คุณว่าโรคอะไรเป็นโรคที่น่าหวาดกลัวที่สุดสำหรับคนในยุควิกตอเรีย

ใช่แล้วครับ ‘กามโรค’ หรือ VD (Venereal Disease) นั่นเอง!

กามโรคที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมากในสมัยก่อนมีอยู่สองโรค คือ โกโนเรีย (Gonorrhea) หรือหนองใน กับอีกโรคหนึ่งคือซิฟิลิส (Syphilis) แต่ซิฟิลิสนั้นขึ้นชื่อว่ารักษายากเย็นเข็ญใจมากๆ ไม่ต่างอะไรกับโรคเอดส์ในยุค 80s คือถ้าใครเป็นก็คาดหมายได้เลยว่าอาจรักษาไม่หาย และส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ นานามากมาย

แต่ ‘อาการ’ ที่เกิดขึ้นทางกาย ก็ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับอาการที่เกิดขึ้นกับสังคม!

เซอร์อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ผู้สร้างชีวิตให้กับนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เคยเขียนเรื่องสั้นชื่อ ‘The Third Generation’ เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มชนชั้นสูงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นซิฟิลิส เขามีคู่หมั้นที่กำลังจะแต่งงานด้วย เลยเกิดอาการหวาดหวั่นพรั่นพรึง ไม่รู้จะเอาอย่างไรดี เพราะกลัวว่าพอแต่งงานไปแล้ว ความลับนี้ก็จะเปิดเผยออกมา ที่สุดเขาก็เลยเลือกกระโดดให้รถม้าทับตายไปเลย

ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คนที่เป็นซิฟิลิสจะมีอาการหรือไม่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นซิฟิลิสระยะไหน แรกๆ ก็อาจจะเป็นตุ่มใสที่ผิวหนังก่อน แล้วก็ค่อยกลายเป็นผื่น ซึ่งอาจมีผื่นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ด้วย รวมทั้งมีอาการแสบร้อนที่ปากหรือช่องคลอดได้ด้วย แต่ถ้าเป็นหนัก ก็อาจมีอาการทางระบบประสาท หรือแม้กระทั่งระบบหัวใจได้ด้วย เป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว

มันเป็นโรคปีศาจ แยกไม่ออกจากการค้าประเวณี จากความเสื่อมโทรมทั้งทางร่างกายและทางศีลธรรม

ซิฟิลิสในยุควิกตอเรียก็เหมือนเรื่องสั้นของเซอร์อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ นั่นแหละครับ มันเป็นโรคปีศาจ แยกไม่ออกจากการค้าประเวณี จากความเสื่อมโทรมทั้งทางร่างกายและทางศีลธรรม ใครเป็นซิฟิลิสจึงต้องอับอายและปกปิดตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คนชั้นล่างที่เป็นซิฟิลิสอาจจะปกปิดตัวเองได้ยากหน่อย เพราะไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ แต่ถ้าเป็นคนชั้นสูง หมอยังพอประคับประคองอาการต่างๆ ไม่ให้แสดงออกมาได้ และถ้าดูแลตัวเองดีๆ มีภูมิคุ้มกันดีพอสมควร ก็อาจอยู่ไปได้เป็นเวลานานโดยไม่ได้แสดงอาการออกมาให้คนเห็นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นมีหลายกรณีที่กลายเป็นข่าว เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือกรณีหย่าร้างของเลดีโคลิน แคมป์เบล (Lady Colin Campbell) ซึ่งจริงๆ แล้ว เธอเกิดมาในชื่อเกอร์ทรูด บลัด (Gertrude Blood)

เกอร์ทรูดของเราเป็นสาวชนชั้นกลางระดับสูงที่ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบสาววิกตอเรียนผู้ก๋ากั่น คือไม่ได้เป็นสาววิกตอเรียนเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ตามแบบอย่างในอุดมคติ แต่เธอใช้ชีวิตหวือหวาค่อนข้างมาก เป็นผู้หญิงเมืองที่ฉลาดและสวยเปรี้ยว

โชคไม่ดีที่เธอไปพบกับหนุ่มที่เป็นสมาชิกรัฐสภาอย่าง ลอร์ด โคลิน แคมป์เบล ทั้งสองคบหาดูใจกันอยู่สามวัน ก็ตัดสินใจแต่งงานกันเลย

สามวัน!

ใช่ครับ – สามวัน, สามวันก็เพียงพอแล้วสำหรับความหุนหันพลันแล่นของเกอร์ทรูด เธอกลายมาเป็นเลดีโคลิน กลายเป็นคู่รักตัวอย่างที่รักกันดูดดื่ม ได้ออกสังคมชั้นสูง อยู่ในท่ามกลางความหรูหรา

คุณคงเดาได้ไม่ยากนะครับ (ก็แหม! ปูเรื่องมาเสียขนาดนี้) ว่าลอร์ดโคลินต้องเป็นซิฟิลิสแน่ๆ แล้วเขาก็ต้องเอาเชื้อมาแพร่ติดเกอร์ทรูด ซึ่งใช่ครับ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ซึ่งคุณก็คงคาดเดา (ตามประสาคนสมัยใหม่โมเดิร์น) ได้ไม่ยากว่า เกอร์ทรูดก็ต้องลุกขึ้นฟ้องหย่าในทันที แล้วเรื่องก็จบลงด้วยการหย่าร้าง อีตาลอร์ดโคลินก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูมาตามระเบียบใช่ไหมครับ

แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นหรอกคุณ!

ในสมัยวิกตอเรีย ผู้หญิงจะ ‘ถูกขัง’ อยู่ใต้การควบคุมดูแลของสามี นั่นคือสามีจะเป็นคนหาเงิน ใช้เงิน และเป็นผู้มีสิทธิเหนือกว่าในทางกฎหมายด้วย

ในยุคนั้นถ้าผู้หญิงไปศึกษาเรื่องของกามโรค แล้วพูดออกมา เธอก็จะถูกประณามหยามเหยียด

ถ้าสามีเป็นซิฟิลิส ไม่ได้แปลว่าภรรยาที่ติดซิฟิลิสจะรู้ตัวไปด้วยนะครับ เพราะในยุคนั้น สามีเป็นผู้ชาย หมอก็มักเป็นผู้ชายเหมือนกัน (จะมียกเว้นก็แค่หมอตำแยเท่านั้นละมั้งครับ) แล้วสามีก็เป็นคนออกเงินค่าหมอ คือเป็นเหมือน ‘นายจ้าง’ ของหมอ ยิ่งใครเป็นซิฟิลิสมาก่อนหน้าจะแต่งงานด้วยแล้ว หมอก็เป็นเหมือนผู้สมรู้ร่วมคิด คอยปกปิดเรื่องซิฟิลิสให้กับคนคนนั้นมาเป็นเวลานาน

ดังนั้น เวลาภรรยาป่วยเป็นซิฟิลิส ปกติแล้ว หมอก็จะปกปิด ไม่ยอมบอกว่าภรรยาป่วยเป็นโรคอะไร ที่ต้องปกปิดแบบนี้ก็เพราะถ้าภรรยารู้ว่าตัวเองเป็นซิฟิลิส ก็เท่ากับเปิดเผยว่าสามีต้องเป็นซิฟิลิสด้วยนั่นเอง

หลายคนอาจบอกว่า โอ๊ย! หมอทำแบบนี้ได้อย่างไร ไม่แจ้งคนไข้ให้มันถูกต้องตรงตามความเป็นจริงน่ะ แต่ในยุคนั้น หมอไม่ได้เป็นแค่ผู้รักษาอาการป่วยเท่านั้นนะครับ แต่ยังเป็นผู้ถือครอง ‘ความจริง’ ในสังคมด้วย ถ้าหมอเห็นว่าการบอกออกไปจะทำให้ครอบครัวแตกแยกร้าวฉาน ทำให้ผู้ชายเสื่อมเสีย ก็สู้ไม่บอกดีกว่า อีกอย่างหนึ่งก็เป็นฝ่ายสามีหรือผู้ชายนั่นแหละ ที่เป็นคนจ่ายค่าหมอ แล้วจะไปทำให้เดือดร้อนทำไม ซิฟิลิสอาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลยอยู่นานหลายๆ ปีก็ได้ ดังนั้นค่อยๆ รักษากันไปตามอาการจะดีกว่า

ที่สำคัญ ในยุคนั้นถ้าผู้หญิงไปศึกษาเรื่องของกามโรค คือทำเป็นรู้มากว่าอาการแบบนั้นแบบนี้เป็นอาการของโกโนเรียหรือซิฟิลิสนี่นา แล้วพูดออกมา เธอก็จะถูกประณามหยามเหยียด ว่าเป็นผู้หญิงไปเสาะหาความรู้เรื่องพวกนี้มาทำไม ดังนั้นผลเสียจึงตกอยู่กับตัวผู้หญิงเอง เพราะพวกเธอก็ต้องทนป่วยไปโดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร หรือถึงพอรู้เลาๆ ก็ต้องเก็บกดเก็บงำอยู่กับความลับดำมืดนี้ เพื่อรักษาสถาบันครอบครัวเอาไว้ให้ดูดีในฉากหน้า

แต่เกอร์ทรูดไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างที่บอกว่าเธอเป็นสาวเปรี้ยว เธอจึงพอรู้เรื่องของกามโรคอยู่บ้าง เมื่อเห็นอาการของตัวเอง เธอเลยเอ่ยปากถามสามีว่าที่เธอป่วยแบบนี้ เป็นเพราะเขาเป็นซิฟิลิสใช่ไหม

เมื่อเธอรู้ความจริง เกอร์ทรูดพยายามจะเลิกราหย่าร้างจากเขา แต่ลอร์ดโคลินไม่ยอมง่ายๆ เขายกเหตุผลทั้งทางกฎหมายและทางการแพทย์มาอ้างหลายเรื่อง แต่เรื่องที่อาจทำให้หลายคนเซอร์ไพรส์ก็คือ เขาบอกว่ารู้ว่าเป็นซิฟิลิส แต่แพทย์นั่นแหละที่ยืนยันว่าเขาควรจะแต่งงาน ทั้งนี้เพราะการมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ จะเป็นผลดีต่ออาการป่วยเป็นซิฟิลิสของเขา (อ้าว! แล้วไม่คิดถึงคนที่ต้องมีอะไรกับเขาด้วยเลยเหรอคุณหมอ!)

ด้วยเหตุนี้ เกอร์ทรูดจึงต้องลุกขึ้นฟ้องหย่าลูกเดียว!

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ การหย่าร้างของสาววิกตอเรียไม่ได้ง่ายดายเลย เพราะแม้ ‘โดยทฤษฎี’ จะทำได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากมาก

ทำไมถึงยากน่ะเหรอครับ เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าเป็นสามีฟ้องหย่าภรรยานั้นง่ายมาก แค่พิสูจน์ให้ได้ว่าภรรยานอกใจมีชู้เท่านั้นก็เพียงพอจะเป็นเหตุแห่งการหย่าร้างได้แล้ว แต่ถ้าภรรยาจะฟ้องหย่าสามี แค่หาหลักฐานมาบอกว่าสามีนอกใจมีชู้ยังไม่พอ แต่ยังต้องแสดงให้เห็นด้วยว่า สามีนั้นเป็นคนที่โหดร้าย กระทำทารุณทั้งทางกายและทางใจต่อภรรยา หรือไม่ก็เพิกเฉยทอดทิ้งไปเป็นเวลานานๆ นั่นจึงแทบจะปิดประตูตายให้เกอร์ทรูดเลย

เกอร์ทรูดได้ฉายาว่าเป็น Sex Goddess แห่งลอนดอน เพราะเป็นผู้หญิงที่รู้เรื่องเพศ เป็นซิฟิลิส แถมยังต่อสู้กับผู้ชายในเรื่องเพศด้วย

โชคดีหน่อยที่ในปี 1886 สังคมเริ่มเปลี่ยน มีการออกกฎหมายใหม่ว่าด้วยการแต่งงานและการหย่าร้างออกมา จึงเปิดช่องให้ผู้พิพากษาหันมาเห็นใจและเข้าข้างเธอ ในที่สุดศาลก็ออกคำสั่งให้แยกกันอยู่ (แต่ยังไม่ได้หย่าร้างกันนะครับ) เกอร์ทรูดจึงสามารถย้ายออกจากบ้านของลอร์ดโคลินกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอได้ แล้วต่อมาเมื่อมีกฎหมายจัดการทรัพย์สินของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วออกมาอีกฉบับ เกอร์ทรูดก็สามารถจัดการดูแลและควบคุมการเงินของตัวเองได้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยเหมือนตอนอยู่กับลอร์ดโคลินก็ตามที

ลอร์ดโคลินโกรธมาก คราวนี้เลยฟ้องกลับ เป็นการฟ้องหย่าร้างเต็มรูปแบบ เขากล่าวหาว่าเธอนอกใจไปเป็นชู้กับดยุค นายพล แพทย์ผ่าตัด และหัวหน้าพนักงานดับเพลิงของลอนดอน (คือไม่ใช่ในเวลาเดียวกันนะครับ) เธอก็เลยต่อสู้ด้วยการบอกว่าเขาก็เป็นชู้และโหดร้ายทารุณด้วยเหมือนกัน (อย่างที่บอกว่าผู้หญิงวิกตอเรียฟ้องหย่าสามีเพราะสามีมีชู้อย่างเดียวไม่ได้)

คุณรู้ไหมครับว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไร?

เรื่องนี้ทำให้สื่อสาวไส้กลับไปหารายละเอียดต่างๆ ในชีวิตของทั้งคู่ คือกลายเป็นเรื่องอร่อยเหาะมันปากสื่อไปเลย แต่ที่ประหลาดก็คือ แทบไม่มีใครสนใจข้อเท็จจริงเชิงกฎหมายหรือวิพากษ์ความไม่เท่าเทียมสองมาตรฐานระหว่างชาย-หญิงสักนิด เรื่องที่ลือกระฉ่อนกลับเป็นการย้อนกลับไปสืบชีวิตทางเพศของเกอร์ทรูด (ซึ่งก็พบว่าเธอมีสัมพันธ์กับผู้ชายมาไม่น้อย ค่าที่เธอมีชีวิต ‘เปรี้ยว’ มาก่อน)

สุดท้าย เกอร์ทรูดเลยได้ฉายาว่าเป็น Sex Goddess แห่งลอนดอน เพราะเป็นผู้หญิงที่รู้เรื่องเพศ เป็นซิฟิลิส แถมยังต่อสู้กับผู้ชายในเรื่องเพศด้วย

อย่างไรก็ตาม ตอนจบของเรื่องนี้ก็คือ ศาลตัดสินว่าทั้งสองฝ่ายมีชู้ด้วยกันทั้งคู่นั่นแหละ แต่ความที่ลอร์ดโคลินเอาซิฟิลิสมาติด ที่สุดก็เลยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับเกอร์ทรูด ที่สุดเขาก็อับอายขายหน้าจนอยู่ลอนดอนต่อไม่ได้ ต้องหนีไปทำงานที่บอมเบย์ในอินเดียแทน

ครอบครัวที่ถูกพิษซิฟิลิสพ่นใส่ไม่ได้มีแต่ครอบครัวของเกอร์ทรูดเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีอีกหลายครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวคนชั้นสูง

เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า อาการป่วยไข้จากซิฟิลิสนั้นแสดงออกได้หลายทาง

ซิฟิลิสไม่ได้ทำให้เราป่วยทางกายเท่านั้น แต่ยังเปิดโปงอาการป่วยทางสังคมให้เราเห็นในหลายเรื่องอีกด้วย

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

Tags: , , , , ,