู้ลี้ภัยต้องทนอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘สถานภาพพิเศษ’ และ ‘ความชั่วคราว’ นานขึ้นหรือหนักหนาไปกว่าเดิมหรือไม่ ที่ผ่านมานักพัฒนาชุมชนและลูกหลานของผู้ลี้ภัยได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรพัฒนาชุมชนขึ้นมาเช่น แม่โขงนิวยอร์ก (Mekong NYC) เพื่อเรียกร้องสิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย การปรับปรุงการบริการและการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ และการปฏิรูประบบสวัสดิการ เป็นต้น หรือองค์กรในรัฐอื่นๆ เช่น Freedom Inc. ในเมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซินที่ให้ความช่วยเหลือชาวม้งและคนแอฟริกัน-อเมริกันที่มีรายได้น้อย

เมื่อพิจารณาจากสภาวะการณ์การเมืองอเมริกันในปัจจุบัน ประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างและทัศนคติต่อผู้ลี้ภัยที่หนังสือ Unsettled วิเคราะห์ไว้ ความร่วมมือภายในชุมชนและกลุ่มเยาวชนน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนผู้ลี้ภัยในขณะนี้

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

Tags: , , , , , , , , , ,