แคราย บางครั้งก็ต้องแคร์บ้าง

ถอนหายใจในรถไม่รู้กี่ครั้ง เหยียบเบรกซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามหลังแถบไฟสีแดงท้ายรถที่เรียงรายอยู่ด้านหน้า เจอตัวเลขนับถอยหลังหลักร้อยก็ได้แต่นั่งฟังเพลงรอ ขอให้เจอโชคดีในสี่แยกไฟแดงหน้ากับเขาบ้าง

หลายครั้งเราเห็นชื่อโลเคชันขำๆ สำหรับเช็กอิน อย่าง ‘แยกแคราย แยกที่เราสามารถกินข้าวแต่งหน้าได้บนรถ’ หรือ ‘แยกอโศก-เพชรบุรีตัดใหม่ ที่มีไฟเขียวแค่ 3 วินาที’ ที่ทำให้ขำตาม

 

 

แต่พอถึงเวลาเร่งด่วนจริงๆ การจราจรที่ติดขัดไม่ใช่เรื่องตลก เพราะในขณะที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยเวลาที่คนต้องเสียไปกับรถติดเป็นอันดับ 11 ของเมืองทั้งโลก ตาม INRIX TRAFFIC SCORECARD RANK 2016 ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องใช้เวลาราว 33 เปอร์เซ็นต์ของการขับขี่ในชั่วโมงเร่งด่วนติดอยู่ในการจราจรที่ติดขัด ในขณะที่มองภาพรวมในระดับประเทศ (หมายความว่าไม่ได้วัดแยกตามเมือง) ค่าเฉลี่ยนี้ ไทยกลับครองแชมป์อันดับหนึ่งของโลก แซงโคลัมเบียและอินโดนีเซีย อีกสองประเทศอันดับต้น

ที่ว่าไม่ใช่เรื่องตลกและไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ เพราะว่าปัญหารถติด ไม่ได้ทำให้แค่หงุดหงิดอารมณ์เสีย แต่คือความเสียหายในระดับประเทศ เพราะในปี 2016 คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางนานขึ้น 35 นาที เมื่อคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสที่จะใช้เวลานี้ไปสร้างรายได้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ออกมาเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ คือประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี

นี่ยังไม่รวมค่าเชื้อเพลิงที่สูญเสียไปในระหว่างรถติดเครื่องรอในขบวนทัพรถที่ยาวเป็นหางว่าว ทั้งเร่งและเบรกสลับกันไป ความร้อนจากเครื่องยนต์และท่อไอเสียที่สะสมก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคนเดินถนนและผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบบริเวณที่การจราจรคับคั่ง ทั้งที่เชื้อเพลิงซึ่งเผาผลาญไปนั้นไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นเลยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่แม้จะถอนหายใจแรงแค่ไหน ก็ไม่อาจสลัดกลิ่นควันไปจากปลายจมูก

 

รถเยอะเกินไปใครก็รู้

นับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2017 จำนวนรถจดทะเบียนสะสมที่เป็นป้ายทะเบียนกรุงเทพฯ เพียงลำพังก็ปาเข้าไปเก้าล้านกว่าคันแล้ว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.6 แสนคันต่อปี ขณะที่ถนนก็รองรับได้จำกัด จริงอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ทุกคันจะออกมาวิ่งพร้อมกัน แต่จำนวนนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณรถมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับปัญหาการจัดการเส้นทางจราจรที่ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะการวางผังเมืองแต่แรกเริ่มซึ่งประกอบไปด้วยกิ่งก้านของถนนแตกแขนงไปมากมาย ไม่ได้วางแผนรองรับการเดินทางของคนจำนวนมหาศาล ยากที่จะจัดเส้นทางขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม แล้วอย่างนี้ รถจะไม่ติดได้อย่างไร

 

 

ใครๆ พูดกันว่าเราเดินทางมาสู่ยุคทำงานแบบไร้สาย จะทำงานที่ไหนก็ได้ เหมือนกับที่นอร์แมน มาเคร (Norman Macrae) ผู้สื่อข่าวจาก ดิ อีโคโนมิสต์ เคยทำนายไว้อย่างหาญกล้าในปี 1975 ว่า ต่อไปคนจะไม่ต้องเดินทางมาทำงานแบบเจอหน้ากันอีกแล้ว เพราะติดต่อสื่อสารได้หลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เน็ต

แต่ข่าวร้ายที่เราประสบอยู่ในปี 2017 ก็คือ หลายเมืองไม่ได้เป็นเช่นนั้น แถมรถยังติดสาหัสยิ่งกว่าเดิม เพราะการผงาดของยุคคอมพิวเตอร์ยิ่งทำให้บริษัทต่างๆ ทำกำไรมหาศาล และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาทำงาน (และใช้ชีวิต) ในเมืองใหญ่มากขึ้นทุกวัน แถมในทางสังคมศาสตร์ก็มองว่า การทำงานแบบพบหน้าพูดคุยกันยังเป็นเรื่องจำเป็น งานวิจัยชิ้นหนึ่งสำรวจพบว่า พนักงานจะสามารถทำงานที่ซับซ้อนได้ดีกว่าเมื่อได้ทำด้วยกันตรงหน้า แทนที่จะรับ-ส่งอีเมล และเรา ในฐานะมนุษย์ ก็ยังต้องการความผูกพันทางอารมณ์ร่วมกัน เพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และความเป็นทีมเวิร์ก

นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่บริษัทหลายแห่งยกเลิกนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน แล้วกลับเข้าสู่ชีวิตสำนักงาน ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณว่าปัญหารถติดจะไม่หมดไปด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารแน่ๆ

 

แต่เทคโนโลยีก็ยังเป็นฮีโร่

แม้วิดีโอคอลหรือสารพัดแอปฯ ติดต่อสื่อสารจะยังไม่ช่วยแก้ปัญหาการเดินทาง แต่การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้กับท้องถนนโดยตรงอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง

ในลอนดอนมีการนำเอาเทคโนโลยี SCOOT (Split Cycle Offset Optimisation) มาวิเคราะห์สภาพการจราจรทั่วเมืองแบบเรียลไทม์ เพื่อปรับสัญญาณไฟจราจรจำนวน 6,000 กว่าเครื่องให้ตรงตามสภาวะการจราจรในเส้นทางต่างๆ และไม่เพียงแค่ตอบสนองต่อคนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ไฟเหล่านี้จะถูกปรับจากการวิเคราะห์ปริมาณคนเดินเท้าและขี่จักรยาน รวมทั้งปรับสัญญาณให้รถประจำทางได้ไปก่อนในจุดที่จำเป็น

อีกเทคโนโลยีที่สำคัญจากเอกชนก็คือแอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถรับ-ส่งอย่าง Uber ที่ทำให้คนในยุคใหม่เห็นว่าความจำเป็นในการมีรถในปัจจุบันนี้น้อยลง และวางแผนการเดินทางโดยใช้รถยนต์แบบแบ่งกันใช้มากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลการเดินทางมหาศาลที่แอปฯ รวบรวมเอาไว้ก็ทำให้มองเห็นภาพรวมของการเดินทางในเมือง และสามารถกำหนดสถานที่และเวลาที่คนต้องการใช้รถปริมาณมากได้อย่างแม่นยำและทำให้มีผู้ให้บริการในจุดนั้นมากพอ ซึ่งอาจช่วยลดความกังวลของผู้ใช้ที่ต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในการเรียกรถในท้องถนน

 

 

นอกจากนี้ในบางเมืองใหญ่ๆ ที่มีปัญหาการจราจรมาก เช่น กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ข้อมูลการเดินทางที่ไม่ได้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลยังถูกนำไปใช้เผยแพร่ให้รัฐและเอกชน เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันวิเคราะห์สาเหตุของการจราจรติดขัดตามพื้นที่ต่างๆ ของเมืองอีกด้วย

การที่ผู้บริหารเมืองและบรรดาธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยคำนึงถึงคนใช้รถใช้ถนนในรูปแบบอื่น อย่างคนเดินเท้า คนใช้จักรยาน หรือคนที่เดินทางด้วยยานพาหนะอื่น นอกจากรถส่วนบุคคล ก็อาจทำให้คนเราหันมาใช้การเดินทางในระบบรางและรถประจำทางมากขึ้น ครอบครองรถกันน้อยลง โดยมีระบบแบ่งปันรถกันใช้ (ride sharing) และระบบเรียกรถยนต์บริการรับ-ส่ง (ride-hailing) เป็นเสมือนส่วนเติมเต็มในจุดที่รถประจำทางไปไม่ถึง ไม่แน่ว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น แม้เรายังคงต้องเดินทาง แต่เราจะเดินทางกันอย่างคล่องตัวกว่าเดิม

อ้างอิง :
http://inrix.com
http://www.thansettakij.com
https://data.go.th
http://www.bbc.com
https://www.citylab.com
https://tfl.gov.uk

Tags: , , , ,