เครื่องบินกำลังลดระดับ ทำให้เราได้เห็นถึงความเขียวชะอุ่มของภูมิประเทศ เรากำลังเข้ามาสู่เมวาร์ (Mewar) ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของราชาสถาน รัฐภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เครื่องแตะพื้นสนามบินราวห้าโมงเย็น กับบรรยากาศฤดูฝนในปลายเดือนสิงหาคม ลมเย็นกำลังดีปะทะเข้ามาที่หน้า เป็นการต้อนรับที่น่ายินดี

ถึงแล้ว-อุทัยปุระ (Udaipur) เมืองที่ได้ชื่อว่าโรแมนติกที่สุดของอินเดีย หรือเรียกกันในอีกชื่อว่า City of Lakes ด้วยเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งโอบล้อมทะเลสาบ

สนามบินอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 20 กิโลเมตร ทางเลือกที่ดี ถูก และปลอดภัยที่สุดจึงเป็นการเรียก Uber ไม่ต้องคิดมากเพราะที่นี่ถูกกฎหมาย ถนนสายหลักที่มุ่งสู่ตัวเมืองดูสะอาดสะอ้าน และสองข้างทางเขียวขจี ผิดกับดินแดนทะเลทรายทางตอนเหนือของรัฐโดยสิ้นเชิง รถแล่นไปโดยที่หน้าต่างเปิดอยู่และไม่เปิดแอร์ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกขัดใจอะไรมากเพราะอากาศเย็นสบายไม่ได้ร้อนอบอ้าวเหมือนบ้านเรา และการไม่เปิดแอร์ในรถก็เป็นธรรมดาของที่นี่ คนขับรถที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงนักก็เป็นมิตรอยู่ไม่น้อย พยายามชี้ให้ดูภูเขาลูกโน้นนี้ แถมยังใจดีจอดพักเป็นช่วงๆ เวลาที่เห็นฉันพยายามถ่ายรูปวิวสองข้างทาง แล้วสายฝนก็ค่อยๆ โปรยลงมา

ราวหกโมงเย็นเราเริ่มเข้าเขตเมือง ฝนตกหนักขึ้นและน้ำนองเป็นแอ่งตามถนน งานนี้คนที่น่าสงสารคือแทบจะทุกคนที่ไม่ได้นั่งอยู่ในรถมีประตูหน้าต่าง ทั้งคนเดินถนน พ่อค้าข้างทาง คนขับมอเตอร์ไซค์ และคนขับริคชอว์ (สามล้อเครื่องคล้ายตุ๊กตุ๊กบ้านเรา) เป็นที่ขึ้นชื่อกันดีเรื่องมารยาทบนท้องถนนของอินเดีย ที่นอกจากเรื่องบีบแตรแล้ว ยังเหยียบแรงและปาดหน้ากันไม่ยั้ง น้ำกระจายสาดใส่กันยิ่งกว่าสวนน้ำพุ และสิ่งที่กระเซ็นสาดตามมาก็คือเสียงด่าซึ่งกันและกัน แต่คนดูอย่างฉัน ที่ฟังก็ไม่รู้ภาษา บางทีก็อดสงสารปนขำไม่ได้

จากนั้นไม่นานเราก็เข้าสู่ใจกลางเมือง รถแล่นผ่านทะเลสาบ กับสายฝนเม็ดเบาๆ แค่นี้ก็เข้าใจแล้วว่าความโรแมนติกของเมืองนี้คืออะไร และก็เป็นโชคดีอย่างมากที่ฝนเริ่มซาตอนไปถึงที่หมาย เพราะโฮสเทลที่จองไว้ตั้งอยู่บนเนินเขาน้อยๆ ที่จะมองลงมาเห็นทะเลสาบ แต่รถขึ้นไปไม่ถึงซึ่งก็หมายถึงว่าจะต้องเดิน

ที่พักของเราชื่อ Zostel เป็นโฮสเทลยอดฮิต (คนอินเดียว่ามา) ที่มีสาขาอยู่หลายเมืองทั่วประเทศ พอไปถึงรีเซปชันฉันต้องแอบตกใจเบาๆ เมื่อพบว่าห้อง 8 Bed Mixed Dorm ที่จองนั้นมีคนเข้าพักอยู่แล้ว 6 คนและเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ทีแรกเราอยากเลือกแบบที่เป็น Female only หรือหญิงล้วน แต่มันเต็ม เจ้าหน้าที่รีเซปชันเลยเสนอทางเลือกมาให้ คือเป็น 6 Bed Mixed Dorm ที่มีผู้หญิงพักอยู่ 3 คนกับผู้ชายอีกหนึ่ง นั่นฟังดูค่อยยังชั่ว แต่ก็ต้องยอมอดเห็นวิวทะเลสาบจากห้องพักไป

หลังเข้าห้องพัก อาบน้ำ และพักผ่อนเป็นที่เรียบร้อย ฝนยังพรำอยู่ไม่ลดละ พระอาทิตย์ก็ตกแล้ว การออกไปข้างนอกตอนนี้คงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี ฉันจึงขึ้นไปสั่งอาหารเย็นที่ร้านอาหารบนชั้นดาดฟ้า และได้พบกับ Arshita และ Sagarika นักศึกษาออกแบบแฟชั่นจากเมืองอะไรสักอย่างที่ฉันไม่สามารถจำชื่อได้ สองสาวมานั่งร่วมโต๊ะและช่วยเปิดโลกอินเดียในวันแรกให้ พวกเธอเป็นเพื่อนซี้ในมหาวิทยาลัยและออกมาเที่ยวด้วยกันเป็นครั้งแรก พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่เรียนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษกันตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน แต่สำเนียงและสปีดเร็วปรื๊อของสองสาวก็เล่นเอาฉันงุนงง ได้แต่พยักหน้าเออออเหมือนว่าเข้าใจไปหลายครั้ง และด้วยความที่ทั้งคู่จะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นเพราะมีเรียนในวันถัดไป ทั้งสองจึงชวนฉันไปเดินช็อปปิ้งและดูสีสันเมืองยามค่ำคืน ดูเหมือนฝนจะหยุดแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ควรปฏิเสธ

ถนนสายเล็กในย่าน Jagdish Chowk เต็มไปด้วยร้านค้าเล็กๆ มากมายที่ขายสินค้าพื้นเมืองน่าสนใจ ผ้าพิมพ์ลาย กล่องเครื่องใช้ กระเป๋า งานฝีมือต่างๆ ที่แม้แต่คนอินเดียยังตื่นเต้น นับประสาอะไรกับคนไทยบ้างานฝีมืออย่างฉัน มันละลานตาไปหมดจนต้องตั้งสติ

จากนั้นเราเดินต่อไปยัง Gangaur Ghat ท่าน้ำหลักของทะเลสาบ Pichola แวะคาเฟ่เล็กๆ ริมน้ำชื่อ Hello Boho พร้อมกับสั่งของหวานชื่อว่า ‘Say hello to the Queen’ มันคือไอศกรีม กล้วย ช็อกโกแลต ถั่วและแคร็กเกอร์บดผสมอยู่ในจานเดียวกัน นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ลิ้มของหวานเมนูร่วมสมัยในอินเดีย และนับว่าไม่เลวเลย เพราะหากใครเคยลิ้มลองของหวานสไตล์ดั้งเดิมของอินเดียมาก่อน คงเข้าใจว่าไม่เป็นมิตรกับระดับน้ำตาลในเลือดเอาซะเลย แต่ก็นั่นล่ะ อย่าลืมดื่มน้ำตามเยอะๆ

ตื่นเช้าวันถัดมา สองสาวเช็คเอาท์ไปแล้ว วันนี้จึงเหลือเพียงฉันเดินเท้าไป City Palace ตามลำพัง พระราชวังแห่งนี้อยู่ห่างจากที่พักเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ตั๋วค่าเข้าราคา 300 รูปี หารสองคิดเป็นเงินไทยคร่าวๆ ก็ตกราว 150 บาท ว่ากันว่าเป็นพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในราชาสถาน สร้างโดย Maharana Udai Singh เมื่อปี พ.ศ. 2102 ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ มีไกด์ท้องถิ่นนำชม และ Audio guide ให้เช่า แต่สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ขอเลือกเพียงการรับชมความสวยงามของพระราชวังเป็นพอ

เข้าไปแล้วไม่ผิดหวังในความยิ่งใหญ่อลังการ แต่ละห้องแต่ละชั้นมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาพวาด จิตรกรรมบนผนัง และกระจกสี ด้านบนยังมีมุมสำหรับชมวิวทะเลสาบและเมืองโดยรอบอีกด้วย นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยทั้งชาวอินเดียเองและชาวต่างชาติต่างเข้ามาไม่ขาด ทำให้ยากต่อการถ่ายรูปไปบ้าง แต่บางครั้งก็พลอยได้ฟังคำบรรยายฟรีจากไกด์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวข้างๆ

หลังจากใช้เวลาตลอดครึ่งเช้าไปกับการเดินเล่นชมพระราชวัง ก่อนจะคิดว่าช่วงบ่ายควรไปไหนต่อดี ก็ถึงเวลาหาอะไรรองท้อง ด้านหน้าซิตี้ พาเลซมีร้านค้าและร้านอาหารอยู่พอสมควร และหากเดินตามซอยเล็กๆ ด้านซ้ายเข้าไปจะพบกับร้าน Sri Nath Masala Dosa ที่มีคนแนะนำใน Tripadviser เมนูเด็ดของที่นี่ก็คือ Dosa ตามชื่อร้านเลย เป็นอาหารอินเดียใต้ หน้าตาและรสชาติก็คล้ายๆ เครปญี่ปุ่นที่ขายในบ้านเรา เป็นแป้งทอดเนื้อเนียนแผ่นบางๆ กรอบ ๆ ใส่ไส้แล้วแต่จะเลือก เมนูก็มีภาษาอังกฤษให้เข้าใจ เราสั่งเป็น Butter Cheese Dosa ก็อร่อยดี เสิร์ฟกันอุ่นๆ จากเตาและดูสะอาด น่าจะปลอดภัยต่อกระเพาะ

ตอนบ่ายฉันเรียกอูเบอร์ไปที่ Shilpgram ออกเสียงไทยฟังดูคล้ายคำว่า ‘ศิลปกรรม’ แต่แท้ที่จริง คำว่า ‘gram’ นั้นแปลว่าหมู่บ้านหรือ ‘คราม’ นั่นเอง ที่นี่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่รวบรวมร้านค้างานฝีมือท้องถิ่นของรัฐราชาสถานผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาขายในแต่ละช่วง มีทั้งเครื่องประดับ ภาพวาด งานดินเผา แต่ด้วยความที่ช่วงนี้เป็น low season และฝนยังตกอย่างต่อเนื่อง จึงค่อนข้างเงียบเหงา มีร้านค้าเพียงไม่กี่ร้าน ซึ่งทุกร้านพยายามชี้ชวนให้เข้าไปชมการสาธิตวิธีการทำต่างๆ ทั้งวาดรูปและถักเส้นด้าย ในที่สุดฉันก็ได้ตุ้มหูถักมาหลายคู่พร้อมด้วยเล็บเพนท์ลายนกยูงในสนนราคาน่ารักทีเดียว

หลังจากถูกดูดโดยงานคราฟต์อยู่พักใหญ่ ก็ถึงเวลาชมการแสดงที่กำลังจะเริ่มขึ้น นักแสดงแต่งตัวจัดเต็มด้วยเสื้อผ้าสีสดใส ผ้าโพกหัว และกำไรข้อเท้ากรุ๊งกริ๊ง ระหว่างดูใจนึกอยากหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูป แต่เกรงจะเสียค่าทิป จึงได้แต่นั่งดูอย่างเสียดาย จนการแสดงใกล้จบถึงนึกขึ้นได้ว่า เราเสียตังค์ค่าเข้าชมแล้วนี่นะ ทำไมจะถ่ายไม่ได้ แต่นั่นก็ช้าเกินไป

กลับมาย่านทะเลสาบ Pichola อีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่เขาว่าต้องทำเมื่อมาที่เมืองนี้คือการนั่งเรือชมทะเลสาบ ซึ่งน่าจะสวยและโรแมนติกมากในยามพระอาทิตย์ใกล้ตกเช่นนี้ แต่เฮลโหลนี่ฤดูฝนค่ะ ฟ้ามืดมัวหม่นอย่างนี้ แทนที่จะโรแมนติกเกรงว่าถ้าขืนนั่งเรือเอาตอนนี้จะหดหู่จนเอาหัวจุ่มทะเลสาบซะก่อน เช่นเดียวกับ Monsoon Palace พระราชวังบนยอดเขาที่ใครๆ ต่างแนะนำให้ไปชมพระอาทิตย์ตก ฟ้าขมุกขมัวแบบนี้ควรพับแผนเก็บไปเลย การเดินเล่นรอบๆ เมืองน่าจะดีที่สุด พรุ่งนี้เช้าค่อยมาวัดใจฝนฟ้าอุไดปูร์กันอีกหน

ฉันเดินไปแถว Ambrai Ghat ท่าน้ำและสวนสาธารณะเล็กๆ ที่คนนิยมมานั่งเล่นกันยามเย็น มองตรงไปจะเห็นซิตี้ พาเลซตั้งอยู่ริมทะเลสาบฝั่งตรงข้าม นับเป็นมุมชั้นเลิศที่จะได้ชื่นชมความงามของ City of Lakes จริงๆ

เช้าวันถัดมา ถึงฟ้าจะไม่ใสสมใจยากแต่ก็สว่างมากเพราะว่าสายแล้ว และฉันก็ได้เพื่อนไปนั่งเรือชม Pichola นางคือ Fabrizio รูมเมทชาวอิตาลีที่รู้จักกันเมื่อวาน เราเดินไปที่ Lal Ghat เพื่อซื้อตั๋วนั่งเรือที่ถูกราคากว่าการขึ้นเรือที่ซิตี้ พาเลซเกือบครึ่ง โดยอยู่ที่หัวละ 250 รูปีในเวลาแดดจ้าเช่นนี้ และ 300 รูปีสำหรับช่วงหลังสี่โมงเย็นเป็นต้นไป และนับเป็นโชคดีของเราที่ได้ขึ้นเรือกับครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่น่ารัก ไม่โหวกเหวกอย่างที่หวั่นใจ แถมยังหันมาชี้และแนะนำสถานที่ต่างๆ

ทะเลสาบแห่งนี้สร้างขึ้นมาโดยฝีมือมนุษย์เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ราว พ.ศ. 1362 เพื่อช่วยในการขนส่งและแก้ปัญหาความแห้งแล้ง และสิ่งก่อสร้างสวยหรูกลางน้ำนั้นคือ Jag Niwas และ Jag Mandir สองพระราชวังเก่าที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโรงแรมสุดหรู

วังสวยๆ ลมเย็นๆ กับวิวภูเขาด้านหลังทะเลสาบ ถึงแม้แดดจะร้อนไปบ้าง แต่นี่ก็เรียกได้ว่าตอบทุกโจทย์แห่งการพักผ่อน เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดในอินเดีย เข้าใจแล้วทำไมต้องมาอุไดปูร์

FACT BOX:

  • การเดินทางมาอุไดปูร์ มาได้หลายวิธีทั้งรถบัส รถไฟ และเครื่องบิน สำหรับรถบัสจองตั๋วได้ตามเอเย่นต์ในเมืองท่องเที่ยวทั่วไป ราคาขึ้นอยู่กับระยะทางและประเภทรถ
  • หมุดหมายของเมืองส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับ City Palace ถ้าเลือกที่พักย่านนั้นก็สามารถเดินถึงกันได้หมด ถ้าเดินทางไปนอกเมือง เช่น Monsoon Palace หรือ Shilpgram แนะนำให้เรียกอูเบอร์ เพราะถูกว่าริคชอว์และไม่ต้องเสี่ยงกับการโก่งราคาค่าโดยสาร
Tags: , , , , , ,