ก่อนที่พี่ตูนจะออกวิ่งจากเบตงถึงแม่สายเพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาล 11 แห่ง โลกของเราเคยรู้จักกับการเสียสละของมนุษย์ตัวเล็กๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งก็ทิ้งเรื่องเล่าที่กลายเป็นตำนานให้เล่าขานไม่รู้จบ หนึ่งในนั้นคือเรื่องเล่าของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีขาเพียงข้างเดียว แต่มีจิตใจที่เข้มแข็งกว่าคนทั่วไปหลายเท่า

ผมอยากให้คุณจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังใฝ่ฝันถึงอนาคตอันสดใส มีความสุขกับชีวิตวัยรุ่นที่ได้สนุกสนานกับเพื่อนๆ แถมยังไปได้ดีกับกีฬาที่รักอย่างบาสเกตบอล แต่แล้วสิ่งผิดปกติก็เกิดขึ้นกับร่างกายที่แข็งแรง เมื่อหมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็ง และจำเป็นต้องตัดขาหนึ่งข้าง

หากเป็นคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร?

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กหนุ่มชาวแคนาดาชื่อ เทอร์รี ฟ็อกซ์ (Terry Fox)

ที่มาภาพ: The Terry Fox Foundation

ในปี 1977 ฟ็อกซ์ต้องเผชิญหน้ากับมะเร็งกระดูกที่ขาข้างขวา และกลายเป็นคนพิการตั้งแต่อายุ 19 ปี ช่วงเวลานั้น มะเร็งยังไม่ได้รับความสนใจเหมือนกับทุกวันนี้ และอัตราการตายจากการรักษาด้วยรังสี (Chemotherapy) ก็สูงกว่าอัตราการรอด

การเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้เทอร์รีตระหนักว่ามะเร็งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวแคนาดาและเพื่อนมนุษย์ในช่วงเวลานั้นเสียชีวิต หากโชคดี ผู้ป่วยอาจสละอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิตไว้เช่นเดียวกับเทอร์รี แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จบชีวิตลงไม่นานหลังจากเป็นมะเร็ง ในขณะที่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากงบประมาณอันน้อยนิด เทอร์รีจึงตั้งใจว่าหลังออกจากโรงพยาบาล เขาจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง

ระหว่างการพักรักษาตัว โค้ชบาสเกตบอลของเขามาเยี่ยมพร้อมกับนำนิตยสารที่มีรูปของ ดิก ทรัม (Dick Traum) นักวิ่งขาพิการทั้งสองข้างชาวอเมริกันที่เพิ่งเข้าเส้นชัยในนิวยอร์กมาราธอนมาให้เขาดู เทอร์รีจึงคิดว่าตัวเองซึ่งยังเหลือขาอยู่อีกหนึ่งข้าง แถมยังเคยเป็นนักบาสเกตบอล ก็ต้องวิ่งมาราธอนได้เช่นเดียวกับทรัม

ไม่เพียงเท่านั้น ความฝันของเทอร์รียิ่งใหญ่กว่าการวิ่งมาราธอน โดยเขาฝันจะวิ่งข้ามแคนาดา ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘มาราธอนแห่งความหวัง’ (Marathon of Hope) โดยเขาตั้งเป้าจะระดมเงินบริจาคให้ได้ 20 ล้านเหรียญแคนาดาซึ่งสูงมากในสมัยนั้น เพื่อสนับสนุนการวิจัยวิธีการรักษามะเร็ง

เทอร์รีใช้เวลาซ้อมอยู่ปีกว่า ก่อนจะออกวิ่งจากเมืองเซนต์จอห์นซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแคนาดาในวันที่ 12 เมษายน 1980 โดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ทางฝั่งตะวันตก ระยะทางรวมประมาณ 8,000 กิโลเมตร

เทอร์รีตั้งใจจะวิ่งวันละประมาณ 42 กิโลเมตร แผนการวิ่งข้ามแคนาดาของเขาจึงกินเวลายาวนานกว่า 8 เดือน (เส้นทางเบตง-แม่สายของพี่ตูนมีระยะทาง 2,191 กิโลเมตร)

ด้วยความที่ขาข้างหนึ่งเป็นขาเทียม ความเร็วในการวิ่งของเทอร์รีจึงไม่ต่างจากการเดินเร็วของคนทั่วไป ในช่วงแรกของการวิ่ง มีเพียงน้องชายของเขาคอยขับรถตามหลัง และแทบไม่เป็นที่สนใจของผู้คนหรือสื่อมวลชน แต่ภาพของเด็กหนุ่มในชุดกางเกงขาสั้นเสื้อยืดสีขาววิ่งกะเผลกไปตามทางหลวงสายทรานส์-แคนาดาก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็น มีจำนวนไม่น้อยที่หยุดรถโดยตั้งใจว่าจะพาเขาไปส่งที่ปลายทาง แต่เมื่อรับรู้วัตถุประสงค์ของเขา ผู้คนต่างก็ประหลาดใจ และมีไม่น้อยที่บอกให้เขาล้มเลิกความคิดบ้าๆ เสีย

หลังจากวิ่งทุกวันเป็นระยะเวลากว่าสองเดือน เทอร์รีก็มาถึงเมืองมอนทรีอัล โดยมียอดเงินบริจาคเพียง 200,000 เหรียญแคนาดา ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก แต่ความโชคดีของเทอร์รีคือนักธุรกิจชื่อดังอย่าง ไอซาโดเร ชาร์ป (Isadore Sharp) ผู้ก่อตั้งโรงแรมเครือโฟร์ซีซันส์ และเพิ่งสูญเสียลูกชายให้กับมะเร็งไปไม่นาน บังเอิญผ่านมาพบกับเทอร์รี จึงประกาศว่าจะบริจาคเงิน 2 เหรียญแคนาดาให้กับทุก 1 กิโลเมตรที่เทอร์รีวิ่ง อีกทั้งยังเชิญเทอร์รีไปพบกับเพื่อนนักธุรกิจอีกหลายคน หลังจากนั้น การวิ่งของเทอร์รีจึงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

เทอร์รีวิ่งถึงเมืองออตตาวาในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันชาติแคนาดา ที่ออตตาวา สมาคมมะเร็งแห่งแคนาดา (Canadian Cancer Society) จัดงานต้อนรับเทอร์รี และเป็นครั้งแรกที่มีคนร่วมวิ่งกับเขา ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกินความคาดหมายของเทอร์รีคือการได้พบกับนายกรัฐมนตรีปิแอร์ ทรูโด (Pierre Trudeau)

นอกจากนี้ เทอร์รียังได้รับเชิญไปเปิดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลของทีมประจำเมือง ซึ่งทั้งเทอร์รีและผู้จัดงานก็ไม่แน่ใจว่าคนดูจะรู้จักเขาแค่ไหน แต่การปรากฏตัวของเทอร์รีในวันนั้นก็ได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากคนดูในสนาม และอีกจำนวนมากที่ได้รู้จักกับเขาผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์

นับตั้งแต่นั้น ชื่อของเทอร์รี ฟ็อกซ์ ก็ปรากฏอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในแคนาดาไปอีกหลายวัน

หลังออกจากเมืองออตตาวา การวิ่งของเทอร์รีก็มีตำรวจคอยอำนวยความสะดวก และมีผู้เข้าร่วมวิ่งแทบตลอดระยะทาง เมื่อไปถึงเมืองโตรอนโต มีผู้คนนับหมื่นมารอต้อนรับเขา บนเวทีในงานต้อนรับ พิธีกรกล่าวกับเขาว่าเมื่อวิ่งไปถึงปลายทางที่แวนคูเวอร์ ที่นั่นน่าจะมีคนรอต้อนรับเขาเป็นแสน แต่คำตอบของเทอร์รีคือ

“ถ้าผมวิ่งไม่ไปถึง พวกเราก็ยังต้องพยายามต่อไป”

“If I don’t finish, keep try.”

ประโยคดังกล่าวเหมือนกับเป็นการสะท้อนความเจ็บป่วยที่เขาไม่เคยบอกกล่าวกับคนรอบข้าง ทั้งจากมะเร็งและการวิ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลาร่วมสี่เดือน

วันที่ 1 กันยายน หลังจากวิ่งมาได้ 143 วัน ระยะทางกว่า 5,373 กิโลเมตร เทอร์รีก็ต้องหยุดวิ่ง เนื่องจากร่างกายของเขาไม่สามารถฝืนทนต่อไปได้ ในตอนนั้นเขาได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้น 1.7 ล้านเหรียญแคนาดา แต่เงินบริจาคก็ยังหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าเขาจะหยุดวิ่งแล้วก็ตาม กระทั่งสิ้นปี 1980 ซึ่งหากเป็นไปตามแผน เทอร์รีจะวิ่งไปถึงแวนคูเวอร์ เขาก็ได้รับเงินบริจาคถึง 23 ล้านเหรียญแคนาดา

แม้ว่าเทอร์รีจะประกาศว่าเมื่อหายดีแล้วจะกลับมาวิ่งต่อให้ครบระยะทางที่ตั้งใจไว้ แต่สภาพร่างกายของเขาก็มีแต่ทรุดโทรมลงจากมะเร็งที่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไปในวันที่ 28 มิถุนายน 1981 ในวัยเพียง 22 ปี

อนุสาวรีย์เทอร์รี ฟ็อกซ์ ที่ด้านหน้ารัฐสภาแคนาดา (ภาพ: พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช)

เทอร์รี ฟ็อกซ์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคม กล่าวกันว่าเขาน่าจะเป็นบุคคลที่มีการสร้างอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานเพื่อเป็นการระลึกถึงมากที่สุดในแคนาดา ชื่อของเขากลายเป็นชื่อของสถานที่ในหลายเมือง แทบทุกพื้นที่ที่เขาวิ่งผ่านล้วนมีการจารึกถึงห้วงความทรงจำในเวลานั้น บางรัฐกำหนดให้วันเทอร์รี ฟ็อกซ์ เป็นวันหยุดราชการ ขณะที่การวิ่งข้ามทวีปของตัวละครชื่อดังอย่างฟอเรสต์ กัมป์ (Forest Gump) ก็มีเทอร์รีเป็นต้นแบบ

หลังจากเทอร์รีเสียชีวิต ผู้คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเขาก็ร่วมกันจัดงานวิ่งมาราธอนแห่งความหวัง (Marathon of Hope) ขึ้นทุกปีในหลายเมืองของหลายประเทศ เพื่อระดมเงินบริจาคให้กับมูลนิธิเทอร์รี ฟ็อกซ์ (Terry Fox Foundation) ที่ตั้งขึ้นเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเขา

เมื่อปีที่แล้ว มูลนิธิเทอร์รี ฟ็อกซ์ ได้รับเงินบริจาคถึง 715 ล้านเหรียญแคนาดา และเป็นมูลนิธิที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยวิธีการรักษามะเร็งมาตลอดสี่ทศวรรษ

เทอร์รี ฟ็อกซ์ อาจจะไม่บรรลุเป้าหมายในการวิ่งข้ามประเทศแคนาดา แต่หากเป้าหมายหลักของเขาคือการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เขาก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

 

FACT BOX:

  • หากต้องการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิเทอร์รี ฟ็อกซ์ หรือร่วมวิ่งในมาราธอนแห่งความหวัง ดูรายละเอียดได้ที่ www.terryfox.org
  • ในปีนี้ มาราธอนแห่งความหวังจัดขึ้นพร้อมกัน 900 แห่งทั่วประเทศแคนาดาเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา และอีกหลากหลายวัน-เวลา-สถานที่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
Tags: , , , , , , ,