นาทีนี้ เสมือนว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุข รัฐบาลกำลังทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เรากำลังจะมีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีสะพานข้ามเจ้าพระยาเก๋ๆ อีก 11 แห่ง มีรถไฟความเร็วสูง มีเรือดำน้ำ มีระบบเก็บภาษีที่ดิน มีการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้แม้จะไม่ทัดเทียมประเทศพี่เบิ้มอย่าง G7 แต่อย่างน้อยแสนยานุภาพก็คงไม่อายประเทศรอบๆ บ้าน

ความสุขความเจริญเหล่านี้ ไม่รู้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เรา ‘ผู้คนวันนี้’ จะหันกลับมามองและเรียกมันว่ายุคอะไร พิพิธภัณฑ์ในโลกอนาคตจะบันทึกและเล่าเรื่องประเทศไทย พ.ศ. นี้อย่างไร

เช่นเดียวกัน คนเมื่อ 20 ปีก่อน คงไม่ทันนึกว่าอีก 20 ปีหลัง ความฝันบรรเจิดกลายเป็นความจริงโศกสลด หลังอาการจับจ่ายอย่างบ้าคลั่ง หุ้นตก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ ฟองสบู่แตก หลังเจ้าหนี้ต่างประเทศตามทวงหนี้ ไอเอ็มเอฟเข้ามา และไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากที่เรื่องราวนั้นระเหิดหายไปกับประวัติศาสตร์บทตอนอื่น นิทรรศการหนึ่งได้หันกลับมาเล่าถึงเหตุการณ์อันมีผู้ร่วมชะตากรรมเรือนล้านนี้ และบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต ในชื่อ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน’

ประวัติศาสตร์ของใคร และวัตถุพยานแห่งยุคสมัย

ก่อนที่วิชาไม่ควร ‘เลียน’ ของคนไทยเรือนล้านจะได้เดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่พิพิธภัณฑ์ควรจะพูด พิพิธภัณฑ์ควรพูดถึงเรื่องดีงาม ศิลปวัฒนธรรม และความเจริญของชาติ ไม่ควรเล่าเรื่องความเจ็บปวด ไม่ควรรื้อฟื้นหรือเปิดแผล กระนั้นก็ตาม ‘มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้’ เลือกจะเล่าเรื่องนี้ ด้วยบทบาทขององค์กรทางวัฒนธรรมที่ควรทำหน้าที่สังเกต บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวที่มีความสำคัญในสังคม ใช่แต่เรื่องดีงามและรุ่งเรืองในอดีต หากเป็นเรื่องร่วมสมัยที่สังคมควรร่วมกันเรียนรู้

ความสำคัญของการพูดถึงเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ไม่ได้มีเพียงมิติของการเรียนรู้อดีตเพื่อเท่าทันและนำไปปรับใช้ในอนาคตเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อการท้าทายการรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับความหมายของ ‘ประวัติศาสตร์’ ด้วยการขยายกรอบจากอภิมหาอรรถาธิบาย (grand narrative) เดินเรื่องโดยชนชั้นนำผู้สร้างชาติและมรดกวัตถุแห่งชาติ มาสู่ประวัติศาสตร์ส่วนเสี้ยว จุดเล็กๆ ในกาลเวลาที่กระทบคนมหาศาล และเล่าเรื่องผ่านข้าวของในชีวิตคนธรรมดาสามัญ

เหตุการณ์ต้มยำกุ้งส่งผลกระทบต่อผู้คนและทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิตของคนจำนวนมาก แต่ละคนที่เกี่ยวข้องล้วนมีความทรงจำส่วนตัว คนตกงานคิดอย่างไร หาทางออกอย่างไร คนที่ล้มละลาย ผ่านชีวิตหลังจากนั้นมาอย่างไร รุ่นลูกรุ่นหลานที่เติบโตมาในครอบครัวที่เกิดวิกฤต รับรู้ ผ่าน และโตมาอย่างไร หากมองเรื่องนี้จากมุมของผู้คน จะเห็นว่าใช่แต่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือสื่อเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการบอกเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ผู้คนมากมายต่างหากที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพราะเขาได้รับผลกระทบและอยู่กับความทรงจำอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นั้น จึงสำคัญมากที่คนในประวัติศาสตร์จะได้มีส่วนในการช่วยกันบอกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว และสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็น ‘บันทึกช่วยจำ’ ชั้นดีของสังคม จากมุมของการจัดทำนิทรรศการ คือวัตถุพยาน ‘ของจริง’ ที่ดำรงอยู่อย่างมีความหมายในชีวิตของปัจเจกที่มีตัวมีตน นิทรรศการครั้งนี้จึงเลือกบันทึกยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ผ่านวัตถุแห่งความทรงจำของคนในเหตุการณ์ครั้งนั้น

เอื้อเฟื้อโดย พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

วัตถุพยานของความฝัน – สาทรยูนีคทาวเวอร์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิกฤตวงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ทายาทเจ้าของภาพนี้เล่าว่า 20 ปีผ่านไป แต่ครอบครัวยังต้องมีชีวิตอยู่กับการฟ้องร้อง การตกเป็นจำเลยของสังคม วนเวียนอยู่กับต้มยำกุ้งชามนี้อย่างที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ถามว่าครอบครัวเก็บวัตถุอะไรไว้เป็นของที่ระลึกถึงเหตุการณ์หรือไม่ ทายาทเจ้าของโครงการฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นโครงการที่คนมีเงินล้วนอยากเป็นเจ้าของ ชี้ไปที่ภาพภาพนี้และบอกว่า “อย่างอื่นไม่มีเลย มีแต่รูปนี้ที่วาดโดยคุณพ่อ และอยู่กับครอบครัวมาตลอด”

ด้วยสภาพร้างเรื้อรัง คนผ่านทางวันนี้อาจมองอาคารนี้เป็นทัศนะอุจาด บางคนอาจเห็นมันเป็นหลักฐานของฟองสบู่ แต่เมื่อดูเส้นสายลายมือในภาพร่าง สิ่งที่เห็นคือความฝันของผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมา เหตุนี้กระมัง-ในนิทรรศการต้มยำกุ้งฯ จึงมักมีเสียงอุทานว่า “โห-นี่ถ้ามันเสร็จ แถวนั้นจะเป็นแบบนี้เลยเหรอ”

เอื้อเฟื้อโดย ชรรร ลันสุชีพ