The Red Turtle เป็นการร่วมงานกันระหว่างบริษัท Wild Bunch จากประเทศเยอรมนี กับ Studio Ghibli ของญี่ปุ่น โดยให้ผู้กำกับชาวดัตช์ที่ชื่อว่า ไมเคิล ดูด็อก เดอ วิต (Michael Dudok de Wit) ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันสั้นยอดเยี่ยมในปี 2000 มาทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ ซึ่งทางบริษัท Wild Bunch เอง ก็ได้เข้ามาพูดคุยกับทาง Studio Ghibli ตั้งแต่ปี 2008 เกี่ยวกับผลงานเรื่อง Father & Daugther ของผู้กำกับคนนี้ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงทำภาพยนตร์แอนิเมชันร่วมกัน (featured film) โดยทาง อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) หนึ่งในผู้ก่อตั้งที่เหลืออยู่ ผู้เคยฝากผลงานไว้กับ Grave of the Fireflies ก็ได้รับมอบหมายให้มาดูแลทางด้านการออกแบบเชิงศิลป์และทิศทางของภาพในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้

ถึงแม้จะใช้ทีมวาดและทีมงานที่เกี่ยวกับศิลปะทั้งหมดเป็นคนญี่ปุ่น แต่ The Red Turtle กลับเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่มีความเป็นตะวันตก และไม่มีเค้าโครงของเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น หรือ Studio Ghibli อยู่ในนั้นเลย ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ ไมเคิล ดูด็อก เดอ วิต ตั้งแต่ต้น แม้ว่าตัวผู้กำกับเองจะเป็นแฟนของ Studio Ghibli ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ภาพ หรือรูปแบบการเล่าเรื่อง โดยการออกแบบของตัวละครได้เน้นไปที่การออกแบบตัวละครอย่างตะวันตก ทั้งการคิดและการเคลื่อนไหวแบบฝรั่ง และให้ตาของตัวละครเป็นเพียงแค่จุดสีดำๆ แบบเรียบง่ายเท่านั้น

การชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จึงดูคล้ายกับการเปิดดูนิทานภาพที่วาดด้วยสีน้ำ ค่อยๆ เล่าเรื่องด้วยภาพทีละภาพอย่างช้าๆ แต่เข้าใจ แล้วทำให้เราค่อยๆ ซึบซับไปกับอารมณ์เนื้อเรื่อง

เรื่องราวของ The Red Turtle เล่าถึงชายนิรนามคนหนึ่ง ที่ได้ประสบกับเหตุการณ์เรืออับปาง แล้วถูกคลื่นซัดมาติดเกาะร้างแห่งนี้ที่มีเพียงแค่ป่าไผ่และสัตว์ต่างๆ เมื่อเขาตื่นขึ้นมา ชายคนนั้นก็ได้สำรวจเกาะ แล้วดำรงชีวิตด้วยการเก็บผลไม้กิน ก่อนที่เขาจะพยายามสร้างแพจากไม้ไผ่ เพื่อหนีไปจากเกาะร้างแห่งนี้ แต่แล้วความพยายามของเขาก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับเต่าสีแดง แล้วเรื่องราวของชีวิตบนเกาะก็ได้เปลี่ยนไป

The Red Turtle ใช้การดำเนินเรื่องด้วยความเงียบของตัวละคร ท่ามกลางการถูกห้อมล้อมไปด้วยเสียงของธรรมชาติที่ถูกบันทึกเสียงมาอย่างดี รวมไปถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีผลต่ออารมณ์เป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จะไม่มีบทพูด แต่การกระทำของตัวละครกลับสามารถสื่อสารกับความรู้สึกของเราได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสไตล์ถนัดของ ไมเคิล ดูด็อก เดอ วิต ที่เคยได้รับรางวัลมาจากภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง Father & Daughter ที่เป็นภาพยนตร์เงียบด้วยเช่นกัน

แต่ครั้งนี้ เขาได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพและการเคลื่อนไหวที่สื่อถึงความสัมพันธ์ของตัวละครในแบบที่เขาชอบ แล้วยังคงใช้ภาพของน้ำและเส้นขอบฟ้าบอกเล่าถึงอารมณ์ของภาพยนตร์ ซึ่งยังคงแฝงไว้ด้วยความหมายมากมาย และไม่ว่าจะเป็นการพยายามดิ้นรนเพื่อหนีออกจากเกาะ หรือการได้พบความสุขที่เรียบง่ายในชีวิต ทุกๆ การกระทำของทุกๆ ตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมไปถึงภาพทุกภาพนั้น สามารถสะกดเราไว้ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และไม่ว่าเนื้อเรื่องจะเป็นนิทานเชิงปรัชญา หรือเรื่องเล่าแนวแฟนตาซี แต่เราก็สามารถที่จะเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ

ความพยายามของ ไมเคิล ดูด็อก เดอ วิต และ Studio Ghibli ที่ใช้สื่อในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้โดยไม่มีบทสนทนา คือจุดเด่นที่สำคัญ ที่ทำให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันปีล่าสุด ซึ่งรูปแบบการนำเสนอของ The Red Turtle นั้น อาจไม่ได้วัดด้วยความอลังการของภาพ ที่สมัยนี้มีการแข่งขันสูงจากการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ The Red Turtle นั้นได้ทุ่มเทความตั้งใจให้กับการใช้ความงดงามแบบเรียบง่าย ที่สามารถสื่อสารความรู้สึกของตัวละครได้อย่างเข้าใจ ด้วยเนื้อเรื่อง การเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับเสียงและดนตรีถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยความเรียบง่าย – สวยงามในแบบที่ตั้งใจ

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จึงแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Zootopia, Moana หรือแม้แต่ My Life as a Zucchini ทำให้เหลือเพียงอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่าจับตามอง นั่นก็คือ Kubo and the Two Strings ที่เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ใช้ความทุ่มเทและความตั้งใจให้กับสิ่งที่สมัยนี้มักถูกลืมและมองข้าม นั่นก็คือความประณีตของงานแนวสตอปโมชัน จึงทำให้ทั้งสองเรื่องนี้มีจุดยืนที่แตกต่าง และเป็นตัวเก็งของผู้ที่จะชนะสาขารางวัล Best Animated Feature ของรางวัลออสการ์ในปีนี้

สุดท้ายนี้สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก The Red Turtle ก็คือ การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถบอกเล่าให้เราเข้าใจถึงความสุขที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องดิ้นรนหรือไขว่คว้าเพื่อให้ได้มา เพราะว่ามันอาจเกิดขึ้นจากความพอเพียงที่เรียบง่าย และทำให้สิ่งที่ธรรมดาที่สุดกลายเป็นสิ่งที่มีค่าได้ เพียงแค่เราได้มองเห็นและเข้าถึงคุณค่าของมัน

เช่นเดียวกับวิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่พยายามบอกกับเราว่า บางครั้งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเทคนิคที่ยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อบอกเล่าถึงความทุ่มเท  หากการนำเสนออย่างเรียบง่าย จริงใจ และตรงไปตรงมา เพียงแค่นี้ก็สามารถที่จะสื่อถึงความรู้สึกของตัวละครไปถึงใจของคนดูได้แล้ว

และไม่ว่าภาพยนตร์จะมีข้อความหรือความหมายอะไรที่แฝงเอาไว้ ก็สามารถที่จะสื่อสารมันออกมาได้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำพูดเลยแม้เพียงคำพูดเดียว

และนั่นอาจเป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงความสำเร็จของบริษัท Wild Bunch, Studio Ghibli และ ไมเคิล ดูด็อก เดอ วิต ที่อาจจะพาพวกเขาไปสู่รางวัลอันยิ่งใหญ่นี้ก็ได้

ใครจะรู้

Tags: , , ,