ถ้าให้ย้อนคิดถึงวัยเด็ก คุณยังจำ ‘เพื่อนในจินตนาการ’ ของตัวเองได้ไหม?

ตอนเด็กๆ ไม่ว่าตุ๊กตาบาร์บี้ หมอนปลาฉลาม หรืออุลตร้าแมน ต่างก็เป็นเพื่อนในจินตนาการของเราได้ทั้งนั้น แต่พอเราโตขึ้น ระบบการศึกษาและผู้ใหญ่รอบตัวก็มักช่วยกันปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่าการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล

ความจริงกับจินตนาการของเราค่อยๆ แยกออกจากกัน และเพื่อนที่เราเคยมีก็ค่อยๆ หายไปโดยที่เราไม่รู้ตัว

แต่สำหรับบางคน เพื่อนในจินตนาการไม่เคยหายไปไหน บางคนถึงขนาดมีแฟนในจินตนาการไว้คุยเวลาว่าง บางคนเหงาถึงขั้นทักเฟสบุ๊กหาตัวเองก็มี แต่อาการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเทียบกับอาการของโรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะระหว่างจินตนาการกับความจริงได้ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพ เช่น เห็นเพื่อนในจินตนาการชัดเจนเหมือนกับมีตัวตนจริงๆ

ถ้าคุณอยากรู้จักอาการที่ว่านี้มากขึ้น วันนี้ผมมีลิสต์ภาพยนตร์และซีรีส์ของตัวละครที่มีเพื่อนในจินตนาการแบบนี้มาฝาก

 

1. A Beautiful Mind​

Photo: http://onedio.co/content/17-famous-people-whose-lives-became-movies-we-love-12954

จอห์น แนช อาจมีวัยเด็กที่ทำให้หลายคนอิจฉา เขาเป็นนักเรียนดีเด่นระดับอัจฉริยะ เรียนจบปริญญาตรีและโทพร้อมกันในวัย 20 แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เขาเข้าสังคมได้ดีขึ้น ความจริงแล้วเขาเลือกที่จะไม่เข้าสังคม ชอบเก็บตัวหมกมุ่นอยู่กับการแก้สมการคณิตศาสตร์ยากๆ ไม่สุงสิงกับใคร ยกเว้นเพื่อนร่วมห้องอย่าง ‘ชาร์ลส์’ ซึ่งต่อมาเขาก็ได้รู้ว่าชาร์ลส์คนนี้เป็นเพียงเพื่อนในจินตนาการของเขา

แนชเป็นโรคจิตเภทยาวนานร่วม 20 ปี เขามักได้ยินเสียงแปลกๆ และตกอยู่ในอาการหวาดระแวงว่าหน่วยซีไอเอกำลังตามล่า เขาต้องดิ้นรนอยู่กับการแยกความจริงกับจินตนาการออกจากกัน ทุกครั้งที่เขารู้ตัว เขาจะขีดเขียนสัญลักษณ์ยึกยือที่ไม่มีใครเข้าใจไว้ตรงมุมกระดานเพื่อเตือนตัวเอง โรคจิตเภทยังทำให้เขาถูกขอให้ลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อไปทำการรักษา แต่สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ก็คือบทบาทของอลิเซีย ภรรยาของเขา ที่ช่วยให้เขาเอาชนะโรคจิตเภท และพิสูจน์ให้เห็นว่าความรักสามารถเอาชนะอาการป่วยไข้ได้

ช่วงที่มีคนเสนอชื่อเขาเข้ารับรางวัลโนเบล คนจำนวนมากตั้งคำถามว่า ‘คนบ้า’ สมควรได้รับรางวัลหรือไม่? แต่สุดท้ายทุกคนก็ยอมรับเขา จากทฤษฏีดุลยภาพที่พัฒนาต่อมาจากทฤษฎีเกม ซึ่งยังคงถูกใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจครั้งสำคัญในสมัยนี้

คนบ้ากับอัจฉริยะ มีเพียงเส้นบางๆ คั่นกลาง

 

2. Fight Club​

Photo: http://www.ebaumsworld.com/pictures/fight-club-the-pictures-and-the-facts/83472473/

เมื่อชีวิตเริ่มกลายเป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่าย ทั้งการตอกบัตรเข้างานและการกลับบ้านเพื่อกินอาหารแช่แข็ง

เป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่เขา (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งทำให้ทุกกิจกรรมในช่วงนั้นดูเลือนราง เขาใช้ชีวิตราวกับซอมบี้ และเขาต้องการอะไรบางอย่างที่จะทำให้เขานอนหลับ เขาจึงเข้ากลุ่มบำบัดเพื่อใช้เป็นที่ปลดปล่อยความความรู้สึกในใจ แล้วค่ำคืนหนึ่ง เขาก็หลับสนิทได้อีกครั้ง เขาจึงเข้ากลุ่มบำบัดแทบทุกวันตลอดสัปดาห์ แล้วเขาก็ได้พบกับ มาร์ลา ซิงเกอร์ (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ผู้หญิงที่เขารู้สึกไม่ถูกชะตา เขากับเธอจึงตกลงเวลาในตารางการบำบัด เพื่อจะได้ไม่ต้องเจอหน้ากัน

งานประจำของผู้เล่าเรื่องคือพนักงานประกัน ทำให้ต้องเดินทางตลอดเวลา ทำให้เขาได้พบกับไทเลอร์ เดอร์เดน (แบรด พิตต์) ผู้ชายนิสัยประหลาด ผู้เกลียดทุนนิยมเข้าไส้ และชอบทำลายล้างข้าวของอย่างที่สุด เขาทั้งคู่คุยกันด้วยประโยคทักทายแล้วไทเลอร์ก็สอนวิธีการทำระเบิดจากสบู่ ราวกับว่ามันคือเรื่องง่าย การพบกันสั้นๆ ในครั้งนั้นนำไปสู่การก่อตั้ง ‘Fight Club’ กลุ่มสำหรับคนที่ปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการชกต่อย ซึ่งต่อมาก็ขยายเป็น ‘Project Mayhem’ ซึ่งมีแผนการเลวร้ายแอบแฝง

อย่างที่รู้กันในตอนท้ายว่าความจริงแล้ว ไทเลอร์ เดอร์เดน ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นบุคลิกที่สองของเขาเอง โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder: DID) คือโรคที่ผู้ป่วยมีบุคลิกมากกว่าสองบุคลิก ผลัดเปลี่ยนกันออกมาใช้ชีวิต และแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากบุคลิกเดิม ซึ่งแตกต่างจากโรคจิตเภท

เสน่ห์ของเรื่องนี้คือความดิบเถื่อนและการเล่าเรื่องโดยใช้เสียงของตัวละคร

 

3. Mr. Robot​

Photo: http://www.indiewire.com/t/mr-robot/

เอลเลียต แอลเดอร์สัน (รามี มาเลก) วิศวกรคอมพิวเตอร์ของบริษัท Allsafe ซึ่งให้บริการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง E Corp ทุกๆ วัน เขาจะนั่งทำงานเงียบๆ ในมุมของตัวเอง ไม่พูด ไม่คุย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวกับทุกคน ยกเว้น แอนเจลา มอส เพื่อนในวัยเด็กของเขา เสร็จจากงานในช่วงเวลากลางคืน เขามีอีกชีวิตหนึ่งในฐานะแฮกเกอร์มือฉมังที่ทำหน้าที่เป็นศาลเตี้ยจัดการคนชั่ว

อยู่มาวันหนึ่ง บริษัทของเขาถูกโจมตีโดยกลุ่มมือดีที่ใช้ชื่อว่า FSociety (ตัวอักษร F มาจากคำที่คุณก็รู้ว่าคือคำอะไร) โดยคนที่ใช้ชื่อว่า Mr.Robot ทำให้เขาถูกเรียกตัวเพื่อป้องกันการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งเขาก็ป้องกันระบบได้อย่างง่ายดาย ในระหว่างที่เขากำลังตรวจสอบความเสียหายของข้อมูล เขาก็พบกับไฟล์ที่แฮกเกอร์จงใจทิ้งร่องรอยไว้เพื่อให้เขาตามหา ไฟล์นี้เปรียบเสมือนบัตรเชิญให้เขาเข้าสู่สมาคมลับที่กำลังวางแผนทำลายระบบทุนนิยม (E Corp) ซึ่งกำลังครอบงำชีวิตคนนับล้าน ด้วยการล้างระบบจัดเก็บข้อมูลบันทึกการใช้บัตรเครดิตของคนทั้งประเทศ

สิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีความลุ่มลึกมากขึ้น คือการรับรู้ของเอลเลียตที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างคนจริงและคนในจินตนาการ โดยเล่าผ่านเศษเสี้ยวความทรงจำที่ไม่สามารถร้อยเรียงเข้าหากันได้อีก ซึ่งทำให้คนดูอย่างเรารู้สึกสับสนกับความจริงของโลกในแบบของคำพูดที่ว่า

“We Live in a Kingdom of Bullshit”

 

4. Legion​

Photo: http://www.avclub.com/tvclub/eerie-legion-part-head-trip-part-road-tripand-all–251327

โลกนี้มีอะไรจริงบ้าง?

คำถามแบบอภิปรัชญาที่ตอบได้หลากหลายคำตอบ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการพิสูจน์สิ่งต่างๆ ด้วยการใช้ผัสสะต่างๆ เช่น สัมผัส มองเห็น หรือได้ยิน แต่สำหรับเดวิด ฮอลเลอร์ (แดน สตีเฟน) เด็กหนุ่มที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางจิตบางอย่าง ซึ่งทำให้เขาเห็นหรือได้ยินเสียงแปลกประหลาดที่เหมือนจริงจนตัวเขาเองก็แยกไม่ออก

นานวันเข้า เขาจึงกลายเป็นคนแปลกแยกจากสังคม และยอมรับสถานะ ‘คนบ้า’ ของตัวเองไปโดยปริยาย เขาต้องเข้าออกโรงพยาบาลจิตเวชอยู่เรื่อยๆ ที่นั่น เขามีเพื่อนสนิทอย่าง เลนนี่ ซึ่งกำลังบำบัดอาการติดเหล้าและชอบชวนให้เขาทำอะไรพิเรนทร์อยู่เรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ผู้หญิงที่ชื่อ ซิด ก็ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา และทำให้เขารู้ว่าภาพหลอนนั้นเกิดจากพลังเหนือมนุษย์ของเขาที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เดวิดมีอาการผิดปกติทางจิต มีที่มาจากปีศาจที่ชื่อ ฟารุค หรือปีศาจแห่งเงาที่อาศัยอยู่ในจิตของเดวิด และพยายามทำทุกอย่างเพื่อครอบงำร่างนี้ แต่หลังจากเดวิดล่วงรู้ถึงพลังเหนือมนุษย์ของตัวเอง เขาก็พยายามชิงร่างของตัวเองกลับคืนมาอีกครั้ง

เสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้อยู่ที่บรรยากาศในยุค 60s-70s ซึ่งเป็นยุคที่ดนตรีแนว Psychedelic กำลังเฟื่องฟู คนในยุคนั้นนิยมใช้ยา LSD ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดภาพหลอนแบบเดียวกับที่เกิดกับเดวิด นอกจากนี้ ผู้กำกับยังเลือกใช้เพลงที่ให้ความรู้สึกของวง Pink Floyd ในอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับด้านมืดของมนุษย์

ใครอยากรู้ว่าคนในยุค 60s เขาเมากันยังไง แนะนำให้ดูเรื่องนี้

 

5. Lars and the Real Girl​

Photo: https://rambletimes.com/2016/06/06/lars-and-the-real-girl-the-role-of-unreal-girls-in-cinema/

ก่อนอื่นเลย ผมอยากให้คุณสลัดภาพไรอัน กอสลิง เวอร์ชั่นกระชากใจสาวจาก La La Land ทิ้งไป เพราะในเรื่องนี้ เขาพลิกบทบาทมาเป็น ลาร์ส หนุ่มเนิร์ดวัย 30 นิดๆ ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ชอบขลุกตัวอยู่แต่ในห้องที่ดัดแปลงง่ายๆ จากโรงรถของพี่ชายและพี่สะใภ้ซึ่งเป็นห่วงเป็นใยเขาอยู่ตลอด ถึงแม้เขาจะไม่ใช่คนคุยเก่ง แต่ก็เขามีนิสัยน่ารักบางอย่างที่ทำให้คนในชุมชนมองเขาเป็นเด็กหนุ่มไร้เดียงสา

แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้หญิงที่ชื่อ เบียงกา ก็เข้ามาในชีวิต เขาไม่รอช้าที่จะพาเธอไปแนะนำให้พี่ชายและพี่สะใภ้รู้จักในฐานะคนรัก ซึ่งก็ทำให้ทั้งสองคนตกใจพอสมควร ไม่ใช่ตกใจที่เขาหาแฟนได้ แต่ตกใจเพราะเบียงกาไม่ใช่คน แต่เป็นตุ๊กตายาง ถึงแม้ความรักจะเป็นเรื่องไม่มีถูกไม่มีผิด แต่รักครั้งนี้ก็แปลกประหลาดเกินกว่าที่ใครอื่นจะเข้าใจ

การโหยหาความรักของลาร์สเปรียบเสมือนการเติมเต็มช่องว่างที่เว้าแหว่งดังเช่นคนทั่วไป เขาพาเธอไปเดินเล่น ชวนคุย ดูหนัง กินข้าว อาบน้ำด้วยกัน และมอบความรักให้เธอราวกับว่าเธอคือคนจริงๆ อะไรกันที่ทำให้เขาเลือกความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ ซึ่งตัวหนังก็บอกเป็นนัยผ่านบทสนทนาของหญิงชราที่เอากระเช้าดอกไม้ประดิษฐ์มาให้เบียงกา หลังจากหญิงชราเดินจากไป เขาก็พูดกับเบียงกาว่า “มันไม่ใช่ดอกไม้จริงหรอก ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะมันจะได้ไม่มีวันตายจากเราไป”

บางทีความรู้สึกโหยหาความรัก ความกลัวการเริ่มต้น และความเชื่อที่ว่ารักต้องเป็นนิรันดร์ คือเหตุผลที่ทำให้เขาเริ่มต้นความสัมพันธ์กับเบียงกาก็เป็นได้

“เพราะเธอจะไม่มีวันหมดรักเขาแน่ๆ”

 

FACT BOX:

โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่งซึ่งทำให้มีการแตกแยกของกระบวนการคิดและการตอบสนองทางอารมณ์ ส่วนใหญ่แสดงอาการเป็นหูแว่ว หวาดระแวง หลงผิดแบบแปลกประหลาด หรือมีการพูดและการคิดที่เสียโครงสร้าง และมักนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการเข้าสังคมหรือการประกอบอาชีพ

Tags: , , , , , ,