จากควันหลงรางวัลออสการ์ วันนี้ The Money Coach จะมาพูดถึงนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง จอห์นนี่ เดปป์ ที่กำลังมีข่าวฟ้องร้อง และมีทีท่าว่ากำลังจะถังแตกในเร็ววันนี้ อะไรที่ทำให้เค้ามาถึงจุดนี้ได้ และหากไม่อยากเป็นอย่างนี้เราต้องป้องกันอย่างไร หาคำตอบกันได้ในพอดแคสต์ตอนล่าสุดนี้

เกิดอะไรขึ้นกับจอห์นนี่ เดปป์

ทุกอย่างเริ่มจากการที่เดปป์ฟ้องร้องต่อบริษัทที่ดูแลการเงินให้กับเค้า ว่าบริษัทนี้ดูแลเงินให้เค้าไม่ดีจนทรัพย์สินหายไป แถมยังทำงานผิดพลาดจนถูกฟ้องว่าไม่ได้จ่ายภาษีทำให้ต้องจ่ายค่าปรับมูลค่าหลายล้านบาท และไปๆ มาๆ ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นคนถังแตกซะงั้น ซึ่งทางบริษัทดูแลการเงินก็ออกมาแถลงว่าความจริงแล้วเดปป์เป็นคนใช้เงินมือเติบมาก โดยใช้เงิน 75 ล้านดอลลาร์ไปกับการซื้อบ้าน 14 หลัง มีการซื้อเรือยอร์ชมูลค่า 630 ล้านบาท ซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว จ้างพนักงานดูแลส่วนตัวแบบฟูลไทม์มากถึง 40 คน นำเข้าไวน์เดือนละ 3 หมื่นดอลลาร์ เช่าโรงเก็บของสะสมเกี่ยวกับฮอลลีวูด 12 แห่ง และใช้เงินอีก 3 ล้านดอลลาร์ไปกับพิธีโปรยอัฐิของเพื่อนโดยใช้วิธีการยิงปืนใหญ่ รวมๆ แล้วเฉลี่ยออกมา เดปป์เป็นคนที่ใช้เงินมากถึงเดือนละ 2 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นหนึ่งในคนที่ใช้ชีวิตได้สุดโต่งมาก ก็กลายเป็นคดีที่ต้องฟ้องร้องกันต่อไป

ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาของดาราหลายคนไม่เว้นแต่ในบ้านเรา ที่มีชีวิตเหมือนจะหาเงินได้ง่ายๆ ตอนวัยรุ่นทำให้ใช้เงินไม่บันยะบันยังจนมีปัญหาตอนอายุมาก

ต้นเหตุของการหมดตัว

ความจริงการใช้เงินเยอะนั้นไม่ใช่เรื่องผิดในเมื่อเราหาได้เยอะมากขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเดปป์เป็นคนที่ใช้เงินมากกว่าฐานะ ซึ่งคำนี้เป็นคำที่เรามักจะได้ยินจากคนที่ฐานะไม่ดี เมื่อได้ยินจากคนที่มีเงินมากขนาดนี้ก็อาจจะแปลกหูอยู่บ้าง แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเกินกำลังของเค้า

เคยมีงานวิจัยบอกว่าเมื่อเรามีเงินเยอะ เราจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการซื้อ อำนาจในการปรนเปรอคัวเอง ซึ่งคนที่ไม่มีทักษะทางการเงินก็จะมีความรู้สึกว่าเงินของเค้านั้นไม่มีวันหมด อย่างคนที่ถูกล็อตเตอรี่จะมีความรู้สึกแบบนี้เพราะเค้าไม่เคยมีเงินมากขนาดนั้น ในสมองก็จะรู้สึกไปว่ามันไม่มีวันหมดหรอกเมื่อเทียบกับชีวิตประจำวัน จึงกลายเป้นว่าคนเหล่านี้สามารถใช้เงินหมดได้ภายในสองปี

สำหรับคนที่มีรายได้มาเป็นก้อนๆ แบบนี้อย่างดารา รวมไปถึงฟรีแลนซ์ทั่วไป คนกลุ่มนี้มีความจำเป็นมากที่จะต้องวางแผนระยะยาวยิ่งคนที่ทำงานกินเงินเดือนด้วยซ้ำ หลายคนได้รายได้ที่เป็นก้อนใหญ่มาครั้งแรกก็เริ่มซื้อบ้านหลังใหญ่ก่อนเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อดูความไม่แน่นอนของรายได้แล้วถือว่ามีความเสี่ยง ความเป้นดารามันมีความผันผวน รายจ่ายก้อนใหญ่ที่ผูกพันธ์ไปตลอดสามสิบปีนั้นไม่ใช่อะไรที่ง่าย จากทำงานอย่างมีความสุขก็กลายเป็นทำงานเพราะว่ามีภาระแทน

แล้วเราควรจะจัดการอย่างไร

หากเราได้เงินมาก้อนหนึ่ง อันดับแรกเราต้องดูว่ากระแสของรายได้มันจะเข้ามาต่อเนื่องแค่ไหน หากมีความต่อเนื่อง มีการผูกสัญญาระยะยาวสองถึงสามปี แบบนี้เราก็จะจัดการง่ายขึ้น แต่ถ้าหากเป็นการทำงานที่รับเป็นจ็อบๆ ไป ก็ต้องระวังในการสร้างภาระทางการเงินให้มากขึ้น อย่าเพิ่งไปเติมสิ่งที่เป็นภาระระยะยาว แต่ให้ดูชีวิตประจำวันก่อน อย่างกลุ่มที่ภาระมาเป็นก้อนๆ ก็ให้มองที่รายจ่ายประจำเดือนและกันส่วนนี้ไว้เป็นส่วนแรกให้มีพอกินพอใช้ ส่วนที่สองคือถ้างานของเราเป็นงานที่ต้องมีการลงทุนอย่างเช่นค่าอุปกรณ์ก็ต้องกันเงินส่วนนี้ไว้ด้วย

อย่างที่สองคือเมื่อชีวิตมีสภาพคล่องดีแล้วและมีเงินเหลือเราก็อาจจะมองถึงบ้านและรถได้ แต่ก็ต้องมองถึงความเสี่ยงเมื่อรายได้หายไปด้วย อาจจะต้องสะสมเงินไว้เป็นก้อนให้เพียงพอเผื่อผ่อนตอนที่ขาดรายได้ด้วย วางแผนไปว่าจะเผื่อไว้กี่เดือนๆ

และสามคืออย่าผูกรายได้ไว้แค่ทางเดียว หากเป็นนกแสดงก็อาจหาทางสร้างรายได้เพิ่มสำรองเผื่อไว้ หรือถ้าเป็นฟรีแลนซ์ก็อาจต้องดีลงานไว้กับหลายที่หน่อย แม้จะมีรายได้ที่ต่อเนื่องแต่หากเราผูกตัวเองไว้กับที่เดียวเมื่อรายได้หายไปก็อาจจะพังได้เหมือนกัน

ธุรกิจดาราเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่

การทำธุรกิจเป้นเรื่องที่ดีอยู่แล้วเพราะเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม เพียงแต่ว่าเวลาทำธุรกิจนั้นดาราหลายคนจะเข้าใจผิดว่าการมีแบรนดิ้งที่ดีนั้นเพียงพอแล้ว มีชื่อเราอยู่ในแบรนด์ก็เพียงพอ ทั้งที่จริงมันไม่ใช่ มันเป้นแค่สิ่งที่ช่วยโปรโมตส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ภาพรวมของการทำธุรกิจมันมีมิติที่มากกว่านั้น หากจะทำคุณก็ต้องมีความรู้ทางธุรกิจพอสมควร เบสิกง่ายๆ อย่างเช่นต้องรู้จักลูกค้าว่าต้องการอะไร ต้องศึกษาตรงนี้ หรือถ้าคุณไม่มีเวลาศึกษาจริงๆ คุณก็ต้องมีหุ้นส่วนที่มีความรู้ตรงนี้ด้วย ไม่ใช่แค่คนที่อยากทำธุรกิจ แต่ขอให้เป็นคนที่เคยทำธุรกิจมา

 

ความสำเร็จของ มอส ปฏิภาณ

โค้ชหนุ่มเคยได้สนทนากับ มอส ปฏิภาณ ซึ่งก็ได้เล่าให้ฟังว่าแกเริ่มหาเงินล้านได้ตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ซึ่งตอนนั้นการหาเงินได้ล้านนึงถือว่าเยอะมาก แต่ตอนนั้นด้วยความเป็นเด็กแกก็เลยใช้จนไม่เหลือ เพราะคิดว่ายังไงเดี๋ยวก็ต้องมีคนมาเรียกแกไปทำงานอีก จนอายุประมาณ 20 ที่บ้านแกก็เริ่มมีปัญหา วันดีคืนดีก็มาขอให้มอสช่วย แกก็บอกว่าไม่มี ที่บ้านก็ตกใจว่าเงินหายไปไหน กลายเป็นความรู้สึกผิดเล็กๆ ที่ไม่สามารถช่วยทางบ้านได้จนทำให้ตัดสินใจเริ่มเก็บเงินมาตั้งแต่วันนั้น ผ่านไปสักระยะก็เริ่มอยากลงทุนเลยเอาไปซื้อที่สะสมไว้จนมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ บ้านที่อยู่ทุกวันนี้ก็เป็นที่ที่ซื้อไว้ตั้งแต่อายุ 20 กว่า และตอนนี้ก็เริ่มทำธุรกิจสร้างบ้านเพื่อให้เช่าถ่ายละคร เป็นการหารายได้ในอีกช่องทางหนึ่ง

คำแนะนำจากท่านสมัคร

เคสอีกหนึ่งประเภทที่เราจะเห็นกันได้บ่อยๆ คือนักมวยบ้านเราที่ไปคว้าเหรียญจากโอลิมปิก ซึ่งเมื่อกลับบ้านมาคนก็มะรุมมะตุ้ม เข้ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งก็เป็นปัญหาเหมือนกัน แต่มีอยู่คนนึงที่ได้เหรียญทองมา เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ท่านสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้นได้เข้ามากระซิบข้างหูว่า “เดี๋ยวเงินรางวัลมันจะหลั่งไหลเข้ามา แม้จะไม่มากเท่ากับคนแรกๆ แต่มันก็เยอะพอสมควร สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือหาผู้จัดการการเงินซะ ถ้าคุณบริหารได้ดี เงินจะเลี้ยงคุณได้ทั้งชีวิต” ซึ่งปัจจุบันนี้นักมวยคนนี้ก็มีธุรกิจเป็นของตัวเอง และยังใช้ชีวิตได้อย่างสบาย

—————————————————————–

ข้อเขียนบทความต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของพอดแคสต์ ที่สรุปใจความสำคัญโดยย่อ ตลอดจนรายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น link ของสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือที่ถูกพูดถึงในรายการ เพื่อให้ผู้สนใจได้ตามไปอ่านหรือดูเพิ่มเติม กรุณาคลิก ที่นี่เพื่อติดตามฟังรายการเต็มๆ

 

Tags: , , , , ,