เพลง ‘Blue in Green’ ของ Miles Davis ที่ถูกเปิดในร้าน The Decorum ช่างชวนเคลิ้ม รื่นรมย์ และปลุกเร้าให้ผมอยากเสียเงินไปกับเชิ้ตญี่ปุ่นที่แขวนเรียงกันบนราวนามว่า kamakura รองเท้าคุณภาพดีจากเวียดนามที่ชื่อ Fugashin ขณะที่บริการตัดสูทอย่างดีของ Sartisan จากเกาหลีก็น่าสนใจไม่น้อย

 

 

ผมยืนอยู่ในร้าน สำรวจตรวจตราไปทีละมุม ขณะที่หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน บอล-วรงค์ ภัทรชัยกุล สวมสูทผูกเนคไท อธิบายความดีงามของแต่ละชิ้นให้ฟัง ไม่นานนักหุ้นส่วนอีกคน กาย-ศิรพล ฤทธิประศาสน์ ก็ตามมา เขาใส่สูทพอดีตัว กางเกงค่อยๆ ไล่ระดับไปจนปลายขา คล้ายกับมันสร้างมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ

นี่ก็เป็นข้าราชการที่แต่งตัวดีชะมัด ผมคิดในใจ เพราะ กาย-ศิรพล ฤทธิประศาสน์ เป็นถึงเศรษฐกรชำนาญการ อยู่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขณะที่บอล-วรงค์ ภัทรชัยกุล เป็นเจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้าลูกไม้ผู้หญิง แต่ชอบการแต่งตัวแบบ Classic Menswear ทั้งคู่จึงมาทำร้านนี้ด้วยกัน

 

 

 

คอมมูนิตี้ของผู้ชายสายคลาสสิก

ไม่มีข้อสงสัยไหน ที่เราอยากรู้มากเท่ากับว่า The Decorum คืออะไร ในเรื่องนี้ กาย-ศิรพล ก็ให้คำตอบได้อย่างชัดเจน

“มันเป็นเหมือนร้านมัลติแบรนด์ของ Classic Menswear เรามีเชิ้ต รองเท้า เนคไท และโปรแกรมตัดสูทแบบ Made to Measure คือเราทำครบวงจร รวมไปถึงการทำอีเวนต์ เราเอาช่างทำสูท ช่างทำรองเท้า จากต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยได้สัมผัส เพราะการตัดสูทที่เรียกว่า Bespoke มันไม่ใช่แค่การเจอกับช่างแค่ครั้งเดียวแล้วได้เลย ยิ่งคุณบินไปตัดที่ต่างประเทศ มันต้องบินไปกลับหลายรอบกว่าจะได้สูทหนึ่งชุด”

 

กาย-ศิรพล ฤทธิประศาสน์

 

“หน้าที่หลักของเราคือเป็นคิวเรเตอร์ หาของที่มีคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล เราต้องใช้เองด้วย เพื่อที่จะแนะนำให้กับลูกค้าได้ บางอย่างราคาสูงก็ต้องสอดคล้องกับคุณภาพที่ตามมา ของแพงถ้าไม่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ เราก็ไม่เอาเข้ามาขาย นี่คือสิ่งที่พวกเราพยายามจะทำ

“มันไม่ใช่เรื่องของถูกหรือแพง ความคุ้มค่าอยู่ที่คุณค่าของงาน คนไทยได้สัมผัสสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้จัก แล้วเป็นช่างที่มีชื่อเสียง สุดท้ายการจ่ายเงินของลูกค้าก็คือการจ่ายค่าแรงให้กับช่างที่เขาทำให้คุณ แล้วจะเห็นได้ชัดว่าความสวยงาม ไม่ได้อยู่ที่ยี่ห้อ เราแคร์เรื่องคุณภาพและฟิตติ้งที่พอดีกับเรามากกว่า”

 

ค้นหาสิ่งที่ใช่

ขณะที่บอล-วรงค์ ได้อธิบายถึงกลุ่มลูกค้าของ The Decorum ว่าอย่างแรกต้องเป็นผู้ชายที่ชอบใส่เชิ้ต

“ผู้ชายที่ชอบใส่เชิ้ต อาจเป็นพนักงานออฟฟิศที่สนใจภาพลักษณ์ อยากได้เชิ้ตที่พอดีกับตัวเอง มีการตัดเย็บที่ดี คือมันเป็นไอเท็มพื้นฐานของผู้ชายที่รักการแต่งตัว เอาเข้าจริงแล้วตั้งแต่เปิดร้านมาก็มีตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน 40 กว่า”

“เชิ้ตมันเป็นสิ่งแรกที่ดึงให้คนเข้ามาหาเรา คุยกับลูกค้าหลายคน เขาอยากแต่งตัว แต่ไม่ค่อยมีตัวเลือก เราแนะนำเขาได้ จากเชิ้ตก็มาที่กางเกง รองเท้าบ้าง ก็เป็นสเต็ปไป เราไม่ได้ขายสินค้าที่ราคาสูงมาก คือมันไม่ได้ถูก แต่ไม่ overpriced แน่นอน”

 

บอล-วรงค์ ภัทรชัยกุล

 

“ผมว่าลูกค้าอยากได้เชิ้ตที่มันพอดีตัวเขา ลูกค้าที่ซื้อเชิ้ตตัวแรกของเราไปจะรู้เลยว่ามันดีอย่างไร ทั้งขนาดที่พอดีตัว คัตติ้งการตัดเย็บ” กาย-ศิรพล ให้ความเห็น

ระหว่างที่ทั้งสองคนกำลังเล่าถึงความดีงามของเชิ้ต kamakura แบรนด์ญี่ปุ่นที่ผมเองก็ยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ

“คุณเอกลองได้นะครับ แล้วจะรู้ว่ามันดีอย่างไร” บอล-วรงค์ ชวนผมลองเชิ้ตของเขา ไม่ทันไร เขาก็หยิบสายวัดมาวัดรอบคอผม

“เป็นวิธีการวัดหาขนาดเสื้อที่ต้องการ คือมันจะละเอียดกว่าปกติ” เขาอธิบาย

“แม้จะเป็นแบรนด์ใหญ่ในญี่ปุ่น แต่เขามีปรัชญาที่แน่วแน่มาก เขาอยากให้มันสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงให้กับลูกค้า และไม่ลดราคาด้วย มันจะเป็นการขายตรงจากโรงงานสู่ผู้บริโภคเลย ตอนผมไปคือก็ไปคุยแบบคนไม่เคยทำธุรกิจด้านแฟชั่นมาก่อน ก็อ้อนวอนให้เขายอมให้เอาเข้ามาขายในเมืองไทย ก็ได้โอกาสนัั้นมา เราก็อยากทำให้สำเร็จ มีเป้าหมายคือเปิดร้านใหญ่ในเมืองไทย” กาย-ศิรพล เล่าถึงความดีงามของแบรนด์นี้

 

 

“นี่คือรองเท้าเวียดนามยี่ห้อ Fugashin” กาย-ศิรพล หยิบรองเท้าขึ้นมาให้เราดู

“เราไปเจอมาที่เวียดนาม เป็นโรงงานที่ทำรองเท้าได้คุณภาพเหมือนยุโรปเลย ราคาจับต้องได้ เราเลยเอาเข้ามาแนะนำในเมืองไทย เป็นอีกตัวที่ภูมิใจว่าแบรนด์ใหม่จะมาพิสูจน์ด้วยคุณภาพ”

“ส่วนด้านบนเป็นสูทแบรนด์ Satisan จากเกาหลี คือเราได้ช่างเกาหลีที่เคยอยู่อิตาลี เป็นเพื่อนกับเรานี่แหละที่มาช่วยทำให้ เป็นสูทสไตล์อิตาเลียนที่ไม่ค่อยมีใครทำในเมืองไทย ข้อดีของสูทสไตล์อิตาเลียนคือใส่แล้วดูธรรมชาติมากกว่าสูทจากอังกฤษที่บ้านเรานิยมกัน”

 

เราจะใส่สูทกันไปทำไม

ข้อสงสัยที่ว่าเราจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใส่สูท ในสังคมไทยที่อาจไม่ได้มีภาพวัฒนธรรมของการใส่สูทมากนัก

“ผมว่าสังคมไทยมี mentality เกี่ยวกับการใส่สูทที่ว่าเราไม่กล้าหลุดจากการใส่แค่สูทดำ” กาย-ศิรพล ออกความเห็น

“อย่างผมใส่สูทไปทำงานเกือบทุกวัน บางทีเราออกไปประชุมกับเอกชน มันเป็นการ represent ความเป็นข้าราชการในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่บรรทัดฐานของสังคมไทยจะไปทิศทางการแต่งตัวเยอะเสียมากกว่า มันอยู่ที่ว่าเราต้องการแบบไหน ความฟุ่มเฟื่อยอยู่ที่มุมมอง การจัดสรรเงินที่มีของคุณให้เหมาะสม”

 

 

สูทที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพงเสมอไป แต่มันต้องเป็นสูทที่ฟิตกับเรา มันไม่ตอบโจทย์ว่าสูทราคาแสนหนึ่ง คุณใส่แล้วก็จะดูดี ถ้าสูทราคาแค่ห้าพันแต่ฟิตพอดีกับเรา ย่อมดีกว่า”

“คุณอาจจะเคยได้ยินว่ามีสูทดีๆ แค่ตัวสองตัวก็ใช้ได้ไปตลอด มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของคุณได้เลย สูทที่ดีจะเสริมจุดเด่น และกลบจุดด้อยของเรา”

 

 

แล้วผู้ชายไทยเหมาะกับสูทแบบไหน? ผมสงสัย

กาย-ศิรพลให้ความเห็นว่า “อยู่ที่โครงสร้างสูท อย่างสูทสไตล์อังกฤษจะดูเต็มกว่า มีรายละเอียดเยอะ แต่สูทสไตล์อิตาเลียนจะดูน้อยกว่า ดูบางกว่า ใส่แล้วจะสบายว่า คือสูทที่พอดีกับเรามันจะเสริมให้เราดูดีเวลาทำงานหรือแม้แต่การจีบสาว”

“ผู้ชายไทยใส่สูทเยอะขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี ผมว่าให้เวลาอีกหน่อย แล้วจะกล้ากันมากขึ้น คนให้ความสนใจมากขึ้น สมัยก่อนผมก็มีปัญหาเหมือนกันนะ เวลาอยากได้สูท ก็เอาไปให้ร้านตัด ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี สุดท้ายเราก็ต้องเรียนรู้เอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ”

 

ไอเท็มที่เราอยากแนะนำของร้านนี้

Kamakura Shirts แบรนด์เชิ้ตจากญี่ปุ่นที่คุณจะหาไซส์ที่ใช่ได้อย่างแน่นอน แล้วจะรู้ว่าเชิ้ตที่พอดีกับตัวคุณจะเป็นแบบไหน ราคาเริ่มต้นที่ 2,950 บาท

Fugashin รองเท้าหนังจากเวียดนามที่ใช้การตัดเย็บพื้นแบบ Goodyear welt ที่การันตีเรื่องความแข็งแรง ทนทาน

Sartisan สูทแบบ Bespoke โดยช่างจากเกาหลี ที่นัดวัดตัวและตัดตามรูปร่างของเรา รับรองได้ว่าคุณจะได้สูทที่เกิดมาเพื่อคุณคนเดียว ราคาเริ่มต้นที่ 42,000 บาท

 

ถ่ายภาพโดย ภาณุทัช โสภณอภิกุล

 

FACT BOX:

The Decorum อยู่ที่อารีย์สัมพันธ์ซอย 5 กรุงเทพฯ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/thedecorumbkk

Tags: , , ,