Skytrax องค์การการจัดอันดับมาตรฐานของสายการบินระดับนานาชาติ เผยแพร่ผลการจัดอันดับ ‘World Airport Awards’ หรือการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกผ่านเว็บไซต์ worldairportawards.com เป็นประจำทุกปี และในปีนี้ (2017) ก็ได้ประกาศรายชื่อสนามบินที่ดีที่สุดออกมาแล้ว

โดยองค์การการจัดอันดับสนามบินของสหราชอาณาจักรนี้ ทำการวัดจากความพึงพอใจของผู้โดยสารกว่า 14 ล้านคน จาก 105 สัญชาติ ที่เป็นผู้โดยสารจากสนามบินทั่วโลกกว่า 550 แห่ง ผ่านการสำรวจตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ซึ่งผลสำรวจนี้ครอบคลุมทั้งในเรื่องการบริการ การรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงทักษะการใช้ภาษาของเจ้าหน้าที่ในสนามบินนั้นๆ จำนวน 39 ข้อ

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา The Momentum พาไปติดตาม 15 อันดับท่าอากาศยานที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลกแห่งปี 2017 นี้ และอย่าลืมเดากันว่าท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิของเราจะติดอยู่ใน 15 ลิสต์นี้หรือไม่

15
Copenhagen Airport (CPH)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 26.6 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 18

Photo: Flickr

ท่าอากาศยานโคเปนเฮเกนเป็นหนึ่งในสนามบินที่สำคัญและมีผู้ใช้บริการมากที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก และหากคุณจะเดินทางไปยังประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ท่าอากาศยานแดนโคนมแห่งนี้ถือเป็นสนามบินหลักที่ผู้โดยสารจำเป็นต้องแวะมาก่อนจะเดินทางไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ ในย่านยุโรปตอนเหนือ
โดย Skytrax ยกย่องสนามบินจากเดนมาร์กแห่งนี้ว่ามีระบบสัญญาณเตือนภัยและรับรองความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ แม้บางครั้งจะแออัดไปบ้างก็ตาม

14
Tokyo Narita International Airport (NRT)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 39.1 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 11

Photo: Wikimedia Commons

ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ในจังหวะชิบะ คือ 1 ใน 2 ของสนามบินหลักของญี่ปุ่น และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกา รวมถึงเป็นสนามบินที่รองรับการขนส่งทางอากาศเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่นและอันดับ 3 ของโลก ซึ่ง Skytrax ยกย่องให้สนามบินจากเมืองนาริตะนี้ มีพนักงานที่มีประสิทธิภาพคอยต้อนรับผู้โดยสารด้วยความเป็นมิตร มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่โดดเด่นในเรื่องความสะอาด และมีร้านอาหารรองรับมากมาย

13
Vancouver International Airport (YVR)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 22.3 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 14

Photo: Wikimedia Commons

สนามบินสัญชาติแคนาดาแห่งนี้ถูกจัดให้เป็นสนามบินอันดับ 1 ในอเมริกาเหนือเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน โดย Skytrax ยกย่องท่าอากาศยานแห่งนี้ในความโดดเด่นเรื่องความเป็นมิตรของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังมีความสะดวกสบายในการเดินทางไปยังตัวเมืองแวนคูเวอร์อีกด้วย

12
Kansai International Airport (KIX)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 25.2 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 9

Photo: Wikimedia Commons

Skytrax ยกให้ท่าอากาศยานนานาชาติที่ตั้งอยู่บนเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้นในอ่าวโอซาก้าว่ามีสถาปัตยกรรมทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และความเป็นมิตรของพนักงานในท่าอากาศยาน

อีกทั้งสนามบินจากเมืองโอซาก้าแห่งนี้ยังมี Sky View ที่ตั้งอยู่ชั้น 3-4-5 ของอาคารชมวิว ซึ่งเป็นชั้นดาดฟ้าที่สามารถชมทัศนียภาพรอบสนามบิน และเห็นเครื่องบินขึ้นลงได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

11
Amsterdam Schiphol Airport (AMS)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 58.3 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 13

Photo: Wikimedia Commons

ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสชิปโฮล เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1916 เป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดอันดับที่ 5 ของยุโรป

นอกจากนี้ AMS ยังโดดเด่นไปด้วยกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่บริการนวดเพื่อความผ่อนคลาย เล่นไพ่ที่คาสิโน รวมถึงไฮไลต์สำคัญอย่างบริการห้องสมุดที่คอยให้ผู้โดยสารเลือกหยิบขึ้นมาอ่านขณะรอเที่ยวบิน

10
Frankfurt Airport (FRA)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 61 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 12

Photo: businessclass.se

ท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ตเป็นสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 4 ในยุโรป เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการคมนาคมที่สำคัญที่สุดในโลก และยังเป็นฐานทัพอากาศของกองทัพเรือมากกว่า 270 ลำ

Skytrax ยกย่องให้ FRA เป็นสนามบินที่มีความสะดวกสบายในการคมนาคมระหว่างอาคาร อีกทั้งศูนย์การค้าที่กว้างขวางและศูนย์อาหารให้เลือกมากมาย แต่ยังมีเรื่องให้ตำหนิอยู่คือแถวของผู้อพยพยาวเกินไป

9
London Heathrow Airport (LHR)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 75 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 8

Photo: flickr

ท่าอากาศยานลอนดอนฮีตโธรว์เป็นสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในโลก และเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดใน 5 สนามบินที่เคยให้บริการในลอนดอน และยังเป็นท่าอากาศยานหลักของ 2 สายการบินสัญชาติอังกฤษอย่าง British Airways และ Virgin Atlantic อีกด้วย

ปัจจุบันสนามบินฮีทโธรว์อยู่ในระหว่างการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 5 ที่มีอายุ 8 ปี และเคยได้ชื่อว่าเป็นอาคารผู้โดยสารในสนามบินดีที่สุดของโลกโดย Skytrax มาแล้ว

8
Zurich Airport (ZRH)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 27.7 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 7

Photo: Wikimedia Commons

ท่าอากาศยานซูริกอยู่ห่างจากใจกลางเมืองซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ 12 กิโลเมตร โดยเป็นฐานหลักของ Swiss International Air Lines ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ในดินแดนาฬิกาได้

สำหรับผู้โดยสารที่หยุดรอระหว่างไฟลต์บินเป็นเวลานาน สนามบินก็พร้อมอำนวยความสะดวกด้วยบริการให้เช่าจักรยานและอินไลน์สเกตเพื่อชมพิพิธภัณฑ์การขนส่งสวิสไปเพลินๆ อีกด้วย

7
Central Japan International Airport (NGO)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 9.8 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 6

Photo: Wikimedia Commons

ท่าอากาศยานนี้สร้างในพื้นที่ถมทะเล อยู่กลางอ่าวอิเซะใกล้กับเมืองนาโกยา หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อท่าอากาศยานนานาชาติชูบุเซ็นแทรร์ (Centrair) ให้บริการเมืองหลักๆ โดยสายการบิน Japan Airlines และ ANA (All Nippon Airways)

โดย NGO นี้ยังคงรักษาความโดดเด่นไว้เป็นสนามบินที่มีความเป็นท้องถิ่นมากที่สุดในโลก มีดาดฟ้าสูง 1,000 ฟุต ผู้โดยสารสามารถมองเห็นเรือเข้าเทียบท่าเรือนาโกยาได้ อีกทั้งยังมีโรงอาบน้ำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่คุณสามารถแช่น้ำเพื่อผ่อนคลายและมองดูพระอาทิตย์ตกในเวลาเดียวกัน

6
Hamad International Airport (DOH)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 30 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 10

Photo: Wikimedia Common

ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัดเปิดใช้เพื่อการบินเชิงพาณิชย์ในปี 2014 ปัจจุบันเป็นฐานหลักของ Qatar Airways อีกด้วย

ตัวสนามบินและอาคารผู้โดยสารอีก 2 ตึก ใช้พื้นที่ 5,400 เอเคอร์ และใช้งบประมาณไป 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 565 แสนล้านบาท ถึงขั้นที่ Skytrax ชมว่า “เป็นอาคารที่ออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความซับซ้อนและเรียบหรูมากที่สุดในโลก”

5
Hong Kong International Airport (HKG)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 68.3 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 5

Photo: flickr

ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงเปิดใช้งานเพื่อการพาณิชย์เมื่อปี 1998 แต่กลับขึ้นชื่อในเรื่องความสะดวกและทันสมัยไม่เป็นรองใคร และเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน เอเชียตะวันออก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเป็นฐานหลักของสายการบินประจำชาติอย่างคาเธย์แปซิฟิกและดรากอนแอร์

นอกจากนี้ HKG ยังมีบริการ ‘SkyCity Nine Eagles’ หรือสนามกอล์ฟ 9 หลุมรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องหยุดพักรอเที่ยวบินแบบยาวๆ บริเวณใกล้กับอาคารผู้โดยสาร 2 อีกด้วย

4
Munich Airport (MUC)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 42.3 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 3

Photo: Wikimedia Commons

MUC เป็นท่าอากาศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเยอรมนี รองจากท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต และเป็นท่าอากาศยานหลักของสายการบินดังของประเทศอย่าง แอร์เบอร์ลิน, ลุฟต์ฮันซา และคอนดอร์ ซึ่งเป็น 3 สายการบินหลักของประเทศ

สนามบินแห่งแคว้นบาวาเรียยังมีจุดเด่นที่สถาปัตยกรรมที่เน้นออกแบบด้วยกระจก ให้ความรู้สึกว่าสนามบินดูโปร่ง สบายตา และยังมีสนามมินิกอล์ฟ รวมถึงส่วนจัดแสดงเครื่องบินที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ผู้โดยสารได้พักผ่อนหย่อนใจ

3
Incheon International Airport (ICN)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 49.3 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 2

Photo: Wikimedia Commons

สนามบินนานาชาติแห่งแดนกิมจิยังคงรักษามาตรฐานจากการติดอันดับ 1 ใน 3 ต่อไป ด้วยการคงมาตรฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ทัศนียภาพโดยรอบ ฯลฯ รวมถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมเกาหลีใต้ผ่านส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมภายในท่าอากาศยาน

2
Tokyo Haneda International Airport (HND)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 75.6 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 4

Photo: flickr

ท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว เป็นสนามบินศูนย์กลางภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในดินแดนอาทิตย์อุทัย ได้รับความนิยมจากบรรดาผู้โดยสารว่ามีความสะดวกสบายในเรื่องการเดินทาง เพราะตั้งอยู่ห่างจากใจกลางกรุงโตเกียวราว 15 กิโลเมตร และยังโดดเด่นในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ความสะอาด รวมถึงร้านค้าที่หลากหลายให้ช้อปปิ้ง

1
Singapore Changi International Airport (SIN)
อัตราผู้โดยสารรายปี: 55.4 ล้านคน
อันดับในปี 2016: 1

Photo: Wikimedia Commons

ท่าอากาศยานจากแดนลอดช่องถูกจัดให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เป็นท่าอากาศยานหลักของสายการบินในประเทศอย่าง สิงคโปร์แอร์ไลน์ส, ซิลก์แอร์ และไทเกอร์แอร์ รวมถึงยังได้รับเลือกให้เป็นสนามบินที่มีความคึกคักมากที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 16 อีกด้วย

SIN ได้รับการยกย่องจากผู้มาเยือนในด้านสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และสิ่งอำนวยความสะดวก มาตรฐานความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ มีทางเลือกของแหล่งช้อปปิ้งและร้านอาหารให้ผู้โดยสารเลือกชิมและช้อปอย่างหลากหลาย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความบันเทิงอย่าง โรงภาพยนตร์ 24 ชั่วโมง สปา สระว่ายน้ำบนดาดฟ้า ตลอดจนสวนผีเสื้อแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ในสนามบิน

Photo: thousandwonders.net

ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิของไทย รั้งอยู่อันดับที่ 38 ตกจากปีก่อน 2 อันดับ (36) แต่ยังติด 1 ใน 3 สนามบินที่ดีที่สุดของอาเซียน รองจาก Singapore Changi International Airport ของสิงคโปร์  (1) และ Kuala Lumpur Airport ของมาเลเซีย (34) ตามลำดับ

อ้างอิง:

Tags: ,