ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado) ได้เล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความขัดแย้ง ความหวัง ความรุนแรง ความพิศวง การปลอบประโลมผ่านภาพถ่ายขาวดำ การทำความเข้าใจโลกในมุมมองที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงองค์ประกอบที่สวยงาม แต่ยังมุ่งเน้นไปยังความหมายทางวัฒนธรรมและอารมณ์ที่สะท้อนออกมา ในนิทรรศการ “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม 2560

โลกที่ซาลกาโดได้เห็นถ่ายทอดออกมาเป็นภาพขาวดำจากการท่องเที่ยวมากว่า 100 ประเทศ สิ่งที่ถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบได้กลายมาเป็นประเด็นหลักในองค์ประกอบ ก่อร่างสร้างตนจนเป็นหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้ ชุดผลงานภาพพิมพ์ชุด Other-Americas (2520-2527) ผลงานชุดแรกที่เขาเริ่มจับกล้องถ่ายทอดเรื่องราวดินแดนลาตินอเมริกา บ้านเกิดที่ขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งความพิศวง, ชุด Workers (2529-2535) เล่าเรื่องการทำงานของคนท่ามกลางเครื่องจักรที่กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคน, Exodus (2536-2542) หรือ Immigration การขับไล่ ย้ายถิ่นฐานของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือการเมืองที่ไม่เหมือนกัน, Genesis (2547-2554) ภาพธรรมชาติที่สวยงาม ความหลากหลายทางธรรมชาติ และภาพชนเผ่าที่ยังดำเนินชีวิตตามแบบธรรมเนียมดั้งเดิมของตน

ตัวนิทรรศการใช้พื้นที่ห้องแสดงผลงานชั้น 8 ทั้งหมด การจัดงานมีการแบ่งผลงานเป็นคอลเล็กชัน ไม่จัดเรียงตามช่วงเวลา ทำให้การเดินชมผลงานค่อนข้างไม่ปะติดปะต่อ อีกทั้งยังมีการใช้สีเพื่อแบ่งชุดของงานผ่านผนัง 2 สี คือ สีเทามีชุดงาน Genesis และชุด Workers สีขาวประกอบด้วย Exodus และ Other-Americas เส้นสติกเกอร์สีดำทำหน้าที่กั้นผู้ชมกับผลงาน ด้วยระยะห่างที่มากกว่า 50 เซนติเมตร นั้นเป็นข้อดีที่เป็นตัวห้ามไม่ให้ผู้ชมสัมผัสกับตัวงาน แต่ค่อนข้างยากที่จะอ่านป้ายชื่องานด้วยขนาดตัวอักษรของป้ายที่เล็ก อีกทั้งยังเป็นจุดรบกวนการชมงานด้วย ทำให้ต้องหักไป 1 คะแนน สำหรับการจัดการนิทรรศการ ในส่วนของการนำเสนอและให้ความรู้แก่ผู้ชมนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้จะมีบางจุดที่ไม่สามารถอธิบายความต่างของชุดงาน Other-Americas ที่ใช้คำว่าภาพพิมพ์กับงานชุดอื่นๆ ที่มีเทคนิคเจลาติน ซิลเวอร์ปริ้นท์ว่าภาพถ่ายได้ คะแนนของนิทรรศการจึงอยู่ที่ 4 คะแนน

โลกที่เต็มไปด้วยความเป็นอื่น (otherness) อย่าง The World Through His Eyes ภาพถ่ายของซาลกาโดเล่าเรื่องความเป็นอื่นที่เกิดขึ้นในโลก ท่ามกลางความรุ่งเรืองทางเทคโนโลยี การผลัดเปลี่ยนอำนาจ ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม หรือการขยายตัวของจำนวนประชากร ทว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ ความเสถียรภาพทางการเมือง และความเชื่อทางศาสนากลับกล่าวถึงเพียงสังเขป

ความทุกข์ทรมานของชนชั้นกรรมกรที่จำเป็นจะต้องหาเลี้ยงชีพไม่เพียงจำกัดแค่คนวัยทำงานแต่ยังรวมถึงเด็กที่ต้องทำงานเก็บพืชผล ผู้หญิงต้องทำงานแบกหามไม่ต่างจากผู้ชาย ภาพกลุ่มคนจำนวนมากที่ทำงานอยู่ภายในเหมืองเพื่อความร่ำรวยของกลุ่มนายทุน หรือภาพพนักงานดับเพลิงที่เหนื่อยล้า บ่อน้ำมัน บูรฮัน คูเวต, (2534) พนักงานดับเพลิงที่เหนื่อยล้าจากการดับเพลิงเหตุแก๊สระเบิด สภาพเหงื่อท่วมกาย ใบหน้าเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบเขม่า ทว่าใบหน้ากลับมีรอยยิ้มเศร้าสร้อยชวนให้นึกถึงภาพตัวตลกหน้าขาวจมูกแดง มันคือความตลกร้ายที่แฝงอยู่กับความหายนะที่สามารถฆ่าชีวิตคนจำนวนมากแค่เพียงเสี้ยววินาที นอกจากนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลให้เครื่องจักรสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ ความยิ่งใหญ่ของเครื่องจักรกลายมาเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มนุษย์สดุดี

อำนาจของสารภาษาเข้ามากำกับการรับรู้ของผู้ชมส่วนมาก เมื่อเราต่างไม่รู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ภาพข้างหน้ามีประวัติศาสตร์และความสำคัญเพียงใด การทำความเข้าใจตั้งแต่คำอธิบายด้านหน้าทางเข้า สื่อประชาสัมพันธ์ และป้ายชื่อ ล้วนเป็นตัวขับเน้นถึงใจความ ภาพสีขาวดำกว่า 120 ภาพนั้น ไม่ได้มาจากประเทศเดียว แต่เป็นภาพที่ศิลปินบันทึกไว้มากว่า 100 ประเทศตลอด 30 ปี แต่ละภาพมีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกันถึง 4 เรื่อง

ป้ายชื่อเข้ามาเป็นตัวสร้างเรื่องราวของภาพและกำกับภาพ คำบรรยายที่เป็นประโยคบอกเล่าว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ทำให้สามารถเข้าใจภาพข้างหน้าได้ ลดระยะห่างระหว่างผู้ชมกับผลงาน นอกจากนั้นยังบอกในสิ่งที่นอกเหนือจากอำนาจของภาพถ่ายจะสามารถทำได้ เช่น ภาพ หญิงเผ่าโซอีทาตัวด้วยสีแดงจากต้นชาด ปารา บราซิล (2552) ชื่อภาพบอกว่าเด็กสาวนั้นทาตัวสีแดง ขัดแย้งกับสิ่งที่ตาเห็นเป็นเพียงภาพขาวดำเท่านั้น

การตั้งชื่อชุดผลงานของซาลกาโดนั้นมีการอิงกับศาสนา โดยครึ่งหนึ่งมาจากพระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม คือ Exodus อพยพ และ Genesis หรือปฐมกาล ความจงใจผูกโยงเรื่องราวทั้งหมดให้เข้ากับพระคัมภีร์เหมือนเป็นการสถาปนาตนเองให้เป็นเหมือนโมเสส บันทึกเรื่องราวผ่านทั้งภาพและตัวอักษร แต่กลับย้อนจากการอพยพไปปฐมกาล ไม่ได้เรียงตรงตามภาคพันธสัญญาเดิม ที่เริ่มจากปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ ถึงแม้ชุดผลงาน Workers จะไม่ได้มีโดยตรง แต่ก็ชวนให้นึกถึงคำสาปของพระเจ้าที่มอบให้อดัมกับอีฟที่ฝ่าฝืนข้อห้าม “เจ้า​จะ​ต้อง​หา‍กิน​ด้วย​เหงื่อ​อาบ‍หน้าจน​เจ้า​กลับ​ไป​เป็น​ดิน เพราะ​เจ้า​ถูก​นำ​มา​จาก​ดิน และ​เพราะ​เจ้า​เป็น​ผง‍คลี​ดิน และ​เจ้า​จะ​กลับ​เป็น​ผง‍คลี​ดิน​ดัง‍เดิม” จากหนังสือปฐมกาล 3:19, พระคริสตธรรมคัมภีร์

ปฐมกาลหรือจุดเริ่มต้นกลับเป็นชุดผลงานสุดท้ายที่เริ่มทำ Genesis เล่าเรื่องราวความสวยงามของธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับธรรมชาติ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเผ่าที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามโลกาภิวัตน์ ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติเป็นตัวปลอบประโลมจิตใจของซาลกาโดที่บอบช้ำจากงานชุดก่อน งานชุดนี้จึงเป็นงานที่กลับไปจุดเริ่มต้น นอกจากนั้นชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของชาวเผ่าได้นำเสนอถึงความบริสุทธิ์ เช่น ภาพ เผ่าโซอี ปารา บราซิล (2552) เมื่อหญิงเปลือยกายไม่ได้ถูกมองในฐานะวัตถุทางเพศ แต่มองด้วยสายตาของความเป็นอื่น เราไม่เขินอายต่อภาพเบื้องหน้า เพราะผู้หญิงคนนั้นอยู่ห่างจากเราทั้งเรื่องของพื้นที่ และการเป็นชนเผ่า

การนำตัวเองเข้าไปคลุกคลีในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อถ่ายภาพ นอกจากจะทำให้องค์ประกอบของภาพสวยงามราวกับจัดวางแล้ว ยังสามารถเล่าเรื่องราวได้ ภาพ เด็กผู้ชายหลบหนีจากการบังคับให้สู้รบในสงครามกลางเมืองมุ่งหน้าไปเคนยา เซาท์ซูดาน (2536) จากการวางองค์ประกอบที่ให้เห็นแสงส่องผ่านเด็กเข้ามากินพื้นที่ไปหนึ่งในสองของภาพ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นเด็กที่มองมา ภาพนี้ชวนให้นึกถึงฉากพระเจ้าที่กำลังส่งสาส์นบางอย่างให้แก่เด็กน้อยจากแสงที่ส่องเข้ามา ขัดแย้งกับเด็กอีกฝั่งที่ท่าทางเกรงกลัวในมุมมืด หรือแม้กระทั่งภาพ ตัดเรือเก่า จิตตะกอง บังกลาเทศ (2532) ความยิ่งใหญ่ของเรือขนส่งเทียบกับร่างมนุษย์ที่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภาพ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลให้เครื่องจักรสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์

ท้ายที่สุดนี้ จะเห็นได้ว่าซาลกาโดได้วิพากษ์สังคมที่โหดร้ายผ่านมโนทัศน์ความเป็นอื่น การไร้พื้นที่ต่อการมีตัวตนของคนจำนวนหนึ่งที่ถูกละเลย ได้รับการนำเสนอใหม่โดยอิงแอบอยู่กับการทำความเข้าใจโลกของชนผิวขาวผู้มีอำนาจอย่างคัมภีร์ไบเบิล

Photo: BACC​

Photo: BACC​

Photo: BACC​

อ้างอิง:

Tags: , ,