นิตยสารที่เกิดขึ้นจากบทสนทนาในวันที่รถติดของ โตมร ศุขปรีชา และนิ้วกลม จนกลายมาเป็นโปรเจกต์สุดบ้า ด้วยการตัดสินใจทำนิตยสาร โดยหาวิธีการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธา ส่วนเงินที่ขาด เจ้าตัวบอกว่า ยินดีเจ็บตัวด้วยการเฉือนเนื้อตัวเอง (บ้าไหมล่ะ?)

MAD ABOUT เล่มนี้เป็นเล่มที่ 1 จากทั้งหมด 3 เล่ม (อีก 2 เล่มที่เหลือจะทยอยออกมาหลังจากนี้) ความหนา 272 หน้า (ไม่รวมปก) กับราคา 450 บาท และรายชื่อนักเขียน-ศิลปินชั้นแนวหน้าที่อัดแน่นและอวดโชว์ที่ปกหลัง อย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์, ปราบดา หยุ่น, ชาติฉกาจ ไวกวี, สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก (ศุ บุญเลี้ยง) ฯลฯ ชวนให้เผลอหยิบกลับบ้านได้ง่ายๆ

แต่สิ่งที่ทำให้สะดุดตามากกว่ารายชื่อนักเขียนระดับพระกาฬ คือ ‘วัตถุบางอย่าง’ บนปกหน้าและหลังที่อยู่ในมือของนางแบบปก ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวแทน หน้าสวยแบบไทย ใส่เสื้อคอกระเช้าสีหวาน จนเกิดคำถามขึ้นในใจ “อะไรวะ!?” (ถ้าอยากรู้คำตอบ หาอ่านได้ในเล่ม)

เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ คือ Determination, Conflicts, Culture, Life ภายใต้คอนเซปต์ (ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็น) DON’T เพราะเป็นคำที่โปรยอยู่บนปกและในหน้าเปิด โดยแต่ละหมวดจะมีชิ้นงานของนักเขียนแต่ละคนที่อาจเป็นงานเขียน กราฟิก หรือแม้กระทั่งภาพถ่าย

ผู้จัดทำเปิดเล่มด้วยบทความที่เขียนถึงต้นฉบับพิมพ์ดีด พร้อมลายมือแก้ไขของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และจดหมายที่นักเขียนซึ่งไม่เคยเหลวไหลต่อเดดไลน์อย่าง ’รงค์ เขียนมาเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ส่งต้นฉบับไม่ได้ ก่อนจะพาไปชิมคอร์สอาหารที่ทำจากเครื่องเพศสัตว์ เช่น มดลูกหมู จู๋ควาย กับ คำ ผกา ที่มาในมาดแม่บ้านญี่ปุ่น จากนั้นก็มาแวะฟังนักเขียนดับเบิลซีไรต์อย่าง วินทร์ เลียววาริณ เล่าถึงวิธีคิดและวิธีการทำงานจาก ‘เศษกระดาษ’ ที่เป็นประโยชน์ไม่น้อยกับคนที่ทำงานเขียนและงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แล้วมาดูทักษะอีกด้านของ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์รุ่นน้อง อดีตนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่วาดภาพอีโรติกในชื่อชุดภาพวาด ‘ผลไม้ต้องห้าม’ ก่อนจะต้องพลิกนิตยสารเพื่ออ่าน ‘ฮาเร็มของซาโลเม่’ เรื่องสั้นในแนวนอนของ อุรุดา โควินท์ และปิดท้ายในหมวดแรก Determination ด้วยงานเขียนที่ตัวหนังสือทำงานมากกว่าตัวหนังสือใน ‘บันทึกของคนวิกลจริต’ โดย ตงฟางอี้

ข้างต้นคือลำดับเนื้อหาในหมวดแรก (จากทั้งหมด 4 หมวด) ซึ่งหลังจากชิมหมวดอื่นๆ ในลำดับต่อมาจนครบทุกหมวด ในฐานะผู้อ่านที่ติดตามและคุ้นเคยกับนักเขียนบางคนผ่านการติดตามผลงาน ต้องบอกว่า ถ้าเปรียบงานแต่ละชิ้นเป็นอาหารแต่ละจาน เกือบทุกจานล้วนมีรสชาติดีและปรุงได้ถึงรส โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ที่นิ้วกลมนั่งลงสนทนาพร้อมจิบชากับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และอดีตพิธีกรรายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ที่ยาวถึง 30 หน้า! และน่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกที่เปิดให้เห็นพัฒนาการและมิติทางความคิดในการดำรงชีวิตของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้อย่างหมดเปลือก ที่สำคัญอ่านสนุกจนวางไม่ลง!

และ ‘A Story from My Professors’ ภาพถ่ายบุคคลชนชั้นแรงงาน 9 คน โดย ชาติฉกาจ ไวกวี ที่เขาเปรียบเป็น ‘ครู’ ที่สอนวิชาชีวิต การจัดวางเลย์เอาต์โดยใช้สีขาวเป็นพื้นหลัง ดึงให้ภาพถ่ายเหล่านั้นทรงพลัง เหมือนเข้าไปยืนดูภาพในแกลเลอรี แต่สิ่งที่ทรงพลังกว่าคือ ข้อความสั้นๆ ใต้ภาพที่ชาติฉกาจเขียนถึงคนในภาพของเขาแต่ละคน

กาก้า-สุรชัย สมบุญ อายุ 42 ปี

กาก้ามาในเสื้อยีนส์ปีกลึกแบบที่นักเล่นของเก่าหากันแต่เขาไม่รู้ เพราะไม่เคยเปิดหนังสือแฟชั่นแล้วหามาใส่ตามผู้มีรสนิยมทำกัน หมวกลายใบกัญชาของเขาแลกกับเพื่อนด้วยเหล้าขาว เขามักสวมใส่หมวกบ่อยๆ เพราะอายที่หัวล้าน แว่นตากันแดดแบรนด์เนมยี่ห้อ Gucci ของปลอมที่ใช้ทำงานกลางแดดได้จริงๆ ยามเขาอ๊อกเหล็ก กาก้าชอบแต่งตัวมันๆ มาทำงานตลอด ตกเย็นกาก้าจะกินเหล้าขาว ร้องเพลง และร้องไห้

ปัจจุบัน กาก้า เสียชีวิต จากโรคซึมเศร้า

 

เมื่อมองภาพรวมทั้งเล่ม นิตยสารเล่มนี้เปรียบเสมือนชิ้นงานศิลปะที่ผู้จัดทำอยากจะนำเสนอ และทิ้งช่องว่างบางอย่างให้ผู้อ่านได้ตีความ ซึ่งบางอย่างที่ว่า เป็นเหมือนสัญญะบางอย่างที่ซ่อนอยู่ตามรายทาง เช่น ตรงสันหนังสือที่มีคำว่า ‘ดาน’ หรือภาพกราฟิกในหน้าเกือบสุดท้ายที่เป็นเครื่องหมาย ‘/’ เรียงต่อกันจนเต็มพรืดทั้งหน้ากระดาษ และมี ‘\’ อยู่หนึ่งอันท่ามกลางเครื่องหมายเหล่านั้น คล้ายสื่อว่าในวันที่ตลาดนิตยสารล้มครืน ทุกคนอยากเลิกมากกว่าอยากทำ แต่ยังมี ‘คนบ้า’ ที่ขอทำอะไรท้าทายคลื่นลมที่ถาโถมตลาดนิตยสารให้ล้มหาย

แม้ส่วนตัวจะรู้สึกสนุกกับการสังเกต มองหา และตีความสัญญะเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่ามีบางส่วนที่ยากต่อการตีความหรือเข้าใจ โดยเฉพาะภาพที่ปรากฏบนปกหน้าและหลัง และที่มาที่ไปของ ‘วัตถุบางอย่าง’ ที่อยู่ในมือของนางแบบปก แม้จะชวนให้สงสัยว่า เป็นหัวมัน ไส้กรอก หรือกล้วยทอด? หรือถ้าเข้าใจ ก็แอบรู้สึกว่า ไม่ชวนมองเท่าไร (อันนี้เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวล้วนๆ)

ส่วนเนื้อหาด้านในต้องยอมรับว่า หลายเรื่องคุณภาพคับแก้ว คุ้มค่า และไม่เสียเวลาที่ได้อ่าน แต่บางเรื่องก็รู้สึกว่าหลวมไปหน่อย เบาไปนิด แต่ส่วนนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดหรือความคาดหวังของผมที่ต้องการ ‘อ่าน’ อะไร มากกว่าจะ ‘ดู’ อะไรก็ได้

เพื่อป้องกันการตีความที่คลาดเคลื่อน ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นภาพจะไม่ถูกใจ มีเพียงบางชิ้นเท่านั้นนะครับ

นี่คือคำติของผม ส่วนที่เหลือนั้นคือคำชมล้วนๆ ขอขอบคุณผู้จัดทำทั้งสองคน คือ คุณโตมร และคุณนิ้วกลม ที่กล้าทำอะไรบ้าๆ และขาดสติแบบนี้ออกมา (เพราะจะมีสักกี่คนบนโลกที่ยอมทำงานแบบเข้าเนื้อ เจ็บตัว และมีสิทธิ์ขาดทุนทางธุรกิจมากกว่าได้กำไร)

ซึ่ง MAD ABOUT เป็นความ ‘บ้า’ ที่ผมขอสรุปว่า ‘ดี’

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,