เป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ประกาศใช้แล้วอย่างเป็นทางการ

แต่ก็คงไม่น่าแปลกใจนักถ้าผู้อ่านบางท่านยังไม่รู้สึกว่าเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้แล้ว เพราะในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลักษณะอำนาจการปกครองโดยทั่วไปก็ยังเป็นยุคสมัยของรัฐบาลที่ยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นพระเอกอยู่เช่นเดิม

รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ไทยเคยมี นั่นคือ นอกจากจะมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่จัดระเบียบและวางโครงสร้างทางการเมืองด้วย เรียกได้ว่าการเมืองไทยจะมีหน้าตาอย่างไรนั้น รัฐธรรมนูญมีผลสำคัญอย่างมาก (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด)

และอีกสิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเหมือนกับฉบับอื่น ก็คือเป็นสิ่งที่ถูกร่างขึ้นเพื่อใช้แก้ปัญหาที่มีมาก่อนหน้านั้น เช่นในยุคหนึ่งที่เราเคยมีปัญหารัฐบาลอ่อนแอเพราะเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ปัญหานี้ก็ถูกแก้ไขในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เอื้อให้รัฐบาลเข้มแข็งมากขึ้น แต่หลังจากนั้น เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกมองว่าเข้มแข็งเกินไป รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็แก้ให้องค์กรอื่นมีอำนาจมาถ่วงดุลรัฐบาลมากขึ้น และออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ โดยยกเลิกระบบ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วหันมาให้ระบบแบ่งสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัดแทน

รัฐธรรมนูญ นอกจากจะมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่จัดระเบียบและวางโครงสร้างทางการเมืองด้วย

แล้วโจทย์สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 คืออะไร หากถามไปยังผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คงได้คำตอบว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาของประเทศในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญนี้ได้รับอิทธิพลของคำว่า ‘ปฏิรูป’ มาอย่างมาก คำว่าปฏิรูปนี้ก็คือสิ่งที่เคยถูกจุดกระแสในช่วงการชุมนุมของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน และรัฐบาล คสช. เองก็ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ามีเป้าหมายต้องการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง

แต่ถ้าถามผู้ที่เฝ้าติดตามการเมืองไทยหลายท่านก็จะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอกย้ำสิ่งเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เคยทำมา ซึ่งก็คือ การทำให้นักการเมืองไม่สามารถจะมีอำนาจได้มากเหมือนในยุคไทยรักไทย

แต่ในสายตาของเครือข่ายชนชั้นนำบางกลุ่ม รัฐธรรมนูญ 2550 อาจยังเป็นยาที่มีฤทธิ์ไม่แรงพอ พวกเขาจึงสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อหาที่จำกัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ยิ่งขึ้นกว่าเดิม เรื่องที่เป็นที่วิจารณ์กันมากมีทั้งเรื่องระบบการเลือกตั้ง ที่ไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง เรื่องการกำหนดให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งให้ต้องบริหารประเทศตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ คสช. ปูแนวทางเอาไว้ไปจนถึงเรื่องบทบาทของ ส.ว. ที่จะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและมีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่า ข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 มีเป้าหมายต้องการจะเล่นงานขั้วการเมืองบางขั้วหรือนักการเมืองบางกลุ่ม แต่อันที่จริงแล้ว กฎเกณฑ์เหล่านี้มีผลกระทบกับขั้วการเมืองทุกขั้วกันอย่างถ้วนหน้า ในช่วงก่อนจะมีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เราก็เห็นว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างเคลื่อนไหวต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันทั้งคู่

ส่วนผู้ที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ก็เห็นจะมีแต่คนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้มีอำนาจในยุคนี้เท่านั้น

เมื่อพรรคการเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากมาตรการต่างๆ ที่กล่าวมา แล้วพรรคการเมืองทั้งหลายจะตอบโต้อย่างไรได้บ้าง ตรงนี้เราอาจพักประเด็นที่หลายคนมักกล่าวกันว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนในการก่อให้เกิดระบอบ คสช. เพราะไปเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. ไว้ก่อน เพราะถ้าจะต้องตัดสินกันว่าใครมีส่วนทำให้เกิดรัฐประหาร พรรคเพื่อไทยเองก็มีส่วนเช่นกันจากการผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมด้วยวิธีที่ผิดหลักการของการเมืองแบบรัฐสภา

บทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยมักจะตกอยู่ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงก็จริง แต่เราก็ไม่ควรดูถูกพลังของพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันก็จริง แต่ทั้งสองพรรค (และรวมไปถึงพรรคอื่นๆ ด้วย) เสียประโยชน์แน่จากข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ทำให้พรรคการเมืองลดความสำคัญลงจนแทบจะกลายเป็นไม้ประดับ แต่ทุกวันนี้ก็ยังแทบไม่มีใครในสองพรรคนี้ที่กล้าพูดว่า ทั้งสองพรรคมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ มีเพียงพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่กล่าวว่า ทั้งสองพรรคควรจับมือกันเพื่อช่วยกันต้านอำนาจทหาร

แม้หลายครั้งที่ผ่านมา บทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยมักจะตกอยู่ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงก็จริง แต่เราก็ไม่ควรดูถูกพลังของพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองมีความใกล้ชิดประชาชน มีฐานเสียง ฐานผู้สนับสนุนค่อนข้างชัดเจน ซึ่งในสายตาของนักวิชาการต่างประเทศนั้น พรรคการเมืองในสังคมตะวันตกก็ถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญในแง่ของการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ปีเตอร์ แมร์ (Peter Mair) กล่าวไว้ว่า พรรคการเมืองมีความสามารถมากพอที่จะช่วยให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนีกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และยังมีบทบาทในการระดมผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมและแสดงออกในทางการเมืองผ่านวิธีการต่างๆ

ถึงตอนนี้เราจะยังไม่รู้แน่ชัดว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อใด แต่ก็น่าจะเป็นการดีถ้าพรรคการเมืองในไทยมีความตระหนักกันมากขึ้นว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุดนั้นไม่ใช่การเล่นตามเกมของผู้มีอำนาจ แต่การช่วยกันผลักดันรณรงค์ให้มีพื้นที่ทางประชาธิปไตยมากขึ้น จะทำให้การเมืองเป็นสิ่งที่มีความหมายกับทุกคนทุกพรรค ส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น พรรคใดที่มีอำนาจก็จะดำเนินนโยบายได้ตามที่ใจคิด แทนที่จะตกเป็นเบี้ยล่างที่จะต้องเดินตามเส้นทางที่ถูกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขีดไว้ให้เดินไปอีกนับสิบปีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยมักจะตกอยู่ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงก็จริง แต่เราก็ไม่ควรดูถูกพลังของพรรคการเมือง

FACT BOX:

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ

  • ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อเลือก ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน
  • ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อเลือก ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 375 คน และ ส.ส. แบ่งสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัด 125 คน
  • ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือก ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 350 คน จากนั้นจะนำคะแนนที่ได้ไปคำนวณว่าแต่ละพรรคควรได้สัดส่วนที่นั่งในสภาเท่าไรจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง แล้วจึงหาส่วนต่างที่แต่ละพรรคพึงได้ เป็นโควตา ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คน

ก่อนการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองจะต้องส่งรายชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้นสามชื่อ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่สภาอาจจะมีมติไม่พิจารณารายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ แล้วให้ดำเนินการหานายกรัฐมนตรีคนนอกได้

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,