“รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา…”

นี่เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง บุพเพสันนิวาส ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี และมักถูกยกมาอ้างถึงอยู่ร่ำไป เพื่อยืนยันว่าความรักที่แท้จริงย่อมฝ่าฟันได้ทุกอุปสรรคที่ขวางกั้น

แต่ชีวิตจริงไม่ได้สวยงามขนาดนั้น เพราะอุปสรรคขวางกั้นมีอยู่เต็มไปหมด และปราการบางด่านก็ช่างสูงเกินกว่าลำพังคนสองคนจะจับมือกันก้าวข้ามไปได้ โดยเฉพาะป้อมปราการที่ฝังรากลึกอย่างปูมหลังทางสังคมและวัฒนธรรมของคนต่างเชื้อชาติและศาสนา

The Big Sick หรือชื่อไทยว่า รักมันป่วย (ซวยแล้ว เราเข้ากันไม่ได้) มีที่มาจากเรื่องราวในชีวิตจริงของ คูเมล นันจิอานี ชายหนุ่มเชื้อสายปากีสถานซึ่งย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 14 ปี และมีความฝันอยากเป็นนักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน  ระหว่างอยู่บนเส้นทางไขว่คว้าความฝัน เขาได้พบกับ เอมิลี หญิงสาวผิวขาวชาวอเมริกันที่มาชมการแสดงในคลับ และความรักของทั้งคู่ก็เริ่มต้นนับจากวันนั้น

    แต่ก็เหมือนอย่างชื่อเรื่องภาษาไทยนั่นละ พวกเขาเข้ากันไม่ได้  ไม่สิ พวกเขาเข้ากันได้ดีมาก แต่ ‘โลก’ ของพวกเขาต่างหากที่เข้ากันไม่ได้ ครอบครัวของคูเมลเป็นชาวปากีสถานที่ปฏิบัติตามธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น โดยหนึ่งในธรรมเนียมเหล่านั้นคือการแต่งงานแบบคลุมถุงชน พวกเขาถือว่าการแต่งงานข้ามเชื้อชาติคือสิ่งต้องห้าม มื้ออาหารของคูเมลจึงมักมีเพื่อนร่วมโต๊ะเป็นหญิงสาวชาวปากีสถานมากหน้าหลายตาที่บังเอิญ ‘แวะผ่านมา’ คูเมลจำต้องใช้ชีวิตบนทางคู่ขนาน ระหว่างเส้นทางแห่งความรักกับหญิงสาวต่างเชื้อชาติที่เขาหลงรัก และเส้นทางของชาวปากีสถานที่ถูกต้องตามธรรมเนียมซึ่งครอบครัวยึดถือเสมอมา

ไม่มีเส้นทางใดโรยด้วยกลีบกุหลาบ คูเมลอยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก ไม่อาจบอกให้ฝั่งไหนรับรู้ถึงอุปสรรคที่รออยู่บนเส้นทางคู่ขนาน กระทั่งในที่สุด เอมิลีก็รู้ความจริงว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่มีที่ยืนในโลกของคูเมล และแล้วเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น เมื่อเอมิลีตกอยู่ในอาการป่วยเฉียบพลันขั้นโคม่า โลกของคูเมลเริ่มสั่นคลอนและวายป่วงเป็นเท่าทวี จนอาจจะเข้าขั้น ‘โคม่า’ ไม่แพ้อาการป่วยของเอมิลีเลยก็ว่าได้

 แม้หน้าหนังจะดูเหมือนหนังโรแมนติกคอเมดีทั่วไป แต่สิ่งที่แฝงอยู่ใต้มุกตลกแพรวพราว คือเรื่องราวการค้นหาตัวเองของคูเมล แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะตีตราว่าเขาคือชาวปากีสถาน และเขาเองก็ภูมิใจในความเป็นปากีสถานของตัวเอง แต่คูเมลกลับยังดำรงชีวิตอย่างครึ่งๆ กลางๆ  เขานั่งเล่นเกมในช่วงเวลาละหมาด เขาไม่เห็นด้วยกับการคลุมถุงชน และไม่แน่ใจในศรัทธาของตัวเอง ทั้งยังต้องดิ้นรนเพื่อไล่ตามความฝันที่ไม่มีใครในครอบครัวเห็นดีเห็นงาม ความในใจประโยคหนึ่งที่เขาระบายใส่พ่อเมื่อถูกต่อว่าก็คือ “พ่อแม่จะพาผมมาอยู่อเมริกาทำไม ถ้าจะบังคับให้ผมใช้ชีวิตแบบคนปากีสถานตลอดเวลา”

        คูเมลจึงไม่ต่างจาก ‘คนป่วยไข้’ ที่หลงทางเคว้งคว้างอยู่ในเมืองใหญ่ ติดกับในวงกตของสองวัฒนธรรมที่คาบเกี่ยวอย่างไม่ลงรอยกัน และกับดักนี้ก็ค่อยๆ กัดกินตัวเขาเอง รวมถึงสายสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เขารัก ทั้งเอมิลีที่อาจจะไม่ยกโทษให้เขา และครอบครัวที่อาจจะตัดญาติขาดมิตรจากเขา

        คูเมลให้สัมภาษณ์ถึงหนังเรื่องนี้ไว้ว่า “ผมอยากให้ทุกคนในหนังทำถูกและทำผิด” พวกเขาอาจพลั้งพลาดไปบ้าง แต่ไม่มีฝ่ายใดเป็นคนเลว  ทุกคนต่างพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดสำหรับคนรอบข้าง พยายามกอบกู้สายสัมพันธ์ที่แตกร้าว พยายามเล่นตลกบนเวทีแม้ชีวิตจริงจะมีน้ำตา ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งเรื่องราวขื่นขมเคล้าเสียงหัวเราะ ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เราเผชิญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 สิ่งที่น่าจดจำอีกอย่างของหนังคือการแสดงของเหล่าตัวละคร ทั้งตัวละครหลักอย่างคูเมล (ซึ่งเล่นเป็นธรรมชาติมาก เพราะรับบทโดยคูเมลตัวจริงเสียงจริง) เอมิลี หรือบรรดาครอบครัวของทั้งสองฝั่ง (โดยเฉพาะฮอลลี ฮันเตอร์ ผู้รับบทแม่ของเอมิลี) ซึ่งช่วยเพิ่มสีสันให้กับหนังได้อย่างน่าประทับใจ ประกอบกับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันเฉียบคม และฉากซึ้งที่เรียกน้ำตาผู้ชม (รวมถึงผู้เขียน) ได้หลายหยด จึงไม่น่าแปลกใจที่ The Big Sick จะเป็นหนังม้ามืดที่ได้รับเสียงชื่นชมมากมาย

รักอาจจะมีพรมแดนขวางกั้น รักอาจจะต้องเผชิญกับกำแพงทางด้านเชื้อชาติและศาสนา แต่เรื่องราวของคูเมลและเอมิลีคงจะทำให้ใครหลายคนยังพอมีความหวังว่า แม้สังคมรอบข้างจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ไม่ใช่เรื่องป่วยการที่เราจะเผชิญหน้ากับความรัก และบางครั้งการป่วยไข้ก็อาจทำให้เรามองเห็นสิ่งสำคัญชัดเจนขึ้นก็เป็นได้

 

 

FACT BOX:

  • คูเมลและเอมิลีตัวจริงเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยใช้เวลาพัฒนาบทราวสามปี
  • Amazon ซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ไปด้วยราคาราว 12 ล้านดอลลาร์ หลังจากหนังเปิดตัวพร้อมเสียงชื่นชมล้นหลามในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ซึ่งดีลซื้อขายนี้นับว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเทศกาลหนังซันแดนซ์