“…การทำงานด้วยใจรักนั้น ต้องหวังผลงานเป็นสำคัญแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงคนโดยมากไม่ชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…”

ข้อความดังกล่าวคือพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานให้แก่บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506 หากนับถึงปัจจุบันก็ล่วงมาถึง 56 ปี แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ใจความของพระบรมราโชวาทดังกล่าวยังจริงแท้และเป็นหลักคิดให้หลายคนยึดถือในชีวิตการทำงาน

สุเมธ พุฒพวง หรืออาจารย์สุเมธของชาวสำนักช่างสิบหมู่ ดำรงตำแหน่งนักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ สังกัดสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร หน้าที่ความรับผิดชอบตามตำแหน่งคือการออกแบบตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานรัฐ ตราประจำจังหวัด ออกแบบใบประกาศ เหรียญที่ระลึก รางวัล อินทรธนู ตราประจำยุทโธปกรณ์ ฯลฯ

ตลอดชีวิตการทำงาน 29 ปีแม้ผลงานของอาจารย์สุเมธจะเป็นที่ประจักษ์ แต่น้อยคนนักจะทราบว่าใครเป็นผู้ออกแบบผลงานเหล่านั้น

จนกระทั่งเมื่อถึงวาระสำคัญ ผลงานออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ของอาจารย์สุเมธได้รับพระราชทานการคัดเลือกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ชื่อของอาจารย์สุเมธจึงได้รับการกล่าวถึงในฐานะนายช่างศิลป์ผู้ออกแบบตราพระราชพิธีฯ อันสำคัญ

ผลงานต่างๆ ของอาจารย์สุเมธจึงได้รับการเปิดเผยและแนะนำต่อสาธารณะ นั่นคือด้านหน้าขององค์พระ

ที่หลังองค์พระ อาจารย์สุเมธในวัยเกษียณก็ยังคงเข้ามาทำงานตามปกติ ผลงานเก่าวางกองรวมที่มุมห้อง เอกสารจากหน่วยงานวางรอให้อาจารย์พิจารณาแบบ หลังจากอ่านเอกสารเหล่านั้นแล้ว อาจารย์สุเมธจึงค่อยๆ ร่างแบบด้วยดินสอและลงสี

กิจวัตรแต่ละวันดำเนินไปเช่นนี้

กิจวัตรที่ก็คล้ายกับว่าอาจารย์กำลัง ‘นั่งแต่งแต้มปิดทองหลังองค์พระ’ อยู่จริงๆ

 

พื้นเพเดิมของอาจารย์เป็นคนที่ไหน

คนกรุงเทพฯ เกิดที่กรุงเทพฯ

 

คนสมัยก่อนมักจะอยากให้ลูกชายรับราชการ หรือเป็นครูบาอาจารย์ ทำไมอาจารย์ถึงสนใจทำงานด้านศิลปะ

ที่บ้านผมไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วมันก็มาจากความชอบความถนัดตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่เขาเห็นเราชอบเขียนรูป ก็บอกว่าเราน่าจะไปเรียนทางด้านนี้ แล้วเผอิญมีพรรคพวกเรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) ก็อยากไปเรียน แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะสอบได้

 

อาจารย์เลือกสอบสาขาอะไร

จิตรกรรมไทย คือเราเรียนไม่เก่ง ก็เลยไปถามเพื่อนว่าแผนกไหนคนเข้าน้อย กับตอนนั้นแผนกจิตรกรรรมไทยเพิ่งเปิดมาไม่นาน คิดว่าเราน่าจะมีโอกาส ซึ่งก็สอบติด

 

ยุคนั้นแผนกจิตรกรรมไทยเขาเรียนเขาสอนอะไรกันบ้างครับ

เรียนเขียนภาพไทยลายไทยนี่แหละ เขาก็สอนทฤษฎีเบื้องต้น แล้วให้เราไปนั่งคัดเส้นที่วัดโพธิ์ คัดลายพวกรูปสลักจากเรื่องรามเกียรติ์ เขียนหน้าลิงหน้ายักษ์ แต่ตอนนั้นโชคดีที่ไปรู้จักกับลุงคนหนึ่ง แกเป็นช่างซ่อมอุโบสถวัด ผมก็เลยไปขอทำงานเป็นลูกมือเขา ตอนเช้าไปทำงาน ตอนบ่ายค่อยไปเรียน เลยได้วิชาความรู้อีกทาง

ทำไมอาจารย์หันเหความสนใจมาทำงานออกแบบตราสัญลักษณ์ ทั้งที่อาจารย์จบมาทางด้านจิตรกรรมไทย

ไม่ใช่ความสนใจเสียทีเดียว มันเป็นจังหวะ ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ทำหน้าที่บูรณะอาคารเก่าวัดเก่าช่วงงานครบรอบ 200 ปีกรุงเทพมหานคร งานของผมคือเขียนลายไทยประกอบในตัวอาคาร ศึกษาว่าจะต้องใส่ลายอะไร ตำแหน่งไหนมีความสำคัญอย่างไร เช่นหากเป็นเพดานก็ต้องเป็นลายดวงดาว ก็ยังได้ใช้ความรู้ด้านจิตรกรรมไทยที่ร่ำเรียนมา พอหมดสัญญาจ้างผมก็มาสอบบรรจุได้ที่ฝ่ายศิลปะประยุกต์ กองหัตถศิลป์ (ปัจจุบันคือสำนักช่างสิบหมู่) เลยได้เริ่มมีโอกาสทำงานด้านออกแบบตราสัญลักษณ์ต่างๆ

 

งานออกแบบตราสัญลักษณ์ถือเป็นงานเชิงออกแบบสมัยใหม่ของช่างสิบหมู่ไหม

อันที่จริงมีมานานแล้ว งานออกแบบตราสัญลักษณ์ที่มีลักษณะองค์ประกอบแบบตะวันตกร่วม กรมพระยานริศฯ ท่านก็ทรงศึกษาและวางรากฐานไว้ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ ‘สมเด็จครู’ ของนักเรียนศิลปะและผู้ที่ทำงานด้านศิลปะ) งานของกองหัตถศิลป์จึงมีหลากหลาย

ผมทำตั้งแต่การเขียนตัวอักษร ออกแบบใบประกาศ เครื่องหมายดวงตา อินทรธนู เหรียญที่ระลึก สมัยนั้นยังมีงานเหรียญมาให้ออกแบบ เป็นความสนุกในการทำงาน

 

จากคนที่ร่ำเรียนมาด้านจิตรกรรมไทย เมื่อต้องมาทำงานด้านประยุกต์ศิลป์ อาจารย์ปรับตัวหรือศึกษาการทำงานในสาขานี้อย่างไร

พวกงานเครื่องหมายดวงตราที่กรมศิลปากรรับมาทำนั้นหลายชิ้นต้องการสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย ทั้งในแง่ความคิดและความหมาย การออกแบบจึงยังต้องใช้ความรู้ด้านลายไทยหรือจิตรกรรมไทยประกอบ กับเราก็อาศัยครูพักลักจำ เรียนรู้จากอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ทำงานอยู่ในกองฯ เช่น อาจารย์พินิจ (พินิจ สุวรรณะบุณย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2536) อาจารย์ท่านจะออกแบบมาเราก็นำไปคัดเส้นลงสี ได้ศึกษารูปแบบและความหมาย ก็เป็นการเรียนรู้งานไปในตัว

องค์ประกอบทุกชิ้นในงานถือว่ามีความหมายหมด

ใช่ เครื่องหมายดวงตราหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ประกอบลงไปในชิ้นงานล้วนมีความหมาย ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม ต้องพิจารณาถึงความหมายขององค์ประกอบทั้งหมด โดยเฉพาะตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานรัฐที่ต้องพิจารณารูปแบบอย่างถี่ถ้วนก่อนนำไปประกาศใช้ลงในราชกิจจานุเบกษา

 

ปกติแล้วอาจารย์เริ่มต้นกระบวนการทำงานแต่ละชิ้นอย่างไร

สำนักช่างสิบหมู่มีระเบียบในการทำงาน หากหน่วยงานใดต้องการตราเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ เขาก็จะทำหนังสือขอเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความต้องการชัดเจนว่าต้องการภาพอย่างไร ตัวอักษรแบบไหน อยู่ในรูปทรงอะไร เราก็จะพิจารณาสิ่งเหล่านั้นในเบื้องต้น ก่อนจะขึ้นแบบร่าง

ยกตัวอย่างเช่นตราประจำจังหวัดฉะเชิงเทราที่ทางจังหวัดได้จัดสร้างอุโบสถวัดโสธรฯ ใหม่ เขาก็อยากได้ภาพอุโบสถใหม่นี้แทนภาพอุโบสถเก่า เราวาดภาพลายเส้นของอุโบสถใหม่ กำหนดสี และจัดองค์ประกอบใหม่ รวมถึงพิจารณาความหมายความเชื่อในทางสัญลักษณ์

ตราประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา

อาจารย์ทำตราประจำจังหวัดใดอีกบ้างครับ

ผมทำทั้งหมดสี่จังหวัด นอกจากฉะเชิงเทราก็หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

 

ปีที่แล้วกระทรวงดิจิทัลฯ เปลี่ยนตราประจำกระทรวงใหม่ โดยใช้ภาพพระพุธชูพระหัตถ์ขวาเปล่งรัศมีวงคลื่นคล้ายสัญญาณดิจิทัล ทั้งที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่

ทำไมตราสัญลักษณ์หน่วยงานไทยจึงยังออกแบบให้ผูกพันกับความเชื่อเชิงนี้

ส่วนใหญ่เป็นความต้องการของหน่วยงานที่ระบุมา ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ต้องนำมาพิจารณาความเหมาะสม การอ้างอิงองค์เทพต่างๆ นั้นก็เพื่อความเป็นสิริมงคลของหน่วยงาน–ความเชื่อเช่นนี้ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับความเชื่อว่าทรัพยากรทางธรรมชาติล้วนมีเทพยดาค้ำจุน เช่น พระแม่ธรณีกับน้ำ พระพิฆเนศกับศิลปวิทยาการ แต่ในบางครั้งก็มีการใช้รูปแบบสัญลักษณ์สมัยใหม่สื่อความหมาย เช่นตราสัญลักษณ์ของกรมการทหารสื่อสาร ใช้เป็นภาพสายฟ้าเพื่อสื่อถึงการสื่อสารอย่างรวดเร็วฉับไว

 

นอกจากงานออกแบบตราสัญลักษณ์ อาจารย์ได้ออกแบบอะไรอีกบ้าง

หลากหลาย พวกงานออกแบบใบประกาศ เหรียญที่ระลึก หรือโล่ประกาศเกียรติคุณ ก็ได้มีโอกาสทำโดยเฉพาะใบประกาศสำหรับโอกาสสำคัญหรือรางวัลต่างๆ ที่ยังต้องการความสวยงามของการประดิษฐ์ชุดอักษรไทย

ที่สำนักช่างสิบหมู่เราใช้ตำราจากการอ้างอิงงานออกแบบของกรมพระยานริศฯ โดยเฉพาะตัวอักษรไทยที่ศึกษาจากงานออกแบบตาลปัตรพัดรองของท่าน นอกนั้นก็มีงานออกแบบตราสำหรับยุทโธปกรณ์ของกองทัพ เช่นเวลากองทัพเรือมีเรือรบลำใหม่เข้าประจำการ เขาก็จะทำเรื่องให้เราช่วยออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับติดประจำบนเรือลำนั้น

 

ถ้าได้เรือดำน้ำมา

ก็เหมือนกัน (หัวเราะ)

 

อาจารย์ทำงานมานานขนาดนี้ เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของงานสายนี้อย่างไรบ้าง

ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานไทยมีที่มาจากตราประทับของกรมกองในอดีต เป็นการลงนามอย่างหนึ่งของผู้มีอำนาจ รูปแบบหลายอย่างจึงยังอ้างอิงสืบทอดกันมา แต่ในยุคสมัยใหม่ก็มีการปรับเปลี่ยนไปมาก มีการนำรูปแบบของโลโกห้างร้านมาใช้ ต่อไปก็ไม่แน่ว่าตราสัญลักษณ์ของกรมกองต่างๆ อาจเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ ใช้เพียงเส้นสองเส้นในการออกแบบ มันคงจะมีการเปลี่ยนแปลงกันได้

 

การออกแบบตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีต่างๆ ถือเป็นหน้าที่ของสำนักช่างสิบหมู่เช่นกันใช่ไหม

ใช่ครับ งานพระราชพิธีสำคัญๆ ทางสำนักนายกรัฐมนตรีและทางสำนักพระราชวังจะทำเรื่องขอความร่วมมือให้ทางเราดำเนินการออกแบบ

ทราบมาว่าอาจารย์เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีของในหลวงรัชกาลที่ 9

ผมออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพระบรมราชวินิจฉัยและทรงเลือกแบบด้วยพระองค์เอง

 

‘เลือกแบบ’ แปลว่าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายแบบมากกว่าหนึ่งแบบ

ท่านอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น (อารักษ์ สังหิตกุล) ได้ให้เจ้าหน้าที่ห้าคนเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบ มีผลงานทั้งสิ้น 12 แบบที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นของผมสองแบบ หลังจากนำเสนอตามลำดับขั้นตอนการบังคับบัญชา ก็ได้มีหนังสือขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย หลังจากนั้นท่านอธิบดีฯ ก็ได้แจ้งให้ทราบว่าพระองค์ท่านทรงเลือกแบบของผม

ทรงมีรับสั่งปรับแก้แบบหรือไม่ครับ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปกรรมสูงมาก กว่าจะได้แบบตราสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์ก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ดำเนินการแก้ไขตามแนวพระราชดำริถึงสามครั้ง

ครั้งแรกทรงมีรับสั่งผ่านท่านวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการในตอนนั้นว่า ทรงเป็นห่วงในเรื่องการนำไปขยายใหญ่ หากขยายใหญ่จะเบี้ยวมาก เล็กลงนั้นไม่เป็นไร นอกนั้นมีรายละเอียดที่ต้องปรับในเชิงองค์ประกอบ แต่ที่จำได้แม่นคือท่านทรงให้เขียนเติมดอกพิกุลที่ภาพพระแท่นลาในภาพตราสัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ดอกพิกุลมีความหมายอย่างไรครับ

ทรงให้เติมดอกพิกุลเงินพิกุลทอง พระองค์ไม่ได้รับสั่งอธิบายความ ผมไปสืบค้นหาความหมายเพิ่มเติมจึงทราบว่าดอกพิกุลเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และเป็นสิ่งมีค่า การจำลองสร้างด้วยเงินและทองสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงโปรยพระราชทานแก่พราหมณ์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการในงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

นอกจากตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ที่เป็นองค์ประกอบหลัก ภาพมงกุฎก็อัญเชิญมาจากพระมหาพิชัยมงกุฎ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 9 ชั้นอยู่ด้านบนสุดและขนาบข้างด้วยพระเศวตฉัตร 7 ชั้น อันเป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ พระราชลัญจกรล้อมรอบด้วยเพชร 80 เม็ดและมีเลข ‘๘๐’ วางที่ด้านล่างหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนพรรษา 80 พรรษา แพรแถบสีชมพูบอกชื่องานพระราชพิธีฯ และยังรองรับประคองพระเศวตรฉัตรเจ็ดชั้นส่วนสีชมพูคือสีเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

 

ในการปรับแก้แบบทูลเกล้าฯ ถวายแต่ละครั้ง อาจารย์ต้องวาดและลงสีใหม่ทุกๆ ครั้งไหมครับ

การปรับแก้แบบจะเป็นการเขียนและระบายสีใหม่ทุกครั้ง ไม่ใช่การนำแบบเดิมมาลบเติมแก้ไข ผมใช้วิธีเขียนลายเส้นด้วยดินสอเพื่อไม่ให้เข้มเกินไปแล้วนำไปถ่ายเอกสารให้ลายเส้นที่วาดเป็นสีแดง เวลาเราถมสีทองเช่นภาพพระมหาพิชัยมงกุฎ ลายเส้นสีแดงจะลงสีทับง่ายไม่เด่นขัดขึ้นมา กับต้องผนึกติดกับกระดาษแข็งสำหรับงานลงสีและเพื่อให้ในหลวงทรงจับขณะทรงวินิจฉัย

ซึ่งในครั้งที่สอง พระองค์ท่านทรงพระบรมราชวินิจฉัยอยู่เป็นเวลานานและพระราชทานแนวพระราชดำริให้แก้ไขว่าตราสัญลักษณ์ทั้งหมดไม่สมดุล ซ้ายขวาไม่เท่ากัน ต้องใช้วิธีการตรวจสอบสมดุลด้วยการตีตารางนำไปทาบกับแบบ เมื่อปรับแก้จนถึงครั้งที่สาม ท่านทรงพระบรมราชวินิจฉัยแล้วทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำไปใช้ได้

การตัดเส้นร่างแบบด้วยสีแดงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงสี

หากเป็นตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านจะทรงวินิจฉัยเองทุกชิ้น

ครับ รวมถึงของสมเด็จพระราชินี (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9) ด้วย หากเป็นตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีของสมเด็จพระราชินี ในหลวงก็ทรงเป็นผู้วินิจฉัยให้ เช่นตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ทรงรับสั่งให้ปรับแก้ช่องว่างตรงช่วงหางของอักษร ส.เสือ ในพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. กับช่องว่างใต้พระมหามงกุฎ ให้ปรับสายสร้อยห้อยจักรีลงมาในช่องว่างตรงนั้น เมื่อปรับแก้ตามแนวพระราชดำริแล้วทรงพอพระราชหฤทัย

พระองค์ท่านทรงพระปรีชาสามารถและเชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมอย่างแท้จริง เมื่อเรากลับมาพิจารณาข้อบกพร่องก็เห็นเป็นจริงตามที่พระองค์ทรงพระบรมราชวินิจฉัยทั้งสิ้น

ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535

ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

เป็นงานที่สำคัญที่สุด รู้สึกเป็นเกียรติต่อตนเองและครอบครัวอย่างหามิได้ กับภาคภูมิใจเวลาเห็นผู้คนนำภาพตราสัญลักษณ์ที่เราออกแบบไปใช้แสดงออกซึ่งความรักความเทิดทูนที่มีต่อพระองค์ท่าน

คือความประทับใจสุงสุดในชีวิตนักออกแบบของอาจารย์

ใช่ สิ่งนี้เป็นมงคลแก่ผมสูงสุด

 

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

FACT BOX:

สุเมธ พุฒพวง เป็นนักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษด้านศิลปประยุกต์ สังกัดกลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สังกัดสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรกระทรวงวัฒนธรรม
อาจารย์เคยได้รับรางวัลนักออกแบบเกียรติยศประจำปี 2548 (Honor Awards 2015) สาขาออกแบบกราฟิก (Graphic Design)
ชมตัวอย่างผลงานอื่นๆ ของอาจารย์สุเมธได้ที่นี่

Tags: , , , , ,