ฉันได้รู้จักหนังสือเล่มนี้จากแฟนเก่า นักอ่านตัวยงที่หมั่นแวะเวียนไป ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ อยู่เสมอ จนกระทั่งพี่หนุ่ม-เจ้าของร้าน แนะนำว่า ‘เล่มนี้ดีนะ’ ในความหมายว่า แม้ชื่อเรื่อง ‘ความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย’ อาจฟังดูเป็นหนังสือฮาวทูไปสักหน่อย แต่ขอให้เปิดอ่านเถอะ มันดีกว่าที่คิดจริงๆ

ชื่อสำนักพิมพ์ OMG Books ที่มาจากคำว่า Oh My God อาจทำให้นักอ่านบางคนคาดคะเนว่าต้องเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์หรือเปล่า แต่สอบถามบรรณาธิการมาแล้วว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้นแต่อย่างใด ฉะนั้นลองเปิดอ่านอย่างสบายใจไม่ว่านับถือศาสนาไหน

หลักใหญ่ใจความหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้กำลังบอกคือ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้เผชิญความตายอย่างมีความสุขในวันข้างหน้า

ในวัย 27 ปี ว่ากันตามตรงก็ไม่คิดจะรีบตาย แต่ตัวเลขนี้ก็เป็นอายุที่ฉันเริ่มมองเห็นคนรอบข้างของคนใกล้ตัวจากไป ถึงเวลาแบบนี้ การใคร่ครวญถึงความตายหรือการใช้ชีวิตให้ดี ให้มีค่าก่อนตาย คงไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเฝือๆ ไม่ว่าตายเร็วหรือช้า สิ่งสำคัญกว่า คือฉันอยากตายไปโดยรู้สึกไม่ติดค้างกับชีวิต (หรือใครอยาก?)

จุดที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ คือวิธีการให้ได้มาซึ่งคำตอบเหล่านั้น

ฉันทำงานกองบรรณาธิการ หลายครั้งก็ได้คำตอบของปัญหาชีวิตจากการไปพูดคุยสัมภาษณ์ และผู้เขียนอย่าง ดร. จอห์น ไอโซ ก็ใช้วิธีการสัมภาษณ์เช่นกัน เพื่อให้รู้ว่าคนที่ใช้ชีวิตมาอย่างยาวนานและได้พบความสุขนั้น จุดร่วมของเคล็ดลับเหล่านั้นคืออะไร เพราะการมีชีวิตหนึ่งครั้งนั้นไม่อาจย้อนคืนมา เขาคิดว่าคงจะดีหากเราได้เรียนรู้จากการเลียนแบบผู้ที่มีภูมิปัญญาในการใช้ชีวิต

เขาขอรายชื่อแนะนำจากคนกว่า 15,000 คน เพื่อกลั่นกรองจนเหลือ ‘ผู้ผ่านโลก’ 235 คน (อายุ 60-105 ปี) และทำการสัมภาษณ์เป็นเวลา 1-3 ชั่วโมง มีบางคำถามที่เขาถามทุกคนอย่างทั่วถึง คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามง่ายๆ ที่วูบหนึ่งอาจรู้สึกว่าช่างคลีเช่ดาษดื่น แต่ว่ากันตามตรงอีกครั้ง ฉันคิดว่ามันเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เราทุกคนต่างมีอยู่ในใจ

เช่นว่า อะไรนำมาซึ่งความสุข อะไรทำให้ชีวิตมีความหมาย อะไรเป็นเรื่องเสียเวลา หากย้อนเวลากลับไปได้ พวกเขาจะทำอะไรให้แตกต่างจากเดิม ฯลฯ

ผู้ให้สัมภาษณ์อาศัยอยู่ในอเมริกาเหนือ ประกอบด้วยชนหลากหลายเชื้อชาติ บ้างเป็นคนชนเผ่า แต่ละคนมีรายละเอียดคำตอบและเรื่องราวของตัวเอง แต่มีจุดร่วมในคำตอบเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมักพูดตรงกัน สรุปออกมาเป็นความลับห้าข้อ ได้แก่ 1. ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง 2. อย่าปล่อยให้เสียดาย 3. ใช้ชีวิตด้วยความรัก 4. อยู่กับปัจจุบัน 5. ให้มากกว่ารับ
แปลออกมาง่ายๆ อีกชั้น คือ ขอให้เลือกเส้นทางชีวิตที่ตรงกับตัวตนและความถนัด ยอมเสี่ยงตัดสินใจเพื่อสิ่งที่ต้องการ เลือกปฏิบัติต่อผู้คนด้วยความหวังดี เลิกครุ่นคิดถึงเมื่อวานหรืออนาคต และทำอะไรเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองบ้าง

จุดที่ฉันชอบมักเป็นบางตัวอย่างที่หยิบยกมาแล้วเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเองหรือคนรอบตัว อย่างเช่นเรื่องความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หมายถึงใช้ชีวิตตามสิ่งที่ตัวเองปรารถนาจริงๆ แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ในนั้นคืออาชีพ

 

เลือกเส้นทางชีวิตที่ตรงกับตัวตนและความถนัด เลือกปฏิบัติต่อผู้คนด้วยความหวังดี และทำอะไรเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองบ้าง

อ่านแล้วนึกถึงโพสต์ของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ผู้ให้สัมภาษณ์คือน้องในกองบรรณาธิการที่ห้องฉันเอง น้องเป็นอดีตนักเรียนทันตแพทย์ที่ตัดสินใจลาออกและรับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต เพื่อมุ่งมาทำงานสายงานขีดเขียนที่ตัวเองต้องการ (เรื่องน้องมีรายละเอียดอีกเยอะ แนะนำให้อ่านโพสต์ต้นทาง) ฟีดแบ็กของโพสต์มีหลากหลาย ส่วนหนึ่งคือกลุ่มคนที่มองว่าการเลือกทางนี้คือความล้มเหลวในชีวิตอย่างหนึ่ง ถือเป็นความโลกสวยหรือไร้ความสามารถที่จะผ่านพ้นบททดสอบจึงเลือกที่จะหนี
วกกลับมาที่หนังสือ หนึ่งในคนที่ให้สัมภาษณ์ชื่อ ฮวนนา เป็นชาวฮิสแปนิก เธอเล่าถึงความเชื่อหนึ่งในวัฒนธรรมละตินอเมริกันซึ่งเรียกว่า destina พวกเขาเชื่อว่า แต่ละคนจะมีเส้นทาง

ที่แท้จริงของตนอยู่เส้นทางหนึ่ง เราเกิดมาเพื่อจะเลือกเดินไปบนเส้นทางนั้น แทนที่จะเชื่อว่าทุกสิ่งถูกกำหนดหรือลิขิตมาแล้ว คำอธิบายข้างเคียงยังมีเช่น ‘จงทำสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข’ ซึ่งแท้จริงแล้วก็หมายถึงการทำสิ่งที่สอดคล้องหรือสิ่งที่สนใจอยู่ลึกๆ และไม่หลอกตัวเอง

ผู้เขียนเชื่อมโยงมาถึงเรื่องราวของ ทอม วัยหกสิบเศษ ชายผู้เติบโตมาเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ครั้งหนึ่งทอมเคยตกทะเลสาบหน้าหนาวที่น้ำเย็นเยียบ เขาพยายามจะปีนขึ้นมา แต่น้ำแข็งที่เกาะก็แตกออกทุกครั้ง ในวูบความเป็นความตาย เขานึกถึงต้นไม้ริมทะเลสาบที่ญาติๆ ชอบเรียกว่า ต้นแอสเพ็นสั่นระรัว เพราะมันมีใบเล็กๆ ที่สั่นไหวไปกับลม เขารู้สึกเองว่าต้นไม้กำลังเรียกหาเขา แม้ไม่รู้ว่าทำไมก่อนตายเขานึกถึงต้นไม้ แต่ในวูบนั้นเองที่เขายังไม่ยอมแพ้ และสุดท้ายเพื่อนก็ช่วยขึ้นมาได้สำเร็จ

20 ปีต่อมา หมอกลางบ้านซึ่งเป็นแม่หมอบอกว่า ที่แท้แล้วต้นแอสเพ็นเป็นตัวแทนของหัวใจพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ทอมถึงเพิ่งตระหนักได้ว่าที่ผ่านมาเขาอยากเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาโดยตลอด แต่ไม่เคยสนใจเสียงลึกๆ ข้างใน จึงเริ่มเดินทางเส้นนี้ตลอดเวลาที่เหลืออยู่

ตัดเรื่องความพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทิ้งไปก่อน ฉันชอบที่ผู้เขียนเปรียบเปรยว่า เราทุกคนต่างมีแอสเพ็นสั่นระรัวริมทะเลสาบชีวิตของตน ซึ่งเป็นสิ่งจริงแท้ที่สุดสำหรับเรา เมื่อใส่ใจฟังและทำตามเสียงเรียกนี้ เราจะพบความสุขและจุดหมาย แต่หากเพิกเฉย เราจะรู้สึกว่ามีรูโหว่ในหัวใจเหมือนช่องบนทะเลสาบน้ำแข็งซึ่งไม่อาจเติมเต็ม เราจะไล่คว้าความสุข แต่ทุกครั้งที่คว้าได้ มันก็จะแตกคามือเหมือนแผ่นน้ำแข็งบางๆ

บางคนอาจจะเอียน แต่สำหรับฉันมันจริง ฉันได้เห็นตัวอย่างเป็นเพื่อนร่วมงานตัวเป็นๆ อยู่ตรงหน้า เขาตั้งอกตั้งใจทำงาน ไม่ได้ทำอย่างมีข้อกังขาหรือทุกข์ทรมานแม้งานจะยาก ใครจะว่าโลกสวยก็ช่าง ถ้ามีสิทธิ์เลือกได้ (ย้ำว่าถ้ามีสิทธิ์) ฉันคิดว่าสิ่งที่น้องเลือกในวันนี้คุ้มค่ากับความเจ็บปวด คุ้มค่าต่อการไม่หนีตัวเอง และจะให้ดอกผลที่ดีในวันหน้า เพราะงานเขียนคือแอสเพ็นสั่นระรัวของน้อง (และของฉันด้วย)

คนขี้กลัวอย่างฉันแอบชอบความลับข้อที่สองเป็นพิเศษ นั่นคือ อย่าปล่อยให้เสียดาย

เขาบอกว่า ชีวิตที่ไม่ต้องเสียดายในภายหลัง หมายถึงชีวิตที่ต้องเสี่ยงมากขึ้น หลายคนมักจินตนาการถึงสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกทำบางสิ่ง แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราต้องการ เราต้องเดินหน้าเข้าหาความกลัวนั้น เพราะความล้มเหลวจากการได้ลงมือทำแล้วนั้นยังยอมรับได้ แต่ความทรมานที่ต้องมานั่งถามตัวเองตอนแก่ว่า “ถ้าวันนั้นเรา…” นั้นเป็นอีกเรื่อง

 

“ฉันรู้ว่าถ้าฉันพยายามเข้าหาแล้วเขาปฏิเสธ ฉันจะยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ลองพยายาม”

อีกแล้วที่หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องคลีเช่ ผู้เขียนยกตัวอย่างเรื่องราวของ โดนัลด์ อายุ 84 ปี เล่าถึงวันที่เขายังเป็นเด็กหนุ่มขี้อายมากๆ แต่ยอมเสี่ยงไปขอสาวสวยอีกฝั่งห้องเต้นรำด้วยกัน ในที่สุดทั้งสองก็กลายเป็นคู่ชีวิตกันจนวันสุดท้ายของฝ่ายหญิง เขาบอกว่า นี่คือการเสี่ยงที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตของเขา

ยังมีเรื่องของเบ็ตตี้ หญิงผู้อยู่กับลูกชายที่ไม่พูดกันมาเกือบ 20 ปี สุดท้ายเธอจึงเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน เธอเขียนจดหมายเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ฉันรู้ว่าถ้าฉันพยายามเข้าหาแล้วเขาปฏิเสธ ฉันจะยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ลองพยายาม” ช่างเป็นเรื่องที่คนพูดกันซ้ำไปซ้ำมา แต่มันก็ยังสะกิดใจในช่วงชีวิตที่ยังมีเรื่องในอนาคตต้องเลือก ต้องเสี่ยง ฉันนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ว่า ถ้าฉันตายไปโดยไม่ได้ทำสิ่งนี้ ฉันคงจะเสียดายมากถึงมากที่สุด

ในตอน ‘ใช้ชีวิตด้วยความรัก’ ฉันชอบที่ผู้เขียนยกตัวอย่างเกี่ยวกับงานศพของแม่หญิงสาวผู้หนึ่ง ซึ่งมีคนแปลกหน้าร่วมแสดงความเสียใจ เพราะครั้งหนึ่งผู้ตายเคยใช้เวลาสั้นๆ บนรถประจำทางเพื่อช่วยเหลือเธอที่กำลังจะฆ่าตัวตาย ผู้เขียนโยนคำถามถัดมาว่า เรานึกถึงภาพงานศพตัวเองไว้แบบไหน เป็นงานที่คนอยากมาใช้เวลาสั้นๆ พอเป็นพิธี หรืออยากอยู่ยาวๆ เพื่อรำลึกถึงเรื่องที่ดี นั่นเป็นสิ่งเตือนใจว่าเราจะดำเนินชีวิตไปแบบไหน เราอยากทิ้งภาพแบบไหนไว้กับคนรอบข้าง

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกเรื่องใหม่ๆ แก่ฉันสักเท่าไหร่ แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เรา ‘ตั้งใจ’ จินตนาการถึงสิ่งเหล่านี้ ผู้เขียนแบไต๋ตั้งแต่ต้นเล่มว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความลับ คนอ่านรู้อยู่แล้ว แต่น้อยคนจะทำได้ การพูดคุยและสัมภาษณ์ทำให้เขาพบว่า แม้แต่เหล่าผู้อาวุโสที่บอกว่าตัวเองมีความสุขก็ยังมีเรื่องเสียดายอยู่บ้างนิดหน่อย แต่ปัจจัยที่จะทำให้เราไปถึงวันสุดท้ายอย่างคลี่คลายใจไม่ใช่เรื่องของความฉลาด แต่การหมั่นทบทวนตัวเองเรื่อยๆ ว่าเรากำลังออกนอกเส้นทางที่ต้องการอยู่หรือเปล่า ยังกลัวอยู่รึเปล่า ยังมีอะไรที่ปรับปรุงได้อีกไหม ท้ายเล่มมีทั้งคำถามให้คอยเช็กตัวเอง และชุดคำถามสัมภาษณ์ของจริงที่เขาใช้ เผื่อเราจะอยากลองคุยกับผู้อาวุโสใกล้ตัวดูบ้าง

สุดท้าย ความสุขและความหมายของชีวิตในยามที่เวลาเหลือน้อย มักหนีไม่พ้นเรื่องน้ำเน่าอย่างเรื่องความสัมพันธ์ ความรัก และความฝันของชีวิตที่ได้ใช้ที่ผ่านมา ไม่ใช่วัตถุเงินทองใดๆ ยืนยันด้วยคำพูดที่ตรงกันของผู้คนนับร้อยชีวิต อยากทำวันพรุ่งนี้ให้เป็นแบบไหนก็ขอให้ลองเลือกดู
เพราะ #ชีวิตก็เท่านี้ จริงๆ

Tags: , , , , , , ,